[:th]CrCF Logo[:]

คุยกับเธอ “ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข”

Share

“ตั้งแต่เด็กๆ เรามีพี่ชายที่เป็นประธานนักเรียน เลยถูกเรียกว่าน้องประธานๆ มาตลอด พอพ่อถูกจับกุมคดี 112 ก็ถูกเรียกว่าลูกสมยศๆ (สมยศ พฤกษาเกษมสุข) หลังจากนั้นพี่ชายที่เป็นนักกิจกรรมก็อดอาหารประท้วงที่พ่อถูกคุมขัง คนจะรู้จักเราที่เป็นลูกใคร เป็นน้องใคร มากกว่าเราคือใคร แต่ตอนเด็กๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะเราไม่ได้ทำอะไรโดดเด่น เป็นนักเรียนธรรมดา แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบจิตใจคือเรารู้สึกว่าเราเป็นลูก แต่เราไม่ได้ทำอะไรเลย มันเครียดและรู้สึกผิด แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ผลักดันให้เรามาทำงานเป็นนักปกป้องสิทธิในตอนนี้

หลังจากนั้นเราเจอพี่ต้าร์ (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งเขาเป็นนักกิจกรรมที่ไม่ได้มีชื่อเสียง ทำงานข้างหลังมากกว่า จนกระทั่งเขาถูกอุ้มหาย เราซึ่งเคยคบเขาและอยู่กัมพูชาเพื่อเรียนต่อก่อนที่เขาจะถูกอุ้มหายจึงมีบทบาทเป็นคนใกล้ชิดที่รู้เรื่องราวของเขา เป็นหนึ่งในคนที่ต้องให้ปากคำกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และให้สัมภาษณ์สื่อ ด้วยความเรื่องนี้มันหนักกว่าเรื่องพ่อ เพราะเขาหายไปไหนไม่รู้ จับมือใครดมก็ไม่ได้ จิตใจเราเลยค่อนข้างพัง เหมือนตัวตนเรามันแหลกสลาย ต้องขอห่างๆ เรื่องการเมืองไปเกือบปี ถึงจะกลับมาเป็นผู้เป็นคนได้

หลังจากนั้นเรามาทำงานที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมซึ่งรณรงค์เรื่องการซ้อมทรมานอุ้มหายและกระบวนการยุติธรรม มันกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ตอบตัวตนของเรา เพราะเราตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดว่า เราเป็นลูก เป็นแฟน เป็นน้อง แต่กลับไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากเป็นเงาของเขา แต่ตอนนี้สิ่งเหล่านั้นมันกอบมาเป็นตัวเรา เราไม่อายที่จะแนะนำตัวว่าเราเป็นใคร ตัวงานก็มีหมวกที่เราจะใช้สถานะนี้ตรงไหนได้ มันทำให้เรามีมุมมองต่อสถานการณ์ที่เป็นบวกมากขึ้น

แต่พอมองย้อนกลับไป จริงๆ แล้ว มันไม่ควรมีใครต้องรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำอะไร เพราะเราไม่ผิดที่เป็นลูกเขาหรือเป็นแฟนใคร แต่คนผิดคือคนที่อุ้มหาย คนที่มาฟ้องละเมิดสิทธิเสรีภาพ เพราะถ้าเราอยู่ในสังคมที่ปกติ มีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพ เราจะไม่มีวันเจอเรื่องแบบนี้ ซึ่งเราอยากรู้สึกดีขึ้น ก็เลยลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง แต่กว่าจะคิดเรื่องนี้ได้ เราก็ใช้เวลานานมากๆ สิ่งสำคัญคือต้องกำจัดความรู้สึกผิดให้ได้ และมองให้เห็นว่าใครคือศัตรูที่แท้จริง

ตอนนี้เราทำงานตรงนี้มาได้สองปีแล้ว เป็นงานที่มีไฟอย่างประหลาด มันช่วยเติมเต็ม เยียวยา และเป็นไฟในชีวิตเรา ใครที่เป็นทุกข์จากการถูกละเมิด เราคิดว่ามาทำงานด้านนี้มันช่วยนะ เพราะเราจะได้เจอคนที่พบเหตุการณ์คล้ายเรา ไปจนถึงคนที่สูญเสียกว่าเรา ได้เห็นว่าเขายังมีชีวิตและเดินต่อไปได้ เมื่อก่อนเราเคยมีภาวะซึมเศร้า เก็บเนื้อเก็บตัว คิดว่าไม่มีใครเข้าใจ แต่พอมาทำงานตรงนี้ เราได้เห็นโลกกว้าง เห็นสถานการณ์ และเห็นทางออกด้วยว่าเราทำอะไรได้บ้างที่มากกว่าการไปม๊อบ โดยรวมคือชีวิตเป็นผู้เป็นคนมากขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณหัวหน้าที่ช่วยดึงเราจากซากปรักหักพัง และเขาเคารพตัวตนเรา ถ้าไม่จำเป็นเขาจะไม่แนะนำว่านี่ลูกใคร นี่แฟนใคร แต่เขามองว่าเราเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะ มีความสามารถ มีศักยภาพ”

“สื่อที่มาสัมภาษณ์จะรู้สึกชีวิตเราน่าสนใจมาก ชีวิตที่พ่อติดคุก แฟนเก่าถูกอุ้มหาย มันผลักให้เรามาเป็นนักปกป้องสิทธิฯ แต่จริงๆ มุมที่ลึกลงไป เราก็รักษาใจตัวเองไม่ได้เต็มร้อยหรอก ทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์ เราจะถอยหลังไปก้าวหนึ่งเสมอ เพราะต้องย้อนคิดเรื่องร้ายๆ แต่เราก็คิดว่าควรให้สัมภาษณ์เพื่อส่งต่อเรื่องราวเหล่านี้ สิ่งนี้มันเป็นทั้งด้านบวกและลบ เพราะพอมีแสงมาถึงเรา คนเริ่มรู้ว่าเราเป็นลูกใคร มันช่วยให้เรามาทำงานตรงนี้ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะตอนที่ประสานงานในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เพราะคนรู้ว่าเราเป็นใครก็รู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ

แต่อีกด้านมันเป็นการถูกทำให้เป็นเหยื่อซ้ำ (Revictimization) เพราะมันถูกผลิตซ้ำๆ ว่าเราเป็นเหยื่อ บางคนก็จะมองว่าเราเป็นคนที่น่าสงสาร น่าเห็นใจ ทั้งๆ ที่เราก็มีตัวตนด้านอื่นที่ไม่ได้เศร้าตลอดเวลา เราเองก็มีคำถามว่าสิ่งนี้จะเป็นฉากหน้าของเราไปอีกนานแค่ไหนเหมือนกัน เพราะเรายังเด็ก เราเองก็อยากเจอคนใหม่ๆ เหมือนกัน หรือตอนที่ใช้แอปหาคู่ เราก็พบว่ามีคนรู้จักเราอย่างน่าประหลาดใจ บางคนก็บอกว่าติดตามเรื่องราวของเราอยู่ ซึ่งก็รู้สึกอึดอัด เพราะเขาไม่ได้เห็นเราที่เป็นเรา แล้วเคยได้ยินเรื่องของคนที่มีประสบการณ์คล้ายๆ กันมาว่า เขาถูกนินทาว่าผัวหายไปทั้งคน ทำไมเธอถึงมีคนใหม่ แล้วจะมารณรงค์เรื่องนี้ได้ยังไง? มันก็ทำให้เรายิ่งกลัว ไม่กล้าทำอะไรประเจิดประเจ้อมาก เพราะเราคาดเดาไม่ได้ว่าสังคมจะตีความเรื่องนี้ยังไง

จริงๆ คำว่า ‘เหยื่อ’ เป็นคำที่รัฐชอบ เพราะมันเสริมแรงเขาที่อยากให้สังคมมองว่าคนที่โดน 112 เป็นคนไม่ดี ฉะนั้นควรเปลี่ยนไปใช้คำว่า ‘ผู้ผ่านพ้น’ (Survivor) จะดีกว่า เพราะถึงเราจะออกมาพูดเรื่องนี้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ครอบครัวตัวเอง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว มันเป็นประเด็นใหญ่ของสังคม ฉะนั้นเลยอยากให้มองว่าพวกเราคือผู้ยืนยันสิทธิ อย่างในครอบครัวเราเอง แม่ก็เป็นคนที่มีบทบาทมากๆ ที่ช่วยไม่ให้ประเด็นของพ่อเงียบ แม่ทำงานร่วมกับ NGOs หลายองค์กร ไปร่วมประชุมที่ต่างๆ ระดมทุนเรื่องคดี 112 แถมยังดูแลลูกๆ เป็นทั้งกองหน้าและกองหลังที่ดูแลทุกอย่าง ทุกคน หรืออย่างคุณอังคณา นีละไพจิตรที่เราก็เชื่อว่าคงผ่านช่วงที่ยากมากตอนทนายสมชายหายไป แต่ทุกวันนี้เขาก็ยังยืนหยัดทำงานตรงนี้เพื่อสนับสนุนคนอื่น นี่คือความเป็นผู้หญิงที่อาจถูกมองเป็นเงา ที่มีบทบาทมาก มีศักยภาพมากๆ

เรามองว่าทุกครั้งที่ภาครัฐกดขี่พวกเรา ผ่านการดำเนินคดี การคุกคามติดตาม การใช้กฎอัยการศึก การใช้อำนาจในทางไม่ชอบ การละเมิดต่างๆ ไปจนถึงการอุ้มหาย วิสามัญฆาตกรรม มันไม่ได้ทำให้คนหายไป แต่ทำให้เกิดนักปกป้องสิทธิจำนวนมากที่เป็นผู้หญิง เป็นคนในครอบครัว และเป็นคนรุ่นใหม่ เช่น ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการละเมิดสิทธิเยอะมากๆ คนที่ถูกจับเอาไปค่ายทหาร คนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยส่วนใหญ่คือผู้ชาย แต่ผู้หญิง เด็ก และครอบครัวไม่เคยลืมเรื่องพวกนี้ เขารวมตัวกันเป็นเครือข่ายและลุกขึ้นมาทำงานเรื่องนี้อย่างเป็นระบบเพื่อเยียวยากันเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งในประเด็นสิทธิมนุษยชน เราเลยมองว่ามันเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ยิ่งคุณเด็ด ดอกไม้ก็ยิ่งบาน”