[:th]CrCF Logo[:]

เชิญรับฟังเสวนาออนไลน์ “กดขี่ ตีตรา จองจำ” สิทธิขั้นพื้นฐาน และเงื่อนไขการประกันตัวที่ไม่เป็นธรรม กรณีศึกษาเก็ท-ตะวัน

Share

ศุกร์ 20 มกราคม 2566 เข้าเชิญร่วมรับฟังเสวนาออนไลน์ “กดขี่ ตีตรา จองจำ: สิทธิขั้นพื้นฐาน และเงื่อนไขการประกันตัวที่ไม่เป็นธรรม กรณีศึกษาเก็ท-ตะวัน”

วันที่ 9 มกราคม 2566 หนึ่งอาทิตย์หลังจากเทศกาลปีใหม่ผ่านไป ศาลมีคำสั่งถอนประกันโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ “เก็ท” นักกิจกรรมกลุ่ม ‘โมกหลวงริมน้ำ’ และ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ “ใบปอ” จากกลุ่ม ‘ทะลุวัง’ โดยให้เหตุผลว่าทั้งสองกระทำผิดเงื่อนไขประกันตัว ในเหตุร่วมชุมนุมและปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วงการประชุมเอเปก เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ในวันเดียวกันการไต่สวนกรณีทานตะวัน ตัวตุลานนท์ “ตะวัน” ถูกเลื่อนไปวันที่ 1 มีนาคม 2566

ถัดมาในวันที่ 16 มกราคม 2566 “ตะวัน” และ อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ “แบม” นักกิจกรรมอิสระ ตัดสินใจแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังคดีทางการเมืองทั้งหมด พร้อมยื่นหนังสือ และคำร้องขอถอนประกันตัวเองที่ศาลอาญา ขณะที่กรณีของแบมได้ให้ทนายความไปยื่นที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งมีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลดังกล่าว ทั้งสองศาลได้ไต่สวนคำร้องขอถอนประกัน และมีคำสั่งว่าผู้ร้องประสงค์ให้ถอนประกันจึงอนุญาตตามคำขอ สองนักกิจกรรมจึงถูกนำตัวไปคุมยังทัณฑสถานหญิงต่อไปในช่วงสถานการณ์การเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีนักกิจกรรมผู้ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองจำนวนมาก ขณะที่หลายคนไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว พบว่ามีหลายคดีที่ยังไม่เป็นที่สิ้นสุดแต่ศาลสั่งให้ใส่กำไล EM ติดตามตัว พร้อมเงื่อนไขหลายประการ เงื่อนไขเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีผลต่อชีวิตประจำวันของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นการตีตราผู้ต้องหาทางการเมืองซึ่งคดียังไม่สิ้นสุด และศาลควรจะต้องเคารพในหลักการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ด้วย

ณ ปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่ากระบวนการตัดสินให้ประกันหรือไม่ให้ประกัน ไปจนถึงการตั้งเงื่อนไข และการเพิกถอน เป็นมาตรการที่อิงอยู่กับดุลพินิจของศาลและจุดประเด็นปัญหาที่น่าตั้งคำถามเป็นอย่างยิ่งต่อกระบวนการยุติธรรม ความเป็นธรรม และการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเรียนเชิญผู้ที่สนใจในประเด็นปัญหาดังกล่าว เข้าร่วมรับฟังเสวนาออนไลน์ “กดขี่ ตีตรา จองจำ: สิทธิขั้นพื้นฐานและเงื่อนไขการประกันตัวที่ไม่เป็นธรรม กรณีศึกษาเก็ท-ตะวัน” ผ่านทาง Facebook Live เวลา 18.00 – 20.00 น. Cross Cultural Foundation (CrCF) 

วิทยากร:

• กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเจ้าของคดีเก็ท-ทานตะวัน
• อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์
• ปกรณ์ สุรฤทธิ์ธำรง ครอบครัวของเก็ท
• นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้ใกล้ชิดของทานตะวัน
• ธัชพงศ์ แกดำ นักกิจกรรมทางการเมือง

ดำเนินรายการโดย: พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม