ผ่านไปครึ่งทางแล้วสำหรับโครงการจัดอบรมเสริมทักษะผู้สื่อข่าวในการรายงานข่าวคดีโดยเฉพาะคดีด้านการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออกตลอดจนด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เพื่อเสริมศักยภาพของสาธารณะในการติดตามกระบวนการยุติธรรม เพิ่มความโปร่งใสให้กับกระบวนการ
ในช่วงหลายปีมานี้คดีการเมือง และคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนรวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงออกมีจำนวนพุ่งสูงขึ้นอย่างมากอาจจะเรียกได้ว่าควบคู่ไปกับการแสดงออกทางการเมือง และบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทั้งทนายความด้านสิทธิมนุษชน และสื่อมวลชนต่างต้องปรับตัวรับมือข้อมูลข่าวสารด้านคดีกันทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากการที่มีผู้นำเสนอข่าวสารรายใหม่ๆ ที่ปรากฎตัวไม่ว่า iLaw หรือแม้แต่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเอง
แต่กระนั้นก็ยังมีทั้งคดีความ และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการนำมารายงานสู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง อย่างเช่นคดีความมั่นคงในสามจังหวัดภาคใต้ หรือคดีที่ถูกฟ้องร้องตามมาตรา 112 ทั้งยังมีปรากฎการณ์ใหม่ๆ ที่เป็นความท้าทายของทั้งนักกฎหมาย และสื่อมวลชนในการทำความเข้าใจ เพื่อจะให้มีการถ่ายทอดพัฒนาการเหล่านี้สู่สาธารณะได้เป็นที่เข้าใจมากขึ้น เห็นได้ชัดว่าการจัดอบรมในเรื่องเพิ่มทักษะในการทำข่าวคดีจะเติมเต็มในเรื่องนี้ได้
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ นวลน้อย ธรรมเสถียร จึงได้จัดงานอบรมเรื่องการรายงานข่าวคดีด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Reporting Workshop) เมื่อวันที่ 12 -13 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากสื่อมวลชนสำนักต่างๆ เข้าร่วมกว่าสิบราย และมีนักกฎหมายไม่ต่ำกว่า 8 รายที่เข้าร่วมให้ความรู้ในครั้งนี้
เนื้อหาการอบรมหนนี้แบ่งออกเป็น 5 เรื่องหลัก คือความรู้เรื่องกระบวนการดำเนินคดีตั้งแต่การจับกุมไปจนถึงการแสวงหาข้อเท็จจริงในศาล หลังจากนั้นเป็นการเจาะประเภทคดีกลุ่มต่างๆ ที่ปรากฎว่ามีเป็นจำนวนมาก นั่นคือคดีเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทที่มีลักษณะทางการเมืองรวมไปถึงคดีตามมาตรา 112 และ 116 และคดีอันเนื่องมาจากการแชร์ข้อความ
นอกจากนั้นมีการทำความเข้าใจกับกฎหมายพิเศษโดยเฉพาะที่ใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับผลกระทบที่เกิดขึ้นรวมไปถึงคดีความมั่นคงที่เน้นทำความเข้าใจในเรื่องคดีไต่สวนการตาย ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้เรื่องลักษณะของการเขียนที่เข้าข่าย และไม่เข้าองค์ประกอบความผิดข้อหาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท นอกจากนั้นมีการแลกเปลี่ยนกันในเรื่องความท้าทายของการสื่อสารข่าวคดีโดยเฉพาะการทำข่าวในชั้นศาล และการทำข่าวในพื้นที่ที่ยากลำบากกับการที่สื่อมวลชนจะเข้าถึง เช่น ในพื้นที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนในกรณีที่มีการชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น
หลังจบกิจกรรม ผู้เข้าร่วมหลายคนให้ความเห็นว่ามีความเข้าใจในเรื่องกระบวนการด้านคดีเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่กระบวนการพื้นฐานที่ควรเป็นตลอดจนปรากฎการณ์ใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น มีการสร้างความชัดเจนในประเด็นที่เกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อในการทำข่าวคดีในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่จะสร้างความโปร่งใสให้กับกระบวนการยุติธรรม ในขณะเดียวกันผู้เข้าอบรมก็มีความชัดเจนมากขึ้นถึงข้อจำกัดหลายประการที่เป็นความท้าทายของสื่อมวลชนในการเข้าถึงข้อมูลในเรื่องของการดำเนินคดี มีการแลกเปลี่ยนทัศนะและประสบการณ์ในการทำงานทำให้มองเห็นภาพที่กว้างมากขึ้นชัดขึ้นในการทำงานข่าวคดี
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ต้องขอขอบคุณสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทยที่ให้การสนับสนุน รวมทั้งขอบคุณสื่อมวลชน และนักกฎหมายที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถ่ายเทความรู้และเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้ เนื้อหาของการอบรมจะมีการรวบรวมเพื่อเผยแพร่ให้เป็นความรู้แก่ผู้สนใจต่อไป








