[:th]CrCF Logo[:]

ขอยุติการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย ในพื้นที่ จ.ชายแดนใต้ เป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายจะกลับมาเจรจาสันติภาพอีกครั้ง

Share

ขอยุติการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายจะได้กลับมาพูดคุยเจรจาสันติภาพกันอีกครั้ง ด้วยความมุ่งมั่นทางการเมือง

จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ปิดล้อม ที่ อ. หนองจิก จ. ปัตตานี เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 จนทำให้มีตำรวจ และชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ และทำให้ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 เสียชีวิตในเวลาต่อมา, เหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2565 จนทำให้มีเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 2 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง

เหตุการณ์การปะทะที่ อ. จะแนะ จ. นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 พ.ย. จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย รวมไปถึงเหตุการณ์วางระเบิดคาร์บอมในแฟลตตำรวจ จ. นราธิวาส ในวันที่ 22 พ.ย. ซึ่งส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากได้รับบาดเจ็บ รวมถึงเด็กและเยาวชน และมีตำรวจเสียชีวิต 1 นาย

ในขณะเดียวกันตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีในปี พ.ศ. 2565 มีสถิติว่าผู้ถูกควบคุมตัวด้วยอำนาจกฎหมายพิเศษจำนวนอย่างน้อย 110 คน โดยเฉพาะในเดือน พ.ย. 2565 มีผู้ถูกควบคุมตัวไปแล้วจำนวน 11 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงจำนวนสองคน ทั้งหมดไม่ได้ถูกตั้งข้อหาในระหว่างการควบคุมตัว ไม่มีสิทธิได้พบทนายความ การเยี่ยมมีระยะเวลาจำกัด และต่อมาบางรายตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาร้ายแรงเช่น “ร่วมกัน สะสม กำลังพล หรืออาวุธ หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ และร่วมกัน มีและใช้วัตถุระเบิดแบบที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย” เป็นต้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียหายทุกราย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน และขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เช่น การระเบิด และการปะทะด้วยอาวุธซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต และทรัพย์สิน และขอให้ยึดมั่นในกระบวนการสันติวิธี แม้จะเป็นหนทางที่ยากลำบาก และมีการยั่วยุให้แต่ละฝ่ายใช้ความรุนแรงต่อกัน ยังผลให้ผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มทวีขึ้น และแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในระดับปฏิบัติและนโยบาย จึงถือเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายจะกลับมาพูดคุยเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐไทย กับขบวนการบีอาร์เอน อีกครั้งด้วยความมุ่งมั่นทางการเมือง ให้ยึดมั่นในสาระถะสามประการอย่างจริงจัง คือหนึ่งการยุติความรุนแรงจากทุกฝ่าย สองคือการปรึกษาหารือกับทุกกลุ่มทุกฝ่าย และสามคือการแสวงหาทางออกทางการเมือง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และเครือข่ายจึงขอให้รัฐบาลทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และเปิดเผยข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ต่างๆ อย่างละเอียด โดยใช้วิธีที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายตามหลักสิทธิมนุษยชน มีมาตรการการเยียวยาที่เหมาะสม ให้กับทั้งประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้ความสำคัญกับการเจรจาสันติภาพโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการเพื่อยุติความรุนแรง