ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) P-Move ขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสลายการชุมนุมราษฎรหยุด APEC 2022 สอบสวน และเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับชั้น และเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ
23 พฤศจิกายน 2565
เรื่อง ขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสลายการชุมนุมราษฎรหยุด APEC 2022 สอบสวน และเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับชั้น และเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ
เรียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 ราษฎรหยุด APEC 2022 ได้จัดให้มีเวทีคู่ขนาน และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ณ ลานคนเมือง ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และประชาคมโลก ได้แก่
(1) เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) รวมถึงระเบียบกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ที่พยายามนำเสนอให้ที่ประชุม APEC รับรอง โดยให้เหตุผลว่า “เป็นแนวคิดที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนชั้นนำในประเทศ และสร้างผลกระทบมหาศาลให้กับประชาชนไทย และประชาคมโลกในอนาคต”
(2) เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ยุติบทบาทในการเป็นประธานการประชุม APEC โดยทันที เพราะ “ไม่มีความชอบธรรมที่จะลงนามข้อตกลงร่วมกับผู้นำกลุ่ม APEC” และ “เพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อประชาชน และต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ” และ
(3) เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ยุบสภา และเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง พร้อมกับจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้เข้าร่วมเพื่อผลักดันข้อเรียกร้องดังกล่าวด้วย
ที่ผ่านมา ขปส. ได้เคลื่อนไหว และผลักดันข้อเรียกร้องในเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ในการจัดการที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ โดยชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง และเล็งเห็นว่าการประชุม APEC นั้นจะสร้างผลกระทบอย่างมหาศาล ที่จะนำไปสู่การแย่งยึดทรัพยากรจากประชาชน
ที่ผ่านมาชุมชนสมาชิก ขปส. ต่างดำรงชีวิตอยู่ในผืนป่า และท้องทะเล แต่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากนโยบายด้านการจัดการทรัพยากรหลังการรัฐประหารในปี 2557 เช่น การขยายพื้นที่การประกาศป่าอนุรักษ์ทับพื้นที่ชุมชน เปลี่ยนให้ชุมชนผู้บุกเบิกกลายเป็นผู้บุกรุก มีการดำเนินคดีจากนโยบายทวงคืนผืนป่ามากถึง 38,692 คดี
โดยที่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ และกลุ่มทุนยังคงแผ่ขยายขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มยึดพื้นที่ของชุมชนไปสนองนโยบายการ “ฟอกเขียว” เช่น การค้าคาร์บอนเครดิต นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน เมื่อเป็นเช่นนี้ ขปส. จึงจำเป็นต้องเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 เพื่อยื่นข้อเสนอในการพัฒนาที่ไม่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ณ เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะผ่านช่องทางการสื่อสารของสื่อมวลชน และโซเชียลมีเดียทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มีการสลายการชุมนุมที่รุนแรง ไม่ได้สัดส่วน นำไปสู่การจับกุมคุมขัง และมีการทำร้ายร่างกายในรูปแบบต่างๆ ทั้งการทุบตี กระทืบ แก๊สน้ำตา และใช้อาวุธปืน (กระสุนยาง) จนทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย ไม่เว้นแม้กระทั่งนักข่าว
มีผู้ถูกจับกุม และดำเนินคดีอย่างน้อย 25 คน และได้รับบาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 30 คน และที่ร้ายแรงมากที่สุดคือการใช้ปืนจ่อยิงผู้ร่วมชุมนุมแบบซึ่งหน้า ในลักษณะของการอาฆาตมาดร้าย ด้วยการยิงไปที่ดวงตาของ นายพายุ บุญโสภณ กองเลขานุการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ในนามสมาชิก ขปส. ได้รับบาดเจ็บสาหัส และมาทราบภายหลังจากการรักษาพยาบาลของแพทย์ในเวลาถัดมาว่า นายพายุต้องสูญเสียดวงตาไปหนึ่งข้าง
ขปส. ยืนยันว่า การชุมนุมดังกล่าวของราษฎรหยุด APEC 2022 และการเรียกร้องของนายพายุนั้น ไม่มีพฤติการณ์ที่มีความรุนแรงแต่อย่างใด การชุมนุมดังกล่าวดำเนินไปตามสิทธิ์ที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทุกประการ แม้กระทั่งการแจ้งการชุมนุมที่เป็นไปตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
ในขณะที่รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับพยายามสร้างกฎเกณฑ์เพื่อไม่ให้มีการแสดงออกของประชาชนในทุกรูปแบบในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร โดยได้มีการออกประกาศห้ามการชุมนุมในช่วงการประชุม APEC ในระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 สอดคล้องกับพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศที่เข้าไปคุกคามผู้นำชุมชน นักพัฒนาเอกชน และนักกิจกรรมทางสังคม จงใจปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมโดยอ้างว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ซึ่งถือเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ทำลายสิทธิในการมีส่วนร่วมในฐานะประชาชนผู้เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของประเทศ รวมถึงทำลายเสรีภาพสื่อมวลชน และสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อันปรากฏว่ามีการทำร้ายสื่อมวลชนจนได้รับบาดเจ็บแม้จะมีการแสดงสัญลักษณ์สื่อมวลชนแล้วก็ตาม
นอกจากนั้น ราษฎรหยุด APEC 2022 จำนวน 25 คน ถูกตั้งข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มาตรา 216 และความผิดในข้อหาอื่นๆ หลังสอบปากคำเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง ให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดในวงเงินประกันตัวคนละ 20,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเข้าร่วมชุมนุม และห้ามประกาศเชิญชวนบุคคลอื่นเข้าร่วมมั่วสุมหรือกระทำการใดๆ ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ซึ่ง ขปส. เห็นว่าเป็นการดำเนินคดีเพื่อกลั่นแกล้งผู้ชุมนุมผู้เห็นต่างจากรัฐบาลอย่างไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง
เพื่อเป็นการคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อจากการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ขปส. ขอเรียกร้องมายังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนี้
1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดกระบวนการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุมในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 และการคุกคามประชาชนราษฎรหยุด APEC 2022 ก่อนหน้านั้น แล้วเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา โดยปราศจากการแทรกแซงของพลเอกประยุทธ์
2. ต้องมีกระบวนการสอบสวน และเอาผิดตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการสลายการชุมนุมทั้งหมด ทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชาจนถึงระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ที่ปรากฏการลุแก่อำนาจ และสลายการชุมนุมอย่างไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล
3. ต้องเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมทั้งหมด โดยให้รัฐบาลดำเนินการให้มีความคืบหน้าภายใน 7 วัน และรัฐบาลต้องชดใช้ค่าเสียหายและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ คฝ. เข้าปราบปรามสลายการชุมนุมสาธารณะของประชาชนด้วยความรุนแรง ซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบชดใช้มี ดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
- ค่าสูญเสียอวัยวะทำให้พิการ
- ค่าเสียโอกาสในการทำงานประกอบอาชีพตามปกติ
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาและดำเนินการ
ขอแสดงความนับถือ
(นายจำนงค์ หนูพันธุ์)
ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
Source: P-Move