[:th]CrCF Logo[:]

จดหมายเปิดผนึก: ข้อห่วงกังวลเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเกี่ยวกับการขัง และปล่อยตัวชั่วคราวเยาวชนนักกิจกรรม

Share

เรื่อง  ข้อห่วงกังวลเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เกี่ยวกับการขัง และปล่อยตัวชั่วคราวเยาวชนนักกิจกรรมทางสังคม และการเมือง
เรียน อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา โฆษกศาลยุติธรรม และผู้พิพากษาเวรรับผิดชอบการพิจารณาหมายฝากขัง และการให้ปล่อยตัวทุกศาล

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรและเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มูลนิธิฯ ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน โดยเฉพาะกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

สืบเนื่องจากขณะนี้ มีเยาวชนนักกิจกรรม ที่แสดงความคิดเห็น  ร่วมชุมนุม และร่วมทำกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ได้ถูกจับกุมและคุมขังตามคำสั่งศาล ก่อนการฟ้องคดีและระหว่างการพิจารณาคดี กว่า ๑๕ คน โดยที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัว บางคนได้ถูกขังมาแล้วกว่า ๓๐๐ วัน ทั้งมีเยาวชนนักกิจกรรมอีกหลายคน  แม้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่จำต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ รวมทั้งข้อกำหนดที่ห้าม “กระทำการหรือมีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกัน” กับที่ถูกตั้งข้อหา  ต้องติดอุปกรณ์ติดตามตัว หรือ Electronic Monitoring หรือ EM และห้ามออกนอกบ้านตลอด ๒๔ ชั่วโมง เป็นต้น หากผิดข้อห้ามจะถูกยกเลิกการปล่อยตัวชั่วคราวหรือถอนประกัน จนเกิดกรณีประท้วงดังที่เกิดขึ้นในกรณีของ เก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบมอรวรรณ ภู่พงษ์ เป็นต้น

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มาตรา ๒๙ วรรคสอง บัญญัติว่า

“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดและก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” วรรคสาม บัญญัติว่า “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” และวรรคท้าย บัญญัติว่า “คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้…

ดังนั้น การกำหนดหลักประกันและเงื่อนไขต่าง ๆ ในลักษณะดังกล่าวข้างต้นในการปล่อยตัวชั่วคราว โดยห้ามผู้ต้องหา/จำเลยเหล่านั้น “กระทำการหรือมีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกัน” ต้องติด EM และห้ามออกนอกบ้านตลอด ๒๔ ชั่วโมง นั้น มูลนิธิฯ เห็นว่าขัดกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง จากข้อเท็จจริงที่ว่า เยาวชนนักกิจกรรมเหล่านั้น ไม่มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี ตรงกันข้ามพวกเขาได้แสดงออกอย่างชัดเจนและเอาจริงเอาจังว่า  พร้อมที่จะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพื่อยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพ  เพื่อให้รัฐบาลเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในความคิด ความเชื่อและการแสดงออกในทางการเมืองและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้น ก็เพื่อให้กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาลอันควรเป็นสถาบันที่เป็นที่พึ่งของประชาชนที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจ ทั้งผู้มีอำนาจตามจารีตนิยมและเผด็จการในทุกรูปแบบ  สามารถอำนวยความยุติธรรมและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและอย่างแท้จริง ตามหลักแห่งนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน แต่คำสั่งศาลในการคุมขังผู้ต้องหา/จำเลยที่เป็นเยาวชนนักกิจกรรมเหล่านั้น ที่ไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว  เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว หรือการตั้งเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวในลักษณะดังกล่าวข้างต้น  ทำให้เกิดความกังขาและกระทบต่อความเชื่อมั่นของสังคมที่มีต่อสถาบันตุลาการว่า  ได้ปฏิบัติหน้าที่ ใช้อำนาจและมีบทบาทตามหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนหรือไม่?

หลายคดีที่เยาวชนนักกิจกรรมตกเป็นผู้ต้องหา/จำเลย คำสั่งของศาลในการให้ขังหรือให้ปล่อยตัวชั่วคราว ในชั้นก่อนฟ้องคดีและก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดว่า พวกเขาเป็นผู้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของพนักงานอัยการ เป็นคำสั่งเสมือนหนึ่งว่าพวกเขาเป็นผู้ที่ “ถูกพิพากษาแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิด” แล้ว  มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าพวกเขายังเป็น “ผู้บริสุทธิ์” แต่อย่างใด อีกทั้งในกรณีปล่อยตัวชั่วคราว ผู้พิพากษาบางคน ยังได้กำหนดเงื่อนไขที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของพวกเขาอย่างร้ายแรงและขัดกับหลักความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนอีกด้วย โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ห้ามพวกเขา “กระทำการหรือมีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกัน” กับที่พนักงานอัยการกล่าวหา ซึ่งโดยหลักแห่งความยุติธรรมแล้ว พนักงานอัยการในฐานะโจทก์ จักต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นจนปราศจากข้อสงสัยอันสมควรว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจริงตามที่กล่าวหาเสียก่อน ศาลจึงมีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องได้

ตามหลักแห่งความยุติธรรมทางอาญา ที่ให้ถือว่าผู้ต้องหา/จำเลยเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ และขณะที่พวกเขากำลังโต้แย้งข้อกล่าวหาอยู่   เพื่อให้ศาลพิจารณาใช้ดุลยพินิจตัดสินคดีของพวกเขาอย่างเที่ยงธรรม ปราศจากความลำเอียงและอคติ ด้วยความเป็นเมืออาชีพ และบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่  ๑๔ เรื่องการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาฯจักรไทย การที่ศาลมีคำสั่งขังหรือถอนประกันโดยเกรงว่าหรือเชื่อว่าเยาวชนนักกิจกรรมทางสังคมและการเมืองเหล่านั้น จะหรือได้ “กระทำการหรือมีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกัน” กับข้อกล่าวหาของพนักงานอัยการ หรือการที่ศาลกำหนดห้ามผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว “กระทำการหรือมีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกัน” จึงเป็นคำสั่งที่เสมือนหนึ่งว่า พวกเขาต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิดจริงตามกล่าวหา

ในกรณีที่อนุญาติให้ปล่อยตัวชั่วคราว การที่ศาลกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ที่เยาวชนนักกิจกรรมที่ตกเป็นผู้ต้องหา/จำเลย จำต้องยอมรับเพื่อให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต้องติด EM และ/หรือ ห้ามออกนอกบ้านตลอด ๒๔ ชั่วโมง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อนนั้น เสมือนเป็นการคุมขังพวกเขาไว้ที่บ้าน (House Arrest) เป็นการตอกย้ำว่า คำสั่งในลักษณะดังกล่าวของศาล เป็นการพิพากษาแล้วว่าพวกเขาเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องและต้องถูกลงโทษโดยการติด EM และ/หรือ ห้ามออกนอกบ้านตลอด ๒๔ ชั่วโมง

การสั่งขังหรือกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว ในชั้นก่อนฟ้องและในชั้นพิจารณาคดี ในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ในคดีที่เยาวชนนักกิจกรรมที่ตกเป็นผู้ผู้ต้องหา/จำเลย กรณีที่เป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นผู้ต้องหา/จำเลยสามารถอุทธรณ์ได้ แต่การอุทธรณ์มักไม่ได้ผล คำสั่งโดยศาลชั้นต้นในหลายคดีมิใช่เป็นคำสั่งของศาลที่เป็นองค์คณะที่พิจารณาคดีเอง โดยเป็นคำสั่งของผู้พิพากษาบางคนที่มักมีคำสั่งในคดีเยาวชนนักกิจกรรมหลายๆคดี ทั้งๆที่ตนมิใช่ผู้ที่รับผิดชอบในการพิจารณาคดีนั้น  ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มีอำนาจนอกระบบได้เข้ามาแทรกแซงการพิจารณาคดีของผู้พิพากษา ซึ่งตามหลักนิติธรรม ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีจะต้องเป็นอิสระอย่างแท้จริง ปลอดพ้นทั้งจากอคติ อำนาจภายนอก รวมทั้งอำนาจของผู้บริหารศาลหรืออื่นใด ดังนั้นแม้ผู้ต้องหา/จำเลยสามารถอุทธรณ์ได้ แต่หากศาลขาดความเป็นอิสระเสียแล้ว การอุทธรณ์ก็ไร้ผล จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ได้เกิดปรากฏการณ์ ประท้วงหน้าศาล บนท้องถนนหรือตามสื่อสังคมต่างๆ  ซี่งเป็นการแสดงออกของผู้คนที่เห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากศาล จึงจำเป็นต้องอุทธรณ์ต่อสังคมและนานาชาติ  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยอย่างยิ่ง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียนว่า มูลนิธิฯ มีข้อห่วงกังวลถึงข้อสงสัยที่กล่าวขานกันในสังคมในเรื่องความเป็นอิสระอคติ การเลือกปฏิบัติ และการด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยศาล ด้วยเหตุแห่งความคิดทางการเมืองของผู้พิพากษาบางราย หรือการแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ดังเช่นกรณีมีคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหา/จำเลย ที่เป็นเยาวชนนักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง การสั่งยกเลิกการปล่อยตัวชั่วคราว การกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว  หรืออนุญาตให้เยาวชนเหล่านั้นถอนประกัน ดังเช่นกรณีของ เก็ท ใบปอ ตะวัน และแบม เป็นต้น จึงขอสะท้อนและเสนอข้อคิดเห็นต่อท่าน ในฐานะในฐานะอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา โฆษกศาลยุติธรรม และผู้พิพากษาเวรรับผิดชอบการพิจารณาหมายฝากขังและการให้ปล่อยตัวทุกศาล ดังนี้

– คำว่า “ปล่อยตัวชั่วคราว” สะท้อนถึงแนวคิดว่า การคุมขังผู้ต้องหา/จำเลยไว้ในอำนาจของรัฐเป็นหลัก โดยการปล่อยตัวผู้ต้องหา/จำเลยเป็นข้อยกเว้น ซึ่งเป็นแนวคิดทางกฎหมายที่ล้าสมัย ขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่ว่า “มนุษย์ทุกคนเกิดมามีอิสระเสรี” และหลักของความยุติธรรมทางอาญาที่ “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเขาเป็นผู้กระทำผิด”อันเป็นหลักการที่นานาชาติและสังคมไทยยึดถือ ซึ่งหมายถึงว่า การคุมขังผู้ต้องหา/จำเลย ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดว่ามีความผิด และให้ลงโทษขังหรือจำคุก เป็นเพียงข้อยกเว้น โดยรัฐควรจะเอาบุคคลไว้ในอำนาจโดยการคุมขังซึ่งเป็นมาตรการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างยิ่งยวดได้ เฉพาะกรณีจำเป็นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยวิธีการที่เหมาะสมได้สัดส่วน  โดยชอบธรรม  และโดยคำสั่งหรือในกรณีลงโทษตามคำพิพากษาของศาลอันเป็นที่สุดเท่านั้น

– การมีคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวหรือการกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา/จำเลยที่เป็นเยาวชนนักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง มีลักษณะที่ขัดกับหลักการข้างต้นในข้อ ๑. อย่างชัดแจ้งคือ  คำสั่งศาลที่กำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการให้พวกเขาต้องปฏิบัติหลายประการ โดยที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดว่าพวกเขาเป็นผู้กระทำผิดนั้น มูลนิธิฯ เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างผู้กระทำความผิด  เช่น

(๑) การห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา คำสั่งศาลที่ไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยเหตุที่เกรงว่าจะไป“กระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา” หรือ ในกรณีที่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่กำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามไป “กระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา” ทั้งๆที่ผู้ต้องหา/จำเลย ได้ให้การปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดี โดยยังโต้แย้งข้อกล่าวหานั้นอยู่โดยเฉพาะข้อหาที่เจ้าหน้าที่ถือว่า “ความคิดความเชื่อทางสังคมหรือการเมืองและการแสดงออกซึ่งความคิดความเชื่อทางสังคมหรือการเมืองที่ต่างจากผู้มีอำนาจ ถือเป็นอาชญากรรม” ผู้ใดคิดเชื่อหรือกระทำเช่นนั้นต้องถูกจับกุมคุมขัง ฟ้องร้องดำเนินคดีให้ศาลลงโทษ   ทั้งๆที่สิทธิเสรีภาพในความคิด ความเชื่อและการแสดงออก เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ทั้งๆที่ศาลยังมิได้ทำหน้าที่ตรวจสอบพยานหลักฐานตามข้อกล่าวหาของอัยการ และทั้งๆที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดว่าพวกเขาเป็นผู้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหานั้น

การที่ศาลสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราว ยกเลิกการปล่อยตัวชั่วคราว หรือการให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขห้าม “กระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา” มูลนิธิฯ เห็นว่า อาจเข้าข่ายเป็นการ “ตั้งธงตัดสินคดีเอาไว้ก่อนโดยอคติ (prejudge)”ว่าผู้ต้องหา/จำเลยได้กระทำผิดแล้วจริงตามที่กล่าวหา โดยที่ศาลที่ยังไม่ได้รับฟังและตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆของอัยการซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ซี่งศาลในฐานะฝ่ายตุลาการมีหน้าที่และอำนาจต้องตรวจสอบถ่วงดุลตามกระบวนวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา/จำเลย ตามหลักนิติธรรม

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ศาลไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือยกเลิกคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว คุมขังผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมสังคมและการเมือง เพราะเกรงว่าพวกเขาจะ หรือได้ “กระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา” นอกจากเป็นการตัดสินคดีไว้ก่อนโดยอคติดังกล่าวมาแล้ว มูลนิธิฯเห็นว่า ยังอาจถือว่าเป็นการ “ลงโทษ”  ผู้ต้องหา/จำเลยนั้น โดยที่ยังไม่ทันมีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดว่าพวกเขาเป็นผู้กระทำผิดอีกด้วย

(๒) การติดกำไล EM และห้ามออกนอกบ้านตลอด ๒๔ ชั่วโมง

แม้จะมีการแก้ไข ป.วิอาญา มาตรา ๑๐๘ วรรคสาม ในปี ๒๕๕๘ โดยกำหนดว่า

“ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

ก็ตาม แต่มูลนิธิฯ เห็นว่าการที่กฎหมายกำหนดให้ใช้ EM  สำหรับผู้ต้องหา-/จำเลย ซึ่งยังมิใช่นักโทษที่ศาลได้มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดให้ลงโทษนั้นขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยเฉพาะบทบัญญัติมาตรา ๔ ที่รับรองศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มาตรา ๒๖ กฎหมายจะต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพเกินสมควร และไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมาตรา ๒๙ วรรคสองและวรรคสาม ดังกล่าวข้างต้น เป็นต้น กล่าวคือ

(๒.๑) การติด EM และห้ามออกนอกบ้านเป็นการลงโทษ การติด EM  และการห้ามผู้ต้องหา/จำเลย ออกนอกบ้านตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทั้งๆที่ยังถือว่าพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ขัดต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน (ก)เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์โดยการติด EM และการห้ามออกนอกบ้าน ๒๔ ชั่วโมง เป็นการตีตราและด้อยค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา/จำเลย  (ข)เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเกินสมควร คือ สิทธิในความเป็นส่วนตัว การเดินทาง รวมทั้งการสมาคม และการกระทำกิจกรรมส่วนตัว เช่น การศึกษา การไปรับการรักษาพยาบาล กิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจเช่นการทำงาน และการเมือง เช่นการสมาคมหรือชุมนุมโดยสงบ และกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา/จำเลย ยิ่งไปกว่านั้น การติด EM และการห้ามออกนอกบ้านตลอด ๒๔ ชั่วโมงทั้งๆที่พวกเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ อาจถือเป็นการ“ลงโทษ”เสมือนหนึ่งว่าพวกเป็นผู้ต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิดแล้ว

ขอเรียนว่า การติด EM ผู้ต้องหา/จำเลย หากเป็นมาตรการเชิงป้องกัน ในทางหลักการแล้วอาจทำได้ในลักษณะที่เป็น “วิธีการเพื่อความปลอดภัย” ซึ่งใช้ในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดแล้ว การกำหนดมาตรการเชิงป้องกันอันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยที่ศาลมิได้มีคำพิพากษาว่าบุคคลกระทำความผิด เป็นมาตรการของฝ่ายบริหารเช่นการคุมขังเพื่อป้องกันมิให้ไปกระทำผิด (preventive detention) ซึ่งไม่มีอยู่ในระบบกฎหมายอาญาของไทยและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยหากกฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารใช้มาตรการใดๆในลักษณะดังกล่าว ศาลก็ยังต้องมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบความชอบธรรมและความเหมาะสมของการใช้มาตรการนั้น แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นกับเยาวชนนักกิจกรรมที่เป็นผู้ต้องหา/จำเลย การกลับเป็นว่า การติด EM ผู้ต้องหา/จำเลย และการห้ามออกนอกบ้านตลอด ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรการที่ลิดรอนหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างยิ่ง เป็นมาตรการที่ศาลใช้เสียเอง แล้วกลไกหรือหน่วยงานใดเล่าจะตรวจสอบการใช้อำนาจของศาล? จึงไม่แปลกใจที่ผู้ที่เห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้อุทธรณ์ต่อประชาชน โดยการใช้สิทธิเสรีภาพนอกศาล

(๒.๒) ยินยอมหรือจำยอมให้ติด EMในการแก้ ป.วิอาญามาตรา ๑๐๘ วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้น เจ้าหน้าที่อาจเล็งเห็นแล้วว่า การติด EM อาจขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักแห่งความยุติธรรมทางอาญา จึงกำหนดดังเป็นเงื่อนไขอีกประการหนึ่งไว้ในวรรคสามดังกล่าวว่า  “…. หรือในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์อีเล็คทรอนิคส์ …….ก็ได้ “ ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้ออ้างว่า การติด EM ไม่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน เพราะผู้ต้องหา/จำเลย“ยินยอม”แต่ในความเป็นจริงแล้ว การติด EM เป็นเงื่อนไขเชิงบังคับ หากผู้ต้องหา/จำเลยไม่ “ยินยอม” ก็จะไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว ความ “ยินยอม” โดยแท้แล้วคือ ความ “จำยอม” ของผู้ต้องหา/จำเลย

อนึ่ง มูลนิธิฯ เห็นว่า การติด EM เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตีตราว่าเป็นผู้กระทำผิด ด้อยค่าและละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งโดยหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว ถือเป็นข้อห้ามโดยเด็ดขาดที่รัฐ หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ ไม่อาจกระทำได้ ไม่ว่าโดยเหตุผล กาล เวลา สถานที่ หรือสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม การที่ผู้ต้องหา/จำเลย จำยอมต้องติด EM จึงไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลหรือขออ้างเพื่อให้ศาล ซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการสั่งหรือกำหนดเป็นเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา/จำเลยได้

(๒.๓) การติด EM และการห้ามออกนอกบ้านไม่ควรเป็นเงื่อนไขของการปล่อยตัวชั่วคราวตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความวิอาญา เหตุผลที่ศาลจะไม่ปล่อยตัวนั้น กำหนดไว้ใน มาตรา ๑๐๘/๑ เท่านั้นคือ“มาตรา ๑๐๘/๑๖ การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(๒) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(๓) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(๔) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(๕) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล”

ดังนี้การติดหรือไม่ติด EM  ทั้งที่เป็นการยินยอม หรือจำยอมของผู้ต้องหา /จำเลยจึงมิใช่เหตุที่ศาลอาจอ้างเพื่อสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา/จำเลยหรือไม่แต่อย่างใด

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า คำสั่งขังหรือไม่ปล่อยตัวชั่วคราว ถอนการปล่อยตัวชั่วคราว หรือให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ดังเช่นกรณีเยาวชนนักกิจกรรมทางสังคมและการเมืองที่ตกเป็นผู้ต้องหา /จำเลย เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินสมควร และกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ตั้งอยู่บนหลักของการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม นิติธรรมและสิทธิมนุษยชน   การอุทธรณ์คำสั่งไม่ได้ผลต่อการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาบางคน รวมทั้งการดำเนินการเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือกลไกอื่นๆในประเทศไทยก็ไม่ยังผลให้การใช้อำนาจตุลาการในบางกรณีได้รับการเยียวยาแก้ไข  จนเกิดความเชื่อว่า กระบวนการยุติธรรมชั้นพิจารณา (ชั้นศาล) ขาดความเป็นอิสระ เช่นเดียวกับกระบวนการยุติธรรมชั้นเจ้าพนักงาน (ชั้นพนักงานสอบสวนและอัยการ) เมื่อการเรียกร้องสิทธิตามขั้นตอนที่มีอยู่หมดสิ้นหนทาง การยอมจำนนกับคำสั่งที่ไม่เป็นก็ถูกท้าทาย ดังเช่น เมื่อ ๑๖  ม.ค. ๒๕๖๖ นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ นางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม นักกิจกรรมหญิงทั้ง ๒ ราย ยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวชั่วคราวของตนเอง เพื่อประท้วงเรียกร้องต่อศาลให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมืองอื่นๆ รวมถึงเสนอข้อเรียกร้อง ๓ ข้อ ได้แก่ ๑) การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ๒) ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง ๓) เรียกร้องทุกพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา ๑๑๒ และข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๖ ขณะนี้นักกิจกรรมทั้งสองได้อดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ ๑๘ มค. จนมีสภาพร่างกายอิดโรยและถูกส่งตัวเข้ารับการดูแลที่โรงพยาบาล และอาจถึงขั้นเสียชีวิตในไม่ช้านี้ บัดนี้เป็นเวลามากว่า ๑๗ วันแล้ว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงเรียนมายังท่านในฐานะอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา โฆษกศาลยุติธรรม และผู้พิพากษาเวรรับผิดชอบการพิจารณาหมายฝากขังและการให้ปล่อยตัวทุกศาลให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ หลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน ทั้งสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมช่วยทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเสมอภาค โดยศาลมีบทบาทสำคัญยิ่งในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพวกเขา ในกระบวนการยุติธรรมในทุกระดับ เพื่อส่งเสริมให้กระบวนการยุติธรรมมีความก้าวหน้ายึดโยงกับประชาชนเป็นที่ตั้ง สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศต่อไป 

เมื่อการใช้อำนาจของผู้พิพากษาบางคนไม่เป็นธรรม การที่กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายไทยมีข้อจำกัดหรือบิดเบือนไปทำให้ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ ทั้งการใช้ดุลพินิจขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดกับกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอให้ท่านในฐานะประธานของฝ่ายตุลาการดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว การกำหนดหลักประกันและเงื่อนไข การถอนการประกันตัว อย่างเร่งด่วนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนและประชาคมนานาชาติต่อฝ่ายตุลาการซึ่งเป็นเสาหลักของกระบวนการยุติธรรมไทย กลับมา  เพื่อให้ฝ่ายตุลาการสามารถมีบทบาทในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อำนวยความยุติธรรมซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและนำมาซึ่งสันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคม ได้อย่างแท้จริง ตามหลักการของสังคมประชาธิปไตย ต่อไป

จากข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นดังกล่าวข้างต้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงเรียนมายังท่าน ได้โปรดตรวจสอบและแก้ไขคำสั่งเกี่ยวกับแนวทางในการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหา/จำเลยที่เป็นนักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ทั้งในเรื่องการไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว การยกเลิกคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว การให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขในลักษณะดังกล่าวข้างต้น และการอนุญาตให้ผู้ต้องหา/จำเลยยกเลิกการปล่อยตัวชั่วคราว ดังกรณีของนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ นางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม เป็นต้น โดยเร่งด่วน เพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม นิติธรรมและสิทธิมนุษยชนและเรียกความเชื่อถือของประชาชนต่อสถาบันตุลาการคืนมา

ขอแสดงความนับถือ

(พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ)
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab