หลังจากที่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ “ตะวัน” และ อรวรรณ ภู่พงษ์ “แบม” ประกาศยกระดับอดอาหาร และน้ำในเรือนจำ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 หลังจากยื่นถอนประกันตัวเองที่ศาลอาญา บัดนี้ผ่านมากว่า 8 วันแล้ว และอาการของนักกิจกรรมทั้งสองทรุดลงอย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุเร่งด่วนที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะออกมาตรการเพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องและเพื่อให้สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนี้ยุติโดยทันที
ในการนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงส่งจดหมายปิดผนึกเรียนประธานศาลฎีกา โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อห่วงกังวลเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และการใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ยกเลิกคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ให้ปล่อยตัวชั่วคราว และอนุญาตให้ผู้ต้องหา/จำเลยยกเลิกการปล่อยตัวชั่วคราว ดังกรณีของตะวัน และแบม
ประเด็นปัญหาเหล่านี้ขัดต่อกฎหมายภายในประเทศ และหลักความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้แก่ รัฐธรรมนูญไทย กฎหมายอาญาไทย หลักนิติธรรม และกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair trial) หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of innocence)
เมื่อการใช้อำนาจของผู้พิพากษางคนที่ไม่เป็นธรรม การที่กระบวนการยุติธรรม และกฎหมายไทยมีข้อจำกัดหรือบิดเบือนไปทำให้ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ ทั้งที่มีการใช้ดุลพินิจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดกับกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาเนื้อหาและข้อเท็จจริงในจดหมายปิดผนึกอย่างถ้วนถี่ และตัดสินใจดำเนินการทันที เพื่อแก้ไขวิกฤตศรัทธาดังกล่าว คลี่คลายความขัดแย้งเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมา
#ตะวันแบม #ยืนหยุดขัง #ปล่อยนักโทษการเมือง #ยกเลิก112 #ยกเลิก116 #ขอแรงแสดงพลัง