ชวนทุกท่านขบคิด และพูดคุยถึงวงจรความรุนแรงในสังคมไทย ที่ถูกฉายซ้ำมาตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลา ในปี 2519 การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ในปี 2553 มาจนถึงความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน ผ่านความรุนแรงรูปต่างๆที่รัฐใช้ รวมถึง การซ้อมทรมานและอุ้มหาย
ความรุนแรงเหล่านั้นยังนำพาคลื่นคำถาม และความสับสนเข้าซัดสังคม และทำให้เกิดคำถามที่ว่าในฐานะสังคมควร จดจำ จัดการ และป้องกันไม่ให้ความรุนแรงโดยรัฐเกิดขึ้นซ้ำอีกได้อย่างไร
เบื้องหลังความรุนแรงที่มากกว่าตาเห็น
วัฒนชัย วินิจจะกูล เปิดวงสนธนาด้วยการชี้ให้เห็นว่า โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเราพูดถึงความรุนแรง เรามักพูดถึงแต่ความรุนแรงที่มองเห็นได้ เห็นคนบาดเจ็บ เสียชีวิต ซึ่งแบบนี้เรียกว่าความรุนแรงทางตรงหรือความรุนแรงทางกายภาพ ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีความรุนแรงอีก 2 รูปแบบ ได้แก่ ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง อันเกิดจากสถานะอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ
ซึ่งเราสามรถเห็นความรุนแรงรูปแบบนี้ผ่านเครื่องมือได้หลายรูปแบบ เช่น นโยบายสาธารณะ การออกกฎหมายที่ให้สิทธิพิเศษกับกลุ่มคนที่มีอำนาจ โดยไม่ได้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป
อีกตัวอย่างสำหรับความรุนแรงเชิงโครงสร้างคือ การไม่ให้สิทธิประกันตัวกับผู้ต้องหาคดีการเมือง สิ่งนี้ถือเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ
ความรุนแรงรูปแบบที่ 3 คือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึง ความเชื่อ อคติ วัฒนธรรม ที่ให้ความชอบธรรมกับความรุนแรง ตัวอย่างเช่น ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่พระกิตติวุฑโฒได้ให้สัมภาษณ์ว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป เป็นสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงต่อคอมมิวนิสต์ รวมถึงการทำร้ายศพที่ธรรมศาสตร์ด้วย ซึ่งถ้าหากไม่มีฐานคิดเชิงวัฒนธรรมรองรับ ก็คงไม่เกิดความรุนแรงถึงขนาดนี้
“อยู่ๆคนจะกระทำความรุนแรงต่อกัน ถ้าไม่ใช่ความโกรธส่วนตัว ไม่ใช่นิสัยปกติ อาจจะเกิดจากเรื่องที่บ่มเพาะกันมานานในเรื่องเชิงโครงสร้างในวัฒนธรรม ถ้าจะถามว่า ใครจะเป็นคนรับความผิดนั้น คำถามสำคัญคือ ควรเป็นผู้ก่อความรุนแรงเท่านั้น หรือจริงๆแล้วตัวผู้ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และวัฒนธรรมต้องเข้ามารับผิดชอบด้วย”
ความรุนโดยรัฐ: จากเมืองหลวงสู่จังหวัดชายแดนใต้
นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้ดำเนินรายการ ในฐานะผู้ที่ทำงานในจังหวัดชายแดนใต้ ได้อธิบายว่าความรุนแรง และความขัดแย้งในภาคใต้ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยระลอกหลังสุด คือ หลังการปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ปี 2547 และหลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนมีขบวนการต่อสู้กับภาครัฐ ซึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องหาทางออกร่วมกัน และแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
แต่ที่ผ่านมารัฐบาลใช้วิธีแก้ปัญหาที่ทำให้ผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบไปด้วย หรือในหลายกรณีก็ไม่มีการเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง โดยหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก นั้นคือ การใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ซึ่งเอื้อให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงโดย้างเรื่องความมั่นคง
ในพื้นที่ภาคใต้มีการใช้กฎหมายพิเศษอยู่ 3 ฉบับ ได้แก่
- พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457
- พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
- พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
ซึ่งกฎอัยการศึกให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเชิญตัวผู้ต้องสงสัย และสามารถควบคุมตัวได้นานถึง 7 วัน โดยที่ไม่มีหมายจับ หมายศาล และญาติและทนายไม่สามารถเข้าพบได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้ พรก.ฉุกเฉินควบคุมตัวต่อ โดยต้องมีหมายจับ หมายศาล ไปได้อีกถึง 37 วันรวม 7 วันแรก โดยกฎอัยการศึก
โมฮำหมัดรอฮมัด มามุ ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิด และเคลื่อนไหวเรื่อง อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ที่เสียชีวิตในขณะถูกเชิญตัวไปสอบปากคำ ได้กล่าวถึงความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ ว่า ตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลา มาจนถึงเหตุการณ์ตากใบ ความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นวงจรซ้ำแล้วซ้ำเล่า และฆาตรกรก็ยังคงลอยนวล
“ตัวกฎหมายพิเศษนี่แหละที่ทำให้อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถึงแก่ชีวิต กฎหมายพิเศษทำให้เจ้าหน้าที่ไปจับใครก็ได้ โดยที่ไม่ต้องมีความผิด ไม่ต้องมีหลักฐาน แค่ถูกสงสัย แค่เป็นคนมลายู เจ้าหน้าที่ก็เชิญตัว”
โมฮำหมัดรอฮมัด เล่าว่า อับดุลเลาะถูกควบคุมตัวไปวันที่ 20 ก.ค. 2562 และถูกส่งไปที่ศูนย์ซักถาม ในค่ายประมาณ 2 ทุ่ม พอตอนตี 3 ก็เข้าโรงพยาบาลไม่รู้สึกตัว ทางญาติได้คำตอบจากหมอว่า เขาหมดสติ ขาดอากาศไปเลี้ยงสมอง แต่ในส่วนสาเหตุนั้นไม่มีใครกล้าพูด เพราะมีเจ้าหน้าที่ทหารคุมอยู่ด้วยตอนนั้น ทางเจ้าหน้าที่ทหารก็บอกว่าเขาลื่นล้มในห้องน้ำ ทั้งทีอับดุลเลาะเป็นผู้ชายอายุ 30 ต้นๆ ทำงานก่อสร้าง สุขภาพแข็งแรง แต่ก็หมดสติไม่รู้สึกตัว แล้วก็เสียชีวิตไป ในช่วงเวลาแค่ 3-4 ช.ม หลังจากถูกเชิญตัว มันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้
“ผมทำหนังสือส่งมาที่รัฐสภาเพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่งไปที่ DSI แต่คำตอบที่ได้คือ เหมือนกับว่าผมแจ้งความลูกชายคุณ แต่คนตรวจสอบเรื่องดันเป็นพ่อของผู้ก่อเหตุ มันไม่ใช่หน่วยงานที่จะเข้าถึงได้ มีหลายอย่าง เช่น ในวันเกิดเหตุไม่มีกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นมุกเดิมๆที่ประชาชนจับได้แล้ว”
นวลน้อย ธรรมเสถียร เสริมว่า ในฐานะที่ทำงานกับผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษจำนวนหนึ่ง ก็พบว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จะมีคนที่เจอสถานการณ์แบบอับดุลเลาะเยอะ คือเป็นผู้ต้องสงสัยในทางใดทางหนึ่ง แต่รัฐอาจไม่มีหลักฐานอะไรเลย ซึ่งเมื่อไม่มีหลักฐาน จึงต้องน้ำตัวไปซักถาม ในพื้นที่ภาคใต้จะมีสิ่งที่เรียกว่าศูนย์ซักถามอยู่หลายศูนย์ แต่กลับไม่ค่อยมีคนพูดถึง เพราะเคยมีการขู่ฟ้องมาแล้ว ซึ่งก็เป็นความรุนแรงรุปแบบหนึ่ง
“มีกลุ่มที่ทำงานกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษบอกว่าเรื่องของบาดแผลในจิตใจมันไม่หายง่ายๆ บางคนติดอยู่กับตัวไปตลอดชีวิต เคยสัมภาษณ์คนที่ถูกซ้อม เขาบอกว่าหลังจากที่เขาโดนแล้ว เขาไม่ออกจากปอเนาะเลย ทุกครั้งที่เห็นทหาร ทุกครั้งที่ผ่านด่าน เขาจะรู้สึกใจสั่นมาก และตัวสั่นด้วย นี่เป็นตัวอย่าง แล้วยังมีกรณีการถูกซ้อมจนเสียชีวิต ดังนั้นไม่แปลกใจที่คนสามจังหวัดจะไม่เชื่อในกรณีของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ต่อให้ไม่มีใครบอกว่าเค้าเสียชีวิตเพราะอะไร ”
ข้อสังเกตรูปแบบความรุนแรงจากรัฐไทย
ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกต 3 ข้อที่ทำให้สังคมไทยยังต้องเผชิญความรุนแรง โดยรัฐซ้ำแล้วซ้ำอีก
(1) สังคมไทยไม่มีองค์ประกอบเรื่องการรับโทษทางกฎหมาย: ความรุนแรงโดยรัฐจำนวนมากไม่ผิดกฎหมาย เพราะ มีการออกกฎหมายหรือข้อยกเว้นต่างๆ มารองรับการใช้ความรุนแรงตั้งแต่ต้น อย่างเช่น กฎหมายพิเศษทั้งในจังหวัดชายแดนใต้ และทั่วประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น ความรุนแรงหลายอย่างไม่มีหลักฐาน กล่าวคือ ในกรณีบังคับสูญหาย การหาพยานหลักฐานเป็นสิ่งที่ยากมาก ในกรณีซ้อมทรมานก็เช่นกัน การหาหลักฐานนับวันก็ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ วิธีซ้อมทรมานก็ยิ่งซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้วิธีที่ไม่เห็นบาดแผล ซึ่งทำให้ไม่ทิ้งร่องรอยสำหรับการดำเนินคดี
และเมื่อผู้กระทำไม่ได้รับโทษทางกฎหมาย ทำให้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมาก มาสู่ข้อสรุปว่าใช้สันติวิธีกับรัฐไทยไม่ได้แล้ว
“แทบไม่มีใครในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่มีญาติพี่น้องหรือคนรู้จักถูกละเมิดสิทธิ์ หรือได้รับจากความรุนแรงโดยรัฐในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเลย นี่คือคำอธิบายว่ามันกว้างขวางขนาดไหน ถึงแม้จะไม่ใช่การสังหารหมู่แบบตากใบชัดๆ แต่คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้จักผู้ถูกกระทำความรุนแรงโดยรัฐทั้งสิ้น”
(2) ขาดการทำความจริงให้ปรากฎ: หลังจากเกิดความรุนแรงโดยรัฐที่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแล้ว ในทุกครั้งแทบไม่มีการค้นหาและทำความจริงให้ปรากฎมากเท่าที่ควร
“บ่อยครั้งที่เราฟังบทสัมภาษณ์ของญาติเหยื่อ เขาให้ความสำคัญต่อความจริงที่ปรากฎมากกว่าความยุติธรรมด้วยซ้ำไป เขาอยากรู้ว่าคนที่เขารักชะตากรรมเป็นอย่างไร ถึงจะเสียชีวิตแล้วญาติก็ยังอยากรู้ว่าเสียชีวิตแล้ว ถึงจะได้ยอมรับความจริงตรงนี้เสียที”
โดยถึงแม้ว่าการค้นหาความจริงอาจไม่ได้นำไปสู่การดำเนินคดีทางกฎหมาย แต่อย่างน้อยก็นำไปสู่การรับโทษทางสังคมของผู้ก่อการได้ว่า สังคมรู้ว่าคุณทำเรื่องเหล่านี้และจะเฝ้าระวังไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอีก
(3) การเยียวยาจากรัฐ: เงินเยียวยาเป็นสิ่งที่รัฐดำเนินการให้กับผู้เสียหายมากที่สุดเมื่อเทียบกับการทำความจริงให้ปรากฎ และการเอาผิดทางกฎหมาย แต่ทว่าเงินเยียวย่อมเทียบไม่ได้กับการสูญเสียที่ญาติต้องเผชิญ รวมถึงเงินเยียวยานี้ไม่ได้เป็นต้นทุนที่ทำให้รัฐคิดทบทวนอีกครั้งว่าไม่ควรก่อความรุนแรงซ้ำอีก เพราะเงินนี้ไม่ได้ออกจากกระเป๋าของรัฐโดยตรงแต่มาจากภาษีของประชาชนเอง ซึ่งการจ่ายเงินเยียวยาจึงไม่ใช่ปัจจัยที่รัฐคำนึงถึงเมื่อจะก่อความรุนแรง
จากการสลายการชุมนุมคนปี 2553 ถึงก้าวต่อไปของสังคมไทย
ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อธิบายว่า ความรุนแรงโดยรัฐสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระดับย่อย คือ
(1) ความรุนแรงที่รัฐเป็นผู้สั่งการ หรือกระทำเอง
(2) รัฐปล่อยให้บุคคลอื่นกระทำความรุนแรง
(3) รัฐปิดกั้นที่จะไม่หาข้อเท็จจริง หรือสร้างความทรงจำชุดใหม่เกี่ยวกับเหตุรุนแรง
(4) รัฐใช้เครื่องมือ กลไกต่างๆ เช่น กฎหมาย ให้เอื้อต่อการใช้ความรุนแรง เช่น การนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ปลดทุกอย่างโดยชอบธรรมจากรัฐ รวมไปถึงความพยายามของรัฐในการสร้างวาทกรรม การให้ความหมายและคุณค่ากับคำบางอย่าง เช่น คำว่าไพร่
“คำว่าไพร่ ไพร่ของผู้ชุมนุมคือราษฎรคนธรรมดาที่คุณหลอกลวงว่าฉันไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง เคยหลอกลวงว่าเราไม่มีสิทธิถือครองที่ดิน แต่รัฐเอง หรือผู้มีส่วนในการฆ่าทำลายล้างจากรัฐก็เรียกผู้ชุมนุมว่าไพร่ แต่เรียกบนพื้นฐานว่าฉันสูงกว่า ฉันถือครองทรัพยากร ฉันมีเครื่องมือ ฉันทำในนามของการอำนวยควาสะดวกเรียบร้อย ความสงบเรียบร้อยเป็นวาทกรรมที่ไม่ควรเกิดขึ้นของสถาบัน”
หลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง มีการตั้งคณะกรรมการอย่างน้อย 2 ชุด คือชุดแรกที่เรียกว่า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งสิ่งที่ขาดในรายงานคอป. คือการพิสูจน์ความจริงว่าความรุนแรงเกิดขึ้นจากรัฐอย่างไร แล้วรัฐต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้าง
อีกชุดหนึ่งคือ หน่วยงานจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วมีข้อสรุปรายงานที่ไม่ต่างกัน คือ กสม. ใช้คำว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างประเทศประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐแล้วออกมาเรียกร้องสิทธิ
ณัฐวุฒิ ยังชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่สังคมควรคำนึงถึงในการจัดการกับความรุนแรง
(1) ประชาชนตื่นรู้และค่อย ๆ ตาสว่างมากขึ้นซึ่งทำให้ความรุนแรงโดยรัฐในรูปแบบเดิมเกิดขึ้นได้ยาก
(2) สังคมต้องจัดโครงสร้างทางการเมืองใหม่ โดยรัฐธรรมนูญอาจไม่ใช้ทางแก้ปัญหาทั้งหมดแต่เป็นโอกาสที่ดีในการที่เราจะจัดโครงสร้างแบบใหม่
(3) ยังต้องมีการค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน
(4) การจัดวางสถานะของความจริง บางเรื่องอาจจะต้องอยู่ในบทเรียน บางเรื่องอาจจำเป็นต้องอยู่ในอนุเสาวรีย์
(5) ต้องมีพื้นที่ให้ผู้เห็นต่าง เช่น ในกรณีที่ครอบครัวชุณหะวันใช้พื้นที่ขอโทษต่อครอบครัวของหะยีสุหลงเรื่องการบังคับสูญหาย
นอกจากนี้ วัฒนชัย วินิจจะกูล ยังชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่สังคมไทยต้องจัดการคือวัฒนธรมลอยนวลพ้นผิด ที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน การลอยนวลพ้นผิดมันซ้ำเติมความรุนแรงให้สังคมไทย แต่ถ้าหากรัฐกระทำความรุนแรง มาตรฐานจากรัฐขั้นต่ำเลยคือรัฐต้องเยียวยาผู้เสียหายด้วยเงินก่อน เพื่อช่วยเหลือในเรื่องความเป็นอยู่ และถืออเป็ฯการรับมือการสูญเสียแบบเร่งด่วน แต่มาตรฐานที่สูงเลยคือการค้นหาและเปิดเผยความจริง คืนความยุติธรรมให้ผู้ถูกพรากจากคนที่เขารัก
“รัฐและผู้มีอำนาจรัฐต้องยอมรับว่าคนมีความแตกต่างหลากหลาย ถ้ารัฐและผู้มีอำนาจรัฐมองทุกคนเป็นมนุษย์เราก็ไม่ต้องมาพูดคุยกันเรื่องนี้เลย ถ้ารัฐมองเห็นความแตกต่างหลากหลายเราไม่ต้องมาเสียเวลาร่างกฎหมายดีๆแบบนี้ออกมา”







More Photos: Photo