[:th]CrCF Logo[:]

จดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา ข้อห่วงกังวลเรื่องความเป็นอิสระผู้พิพากษากรณีการถอนประกันเก็ท ใบปอ ตะวัน และแบม

Share

จดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา ข้อห่วงกังวลเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษากรณีการประกันตัว ถอนประกันและอนุญาตให้ถอนประกันผู้ต้องหานักกิจกรรมทางการเมือง เก็ท ใบปอ ตะวัน และแบม เผยแพร่วันที่ 22 มกราคม2566

สืบเนื่องจากกรณีที่ผู้ต้องหาทางการเมือง ซึ่งขณะนี้มีถูกขังก่อน และในระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล จำนวนกว่า ๑๕ คน โดยศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัว บางคนถูกกักขังมาแล้ว ๓๐๐ กว่าวัน บางกรณีได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว แต่ต้องยอมรับเงื่อนไขติดอุปกรณ์ติดตามตาม หรือ Electronic Monitoring (EM) และบางคนถูกกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากบ้าน ๒๔ ชั่วโมง และมีข้อกำหนดอื่นๆในการจำกัดสิทธิเสรีภาพอีกมากมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด มาตรา ๒๙ วรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” วรรคสาม บัญญัติว่า “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” และวรรคท้าย บัญญัติว่า “คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณา และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้…”

การกำหนดหลักประกัน และเงื่อนไขต่างๆ เพื่อผู้ต้องหาทางการเมืองเหล่านี้ปฏิบัติ เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น มีลักษณะที่ขัดกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง พวกเขาไม่ได้มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี ตรงกันข้ามพวกเขาแสดงออกอย่างเอาจริงเอาจังว่าพร้อมต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพื่อให้รัฐบาลเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในความคิด ความเชื่อ และการแสดงออก ในทางการเมือง ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย และพวกเขาต่อสู้เพื่อให้กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาล เป็นสถาบันที่สามารถอำนวยความยุติธรรม และปกป้องสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม และอย่างแท้จริง

แต่คำสั่งศาลในการควบคุมตัวผู้ต้องหรือจำเลยทางการเมืองดังกล่าว ก่อนการพิจารณาคดีหรือก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด เป็นการออกคำสั่งเสมือนหนึ่งว่าพวกเขาเป็นผู้ที่ถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว ไม่เป็นคำสั่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งยังมีเงื่อนไขประกอบกันที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของพวกเขาอย่างร้ายแรงและขัดกับหลักความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนด้วยนั่นคือ ห้ามพวกเขากระทำการหรือมีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกับที่พนักงานอัยการกล่าวหา ซึ่งพนักงานอัยการในฐานะโจทก์ จะต้องพิสูจน์ต่อศาล จนปราศจากข้อสงสัยอันสมควรว่า เป็นผู้กระทำผิดจริงตามที่กล่าวหา

แบม-ตะวัน
Credit: Matichon

ในหลักของความยุติธรรมทางอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ และพวกเขากำลังโต้แย้งข้อกล่าวหาของพนักงานอัยการอยู่ เพื่อให้ศาลพิจารณาตัดสินคดีของพวกเขาอย่างเที่ยงธรรม ปราศจากความลำเอียงและอคติ ด้วยความเป็นเมืออาชีพ และบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ ๑๔ การพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) และรัฐธรรมนูญ

ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังจำต้องยอมรับเงื่อนไขติดอุปกรณ์ติดตามตาม หรือ Electronic Monitoring (EM) และบางคนถูกกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากบ้าน ๒๔ ชั่วโมงและอื่นๆ เสมือนเป็นการขังตัวไว้ที่บ้าน (House Arrest) อีกด้วย การต่อสู้คัดค้านคำสั่งของผู้พิพากษาบางคน ที่พวกเขาเห็นว่าไม่ชอบธรรมตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นมักไม่ได้ผล

เมื่อการเรียกร้องสิทธิตามขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่หมดสิ้นหนทาง การจะให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองเหล่านั้นยอมจำนนกับคำสั่งที่ตนเห็นว่าไม่เป็นธรรมนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขารับไม่ได้ จึงแสดงออกถึงการไม่ยอมรับตามวิถีทางประชาธิปไตย

กล่าวคือ เมื่อ ๑๖ ม.ค. ๒๕๖๖ นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ นางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม นักกิจกรรมหญิงทั้ง ๒ ราย ยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวชั่วคราวของตนเอง เพื่อประท้วงเรียกร้องต่อศาลให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง รวมถึง ดังที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์อยู่แล้วนั้น ข้อเรียกร้อง ๓ ข้อ ได้แก่ ๑) การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ๒) ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง ๓) เรียกร้องทุกพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา ๑๑๒ และข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๖

ใบปอ-เก็ต
Credit: Prachatai

ขณะนี้นักกิจกรรมทั้งสองได้อดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ ๑๙ มค. ๒๕๖๖ จนมีสภาพร่างกายอิดโรย และถูกส่งตัวเข้ารับการดูแลที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

ก่อนหน้านี้ วันที่ ๑๔ มค. ๒๕๖๖ นายโสภณ สุรสิทธิ์ดำรง หรือเก็ท และนางสาวณัฐนิจ ด้วงมุสิทธิ์ หรือใบปอ ได้ถูกคำสั่งของผู้พิพากษาท่านหนึ่งสั่งไต่สวนถอนประกันด้วยเหตุที่อ้างว่านักกิจกรรมสองรายนี้ปฏิบัติตนขัดเงื่อนไขการประกันคือ ออกไปร่วมกิจกรรมการชุมนุมในช่วงประชุมเอเปคที่ประเทศไทยจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๕ การไต่สวนดังกล่าวส่งผลให้ผู้พิพากษาท่านนั้นสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวอีกต่อไปกลายเป็นคำสั่งขังนักกิจกรรมทั้งสองคนอย่างไม่เป็นธรรมในสายตาของหลายฝ่าย

เมื่อการใช้อำนาจของผู้พิพากษบางคนที่ไม่เป็นธรรม การที่กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายไทยมีข้อจำกัดหรือบิดเบือนไปทำให้ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ ทั้งที่มีการใช้ดุลพินิจขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดกับกฎหมาย กลุ่มองค์กรที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้ จึงขอให้ท่านในฐานะประธานของฝ่ายตุลาการดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว การกำหนดหลักประกันและเงื่อนไข การถอนการประกันตัว อย่างเร่งด่วน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนและประชาคมนานาชาติต่อฝ่ายตุลาการซึ่งเป็นเสาหลักของกระบวนการยุติธรรมไทย กลับมา

ฝ่ายตุลาการต้องสามารถมีบทบาทในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อำนวยความยุติธรรมซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและนำมาซึ่งสันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคม ได้อย่างแท้จริง ตามหลักการของสังคมประชาธิปไตยต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดตรวจสอบและแก้ไขคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีการเมืองดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ด้วยความนับถือ
ลงชื่อ

1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
2. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
3. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
4. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
5. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
6. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD.)
7. สถาบันสังคมประชาธิปไตย
8. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35