[:th]CrCF Logo[:]

ความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อประชาชนต้องสู้คดีกับรัฐ โดย ภาสกร ญี่นาง

Share

ห้วงเวลาที่ผ่านมา เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างยาวนานว่า กระบวนการยุติธรรม หรือการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนคนไทย เป็นสิ่งที่มีราคาสูง ดังคำกล่าวที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ซึ่งหมายถึง กรณีที่เกิดคดีความขึ้น บุคคลผู้มีสถานภาพทางสังคมต่ำมักจะตกเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ กลับกันหากเป็นบุคคลที่มีสถานะทางสังคม และเศรษฐกิจสูง ก็จะเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์เป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ ข้อความคิดดังกล่าว ทำให้นึกถึงคำพูดของ อแนคคาซิส (Anacharsis) นักปรัชญาชาวไซเทียน (Scythians) ที่มีชีวิตอยู่ช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาลที่กล่าวถึงลักษณะของกฎหมายว่า “กฎหมายก็เหมือนกับใยแมงมุม ที่จะดักจับได้เฉพาะคนอ่อนแอ และยากจน แต่จะแหลกสลายไม่เป็นชิ้นดีเมื่อเจอกับคนรวย และผู้มีอิทธิพลบารมี”

ดังนั้น บทความนี้ จะพยายามอภิปรายถึง “ทุน” และ “สิ่งที่ต้องจ่าย” ของประชาชนที่มีสถานะเป็นเบี้ยล่างของโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทย เมื่อเผชิญปัญหาความรุนแรงและต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ประชาชนต้องสะสมทุนอะไรบ้าง เพื่อให้ตนเองสามารถเข้าใกล้กับความยุติธรรม

ความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อประชาชนต้องสู้คดีกับรัฐ โดย ภาสกร ญี่นาง
Graphic: ตวงทอง จงเจริญ

แนวคิดว่าด้วย “ทุน” ในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“ทุน” (capital) ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียม เกิดระบบชนชั้น และเกิดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติของสังคม รวมถึงเรื่องการเข้าถึงความยุติธรรม เพราะทุนจะเป็นตัวกำหนดให้ปัจเจกบุคคลแต่ละคนมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมนั้นๆ แตกต่างกันไป จะเป็น “คนอ่อนแอ” หรือ “ผู้ทรงอิทธิพล” ก็ขึ้นอยู่กับทุนที่ตนเองครอบครอง ซึ่งทุนที่ต่างกัน ย่อมทำให้ความเป็นไปได้และศักยภาพในการบรรลุเป้าหมาย ตลอดจนการเผชิญกับปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ มากน้อยแตกต่างกันไปด้วย

คำว่าทุนในที่นี้ จะมีความหมายที่แตกต่างไปจากคำว่า “ต้นทุน” (cost) ที่หมายถึง มูลค่าของทรัพยากรที่สูญเสียไปเพื่อให้ได้มาตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ แต่ทว่า ทุน ในบทความนี้ จะหมายถึง ปัจจัยที่ส่งผลต่อศักยภาพของบุคคลในสถานการณ์ความขัดแย้งหรือในคดีความที่คู่ขัดแย้งจำเป็นต้องสะสม เพื่อสร้างแต้มต่อให้ตนสามารถเข้าใกล้และบรรลุเป้าหมายที่ตนเองตั้งไว้ได้  ทั้งนี้  ปีแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) นักปรัชญาสังคมชาวฝรั่งเศส ผู้วางรากฐานความคิดว่าด้วยทุน ได้แบ่งประเภทของทุนเป็น 4 ลักษณะ คือ 1Bourdieu, P., The Forms of Capital in Halsey, A.H., H. Lauder, P. Brown and A.S. Wells (eds). (Oxford: Oxford University Press. 1997), 46 – 75.

(1) ทุนทางเศรษฐกิจ (economic capital)

ในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประชาชน กลายเป็นเรื่องปกติที่ผู้ประสงค์จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จำเป็นต้องอาศัยเงินทอง ทรัพย์สินที่มี ความมั่งคั่งทางวัตถุ และการต้องสละเวลาทำมาหากินจำนวนมาก สถานะทางเศรษฐกิจเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะคอยเสริมศักยภาพในการต่อสู้คดี เพราะตลอดห้วงเวลาที่กระบวนการยุติธรรมดำเนินอยู่ ประชาชนจะต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องต่างๆ หลายส่วน ทั้งค่าทนายความ ค่าขึ้นศาล ค่าเดินทาง

รวมถึงการแบกรับค่าเสียโอกาสในการทำมาหากิน การหารายได้ ซึ่งแทนที่จะเอาเวลาไปหาเงินมาเลี้ยงชีพ และจับจ่ายภายในครอบครัว หลายคนกลับต้องนำมาใช้กับการดำเนินคดีความแทน ซึ่งในแง่นี้ “เวลา” ถือเป็นส่วนหนึ่งของทุนทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง

เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น คือ ทุนทางเศรษฐกิจอาจเป็นเสมือนน้ำมันเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนให้บุคคลที่ต่อสู้คดียังคงมีพลกำลังหรือมีแรงที่จะใช้ในการแสวงหาความยุติธรรมได้ต่อๆ ไป เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อต้องเผชิญหน้ากับอีกฝ่ายที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คดีความมักใช้ระยะเวลาดำเนินกระบวนการนานกว่าปกติ และยิ่งระยะเวลาที่ผ่านไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งหมายความว่าต้องใช้จ่าย และสูญเสียโอกาสในการหารายได้มากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น การที่บุคคลใดสามารถสะสมทุนทางเศรษฐกิจไว้มาก ย่อมทำให้บุคคลนั้นมีศักยภาพในการแสวงหาความยุติธรรมให้เป็นจริงได้ง่ายขึ้น ตรงกันข้าม หากบุคคลใดมีความด้อยสถานะทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถสะสมทุนดังกล่าวไว้ได้ การสยบยอมและยอมรับความพ่ายแพ้ก็อาจเป็นหนทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหาในมิตินี้ จะยิ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัด เมื่อประชาชนที่ต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นประชากรกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจรัฐ และต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวน ก็ยิ่งทำให้ความยุติธรรมดูเหมือนสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

(2) ทุนทางสังคม (social capital)

การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมไทย องค์ประกอบที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าทุนทางเศรษฐกิจ คือ การสะสมทุนทางสังคม ผ่านการสร้างเครือข่าย ความสัมพันธ์ พันธมิตร หรือการจัดตั้งกลุ่มของผู้มีส่วนได้เสียและมีเป้าหมายในเรื่องเดียวกัน การสะสมทุนทางสังคม ในแง่หนึ่งยังเป็นการเสริมศักยภาพหรืออำนาจในการต่อรองให้ทัดเทียมกับอีกฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าเป็นทุนเดิมได้ 2รุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข, มโนทัศน์ชนชั้นแลทุนของ ปิแอร์ บูร์ดิเออ, วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพา, 2 ฉ.1 (2557), 39 เพราะการที่คู่ขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถก่อตั้งเครือข่ายของกลุ่มผลประโยชน์ขึ้น ก็ถือเป็นการสะสมทุนหรือทรัพยากรด้านอื่นๆ ไปในตัว

ทุนทางสังคมนี้ เกี่ยวข้องกับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของกลุ่มทางสังคมผ่านระบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความรู้สึกที่มีร่วมกัน ความเข้าใจที่มีร่วมกัน บรรทัดฐานที่มีร่วมกัน คุณค่าที่มีร่วมกัน ความไว้วางใจ ความร่วมมือ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างชอบธรรม เพื่อนำพากันและกันไปถึงเป้าหมายได้ในที่สุด 3Ostrom, E., Social capital: A fad or a fundamental concept? In P. Dasgupta & I. Serageldin (Eds.), Social Capital: A multifaceted perspective. (Washington, DC: World Bank. 2000), 176

กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายคือ การต่อสู้คดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ  ฝ่ายประชาชนจำเป็นต้องอาศัย “เส้นสาย” และความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพ ยกตัวอย่างเช่น เครือข่ายทนายความที่ทำงานประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นฝ่ายที่นำองค์ความรู้ และวิชาชีพทางด้านกฎหมายมาประจันหน้ากับฝ่ายรัฐที่ครอบครองทรัพยากรจำนวนมากบนชั้นศาล หรือ บางกรณีการดำเนินกระบวนการยุติธรรม ยังต้องอาศัยวิธีการนอกกฎหมายโดยอาศัยความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้มีอำนาจหรือผู้มีสถานะทางสังคมระดับสูง เช่น นายทหารระดับสูง นักการเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับผู้บังคับบัญชา เพื่อเป็นช่องทางเข้าเร่งรัด ตรวจสอบ และติดตามคดี

ปัญหาคือ การสะสมทุนทางสังคม ต้องอาศัยโอกาสในการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมทางสังคมรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าผู้กระทำการจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เช่น งานรื่นเริง งานสัมมนา งานประชุม ฯลฯ 4Chevalier, S. and Chauviré, C., Dictionnaire Bourdieu. (Paris: Ellipses, 2010), 18 – 19 อ้างใน ฐานิดา บุญวรรโณ, ความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์หลักของปิแอร์ บูร์ดิเยอ, วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 18 ฉ.1 (2565), 16.

แต่ทว่าในประเทศที่ผู้คนมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเหลื่อมล้ำกันสูง ย่อมทำให้โอกาสการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ดังกล่าวแตกต่างกันไปด้วย ส่งผลให้การแสวงหาความยุติธรรมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับกลุ่มคนชายขอบหรือผู้ที่มีสถานะด้อยกว่าเพราะคนกลุ่มนี้ไม่สามารถสะสมทุนทางสังคมและสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับเหล่าผู้มีอำนาจหรือผู้ที่มีสถานะสูงกว่าได้

ความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อประชาชนต้องสู้คดีกับรัฐ โดย ภาสกร ญี่นาง

(3) ทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital)

เรื่องทุนทางวัฒนธรรม นัยหนึ่ง คือ การชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ “องค์ความรู้” ที่บุคคลคน ๆ หนึ่งได้ร่ำเรียนมา ซึ่งสะท้อนออกมาด้วยสภาวะที่แฝงฝังอยู่ในตัวตนของบุคคลคนนั้น ให้กลายเป็นคนมีความรู้ความสามารถในขอบเขตความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งเฉพาะทาง การได้รับการขัดเกลา ความสามารถในการใช้ภาษาได้ดีและมีวาทศิลป์ ตลอดจนถึงการตระหนักรู้ถึงกฎระเบียบของโลกทางสังคม 5ฐานิดา บุญวรรโณ, เรื่องเดียวกัน, 16. สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้บุคคลนั้นมีทุนทางวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ที่จะทำให้เข้าใกล้เป้าหมายได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ทุนทางวัฒนธรรม ยังสามารถปรากฏออกมาเป็นที่รับรู้เชิงประจักษ์และเป็นรูปธรรม ด้วยสภาวะที่องค์ความรู้ถูกทำให้กลายเป็นสถาบัน ผ่านการดำรงชั้นยศ ตำแหน่ง วุฒิการศึกษา ใบประกาศนียบัตร รวมทั้งสถานะที่ได้รับการยอมรับในเชิงสถาบันไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์ อัยการ ผู้พิพากษา หรือตำแหน่งหน้าที่ต่อสาธารณะ ซึ่งทุนทางวัฒนธรรม เช่นนี้ ส่งผลให้บางสังคม ผู้คนทั้งหลายไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะคนจำนวนมากยังคงขาดโอกาสในการแสวงหาความรู้ ภายใต้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เรื้อรังและรุนแรง

ดังนั้น การเข้าถึงและการขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรม ล้วนต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและกระบวนการพิจารณาคดี การเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านนิติศาสตร์ ก็ถือเป็นผู้ที่มีทุนเหนือกว่าคนอื่น ๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้   

(4) ทุนทางสัญลักษณ์ (symbolic capital)

ทุนลักษณะสุดท้าย คือ ทุนทางสัญลักษณ์ 6รุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข, เรื่องเดียวกัน, 40 – 41. ซึ่งบุคคลอาจรับรู้ได้จากการสัมผัสรู้และยอมรับว่ามีอยู่ เช่น ชื่อเสียง ความมีรสนิยม ความสวย ความหล่อ ความน่าดึงดูด สถานะทางชนชั้น ศักดิ์ศรี การได้รับการยอมรับ ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่สังคมหนึ่งๆ สถาปนาขึ้นผ่านกระบวนการประเมินคุณค่าเชิงสังคมว่าจะให้ความหมายต่อสรรพสิ่งว่า อย่างไรสวย อย่างไรมีรสนิยม อย่างไรอัปลักษณ์ อย่างไรเชย และก็ที่สามารถสะสมทุนทางสัญลักษณ์ ย่อมส่งผลให้เจ้าของทุนเกิดความได้เปรียบ และเกิดเป็นผลประโยชน์ต่างๆ ตามมา

ทุนลักษณะนี้สามารถได้มาจากการที่บุคคลคนนั้นมีทุนทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐาน และหากมีทุนทางเศรษฐกิจมากพอ บุคคลในสังคมก็จะรับรู้และยอมรับสถานะที่มั่งคั่ง เช่น การเป็นเจ้าสัว หรืออีกทางหนึ่ง บุคคลที่เป็นตัวแสดงในสังคมอาจใช้ทุนทางเศรษฐกิจที่ตัวเองครอบครองนำไปสร้างประโยชน์กับคนอื่น ๆ ด้วยการบริจาค การตั้งมูลนิธิ หรือสมาคม ซึ่งจะทำให้สังคมรับรู้และให้คุณค่าตัวบุคคลนั้นด้วยคำว่า “คนดี” ของสังคมหรือผู้ใจบุญ 7ฐานิดา บุญวรรโณ, เรื่องเดียวกัน, 16.

ในระบบกฎหมาย ทุนทางสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมอย่างมีนัยสำคัญ งานวิจัยด้านกฎหมายในต่างประเทศ ได้ชี้ให้เห็นปัญหาว่า ผู้ที่มีความน่าดึงดูดหรือมีรูปลักษณ์ภายนอกตรงกับแบบฉบับของมาตรฐานความงาม (beauty standard) ของสังคม มีโอกาสที่จะถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดหรือถูกจับกุมน้อยกว่า และส่งผลอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้นต่อบุคคลที่เป็น ‘ผู้หญิง’ ที่มีรูปร่างหน้าตาตรงตามมาตรฐานความงาม 8Kevin M. Beaver, Cashen Boccio, Sven Smith, and Chris J. Fergusond, Physical attractiveness and criminal justice processing: results from a longitudinal sample of youth and young adults, Psychiatr Psychol Law. 2019; 26(4): 669–681.

และในแง่ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีวัตถุพยานหลักฐานหรือข้อมูลภูมิหลังใดๆ ของบุคคลผู้ต้องสงสัย การที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ รวมถึงการตัดสินใจกระทำการใด ๆ ที่มีผลในทางกฎหมาย การรับรู้ที่นำมาประกอบการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็หนีไม่พ้นเรื่องรูปร่างลักษณะหน้าตาและความน่าดึงดูดของคนนั้น 9Rhode, D., The Beauty Bias: The Injustice of Appearance in Life and Law, (New York: Oxford University Press, 2010)

ดังนั้น ปัญหาสำหรับของคนบางกลุ่มที่ถูกสังคมประเมินค่าให้มีสถานะด้อยกว่า รวมถึงยังเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามความมั่นคงของชาติที่ต้องถูกกำจัด เช่น ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐนำมาเชื่อมโยงกับปัญหาขบวนการค้ายาเสพติด กลุ่มทหารเกณฑ์ที่มีตำแหน่งชั้นยศต้อยต่ำที่สุดในสายบังคับบัญชาของทหาร ประชาชนชาวมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยที่ถูกเหมารวมให้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ ผู้คนเหล่านี้ ย่อมเป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถครอบครองทุนทางสัญลักษณ์ และต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในกระบวนการยุติธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กรณีศึกษา: การต่อสู้ทางคดีระหว่างรัฐกับประชาชนผู้ไร้ทุน

กรอบคิดว่าด้วย “ทุน” ที่อภิปรายไว้ข้างต้น จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำมาวิเคราะห์ถึงปัญหา ปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลกระทบต่อมิติในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ก่อความรุนแรงต่อประชาชน กล่าวคือ ประชาชนที่ไม่สามารถสะสมทุนประเภทต่าง ๆ ไว้ได้ ก็ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากและความเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ทำให้ความยุติธรรมเป็นเรื่องห่างไกล ทั้งนี้ เนื้อหาส่วนนี้ จะเป็นการยกกรณีศึกษา ซึ่งเป็นคดีความที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือเหยื่อ เพื่อจะสะท้อนให้เห็นภาพว่า ประชาชนที่ขาดไร้ทุนต้องตกอยู่ในสถานการณ์อย่างไร เมื่อต้องต่อสู้คดีกับฝ่ายรัฐและผู้มีอำนาจ

ความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อประชาชนต้องสู้คดีกับรัฐ โดย ภาสกร ญี่นาง

กรณีศึกษาที่ 1: คดีชัยภูมิ ป่าแส

กรณีศึกษาคดีแรก คือ เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กระทำการวิสามัญ ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ อายุ 17 ปี ด้วยอาวุธเอ็ม 16 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ฝ่ายเจ้าหน้าที่อ้างว่า ในวันดังกล่าวได้เรียกตรวจค้นรถที่ชัยภูมิโดยสารมาด้วย และพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) จำนวนมากซุกซ่อนอยู่ในกรองอากาศของรถคันดังกล่าว พร้อมอ้างอีกว่าผู้ตายพยายามขัดขืนการจับกุม โดยหยิบมีดจากหลังรถพยายามต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ และวิ่งหลบหนีเข้าไปในป่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตามไปพบว่า ผู้ตายกำลังจะปาระเบิดชนิดขว้างสังหารใส่ จึงได้ทำการวิสามัญโดยยิงเข้าที่ตัวของชัยภูมิ 1 นัด 10นักข่าวพลเมือง, “เปิด Timeline จากปากคำชาวกองผักปิ้ง วัน ชัยภูมิ ป่าแส ถูกทหารวิสามัญฯ,” 29 มีนาคม 2560, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2017/03/70800 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).

การตายของ ชัยภูมิ สร้างบรรยากาศความน่าสงสัยและความไม่ชอบมาพากลแก่ญาติและผู้คนในสังคมทั่วไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นภาพจากกล้องวงจรปิด ในฐานะพยานหลักฐานชิ้นสำคัญ ซึ่งอาจบ่งชี้ข้อเท็จจริงและเรื่องราวของเหตุการณ์ทั้งหมดในวันนั้นได้ แต่เมื่อมีการตรวจไฟล์กล้องวงจรปิดกลับตรวจไม่พบข้อมูลวันเกิดเหตุ

จึงมีเพียงคำกล่าวอ้างของ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ณ ขณะนั้น ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า ได้ดูภาพกล้องวงจรปิดดังกล่าวแล้ว แต่ยังระบุไม่ได้ว่าใครผิด ส่วนตัวจะไม่ขอแทรกแซงหรือสั่งให้นำมาเปิดเผย พร้อมบอกให้สังคมรอก่อน 11บีบีซีไทย, “รายงาน: หนึ่งเดือน คดีวิสามัญ “ชัยภูมิ ป่าแส” กับปมปริศนาที่ยังไม่คลี่คลาย,” 17 เมษายน 2560, บีบีซีไทย, https://www.bbc.com/thai/thailand-39619396 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566). จนสุดท้ายผลการไต่สวนการตายของศาล ก็ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ทหารกระทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และข้อเท็จจริงยังคงเต็มไปด้วยเงื่อนงำต่อไป 12ข่าว, “คดีวิสามัญฯ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ทนายผิดหวังคำสั่งไต่สวนการตายของศาล-เตรียมจัดเวทีวิชาการใหญ่,” 6 มิถุนายน 2561, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2018/06/77311 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).

เมื่อเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกบิดเบือนข้อเท็จจริง ส่วนคดีอาญาก็ยังไม่มีการสั่งฟ้องหรือความคืบหน้าใด ๆ มาเป็นระยะเวลานานกว่า 5 ปีนับตั้งแต่ชัยภูมิเสียชีวิต ครอบครัวและญาติของชัยภูมิ จึงตัดสินใจดำเนินการฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบกในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 13ข่าว, “ครอบครัว ‘ชัยภูมิ ป่าแส-อะเบ แซ่หมู่’ ฟ้องแพ่งให้กองทัพบกชดใช้กรณีวิสามัญฯ,” 22 พฤษภาคม 2562, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2019/05/82576 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566). แต่ปัญหา คือ หากวิเคราะห์ “ทุน” ของครอบครัวและญาติชัยภูมิที่มีอยู่น้อยนิด ไม่ว่าจะเป็นมิติทางเศรษฐกิจ ทางวัฒนธรรม และทางสัญลักษณ์ เนื่องจากว่าเป็นเพียงกลุ่มคนชายขอบ อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญทางวัตถุ ประกอบกับเป็นคนชาติพันธุ์หรือ “คนดอย” ที่มักถูกตีตราว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด รวมทั้งยังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและเรื่องของกฎหมาย เหล่านี้ยิ่งทำให้การเรียกร้องความยุติธรรมของพวกเขาเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้

ทุนอย่างเดียวที่ครอบครัวชัยภูมิมีอยู่ คือ ทุนทางสังคม ในแง่ที่มีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายตามแต่ละขั้นตอน แต่ทว่ายังไม่เพียงพอสำหรับการทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ และเมื่อเทียบกับอีกฝ่ายที่เป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีทุนอยู่มากมาย ทั้งความรู้ งบประมาณแผ่นดิน สถานภาพทางสังคม และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชนชั้นปกครองในประเทศ โดยสถานการณ์ที่ทุนของทั้งสองฝ่ายไร้ซึ่งความเสมอภาคเช่นนี้ ส่งผลต่อลักษณะและความเป็นไปของกระบวนการยุติธรรมคดีชัยภูมิอย่างมีนัยสำคัญ

กล่าวคือ แม้แหตุการณ์จะผ่านไปกว่าครึ่งทศวรรษ ครอบครัวชัยภูมิ ยังไม่อาจเรียกร้องความยุติธรรมใด ๆ ให้แก่บุคคลอันเป็นที่รักของได้เลย พวกเขาไม่มีเส้นสายที่จะไปเร่งรัดให้เจ้าพนักงานสอบสวน อัยการทหารดำเนินการรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่วนการฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้น้ำหนักกับคำให้การในชั้นพนักงานสอบสวนของพยานที่ไม่ได้มาเบิกความบนชั้นศาล ซึ่งไม่ใช่คำให้การในวันที่เกิดเหตุ 14ข่าว, “ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีวิสามัญ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’-กองทัพบกไม่ต้องจ่ายเงินเยียวยาแก่ครอบครัว,” 26 มกราคม 2565, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2022/01/96974 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).

การขาดไร้ซึ่งทุนเกือบทุกมิติ นอกจากทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้แล้ว ยังสร้างความยากลำบากแก่ครอบครัวชัยภูมิเป็นอย่างมาก พวกเขาต้องสูญเสียโอกาสหลายด้าน ต้องทนทุกข์กับการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ และถูกคนในชุมนุมตัดขาดความสัมพันธ์ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การที่ติดต่อกับครอบครัวชัยภูมิอาจถูกทำให้ติดหางเลขไปด้วย ขณะเดียวกัน หนทางสู่ความยุติธรรมของครอบครัวชัยภูมิยังคงมืดมนต่อไป

ความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อประชาชนต้องสู้คดีกับรัฐ โดย ภาสกร ญี่นาง

กรณีศึกษาที่ 2: คดีฤทธิรงค์ ชื่นจิตร

คดีที่สองที่จะนำมาเป็นกรณีศึกษา คือ คดีของฤทธิรงค์ ชื่นจิตร จากเหตุการณ์วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ฤทธิรงค์ ขณะนั้นยังคงเป็นนักเรียนชั้น ม.6 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวระหว่างขับมอเตอร์ไซค์อยู่ในตัวเมืองปราจีนบุรี เจ้าหน้าที่บอกให้เขาตามไปที่สถานีตำรวจ แล้วเขาก็ตามไปอย่างบริสุทธิ์ใจ แต่กลายเป็นว่า ฤทธิรงค์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม และซ้อมทรมานให้รับสารภาพว่า เป็นคนกระชากสร้อยทอง เพียงเพราะตำรวจเห็นว่า เขามีรูปพรรณสัณฐานคล้ายผู้ก่อเหตุตัวจริง 15มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, “ห้องสมุดคดี ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร,” https://crcfthailand.org/case-library/rittirong-chuenjit  (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).

ในการวิเคราะห์ทุนของ ฤทธิรงค์ นั้น มีประเด็นปัญหาตั้งแต่วันเกิดเหตุ คือ กรณีที่ผู้เสียหายอย่าง ฤทธิรงค์ ถูกจับ โดยผลของการถูกตีตราและเหมารวมผ่านลักษณะทางกายภาพว่าเป็นพวกโจร หรือผู้กระทำความผิดกฎหมาย เนื่องจาก ฤทธิรงค์ ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาสอดคล้องตรงมาตรฐานความงามของสังคมไทย สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะการขาดซึ่งทุนทางสัญลักษณ์ จนส่งผลให้บุคคลต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งหน้าตาและรูปลักษณ์ ดังที่คำพูดเจ้าพนักงานตำรวจนายหนึ่ง กล่าวต่อบิดาของฤทธิรงค์ว่า “ตัวดำ ๆ แบบนี้ ไม่น่าเป็นคนดีหรอก” 16ภาสกร ญี่นาง, “การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่ง ‘หนังหน้า’ ในกระบวนการยุติธรรม,” 1 มกราคม 2566, เดอะโมเมนตัม https://themomentum.co/ruleoflaw-the-beauty-bias/ (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).

การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ช่วงแรกของการต่อสู้คดี แม้ว่าเมื่อพิจารณาทุนของครอบครัวฤทธิรงค์ จะสามารถสะสมทุนทางเศรษฐกิจจากการประกอบธุรกิจส่วนตัว แต่ก็พบว่า พวกเขายังขาดองค์ความรู้ ขาดเครือข่ายทางสังคม รวมถึงสถานภาพทางสังคมที่เป็นเพียงสามัญชนธรรมดา ทำให้เวลานั้น ครอบครัวฤทธิรงค์ต้องสู้คดีตามลำพัง และไม่ได้รับความคืบหน้าใด ๆ จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามบ่ายเบี่ยงไม่รับการร้องทุกข์ รวมถึงเมื่อคดีเข้าสู่ชั้นการไต่สวนความจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กระบวนการต้องหยุดชะงักไว้กว่า 6 ปี การติดตามและยื่นหนังสือร้องเรียนที่ทางครอบครัวดำเนินการต่อทุกหน่วยงาน 17สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล, “สมศักดิ์ ชื่นจิตร: บทเรียนตลอด 10 ปีที่ต่อสู้ในฐานะ ‘พ่อของแพะ’,” 26 มิถุนายน 2562, เดอะโมเมนตัม, https://themomentum.co/somsak-cheunjit-interview/ (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566). คำตอบที่ได้ คือ “รอดำเนินการ” โดยไม่มีอะไรคืบหน้า และผลการไต่สวนของ ป.ป.ท. ได้ชี้ว่าไม่มีมูลความผิด ซึ่งพบภายหลังว่ามีขบวนการทำพยานหลักฐานเท็จ เพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐ 18ข่าว, “พิพากษารอลงอาญา 2 ปี ผู้บริหาร อปท. แจ้งข้อความเท็จช่วยกลุ่มตำรวจซ้อมทรมาน,” 8 กุมภาพันธ์ 2562, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2019/02/80934 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).

ผลการไต่สวนดังกล่าวนั้น เท่ากับว่าช่องทางการเข้าถึงความยุติธรรมที่รัฐมี ถูกปิดประตูลงทันที กระบวนการยุติธรรมโดยรัฐไม่สามารถพึ่งพาได้อีกต่อไป หนทางเดียวที่หลงเหลืออยู่ ณ ตอนนั้น คือ ครอบครัวฤทธิรงค์จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลด้วยตนเอง ซึ่งจุดนี้ ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมก็เป็นภาคประชาสังคมที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เป็นการสะสมทุนทางสังคมและอาศัยองค์ความรู้ของทนายความเครือข่าย เพื่อให้การดำเนินคดีมีลู่ทางดำเนินต่อไปได้

วันที่ 10 มิถุนายน 2558 ครอบครัวฤทธิรงค์ โดยความช่วยเหลือทางกฎหมายจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาล แต่ทว่าผลลัพธ์ทางคดีไม่เป็นไปตามที่คาดหวังเท่าใดนัก กระบวนการพิจารณาใช้เวลาทั้งสิ้น 2 ปี 9 เดือน ระหว่างนั้นศาลก็พยายามขอไกล่เกลี่ยให้มีการถอนฟ้องเพื่อยุติการดำเนินคดี จนมาถึงวันที่ 28 กันยายน 2561 ศาลจังหวัดปราจีนบุรี อ่านคำพิพากษา ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คนที่มีส่วนร่วมกับการซ้อมทรมานมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ด้วยวิชาชีพของจำเลยและไม่ปรากฏว่าจำเลย เคยถูกลงโทษมาก่อน ศาลจึงให้รอลงอาญา 2 ปี เท่ากับไม่มีใครได้รับโทษทางอาญาจากเหตุการณ์วันนั้นแม้แต่คนเดียว

ส่วนคดีแพ่ง ครอบครัวฝ่ายผู้เสียหาย ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตัวแห่งชาติ วันที่ 26 พฤษภาคม 2560 คดีนี้ต้องสู้ถึงสามศาล ระยะเวลากระบวนพิจารณาคดีตั้งแต่เริ่มจนถึงคดีถึงที่สุด ใช้เวลาไปกว่า 5 ปี 1 เดือน และศาลฎีกามีคำพิพากษาสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวฤทธิรงค์ เป็นจำนวน 3.38 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 28 มกราคม 2552 ถึง 10 เมษายน 2564 แล้วลดเหลือร้อยละ 5 ต่อปีจนกว่าจะจ่ายครบ 19ข่าว, “ศาลสั่ง สตช.จ่าย ‘ฤทธิรงค์’ 3.38 ล้าน พร้อมดอกร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีถูกตร.ทรมานเมื่อปี 52,” 29 มิถุนายน 2565, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2022/06/99296 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).

การต่อสู้คดีของครอบครัวฤทธิรงค์ ทำให้ตระหนักถึงสถานการณ์ความยากลำบากที่สามัญชนหรือคนธรรมดาทั่วไปต้องต่อสู้คดีกับผู้อำนาจรัฐ โดยหากปราศจากความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายจากองค์กรภาคประชาสังคม คดีความย่อมยุติลงตั้งแต่ที่ ป.ป.ท. มีผลการไต่สวนความจริงออกมา ประกอบการที่ไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย และเครือข่ายทางสังคม หรือ “เส้นสาย” ฝ่ายครอบครัวฤทธิรงค์ จึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาแต่ต้น ต่างจากอีกฝ่ายที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย และเป็น “ข้าราชการ” เหมือนกัน ทำให้มีขบวนการให้ความช่วยเหลือเพื่อปกป้องกันและกันตามมา

อีกแง่หนึ่ง อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า การที่คดีความดำเนินไปจนถึงที่สุดได้ นอกจากหัวใจความเป็นนักสู้ไม่สยบยอมต่อความอยุติธรรม ส่วนหนึ่งอาจมาจากกรณีที่ฝ่ายครอบครัวฤทธิรงค์ สามารถสะสมทุนทางเศรษฐกิจได้จำนวนหนึ่ง ทำให้ยังคงมีแรง มีกำลัง ขับเคลื่อนตัวเองให้แสวงหาความยุติธรรมได้ตลอดระยะเวลา 13 ปี ซึ่งแตกต่างจากอีกหลายคดีที่ผู้เสียหายขาดไร้ทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้คดีความต้องยุติลงตั้งแต่ยังไม่เริ่มกระบวนการพิจารณา ผ่านขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ย ด้วยการรับมอบเงินเยียวยาเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี

ความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อประชาชนต้องสู้คดีกับรัฐ โดย ภาสกร ญี่นาง

กรณีศึกษาที่ 3: คดีพลทหารวิเชียร เผือกสม

กรณีศึกษาคดีนี้จะเผยให้เห็นถึง ความพยายามในการสะสมทุนทุกด้านของผู้เสียหายที่ต้องมาต่อสู้คดีกับอีกฝ่ายที่เป็นผู้มีอำนาจ รวมทั้งตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นของทุนบางลักษณะที่ขาดไปไม่ได้ในการดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยข้อเท็จจริงของคดีนี้เกี่ยวกับกรณีที่พลทหารวิเชียร เผือกสม เสียชีวิต เนื่องมาจากการถูกทำร้ายและทรมานโดยกลุ่มครูฝึกระหว่างการฝึกทหารใหม่ ในค่ายทหารกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2554 20มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, “ห้องสมุดคดี วิเชียร เผือกสม,” https://crcfthailand.org/case-library/wichian-puaksom สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566). ซึ่งญาติผู้เสียชีวิตต้องพบกับอุปสรรคมากมายในระหว่างการดำเนินกระบวนการยุติธรรมในทุก ๆ ขั้นตอน

การดำเนินคดีความเอาผิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แยกเป็นสองส่วน ส่วนแรก คือ การฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่ง ซึ่งยุติลงด้วยการเจรจาทำสัญญาประนีประนอมในชั้นศาล และศาลได้พิพากษาให้คดีความเสร็จเด็ดขาดไปเมื่อปี 2557 21พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์, “หนึ่งความตายเพื่อรักษาหลายชีวิต : 10 ปี คดีพลทหารวิเชียร เผือกสม,” 9 ธันวาคม 2564, เดอะแมตเตอร์, https://thematter.co/social/talk-with-narisaraval-kaewnopparat/162297 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566). แต่ในส่วนของคดีอาญา พบว่า กระบวนการยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลทหาร แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านมามากกว่า 1 ทศวรรษแล้วก็ตาม 22ข่าว, “23-25 พ.ย. 65 ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ กรณี ‘พลทหารวิเชียร เผือกสม’ ถูกซ้อมจนเสียชีวิตในค่ายทหารเมื่อ 11 ปีก่อน,” 23 พฤศจิกายน 2565, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2022/11/101551 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).

อุปสรรคในคดี ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ช่วงแรก ๆ หลังเกิดเหตุ โดยฝ่ายกองทัพพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ย ขอยุติเรื่องราว และเสนอว่าจะให้เงินชดเชยเยียวยาจำนวน 3 ล้านบาท พร้อมกับจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพให้ ดังที่มีอดีตนายทหารคนหนึ่งมาคุยกับแม่ของพลทหารวิเชียร พยายามเกลี้ยกล่อมไม่ให้ญาติเดินเรื่องร้องเรียน “คนตายไปแล้ว…ควรคิดถึงคนที่มีชีวิตอยู่มากกว่า ร้องเรียนไปก็เท่านั้น มีแต่เสียกับเสีย แล้วเป็นแค่ชาวนาจะเอาปัญญาอะไรไปสู้กับเขา…” แต่ญาติไม่ต้องการให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีก จึงเริ่มทำการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำตัวคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย 23มติชน, 17 มิถุนายน 2554, 12. ซึ่งผลก็คือ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารส่งคนมาคอยติดตามและคุกคามความเป็นส่วนตัวอยู่เป็นประจำ รวมถึงมีการส่งลูกกระสุนปืนมาที่บ้านเพื่อเป็นการข่มขู่ 24กองบรรณาธิการวอยซ์ทีวี, “ญาติพลทหารวิเชียร ย้ำไม่ยอมให้เรื่องเงียบ,” 4 พฤศจิกายน 2558, วอยซ์ออนไลน์, https://www.voicetv.co.th/read/280869 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).

นอกจากนี้ เนื่องจากเจ้าพนักงานสอบสวนตั้งข้อหากลุ่มครูฝึกที่มีส่วนทำให้พลทหารวิเชียรเสียชีวิตฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ทำให้ต้องส่งสำนวนคดีให้ ป.ป.ท. ดำเนินการไต่สวนในเดือนมิถุนายน 2555 ทำให้ระยะเวลาล่วงเลยไปอีก 3 ปี ก่อนที่จะมีการชี้มูลความผิดนายทหารจำนวน 9 คนช่วงเดือนกรกฎาคม 2558 และส่งเรื่องไปยังอัยการทหารต่อไป โดยระหว่าง 3 ปีนั้น ทางญาติของพลทหารวิเชียรก็พยายามเร่งรัดไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่กลับไม่มีผลความคืบหน้าใด ๆ

จากนั้น คดีความ ต้องติดอยู่ในชั้นอัยการทหารจนถึงวันที่ศาลทหารประทับรับฟ้องอีก 6 ปี (ศาลประทับรับฟ้องวันที่ 30 กันยายน 2564) การพิจารณาคดีดำเนินเรื่อยมาจนถึงปี 2566 ที่ยังคงอยู่ในขั้นตอนการสืบพยานฝ่ายโจทก์ ซึ่งเท่ากับว่า นับแต่วันเกิดเหตุ ผ่านมากว่า 12 ปี ยังไม่ปรากฏว่ามีใครคนใดต้องรับผิดจากกรณีที่ทำให้พลทหารวิเชียรเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว 25อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของ นริศราวัลย์ แก้วนพรัตน์ หลานของพลทหารวิเชียร อันเป็นส่วนหนึ่งจากเนื้อหางานวิจัยเรื่อง “วิสามัญมรณะ: ปฏิบัติการของระบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2565

เมื่อวิเคราะห์ทุนที่ญาติของพลทหารวิเชียรถือครองที่มีตั้งแต่ทุนทางเศรษฐกิจ มีเครือข่ายทางสังคม มีความสามารถเข้าถึงติดต่อผู้มีอำนาจและนายทหารระดับสูงของกองทัพได้ พร้อมกับได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากองค์กรภาคประชาสังคม และจากกรณีที่ได้ต่อสู้คดีมาตั้งแต่สมัยที่มีสถานะเป็นนิสิตนักศึกษา มาจนถึงเป็นข้าราชการ ยังมีส่วนช่วยในการขยายเครือข่ายทางสังคมมากขึ้น ตลอดจนพลังของสื่อมวลชนที่เข้ามานำเสนอเรื่องราวข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ล้วนมีส่วนเสริมให้ภาพลักษณ์ของญาติ เป็น “นักต่อสู้” ผู้ไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรม ทั้งหมดล้วนช่วยส่งเสริมให้คดีความดำเนินมาได้ไกลถึงการพิจารณาในศาลทหาร ซึ่งไกลกว่าคดีอื่น ๆ ที่ญาติหรือครอบครัวของเหยื่อไม่สามารถสะสมทุนด้านต่าง ๆ ได้มากพอ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอีกด้านหนึ่งจะเห็นว่า แม้ญาติของพลทหารวิเชียร จะสามารถสะสมทุนทุกด้าน เพื่อเสริมศักยภาพในการขยับเข้าใกล้กับความยุติธรรมได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่อาจทำให้ความยุติธรรมบรรลุผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้ง ๆ ที่เวลาผ่านมานานกว่าหนึ่งทศวรรษ ซึ่งตอกย้ำว่า การดำเนินกระบวนการยุติธรรมเพื่อจะเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจที่กระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนได้สำเร็จ ประชาชนและญาติของเหยื่อจำเป็นต้องสะสมทุนให้มากกว่านี้

ความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อประชาชนต้องสู้คดีกับรัฐ โดย ภาสกร ญี่นาง

สิ่งที่เหยื่อต้องจ่าย เพื่อแลกกับความยุติธรรม

จากกรณีศึกษาที่ยกขึ้นมากล่าวถึง สะท้อนภาพชัดเจนว่า การดำเนินกระบวนการยุติธรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายประชาชนผู้กระทำการต้องอาศัยทุนหลากหลายด้าน และทุนที่สำคัญ คือ ระบบ “เส้นสาย” หรือการยกระดับสถานภาพทางสังคมของตน ให้ต้องเป็นมากกว่าสามัญชนคนธรรมดา และหากยิ่งเป็นกลุ่มประชากรเปราะบาง เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ขาดไร้ซึ่งทุน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสัญลักษณ์ ความยุติธรรมย่อมเป็นเรื่องห่างไกล และมีโอกาสบรรลุผลน้อยมาก

นอกจากความจำเป็นในการสะสมทุนเพื่อการต่อสู้คดีความ ยังพบอีกว่า ประชาชนต้องแลกมาด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง หลายคนต้องสูญเสียโอกาส เสียเวลาอันมีเวลา เสียช่วงเวลาดี ๆ ในชีวิต เช่น กรณีครอบครัวและญาติชัยภูมิที่ต้องย้ายออกจากหมู่บ้านเดิมและเข้าไปยังตัวเมือง เป็นเวลากว่า 3 ปี ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ เนื่องจากการเลือกต่อสู้คดีทำให้พวกเขาต้องถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามและคุกคามอยู่เป็นประจำ โดยการย้ายออกจากหมู่บ้าน ส่งผลให้ลูกหลานต้องออกจากโรงเรียนและไม่ได้รับการศึกษาอีกเลย พร้อมกันนั้นยังถูกคนในชุมชนตัดขาดความสัมพันธ์ กลายเป็นเพียงครอบครัวที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว 26ภาสกร ญี่นาง, “ก้าวสู่ปีที่ 6 คดี “ชัยภูมิ ป่าแส” เสียงของ “เหยื่อ” เมื่อกระสุนหนึ่งนัดทำลายมากกว่าหนึ่งชีวิต,” 11 มกราคม 2566, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, https://crcfthailand.org/2023/01/11/chaiyaphum-pasae-6-year/  (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).

 เช่นเดียวกัน ครอบครัวของฤทธิรงค์ที่แม้ว่าจะชนะคดีแพ่งเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวได้เป็นผลสำเร็จ แต่ทว่า หากเทียบกับเงินทองและเวลาที่ต้องสูญเสียไปกับกระบวนการพิจารณาที่ล่าช้า อาจไม่คุ้มค่าเท่าใดนัก เพราะสุดท้าย ธุรกิจส่วนตัวของครอบครัวต้องปิดกิจการ เนื่องจากการต้องเดินทางติดตามและต่อสู้คดีตลอดเวลา ส่วนตัวของฤทธิรงค์ ต้องเผชิญกับโรค PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder โรคจิตเภทชนิดหนึ่งที่เกิดจากสภาวะจิตใจ ภายหลังที่ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์เลวร้าย ซึ่งเป็นโรคที่ไม่มีทางหาย การดูแลที่ดีที่สุด คือ ฤทธิรงค์ต้องได้รับการเยียวยาจากคนรอบข้าง ป้องกันไม่ให้กลับไปหวนคิดถึงเหตุการณ์วันนั้น แต่ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้เพราะต้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม 27สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล, “สมศักดิ์ ชื่นจิตร: บทเรียนตลอด 10 ปีที่ต่อสู้ในฐานะ ‘พ่อของแพะ’,” 26 มิถุนายน 2562, เดอะโมเมนตัม, https://themomentum.co/somsak-cheunjit-interview/ (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).

การต้องต่อสู้กับ PTSD ยังส่งผลทำให้ ฤทธิรงค์ต้องยุติการเข้ารับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และหยุดที่วุฒิมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 เท่านั้น และต้องเลิกทำงานอดิเรก ต้องหยุดเล่นดนตรี แม้ครั้งหนึ่งจะเคยเข้าแข่งขันระดับประเทศก็ตาม เพราะสภาพจิตใจไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว 28อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของ สมศักดิ์ ชื่นจิตร (บิดา) อันเป็นส่วนหนึ่งจากเนื้อหางานวิจัยเรื่อง “วิสามัญมรณะ: ปฏิบัติการของระบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2565

ส่วนการต่อสู้คดีของญาติพลทหารวิเชียร เผือกสม การต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม ทำให้บุคคลคนหนึ่งต้องสูญเสียความสุขและความสนุกสนานในชีวิตวัยรุ่นไปจนสิ้น ต้องใช้เวลา 1 ใน 3 ของอายุขัย มาทวงถามหาความยุติธรรมให้กับคนในครอบครัว ระหว่างการติดตามคดีความทั้งหน่วยงานต้นสังกัดของคู่กรณีและหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความยุติธรรม นอกจากนั้น ในช่วงที่ต้องสะสมทุน เสริมศักยภาพในการต่อสู้ ด้วยการขยายเครือข่ายทางสังคม ค้นหาคนมาช่วยหนุนหลัง เผยแพร่ข่าวสาร ก็ต้องแลกมาด้วยการต้องตกอยู่สภาวะที่ไม่ปลอดภัย การถูกกลั่นแกล้งจากคู่กรณี  

การเอาผิดกับผู้กระทำความรุนแรงที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ สำหรับสามัญชนทั่วไปย่อมเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม ดังที่ญาติของพลทหารวิเชียร เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า 29พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์, “หนึ่งความตายเพื่อรักษาหลายชีวิต : 10 ปี คดีพลทหารวิเชียร เผือกสม,” 9 ธันวาคม 2564, เดอะแมตเตอร์, https://thematter.co/social/talk-with-narisaraval-kaewnopparat/162297 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566). “การถามหาความยุติธรรมในประเทศนี้ โดยเฉพาะเมื่อคู่กรณีเป็นคนในเครื่องแบบ แถมบางรายยังมีบุพการีเป็นผู้มียศใหญ่ ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญยังมีราคาที่ต้องจ่าย”

เรื่องราวทั้งหมด ตอกย้ำ รูปร่างหน้าตาของระบบกฎหมายและกลไกกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดความยึดโยงกับประชาชน หากเป็นกรณีที่ต้องจัดการกับความขัดแย้งหรือคดีความที่ประชาชนต้องผิดกับคู่กรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กลไกเชิงสถาบันและผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายก็มักพร้อมที่จะปกป้องคุ้มครองฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ในฐานะ “ข้าราชการ” ด้วยกัน

การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนต้องอาศัยการสะสมทุนจำนวนมาก และอาจต้องสูญเสียโอกาสหรือสิ่งที่ค่าทั้งหลายในชีวิต สำหรับระบบกฎหมายไทย การสร้างสถานภาพทางสังคม รวมถึงระบบเส้นสาย เพื่อยกระดับอำนาจของตนเองให้ทัดเทียมกับคู่กรณีที่เป็นคนในเครื่องแบบและมีทุนอยู่อย่างมหาศาลมาตั้งแต่ต้น เพราะโดยพื้นฐานแล้ว หลักความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายในรัฐไทย ยังคงถูกตั้งถามถึงความมีอยู่จริง และในความเป็นจริง ก็ราวกับว่า ความยุติธรรมจะสามารถบังเกิดได้เฉพาะผู้ที่มีสถานะสูงส่ง มีทุนทางเศรษฐกิจและบุญบารมีมากพอ

ตรงกันข้าม หากประชาชนผู้ถามหาความยุติธรรม มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำ หรือมีสถานภาพด้อยกว่า ไร้ซึ่งอำนาจและทุน ขาดความรู้ทางกฎหมาย ไม่มีเส้นสายหรือเครือข่ายกับฝ่ายอำนาจรัฐ ทั้งยังถูกตีตราให้มีความเชื่อมโยงกับภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ ความยุติธรรมย่อมเป็นเรื่องที่ยากและห่างไกล สำหรับสังคมไทย ความยุติธรรมจึงไม่สามารถมีให้ได้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม

  • 1
    Bourdieu, P., The Forms of Capital in Halsey, A.H., H. Lauder, P. Brown and A.S. Wells (eds). (Oxford: Oxford University Press. 1997), 46 – 75.
  • 2
    รุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข, มโนทัศน์ชนชั้นแลทุนของ ปิแอร์ บูร์ดิเออ, วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพา, 2 ฉ.1 (2557), 39
  • 3
    Ostrom, E., Social capital: A fad or a fundamental concept? In P. Dasgupta & I. Serageldin (Eds.), Social Capital: A multifaceted perspective. (Washington, DC: World Bank. 2000), 176
  • 4
    Chevalier, S. and Chauviré, C., Dictionnaire Bourdieu. (Paris: Ellipses, 2010), 18 – 19 อ้างใน ฐานิดา บุญวรรโณ, ความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์หลักของปิแอร์ บูร์ดิเยอ, วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 18 ฉ.1 (2565), 16.
  • 5
    ฐานิดา บุญวรรโณ, เรื่องเดียวกัน, 16.
  • 6
    รุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข, เรื่องเดียวกัน, 40 – 41.
  • 7
    ฐานิดา บุญวรรโณ, เรื่องเดียวกัน, 16.
  • 8
    Kevin M. Beaver, Cashen Boccio, Sven Smith, and Chris J. Fergusond, Physical attractiveness and criminal justice processing: results from a longitudinal sample of youth and young adults, Psychiatr Psychol Law. 2019; 26(4): 669–681.
  • 9
    Rhode, D., The Beauty Bias: The Injustice of Appearance in Life and Law, (New York: Oxford University Press, 2010)
  • 10
    นักข่าวพลเมือง, “เปิด Timeline จากปากคำชาวกองผักปิ้ง วัน ชัยภูมิ ป่าแส ถูกทหารวิสามัญฯ,” 29 มีนาคม 2560, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2017/03/70800 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 11
    บีบีซีไทย, “รายงาน: หนึ่งเดือน คดีวิสามัญ “ชัยภูมิ ป่าแส” กับปมปริศนาที่ยังไม่คลี่คลาย,” 17 เมษายน 2560, บีบีซีไทย, https://www.bbc.com/thai/thailand-39619396 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 12
    ข่าว, “คดีวิสามัญฯ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ทนายผิดหวังคำสั่งไต่สวนการตายของศาล-เตรียมจัดเวทีวิชาการใหญ่,” 6 มิถุนายน 2561, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2018/06/77311 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 13
    ข่าว, “ครอบครัว ‘ชัยภูมิ ป่าแส-อะเบ แซ่หมู่’ ฟ้องแพ่งให้กองทัพบกชดใช้กรณีวิสามัญฯ,” 22 พฤษภาคม 2562, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2019/05/82576 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 14
    ข่าว, “ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีวิสามัญ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’-กองทัพบกไม่ต้องจ่ายเงินเยียวยาแก่ครอบครัว,” 26 มกราคม 2565, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2022/01/96974 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 15
    มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, “ห้องสมุดคดี ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร,” https://crcfthailand.org/case-library/rittirong-chuenjit  (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 16
    ภาสกร ญี่นาง, “การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่ง ‘หนังหน้า’ ในกระบวนการยุติธรรม,” 1 มกราคม 2566, เดอะโมเมนตัม https://themomentum.co/ruleoflaw-the-beauty-bias/ (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 17
    สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล, “สมศักดิ์ ชื่นจิตร: บทเรียนตลอด 10 ปีที่ต่อสู้ในฐานะ ‘พ่อของแพะ’,” 26 มิถุนายน 2562, เดอะโมเมนตัม, https://themomentum.co/somsak-cheunjit-interview/ (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 18
    ข่าว, “พิพากษารอลงอาญา 2 ปี ผู้บริหาร อปท. แจ้งข้อความเท็จช่วยกลุ่มตำรวจซ้อมทรมาน,” 8 กุมภาพันธ์ 2562, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2019/02/80934 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 19
    ข่าว, “ศาลสั่ง สตช.จ่าย ‘ฤทธิรงค์’ 3.38 ล้าน พร้อมดอกร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีถูกตร.ทรมานเมื่อปี 52,” 29 มิถุนายน 2565, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2022/06/99296 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 20
    มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, “ห้องสมุดคดี วิเชียร เผือกสม,” https://crcfthailand.org/case-library/wichian-puaksom สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 21
    พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์, “หนึ่งความตายเพื่อรักษาหลายชีวิต : 10 ปี คดีพลทหารวิเชียร เผือกสม,” 9 ธันวาคม 2564, เดอะแมตเตอร์, https://thematter.co/social/talk-with-narisaraval-kaewnopparat/162297 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 22
    ข่าว, “23-25 พ.ย. 65 ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ กรณี ‘พลทหารวิเชียร เผือกสม’ ถูกซ้อมจนเสียชีวิตในค่ายทหารเมื่อ 11 ปีก่อน,” 23 พฤศจิกายน 2565, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2022/11/101551 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 23
    มติชน, 17 มิถุนายน 2554, 12.
  • 24
    กองบรรณาธิการวอยซ์ทีวี, “ญาติพลทหารวิเชียร ย้ำไม่ยอมให้เรื่องเงียบ,” 4 พฤศจิกายน 2558, วอยซ์ออนไลน์, https://www.voicetv.co.th/read/280869 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 25
    อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของ นริศราวัลย์ แก้วนพรัตน์ หลานของพลทหารวิเชียร อันเป็นส่วนหนึ่งจากเนื้อหางานวิจัยเรื่อง “วิสามัญมรณะ: ปฏิบัติการของระบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2565
  • 26
    ภาสกร ญี่นาง, “ก้าวสู่ปีที่ 6 คดี “ชัยภูมิ ป่าแส” เสียงของ “เหยื่อ” เมื่อกระสุนหนึ่งนัดทำลายมากกว่าหนึ่งชีวิต,” 11 มกราคม 2566, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, https://crcfthailand.org/2023/01/11/chaiyaphum-pasae-6-year/  (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 27
    สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล, “สมศักดิ์ ชื่นจิตร: บทเรียนตลอด 10 ปีที่ต่อสู้ในฐานะ ‘พ่อของแพะ’,” 26 มิถุนายน 2562, เดอะโมเมนตัม, https://themomentum.co/somsak-cheunjit-interview/ (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).
  • 28
    อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของ สมศักดิ์ ชื่นจิตร (บิดา) อันเป็นส่วนหนึ่งจากเนื้อหางานวิจัยเรื่อง “วิสามัญมรณะ: ปฏิบัติการของระบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2565
  • 29
    พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์, “หนึ่งความตายเพื่อรักษาหลายชีวิต : 10 ปี คดีพลทหารวิเชียร เผือกสม,” 9 ธันวาคม 2564, เดอะแมตเตอร์, https://thematter.co/social/talk-with-narisaraval-kaewnopparat/162297 (สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2566).