[:th]CrCF Logo[:]
[:th]"The Black Forest" รัฐฯ สีเขียว ป่าสีดำ[:]

“The Black Forest” รัฐฯ สีเขียว ป่าสีดำ เนื่องในวันสิทธิมนุษชนสากล | Realframe

Share

ภายหลังจากการประกาศคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ “นโยบายทวงคืนผืนป่า”

ที่หลังจากประกาศนโยบายดังกล่าว นำไปสู่ปฏิบัติผ่านกฎหมายฉบับต่างๆ นำมาซึ่งการจับกุม และดำเนินคดีกับชาวบ้านกว่า 64,000 คดีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และมีที่ทำกินซ้อนทับกับเขตผืนป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายในรูปแบบต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตอุทยานแห่งชาติที่มีกฎหมายเฉพาะ และบทลงโทษที่รุนแรง จากจำนวนตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีที่สูงจนน่าตกใจ หลายรายต้องติดคุก ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยที่นอกจากถูกดำเนินคดี แล้วยังต้องสูญเสียที่ดินมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ บางรายครอบครัวล่มสลายหมดสิ้นสินทรัพย์ที่สะสมมาตลอดชีวิต บางรายถึงขั้นสูญเสียสมาชิกในครอบครัว

สามชั่วโมงจากกรุงเทพฯ และยังเหลือราวอีกสามชั่วโมงจากบริเวณทางเข้า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางของผม บ้านบางกลอย หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในผืนป่าแก่งกระจาน หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ “บ้านบางกลอยล่าง” พื้นที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มที่ถูกอพยพลงมาจากบ้านใจแผ่นดิน หมู่บ้านกลางผืนป่าแก่งกระจาน

เมื่อปี 2534 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมุมมืดในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ที่เริ่มต้นขึ้นภายหลังนโยบายยกเลิกสัมปทานการตัดไม้จากป่าธรรมชาติ หรือที่รู้จักกันในนามของนโยบาย “ปิดป่า” ในช่วงเวลานั้น นี่คือครั้งที่ 4 แล้วสำหรับผมในการมาเยือนพื้นที่แห่งนี้ การเดินทางเข้าสู่พื้นที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะที่บางกลอยเป็นพื้นที่พิพาทที่ได้รับความสนใจจากสังคม

นโยบายปิดป่าคือการยกเลิกสัมปทานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการตัดต้นไม้จากป่าธรรมชาติ ไม่ให้มีการตัดไม้ออกมาใช้งานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคของอุตสาหกรรม เพื่อเก็บรักษาทรัพยากรป่าไม้ไว้เป็นสมบัติของชาติในช่วงเวลานั้น ฟังดูเหมือนจะเป็นความหวังที่สวยงามของคนไทยที่มีหัวใจของนักอนุรักษ์

ขณะเดียวกันนโยบายดังกล่าวเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของด้านมืดที่มาพร้อมกับความต้องการในการเก็บรักษาทรัพยากรโดยขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงมิติทางสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา ตลอดจนหลักการพื้นฐานทางสิทธิมนุษยชน นำมาซึ่งผลกระทบกับชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับผืนป่ามายาวนานอย่างคาดไม่ถึง

ผมมาบางกลอยครั้งแรกกลางปี 2560 เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีการหายตัวไปอย่างลึกลับของ “บิลลี่” ชายหนุ่มชาวกะเหรี่ยงที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของพวกเขาที่บริเวณใจแผ่นดินก่อนหน้าที่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จะถือกำเนิดขึ้น บิลลี่ ต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิในการอยู่ร่วมกับผืนป่าตามวิถีดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่พวกเขาอ้างว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

The Black Forest รัฐฯ สีเขียว ป่าสีดำ
ขบวนแห่ศพปู่คออี้ ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอผู้เป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านบางกลอย เสียชีวิตลงเมื่อปี 2561

เขาเป็นเสมือนปากเสียงของชาวบ้านในการต่อสู้ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการส่งเสียงของผู้คนในป่าลึกว่า พวกเขาสามารถอยู่กับธรรมชาติมาแต่ไหนแต่ไรด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัย และเคารพกันอย่างพอเหมาะพอดี

เรื่องน่าเศร้าเกิดขึ้นในบ่ายวันหนึ่งในเดือนเมษายนของปี 2557 บิลลี่ ออกจากบ้านเพื่อเข้าไปทำธุระที่ตัวอำเภอ มีพยานพบเห็นว่าเขาถูกคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ภายหลังมีคำอธิบายว่าคุมตัวจริงในข้อหาลักลอบเก็บน้ำผึ้งป่า และภายหลังได้ปล่อยตัวในวันเดียวกัน แต่ก็ไม่เคยมีใครพบบิลลี่อีกเลย จนกระทั่งปี 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษแถลงพบศพของเขา และรับเป็นคดีพิเศษ ปัจจุบัน อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องหัวหน้า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในขณะนั้นในข้อหาฆาตกรรม โดนคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาล

ภายหลัง การหายไปของบิลลี่เป็นเสมือนการปลุกให้เกิดความตื่นตัวของชาวบ้านบางกลอยคนอื่นๆ ให้เห็นความสำคัญของการปกป้องผืนแผ่นดินเกิด ที่อาจหมายถึงการปกป้องทั้งชีวิต และความปลอดภัยของผู้คนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินผืนนั้นด้วยเช่นกัน นั่นนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

รวมถึงครั้งล่าสุดที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ “แบงค์พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชายหนุ่มจากบ้านบางกลอย อดีตเด็กหนุ่มขี้เมาตามที่เขาให้คำนิยามตัวเอง ปัจจุบันแบงค์เป็นเสมือนแกนนำของชาวบ้านบางกลอยที่เขาเองก็ยังแปลกใจว่ามาอยู่ในจุดนี้ได้อย่างไร ยิ่งพิจารณาจากชีวิตที่ผ่านมาของเด็กหนุ่มตัวเล็กๆ ที่ไม่คิดอะไรกับชีวิตมากมายนัก ในวันนี้แบงค์คือความหวังของหมู่บ้าน ที่เป็นทั้งแกนนำ และตัวกลางระหว่างชาวบ้าน และคนภายนอกที่ให้ความสนใจในประเด็นการต่อสู้ของพวกเขา ด้วยเหตุผลว่าเขาทำด้วยความจำเป็น

The Black Forest รัฐฯ สีเขียว ป่าสีดำ
“แบงค์” พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร แกนนำชาวบ้านในการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิในที่ทำกินของชาวบ้านบางกลอย

“ผมไม่ทำก็ไม่รู้จะให้ใครทำ ไม่ได้พร้อมแต่ก็ลองทำ ก็เรียนรู้มาเรื่อยๆ” แบงค์เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับ กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ในประเด็นสิทธิในที่อยู่อาศัยของชาติพันธ์ต่างๆ จนกระทั่งตัวเขาเองถูกแจ้งข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่รวม 29 คน

เช่นเดียวกับ “จันจันทร ต้นน้ำเพชร เด็กสาวจากหมู่บ้านเดียวกัน นอกจากแม่ของจันจะเป็นหนึ่งใน 29 ผู้ต้องหาคดีบุกรุกผืนป่า ตัวเธอเองยังตกเป็นผู้ต้องหาในคดี “ร่วมกันฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ” เพียงเพราะเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิในที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม ที่อาศัยมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษที่ควรจะเป็นสิทธิพื้นฐานในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

นั่นทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนมัธยมซึ่งเธอกำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีสุดท้าย ด้วยความเป็นห่วงในเรื่องคดีความของตนเอง และแม่ซึ่งไม่สามารถพูด เขียน และอ่านภาษาไทยได้ ทำให้ทุกครั้งที่มีการนัดหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีที่แม่ตกเป็นผู้ต้องหาทำ จันต้องเดินทางไปด้วยเพื่อช่วยในการเป็นล่ามแปลภาษา และอธิบายขั้นตอนทางกฎหมาย และข้อจำกัดต่างๆ ให้ทั้งสองฝ่ายได้เข้าใจอยู่เสมอ

The Black Forest รัฐฯ สีเขียว ป่าสีดำ
จัน” จันทร ต้นน้ำเพชร หญิงสาววัย 18 ปีที่ต้องออกจากโรงเรียนมาต่อสู้คดี เนื่องจากครอบครัวของเธอถูกเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งข้อหาบุกรุกผืนป่า

ในขณะเดียวกัน จันเองก็ต้องเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ-บางกลอยอยู่บ่อยครั้ง เพื่อรายงานตัวในข้อกล่าวหาที่เธอถูกแจ้งจากการเข้าร่วมชุมนุม “สำหรับหนูตั้งแต่โดนคดีมันมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากในเรื่องของการเดินทางและที่พักต่างๆ ที่ถึงจะมีคนช่วยเหลืออยู่บ้างแต่ก็ไม่ครอบคลุมทั้งหมด หนูต้องเอาเงินเก็บออกมาใช้จนตอนนี้ไม่มีเหลือแล้ว เลยตัดสินใจว่าลาออกดีกว่า” จันบอกผมถึงความจำเป็นของเธอ

จากความอยุติธรรมที่บางกลอย ผมเดินทางต่อไปที่บ้านซับหวาย อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ เพื่อพบกับ นิตยา ม่วงกลาง และ สมพิตร แท่นนอก สองผู้ต้องคดีบุกรุกพื้นที่ป่า อุทยานแห่งชาติไทรทอง ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่เดียวกันอีก 14 คดี ซึ่งในกรณีของพื้นที่ อุทยานแห่งชาติไทรทอง มี 3 คดีที่เมื่อถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกาแล้ว มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ผิดถูกอย่างไรถือเป็นเรื่องทางกฎหมายซึ่งบางครั้งก็ยากต่อความการทำความเข้าใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

The Black Forest รัฐฯ สีเขียว ป่าสีดำ
นิตยา แกนนำชาวบ้านในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในที่ทำกินแห่งบ้านซับหวาย จ.ชัยภูมิ

ในสายตาของชาวบ้านซับหวาย นิตยา ม่วงกลาง เป็นเสมือนผู้นำในการต่อสู้ เป็นที่พึ่งยามยากทั้งในโลกของความเป็นจริง และโลกของกระบวนการยุติธรรมที่นิตยาทำหน้าที่ราวกับนิติกร คอยให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายกับชาวบ้านในพื้นที่ในฐานะเพื่อนร่วมชะตากรรม จำเลย และเหยื่อแห่งความอยุติธรรมที่ผู้กระทำคือรัฐบาลของพวกเขาเอง

“ใจจริงอยากเรียนกฎหมายจริงจังไปเลย แต่ไม่ได้อยากจะเป็นทนายความ หรือนักกฎหมายอะไรนะ อยากมีความรู้ติดตัวไว้เผื่อใช้กันในชุมชน ที่อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ได้เพราะได้รับความช่วยเหลือจากนักกฎหมาย มันทำให้เราเห็นความสำคัญของตรงนี้มากๆ” ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี นิตยา ม่วงกลาง ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเป็นเวลา 77 วันก่อนได้รับอนุญาตให้ประกันตัวออกมาสู้คดีจนกระทั่งศาลฎีกาพิพากษารอลงอาญาในท้ายที่สุด

มองจากภายนอกด้วยแว่นสีเขียวของนักอนุรักษ์ จำนวนตัวเลขของผู้ถูกดำเนินคดีดั่งกล่าวอาจหมายถึงปริมาณพื้นที่ป่าที่มากขึ้น ซึ่งเชื่อกันว่าส่งผลโดยรวมต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมรวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งประเทศ หากแต่วิธีการที่จะนำไปสู่ปลายทางเหล่านั้นล้วนสร้างบาดแผล และความบอบช้ำให้กับผู้คนเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนตัวเล็กๆ ในชายขอบของสังคมที่ยากจะต้านทานต่ออำนาจรัฐที่ไม่สนใจฟังเสียงประชาชน หากแต่ภาคภูมิใจเพียงตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นของพื้นที่สีเขียวที่สามารถฉกฉวยไปเป็นผลงานเพื่อเอาใจชนชั้นกลางและคงไว้ซึ่งอำนาจของรัฐบาลให้ยาวนานที่สุด

The Black Forest รัฐฯ สีเขียว ป่าสีดำ
สมพิตรมักจะพกภาพถ่ายของลูกสาวติดตัวอตลอดเวลา เธอเป็นครอบครัวคนสุดท้ายที่เขาเหลืออยู่

อีกตัวอย่างหนึ่งที่โหดร้ายของนโยบายทวงคืนผืนป่าคือกรณีของพ่อ สมพิตร แท่นนอก แห่งบ้านซับหวาย ที่คำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินให้จำคุก 1 ปี 10 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ภายหลังเข้าสู่เรือนจำได้ราวสองเดือนจำ ภรรยาของพ่อสมพิตรซึ่งอยู่ในฐานะผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้เสียชีวิตลง โดยมีนิตยา และชาวบ้านหัวอกเดียวกันคอยดูแลในวาระสุดท้าย ทั้งคู่ไม่มีใครได้เอ่ยคำลาต่อกัน

“ตอนรู้ว่าเขาตายผมเสียใจมาก ใจสลาย อยู่ด้วยกันมาเกินสามสิบปีแทบไม่เคยทะเลาะกัน ไม่เคยพูดจาหยาบคายเลยสักครั้ง” พ่อสมพิตรเล่าพร้อมกับมองไปที่ภาพถ่ายบนฝาผนังทีเรียงราย ส่วนใหญ่เป็นภาพของเขา และภรรยาใส่กรอบติดไว้ กระจกด้านหน้าถูกเช็ดจนใสมองเห็นภาพถ่ายที่อยู่ภายในอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับพวงกุญแจรูปลูกสาวที่พ่อสมพิตรมักแขวนมันไว้ที่เอวตลอดเวลาไม่เคยห่างตัว

The Black Forest รัฐฯ สีเขียว ป่าสีดำ
สุภาพ คำแหล้ เสียชีวิตลงไม่นานหลังจากกอกจากเรือนจำในฐานะผู้ต้องหาคดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน

กรณีของพ่อสมพิตร ย้อนให้ผมนึกถึงเรื่องราวของพ่อด่น และแม่สุภาพ คำแหล้ สองสามีภรรยา แห่งบ้านโคกยาว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ พ่อด่นในฐานะแกนนำชาวบ้านพยายามผลักดันให้เกิดโฉนดชุมชนภายหลังจากที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวบ้าน กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าภูซำผักหนามมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งการมาถึงของนโยบายทวงคืนผืนป่านำมาซึ่งคำสั่งให้ชาวบ้านโคกยาวย้ายออกนอกพื้นที่ กลายเป็นคดีในชั้นศาลที่พ่อด่น หายตัวไปและถูกพบศพในป่าไม่ไกลจากบ้านในอีก 1 ปีต่อมา

แม้ไม่สามารถจับคนร้าย หรือระบุสาเหตุแห่งการหายไปได้อย่างแน่ชัด แต่สำหรับชาวบ้าน และคนใกล้ชิดต่างเชื่อกันว่าต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ในประเด็นที่ดินทำกินของชาวบ้านโคกยาวที่เขาเป็นแกนนำต่อสู้มาอย่างยาวนาน ภายหลังการเสียชีวิตของพ่อด่น คดียังเนินต่อไปจนท้ายที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้แม่สุภาพ คำแหล้ ภรรยาของเด่นคำแหล้จำคุกเป็นเวลา 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา

The Black Forest รัฐฯ สีเขียว ป่าสีดำ
แนวเขตของพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทองที่ตั้งอยู่ติดกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีพื้นที่อีกจำนวนมากที่ยังคงมีปัญหาการทับซ้อนระหว่างที่ชองชาวบ้านและอุทยานแห่งชาติไทรทอง

ผมมีโอกาสไปเยี่ยมแม่สุภาพ ในงานรำลึกถึงการจากไปของพ่อด่นก่อนที่แม่จะเข้ารับฟังคำพิพากษาศาลฎีกาไม่นานนักในปี 2560 แม้บทสนทนาจะเลือนลงไปตามกาลเวลาแต่ผมจำแววตาเศร้าโศกที่ปรากฏอยู่แม้กระทั่งเวลาที่แม่กำลังยิ้มคือสิ่งที่ผมยังคงนึกถึงเสมอเมื่อนึกถึงเรื่องราวของทั้งคู่ หลังจากออกจากเรือนจำในปี 2561 แม่สุภาพเข้าร่วมการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในที่ทำกินร่วมกับกลุ่ม P-move ไม่นานนักอาการป่วยจากโรคมะเร็งทำให้แม่สุภาพเสียชีวิตลงในปี 2564 ด้วยวัย 67 ปี

คงไม่เป็นการกล่าวที่เกินเลยไปนักหากจะบอกว่า นี่คือประเทศที่ผลิตนักเคลื่อนไหวทางสังคม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไว้มากจนอาจอาจะติดอันดับ ไม่เว้นแม้กระทั่งประเด็นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ควรจะเป็นเรื่องราวดี ๆ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในระดับสากล แต่เส้นทางของการอนุรักษ์ในประเทศไทยกับเต็มไปด้วยบาดแผล น้ำตา และความตายของผู้คนชายขอบมากมายจนควรย้อนกลับไปตั้งถามถึงความต้องการในการอนุรักษ์หากราคาที่ต้องจ่ายนั้นคือสิ่งที่ไม่สามารถประเมินได้อย่างอิสรภาพและชีวิตผู้คน

ขอขอบคุณ Internews’ Earth Journalism Network ผู้สนับสนุนงบประมาณในการลงพื้นที่

เรื่องและภาพ ยศธร ไตรยศ