บรรยากาศงานกิจกรรม “ห้องเรียน Safe in Custody: การอบรมเยาวชน เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม” วันที่ 10 ธันวาคม 2565 ณ อาคารเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การที่เราจะใช้สิทธิที่เรามีในฐานะ “ผู้ทรงสิทธิ” (Rights holder) การรู้ และเข้าใจสิทธิเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และจะช่วยป้องกันไม่ให้เราตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น หากเราถูกจับกุมควบคุมตัว สิทธิที่สำคัญคือสิทธิที่จะเข้าถึงทนายความ ผู้ไว้ใจ ครอบครัว การตรวจร่างกายโดยแพทย์ การรับทราบถึงสถานที่ควบคุมตัวที่เราถูกพาไป เป็นต้น สิทธิเหล่านี้จะช่วยเป็นเกราะป้องกันชั้นต้นต่อกรณีการทรมาน การบังคับสารภาพ หรือการควบคุมตัวไม่ให้ติดต่อโลกภายนอก (incommunicado detention)
จึงเป็นที่มาของกิจกรรม “ห้องเรียน Safe in Custody: การอบรมเยาวชน เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม” ซึ่ง มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดร่วมกับ สมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (APT), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีการบรรยายในสามหัวข้อ
1. สิทธิในกระบวนการยุติธรรม: เมื่อถูกจับ คุณมีสิทธิอะไรบ้าง ในชั้นจับกุม และสอบสวนมีขั้นตอน เอกสาร และเรื่องอะไรบ้างที่จำเป็นต้องรู้
2. Safe in Custody in Action: ยุทธศาสตร์การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และการจัดกิจกรรมรณรงค์
3. Becoming Youth Advocates for Justice: แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเจ้าหน้าที่รัฐ เสริมสร้างความเข้าใจในด้านการทำงานตำรวจโดยเฉพาะการสอบสวน ปัญหา ข้อท้าทาย แนวปฏิบัติใหม่ ๆ “การสัมภาษณ์อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการเก็บข้อมูล (Effective Interview)”
กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นรูปแบบ “นำร่อง (pilot program)” ซึ่งเนื้อหาการบรรยาย ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้จากงานครั้งนี้ ทีมงาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ สมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (APT) จะนำไปพัฒนาเป็นแผนการเรียนการสอน และต่อยอดเพื่อจัดอบรมให้กับภูมิภาคหรือสถาบันการศึกษาที่สนใจต่อไป มูลนิธิฯ ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมในครั้งนี้อีกครั้ง และหวังว่าทุกๆ คนจะได้รับความรู้ที่มีประโยชน์กลับไปกันนะคะ




















