[:th]CrCF Logo[:]

อัยการไม่ยื่นอุทธรณ์ ภัทร คะชะนา ที่ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พรก. ฉุกเฉินฯ เหตุขายเสื้อ และหนังสือในงานชุมนุม

Share

คดี “สิ้นสุด” หลังอัยการ“ไม่อุทธรณ์” กรณีนาย ภัทร คะชะนา ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เหตุขายเสื้อ และหนังสือในงานชุมนุม

วันนี้ 23 ธ.ค. 65 ทนายความนาย ภัทร คะชะนา ยื่นคำร้องรับรองคดีถึงที่สุด เนื่องจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 ไม่ยื่นอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ อ. 3404/2565 กรณีที่นาย ภัทร คะชะนา ถูกจับและแจ้งข้อหาฝ่าฝืนฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เหตุจากการนำเสื้อมือสอง และหนังสือไปขายในงานชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาภิเษก เมื่อปีที่แล้ว จึงเป็นผลให้ “คดีดังกล่าวถึงที่สุด”

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565 ศาลแขวงพระนครเหนือได้มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” คดีนี้ โดยมีความเห็นว่าพยานโจทก์เบิกความขัดแข้งกันในหลายประเด็น อาทิ ไม่ปรากฎภาพถ่าย และวิดีโอที่เกี่ยวกับพฤติการณ์การก่อความรุนแรงของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ภาพที่โจทก์ยื่นก็ไม่ปรากฏใบหน้าของจำเลย ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าจำเลยแต่งกายเหมือนกับผู้ชุมนุม และได้สวมใส่ผ้าโพกหัวตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริงหรือไม่

ทั้งไม่ปรากฎหลักฐานใดที่จะเชื่อมโยงได้ว่าจำเลยเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ในช่วงการสลายการชุมนุมในวันเกิดเหตุ และการที่จำเลยวิ่งหนีชุดจับกุมก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถบ่งบอกได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์มีข้อสงสัยหลายประการจึงไม่อาจรับฟังได้ ทั้งไม่จำเป็นต้องพิจารณาหลักฐานของจำเลย

นาย ภัทร คะชะนา ได้กล่าวถึงความรู้สึกของตนหลังทราบข่าวว่าคดีถึงที่สุดแล้วไว้ว่า “พอรู้ว่าคดีจบสิ้นลงจริงๆ ก็รู้สึกโล่งใจมากๆ เหมือนเป็นอิสระจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเราก็ยังรู้สึกโกรธอยู่เสมอที่ถูกกระทำรุนแรงจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ภาพคนในเครื่องแบบสีดำที่วิ่งเข้ามาข่มขู่ ตะคอก มัดแขน พร้อมอาวุธครบมือ ยังวนเวียนอยู่ในความทรงจำ รวมทั้งความรุนแรงจากกฎหมายและกระบวนยุติธรรมที่เข้ามาซ้ำเติม ยิ่งทำให้รู้สึกโกรธสังคมนี้อยู่เสมอๆ สังคมที่เราทุกคนสามารถถูกกระทำจากรัฐได้ทุกเวลา

แต่สุดท้ายเราพยายามจะจัดการกับความโกรธนี้ ด้วยการใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่านี้ ใฝ่ฝันถึงโลกที่เราจะสามารถเป็นเจ้าของชีวิตของเราได้ร่วมกันกับคนอื่นๆ ความรู้สึกโล่งใจจากเรื่องนี้ ทำให้เราอยากจะใช้ชีวิตที่มีอยู่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและโลกใบนี้ให้ได้”

แม้คดีนี้ศาลจะยกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้วในวันนี้ แต่หากย้อนไปนับแต่วันเกิดเหตุก็เป็นเวลากว่าสองปีเต็มที่นายภัทรต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตนเองในชั้นศาล นับเป็นการสร้างภาระ และความลำบากอย่างยิ่งต่อประชาชนคนหนึ่งที่เพียงตั้งใจนำเสื้อ และหนังสือมาขายเพื่อประกอบอาชีพโดยสุจริต หากเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักแล้ว กรณีนี้อาจไม่ต้องกลายมาเป็นคดีอาญา และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังเพิ่มภาระให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเช่นนี้

คดีนี้เป็นอีกหนึ่งคดีที่รัฐใช้อำนาจทางกฎหมายฟ้องปิดปากปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนให้สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจ ติดตามคดีการฟ้องปิดปากเช่นนี้อีกหลายคดีที่ยังอยู่ในกระบวนการศาลต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมรณรงค์ต่อต้านคดีการฟ้องปิดปาก (SLAPPs) และยืนยันว่าการแสดงออกทางความคิดเห็นเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงกระทำ