[:th]CrCF Logo[:]

แถลงการณ์เรียกร้องให้ สตช. รับผิดชอบการสลายชุมนุม กลุ่มราษฎรหยุด APEC

Share

แถลงการณ์ ขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบต่อการใช้กำลังสลาย #ราษฎรหยุดAPEC ปล่อยตัวผู้ชุมนุม ไม่ดำเนินคดีผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมแสดงออกทางการเมืองและปฏิบัติตามหลักการสากลเป็นสำคัญ

วันนี้ 18 พฤศจิกายน 2565 การชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC ซึ่งผู้ชุมนุมประกาศจัดกิจกรรมเดินเท้าจากบริเวณลานคนเมืองไปยังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อขับไล่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเพื่อแสดงความต้องการต่อต้านกลุ่มทุนผูกขาด ที่รัฐบาลไทยให้เข้าไปมีอิทธิพลในการประชุม APEC 2022 โดยเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. บริเวณถนนดินสอ มีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเริ่มปิดกั้นทางเดินของกลุ่มผู้ชุมนุม ระหว่างนั้นมีรายงานข่าว ภาพนิ่ง และวีดีโอเผยแพร่บนสื่อออนไลน์พบว่าเจ้าหน้าที่ใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุม มีการใช้กำลังทำร้าย ทุบตีด้วยกระบอง ดิ้วเหล็ก เตะถีบ และใช้กระสุนยางจ่อยิงผู้ชุมนุมบางคนในระยะประชิดอีกด้วย

ทั้งนี้เหตุการณ์ดำเนินตั้งแต่ช่วงเช้าล่วงเลยมาจนถึงบ่าย จากข้อมูลโดย iLaw ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมครั้งนี้สองครั้ง โดยครั้งแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้เข้าสลายตอนช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. และในครั้งที่สองเมื่อเวลาประมาณ 12.45 น. จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้บาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งรวมถึงผู้สื่อข่าวในสถานที่ชุมนุมด้วย นอกจากนี้ยังมีการจับกุมผู้ชุมนุม ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ของศูนทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (เวลา 14.45 น.) ระบุว่ามี 25 ราย ควบคุมตัวอยู่ที่ สน. ทุ่งสองห้อง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า การชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC ของประชาชนและภาคประชาสังคมเป็นการใช้สิทธิ และเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ และเกิดจากการที่รัฐบาล เชื้อเชิญกลุ่มทุนผูกขาดเข้าไปกำหนดวาระและเนื้อหาของการประชุม. แต่ขณะเดียวกันกลับปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่มทุนผูกขาดอย่างร้ายแรงตลอดมา

ดังนั้นเมื่อผู้ชุมนุมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการแสดงออกและการชุมนุม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของตำรวจทุกหน่วย จะต้องให้การคุ้มครอง และอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุม ขณะที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้แสดงให้เห็นภาพการทำงานที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจำนวนมากใช้ความรุนแรงปราบปรามการชุมนุมของประชาชน โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันตนเองจากประชาชนที่ไร้อาวุธและชุมนุมอย่างสงบ

การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) รวมถึงกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย และการจราจรการประชุมเอเปก 2565 ควรจะให้การรับรองว่าการควบคุมฝูงชนเป็นไปตามหลักสากล ได้แก่ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญานี้ ไปจนถึงเสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

การกระทำดังเช่น การเข้าปราบปรามการชุมนุมโดยสงบด้วยอาวุธกระสุนยาง โดยไม่ได้มีการประกาศล่วงหน้า หรือการเอาปืนจ่อยิงผู้ชุมนุมซึ่งไม่มีอาวุธ จึงถือว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอน เกินกว่าเหตุ การจับกุมและการตั้งข้อหาผู้ชุมนุมซึ่งเพียงใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกที่พึงมี แสดงให้เห็นว่า มีการบิดเบือนเจตนาของกฎหมายเพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมและกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมือง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบต่อการใช้กำลังสลาย #ราษฎรหยุดAPEC ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุม ไม่ดำเนินคดีผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมแสดงออกทางการเมือง และปฏิบัติตามหลักการสากลเป็นสำคัญ และขอเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบทันที

สำหรับกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการสลายการชุมนุมในวันนี้ เราขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้บังคับบัญชา และรัฐบาล จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่กระทบต่อร่างกายของประชาชน ทบทวน ตรวจสอบ ปรับปรุง และลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำเกินกว่าเหตุ โดยองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐฝ่ายปกครอง กระทรวงยุติธรรม หรือองค์กรภาคประชาสังคมและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศ จำเป็นจะต้องตรวจสอบการฝึกอบรมตำรวจกองกำลังอารักขา และควบคุมฝูงชน ไปจนถึงการปฏิบัติจริงว่า ได้มีการสร้างความเข้าใจและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือไม่