[:th]CrCF Logo[:]

ศาลอาญาทุจริตฯ กำหนดไต่สวน 5 ประเด็น คดีชัยวัฒน์ กับพวก คดีอุ้มฆ่าบิลลี่ นัดสืบพยาน เมย. – สค. ปีหน้า

Share

ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กำหนดไต่สวน 5 ประเด็น ในคดีชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวม 4 คน จำเลยกรณีถูกกล่าวหาอุ้มฆ่าบิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ นัดสืบพยาน เมษายน – สิงหาคม ปี 2566

วันนี้ (26 ธันวาคม 2565) เวลา 9.30 น. ศาลอาญาทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง นัดตรวจสอบพยานหลักฐานโดยศาล คดีหมายเลขดำที่ อท.166/2565 กรณี นาย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน เป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฆาตกรรมนายบิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ และข้อหาอื่นๆ

ศาลได้พิจารณารายงานสรุปการตรวจสอบ และรวบรวมพยานหลักฐานโดยเจ้าพนักงานคดี ฉบับวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา หลังตรวจคำฟ้อง คำให้การจำเลยที่สี่ คำร้องโต้แย้งพยานหลักฐาน และคำร้องแสดงเหตุผลความจำเป็นในการอ้างพยานหลักฐานของคู่ความแล้ว เห็นสมควรไต่สวนใน 5 ประเด็น ดังนี้

1. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ไม่นำตัวนายพอละจี หรือบิลลี่ พร้อมทรัพย์ของกลางส่งให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึง 3 ข้างต้น อันเป็นความผิดตามฟ้องข้อ 2.1 หรือไม่?

2. จำเลยทั้งสี่ร่วมกันข่มขืนใจ หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังนายพอละจี หรือบิลลี่ให้จำยอมโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน ทำให้ปราศจากเสรีภาพถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตามฟ้องข้อ 2.2 หรือไม่?

3. จำเลยทั้งสี่ร่วมกันฆ่านายพอละจี หรือบิลลี่โดยไต่ตรองไว้ก่อน หรือเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแก่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนกระทำไว้ อันเป็นความผิดตามฟ้องข้อ 2.3 หรือไม่?

4. จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเผาทำลายศพนายพอละจี หรือบิลลี่ และร่วมกันเก็บชิ้นส่วนศพที่เหลือจากการเผา เศษเถ้าถ่าย และเศษสิ่งของอื่นๆ ที่เหลทอบรรจุใส่ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร นำไปทิ้งลงใต้น้ำ บริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน เพื่อทำลายหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของตน โดยทุจริตเพื่ออำพรางคดีแก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นความผิดตามฟ้องข้อ 2.4 หรือไม่

5. พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน และดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

อนึ่งในวันเดียวกัน ศาลได้อนุญาตให้นางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายบิลลี่ เข้าร่วมเป็นโจทก์ที่ 3 ในคดีนี้ จำเลยทั้งสี่แถลงไม่คัดค้าน และเนื่องจากโจทก์ที่ 3 ไม่สามารถพูด และเข้าใจภาษาไทยได้ โจทก์ร่วมที่ 3 จึงขอใช้ล่ามแปลภาษากะเหรี่ยง-ไทย โดยจะจัดหาล่ามมาทำหน้าที่เอง ศาลอนุญาต จำเลยทั้งสี่ไม่คัดค้าน และขอศาลจัดหาล่ามแปลภาษากะเหรี่ยง-ไทยของตนมาร่วมรับฟังการพิจารณาคดี ศาลอนุญาตเนื่องจากเป็นการรักษาผลประโยชน์ของจำเลย

ในนัดนี้ ศาลกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ 23 ปาก พยานจำเลย 9 ปาก รวม 32 ปาก โดยกำหนดนัดไต่สวนพยานโจทก์ และจำเลยในคดีทั้งหมด 10 นัด แบ่งเป็น นัดไต่สวนพยานโจทก์ 7 นัด จำนวน 23 ปาก ในวันที่ 24 เมษายน 2566, 22 พฤษภาคม 2566, 17 และ 24-27 กรกฎาคม 2566 นัดไต่สวนพยานจำเลย 3 นัด จำนวน 9 ปาก ในวันที่ 28 และ 30-31 สิงหาคม 2566 และหากต่อมาศาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องสืบพยานเพิ่มเติมจะก็จะเรียกให้มาเป็นพยานภายหลัง

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 คณะกรรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 45/2565 โดยเปิดเผยว่า กสม. เห็นชอบให้มีการศึกษาเพื่อจัดทำรายงานข้อเสนอแนะกรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ประกอบกับมีผู้ร้องเรียนว่ากลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านการดำเนินนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยเห็นว่าการละเมิดสิทธิฯ ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ สิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยงแก่งกระจาน สิทธิ และเสรีภาพในชีวิต และร่างกายอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการยุติธรรม สิทธิ และสถานะของบุคคล สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเอง และครอบครัว และสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐ หลังจากการศึกษา และตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยแล้ว ได้มีความเห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายประเด็น

การแถลงของ กสม. เป็นอีกหลักยืนยันว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน เป็นกลุ่มคนที่ยังคงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐมาอย่างต่อเนื่อง นายบิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ ก็เป็นนักกิจกรรมที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในประเด็นต่างๆ เหล่านี้มาตลอดหลายปีก่อนจะหายตัวไปเมื่อ 8 ปีก่อน ซึ่งการหายตัวของบิลลี่ เป็นที่น่าสงสัยได้ว่าเป็นการถูกอุ้มฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่อีกด้วย

บัดนี้ คดีอุ้มฆ่าบิลลี่ ได้เข้าสู่กระบวนการศาล และการพิจารณาคดีกำลังจะเริ่มขึ้น คดีนี้ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสเดียวของครอบครัวนายบิลลี่ ที่จะได้รับความยุติธรรมจากการหายตัวไปของคนในครอบครัวตน ไม่ว่าจะในฐานะบุตรชาย น้องชาย พี่ชาย หรือบิดา อีกทั้งเป็นโอกาสสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่จะต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนได้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนให้สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจจับตาดูการไต่สวนพยานโจทก์ และจำเลยในคดีนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ให้เจ้าหน้าที่แสดงความเป็นอิสระและมืออาชีพ ทำหน้าที่อย่างสุจริต เพื่อนำตัวเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงมาลงโทษตามกฎหมาย เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวของนายบิลลี่ และชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน และยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้อย่างเป็นจริง