[:th]CrCF Logo[:]
[:th]จม.เปิดผนึก ถึงโจ ไบเดน[:]

3 ครอบครัวผู้สูญหาย วันเฉลิม-สยาม-ชัชชาญ ส่ง จม.ถึงโจ ไบเดน เรียกร้องไทย เวียดนาม กัมพูชาเร่งสืบสวนคดี

Share

วันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2565 ที่จะถึงนี้ รายงานข่าวระบุว่านายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะเดินทางไปกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน – สหรัฐอเมริกา (U.S.-ASEAN summit) เพื่อยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สืบเนื่องจากกรณีการบังคับสูญหายผู้ลี้ภัยไทยที่ประเทศเพื่อนบ้าน กรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกบังคับให้สูญหายขณะที่อยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2563 กรณีนายสยาม ธีรวุฒิ ถูกบังคับให้สูญหายที่ประเทศเวียดนาม เมื่อปี 2562 และกรณีการฆาตกรรมนายชัชชาญ บุปผาวัลลย์ซึ่งพบศพที่แม่น้ำโขง จ.นครพนม เมื่อปี 2561 ครอบครัวของผู้สูญหาย และผู้เสียชีวิตทั้งสามครอบครัว ได้แก่ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม, กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม และก่อการ บุปผาวัฎฎ์ ได้เดินหน้าทวงถามความยุติธรรมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในไทย กัมพูชา และเวียดนาม ตามแต่ละกรณี ซึ่งทั้งสามครอบครัวปัจจุบันประสบกับความไม่คืบหน้าในการค้นหาความจริง และการติดตามเรื่องที่ได้ร้องเรียนไปกับหน่วยงานต่างๆ มักเป็นไปอย่างล่าช้าทั้งมักไม่ได้ข้อมูลเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ในวาระที่ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะเดินทางไปกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน–สหรัฐอเมริกา วันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2565 ที่จะถึงนี้ครอบครัวของผ้สูญหาย สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์, กัญญา ธีรวุฒิ และก่อการ บุปผ่วัฎฎ์ จะส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายโจ ไบเดน เพื่อเรียกร้องให้นายโจ ไบเดน ย้ำเตือนรัฐบาลไทย กัมพูชา และเวียดนาม ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีการบังคับบุคคลสูญหาย และการฆาตรกรรมผู้ลี้ภัยไทยทั้งสาม รวมถึงกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ล่าช้า และแจ้งให้ครอบครัวของผู้สูญหายได้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน รวมถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับกรณีทั้งหมด อย่างต่อเนื่องและเป็นธรรมต่อไป


9 พฤศจิกายน 2565

ประธานาธิบดี โจเซฟ อาร์ ไบเดน จูเนียร์
ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดีซี

เรื่อง เรียกร้องให้ติดตามการสืบสวนสอบสวนกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
เรียน ประธานาธิบดีไบเดน

ดิฉัน นางสาวสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นประชาชนไทยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ดิฉันเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อกล่าวถึงการบังคับบุคคลสูญหายในกรณี นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นเหตุที่ร้ายแรงเป็นอย่างยิ่ง ดิฉันเป็นพี่สาวของวันเฉลิม ซึ่งเขาได้ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาหลังจากการรัฐประหารปี 2557 ในประเทศไทย ต่อมา วันเฉลิมได้ถูกบังคับให้สูญหายเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ที่บริเวณหน้า แม่โขง การ์เดน คอนโดมิเนียม กรุงพนมเปญ ดิฉันมีความวิตกกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับชะตากรรมของเขาจนถึงทุกวันนี้ ในระหว่างที่ท่านจะได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำอาเซียน – สหรัฐฯ และเอเชียตะวันออก ณ กรุงพนมเปญในวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2565 นี้ ดิฉันขอเรียกร้องให้ท่านกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในกรณีดังกล่าวในระหว่างการประชุม โดยเฉพาะต่อรัฐบาลกัมพูชา เพื่อให้รัฐบาลกัมพูชาดำเนินการชี้แจงถึงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนการถูกบังคับสูญหายของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวของดิฉันโดยไม่ล่าช้า

นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ น้องชายของดิฉัน เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังถูกตั้งข้อกล่าวหาทางอาญาหลายครั้ง วันเฉลิมลี้ภัยจากไทยไปอาศัยที่กัมพูชาตั้งแต่ปี 2557 หลังรัฐประหาร มีหลักฐานมากมายยืนยันการมีตัวตน และการอยู่อาศัยของวันเฉลิมในกรุงพนมเปญ แม้ว่าในช่วงแรกรัฐบาลกัมพูชาจะให้การปฏิเสธ เหตุการณ์บังคับสูญหายวันเฉลิมเกิดขึ้นต่อหน้าสาธารณชนในตอนกลางวันแสก ๆ ที่บริเวณหน้าแม่โขง การ์เดน คอนโดมิเนียมที่เขาพักอาศัยอยู่ มีบันทึกภาพกล้องวงจรปิดที่บ่งชี้ถึงยานพาหนะที่พาตัวเขาไป เลขป้ายทะเบียนรถยนต์ดังกล่าว และพยานผู้เห็นเหตุการณ์มากมาย ดิฉันเองอยู่ในเหตุการณ์เนื่องจากกำลังโทรศัพท์คุยกับวันเฉลิมในขณะเกิดเหตุนั้น หลังจากเหตุการณ์ ฉันได้ปรึกษากับทีมทนายความ และเริ่มดำเนินการค้นหาความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของวันเฉลิม เพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัว ดิฉันได้ร้องเรียนทั้งกับทางการไทย และกัมพูชา ในส่วนของทางการไทย เราได้ยื่นหนังสือขอให้สืบสวนสอบสวนการหายตัวไปของวันเฉลิม ทั้งต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม อัยการสูงสุด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สหประชาชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในส่วนของทางการกัมพูชา เราได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรมไปเมื่อเดินกรกฎาคม 2563 และในเดือนธันวาคม 2563 ดิฉันได้เดินทางไปให้ข้อมูลต่อศาลชั้นต้นกรุงพนมเปญตามหมายเรียก และยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรและเอกสารพยานหลักฐานจำนวน 177 หน้าต่อผู้พิพากษาไต่สวน ซึ่งยืนยันว่าจะดำเนินการสืบสวนกรณีของวันเฉลิมต่อไป จนปัจจุบันถือเป็นเวลามากกว่า 2 ปีแล้วที่ครอบครัวของดิฉันยังไม่ได้รับทราบชะตากรรมหรือข่าวสารข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนอีกเลย

แม้ว่ากรณีของวันเฉลิมจะได้สร้างพลังในการออกมาเคลื่อนไหวของคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งเป็นขบวนการที่ผลิบานเป็นพิเศษในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในเวลานี้ดูเหมือนว่าเรื่องของวันเฉลิมจะถูกลืมไป และทิ้งไว้เพียงบรรยากาศความเงียบงัน ขณะที่ครอบครัวของเรายังคงทุกข์ทรมานอยู่ทุกวินาทีจากวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย พวกเรารู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งไว้เพียงลำพังในอดีตอันเจ็บปวด เราได้ให้ข้อเท็จจริง และข้อมูลที่เรามีเกี่ยวกับกรณีของวันเฉลิมต่อทุกภาคส่วนอย่างแข็งขันมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพอ ทั้งผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ยังได้ทำลายทั้งความหวัง จิตวิญญาณ ไปจนความพยายามในการใช้ชีวิตตามปกติของพวกเราอย่างสาหัส

ในการนี้ ด้วยพันธกรณีของท่านในฐานะผู้นำแห่งสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราขอเรียกร้องให้ท่านแจ้งเตือนรัฐบาลกัมพูชาในภารกิจหรือพันธกิจที่กัมพูชามีต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ซึ่งกัมพูชาเข้าเป็นภาคีในปี 2556 โดยจะต้องออกมาตรการรับรองว่ากรณีของนายวันเฉลิมจะได้รับการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ล่าช้าอีกต่อไป และเพื่อให้ครอบครัวของเราซึ่งเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมได้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน รวมถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับกรณีทั้งหมด อย่างต่อเนื่องและเป็นธรรม

ด้วยความเคารพนับถือ

นางสาวสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
ครอบครัวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์


9 พฤศจิกายน 2565

ประธานาธิบดี โจเซฟ อาร์ ไบเดน จูเนียร์
ทำเนียบขาว
กรุงวอชิงตัน ดีซี

เรื่อง เรียกร้องให้ติดตามการสืบสวนสอบสวนกรณีนายสยาม ธีรวุฒิ
เรียน ประธานาธิบดีไบเดน

ดิฉัน นางกัญญา ธีรวุฒิ เป็นประชาชนไทย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ดิฉันเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อกล่าวถึงการบังคับบุคคลสูญหายในกรณี นายสยาม ธีรวุฒิ ซึ่งเป็นเหตุที่ร้ายแรงเป็นอย่างยิ่ง ดิฉันเป็นมารดาของสยาม ซึ่งเขาได้ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านหลังจากการรัฐประหารปี 2557 ในประเทศไทย ต่อมา สยามได้ถูกบังคับให้สูญหายเมื่อในเดือนพฤษภาคม 2562 หลังจากผู้ลี้ภัยคนหนึ่งแพร่กระจายข่าวผ่านช่องทางยูทูบว่า ‘สยาม’ และ ‘ชูชีพ ชีวะสุทธิ์’ หรือ ‘ลุงสนามหลวง’ พร้อมผู้ติดตามอีกคนหนึ่ง ถูกจับกุมตัวที่เวียดนาม และถูกส่งตัวกลับไทยแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครพบเจอบุตรชายของดิฉัน และผู้สูญหายในคราวเดียวกันทั้งสองคนอีกเลย และแม้ดิฉันจะได้ดำเนินการตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายแต่จวบจนบัดนี้ดิฉันยังคงไม่ทราบชะตากรรมของบุตรชายหรือแม้แต่ความคืบหน้าในการค้นหาความจริงของทางการไทยหรือเวียดนาม ในระหว่างที่ท่านจะได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำอาเซียน – สหรัฐฯ และเอเชียตะวันออก ในวันที่เดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ดิฉันขอเรียกร้องให้ท่านกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในกรณีดังกล่าวในระหว่างการประชุม โดยเฉพาะต่อรัฐบาลไทยและเวียดนาม เพื่อให้ทางการทั้งสองประเทศดำเนินการชี้แจงถึงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนการถูกบังคับสูญหายของนายสยาม ธีรวุฒิ และคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวของดิฉันโดยไม่ล่าช้า

นายสยาม ธีรวุฒิ บุตรชายของดิฉัน เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง เขาเป็นเพียงคนหนุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดของเขาให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น สยายมต้องออกจากประเทศตอนอายุ 29 ปี ภายหลังการรัฐประหาร 2557 เพราะมีการรื้อฟื้นทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เหตุแห่งคดีคือ ละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ซึ่งสยามได้ร่วมแสดง ขณะที่เพื่อนนักแสดงคนอื่น ๆ ถูกจับกุมตัวและต้องจำคุก หลังจากสยามลี้ภัย ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ‘เพียงดิน รักไทย’ ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งแพร่กระจายข่าวผ่านช่องทางยูทูบว่า ‘สยาม’ และ ‘ชูชีพ ชีวะสุทธิ์’ นักจัดรายการวิทยุใต้ดินชื่อดัง พร้อมผู้ติดตามอีกคนหนึ่ง ถูกจับกุมตัวที่เวียดนาม และถูกส่งตัวกลับไทยแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ไม่พบตัวทั้งสามคนอีกเลย

หลังจากเหตุการณ์ ดิฉันได้เดินหน้าค้นหาความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของสยามเพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัว ดิฉันได้ร้องเรียนทั้งกับทางการไทย และเวียดนาม ในส่วนของทางการไทย ได้เแก่ กองบังคับการปราบปราม กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รวมถึง สํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ สำหรับทางการเวียดนาม ดิฉันได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย ซึ่งไม่มีการส่งผู้แทนออกมารับหนังสือหรือตอบกลับดิฉัน ทั้งรัฐบาลเวียดนามยังได้ทำหนังสือตอบกลับถึงคณะทำงานว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ (WGEID) ให้ยุติเรื่องร้องเรียนของสยามอีกด้วย จนปัจจุบันถือเป็นเวลามากกว่า 3 ปีแล้วที่ครอบครัวของดิฉันยังไม่ได้รับทราบชะตากรรมหรือข่าวสารข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนอีกเลย

แม้ว่าดิฉันจะรอคอยการกลับมาของบุตรชายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เราจัดงานวันเกิดให้สยามทุกปี ดิฉันยังพยายามดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อในวันที่สยามกลับมาเขาจะได้พบกับแม่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากวันที่เขาหายไป ดิฉันยังคงร่วมและจัดงานรณรงค์เกี่ยวกับผู้สูญหายอย่างสม่ำเสมอ แต่ในห้วงเวลานี้ดูเหมือนว่าเรื่องราวของหลายคนจะเริ่มเจือจางลงไปทุกปี ไม่มีป้ายรณรงค์แบบใหม่อีกแล้ว เราเพียงใช้ภาพเดิม ๆ งานเก่า ๆ ทำหนังสือไปยังหน่วยงานตามที่ได้กล่าวถึงวนเวียนไปตามวาระโอกาสของทุก ๆ ปี เสมือนเดินวนอยู่ในเขาวงกตตรงกลางระหว่างไทยและเวียดนามที่ไม่มีวันรู้ว่าเมื่อไรดิฉันจะได้ทราบความจริงเกี่ยวกับบุตรชายของดิฉันเสียที

ปัจจุบัน สยาม ธีรวุฒิ ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นบุคคลสูญหายของสหประชาชาติ ตามกลไกของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance –WGEID) ที่ประเทศเวียดนามแล้ว สยามจึงถือเป็นกรณีที่ต้องติดตามความคืบหน้าเพือสืบหาความจริง ในการนี้ ด้วยพันธกรณีของท่านในฐานะผู้นำแห่งสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราขอเรียกร้องให้ท่านเน้นย้ำและแจ้งเตือนรัฐบาลไทยและเวียดนามให้เร่งติดตามความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนการกระทำให้บุคคลสูญหายนายสยาม ธีรวุฒิรวมถึงผู้สูญหายในคราวเดียวกันอีกสองราย โดยทางการไทยและเวียดนามจะต้องออกมาตรการรับรองว่ากรณีของสยาม ธีรวุฒิจะได้รับการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ล่าช้า และชี้แจงครอบครัวของดิฉันซึ่งเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมให้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน รวมถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับกรณีทั้งหมด อย่างต่อเนื่องและเป็นธรรม

ด้วยความเคารพนับถือ
นางกัญญา ธีรวุฒิ
ครอบครัวของสยาม ธีรวุฒิ


8 พฤศจิกายน 2565

ประธานาธิบดี โจเซฟ อาร์ ไบเดน จูเนียร์
ทำเนียบขาว
วอชิงตัน ดีซี

เรื่อง เรียกร้องให้ติดตามการสืบสวนสอบสวนกรณีการฆาตกรรมนายชัชชาญ บุปผาวัลย์
เรียน ประธานาธิบดีไบเดน

ข้าพเจ้า นายก่อการ บุปผาวัฏฏ์ เป็นประชาชนไทย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อกล่าวถึงกรณีการฆาตกรรมนายชัชชาญ บุปผาวัลย์ บิดาของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่อุกอาจ และโหดร้ายเป็นอย่างยิ่ง บิดาของข้าพเจ้าได้ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่ประเทศลาว หลังจากการรัฐประหารปี 2557 ในประเทศไทย ต่อมาได้สูญหายไปในเดือนธันวาคม 2561 พร้อมกับสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และ ไกรเดช ลือเลิศ ต่อมาพบร่างของชัชชาญ และไกรเดชลอยมาตามแม่น้ำโขง ที่ จ.นครพนม โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นยังอยู่ในการสืบสวนสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ครอบครัวของข้าพเจ้าได้ติดตามความคืบหน้าของคดีอย่างใกล้ชิดมาตลอด จนล่าสุด คดีค้างอยู่ที่การสืบสวนหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานจากฝั่งลาว ในระหว่างที่ท่านจะได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำอาเซียน – สหรัฐฯ และเอเชียตะวันออก ณ กรุงพนมเปญในวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2565 นี้ ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้ท่านกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในกรณีดังกล่าวในระหว่างการประชุม โดยเฉพาะต่อรัฐบาลไทย เพื่อให้รัฐบาลไทยดำเนินการชี้แจงถึงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนการฆาตกรรมนายชัชชาญ บุปผาวัลย์ บิดาของข้าพเจ้า และคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวของข้าพเจ้าโดยไม่ล่าช้า

นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ บิดาของข้าพเจ้า เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ชัชชาญเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในช่วง พ.ศ. 2551 และมีบทบาทในขบวนการเสื้อแดงมาตลอดจนหลังรัฐประหารปี 2557 ชัชชาญมีชื่อถูกเรียกตัวเข้าพบ คสช. และตัดสินใจลี้ภัยในประเทศลาว หลังลี้ภัยออกนอกประเทศ ชัชชาญยังคงติดต่อกับข้าพเจ้า และครอบครัวอยู่ จนในเดือนธันวาคม 2561 ข้าพเจ้าขาดการติดต่อกับบิดาและได้รับข่าวว่าพบร่างผู้เสียชีวิต 2 ศพลอยอยู่ที่แม่น้ำโขงบริเวณจังหวัดนครพนม จากการติดต่อประสานงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบคดี จากการพิสูจน์ DNA จึงพบว่าหนึ่งในศพดังกล่าวคือศพของบิดาของข้าพเจ้า ในการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงระยะแรก ครอบครัวของข้าพเจ้าได้ไปให้ปากคำ แต่ไม่มีพยานยืนยันในเหตุการณ์เลย เนื่องจากไม่มีใครกล้ายืนยันที่อยู่ ด้วยความกังวลเรื่องความปลอดภัยของตนเอง นอกจากนี้ ครอบครัวของข้าพยังได้ไปร้องเรียนที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งได้ร่วมกันประสานงานนำเรื่องร้องเรียนส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน คดียังคงไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม ถือเป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้วที่ครอบครัวของข้าพเจ้ายังไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการฆาตกรรมบิดาของข้าพเจ้าหรือข่าวสารข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนอีกเลย

แม้ว่ากรณีของชัชชาญ บุปผาวัลย์จะแตกต่างจากกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายต่อผู้ลี้ภัยชาวไทยคนอื่น ๆ อีก 9 คน เนื่องจากมีการพบศพจึงถือเป็นการฆาตกรรม และได้มีการส่งเรื่องให้สถานีตำรวจเจ้าของคดีดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ แต่ดูเหมือนการระบุตัวผู้กระทำผิดไปจนถึงการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษนั้นจะเป็นไปได้ยากยิ่ง ทั้งครอบครัวของข้าพเจ้ายังไม่ได้รับการติดต่อเพื่อชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอจากทางการไทย ข้าพเจ้าและครอบครัวจึงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าการเสียชีวิตของบิดาของข้าพเจ้าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมและความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะถูกลบเลือนลืมหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์สังคมไทย สานต่อวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดเป็นความเสี่ยงต่อบุคคลอื่นต่อไปในอนาคต

ในการนี้ ด้วยพันธกรณีของท่านในฐานะผู้นำแห่งสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราขอเรียกร้องให้ท่านเน้นย้ำและแจ้งเตือนรัฐบาลไทยให้เร่งสืบสวนสอบสวนคดีการฆาตกรรมนายชัชชาญ บุปผาวัลย์และนายไกรเดช ลือเลิศ รวมถึงกรณีการบังคับบุคคลในสูญหายกรณีอื่น ๆ โดยจะต้องแสดงความจริงใจในการค้นหาความจริงต่อคดีการฆาตกรรมบิดาของข้าพเจ้า รับรองครอบครัวของข้าพเจ้าว่าการสืบสวนสอบสวนจะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ล่าช้า และชี้แจงผลของการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ครอบครัวของข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมได้รับทราบอย่างต่อเนื่องในแต่ละขั้นตอน ทั้งนี้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและยุติการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทยต่อไป

ด้วยความเคารพนับถือ

นายก่อการ บุปผาวัฎฎ์
ครอบครัวของชัชชาญ บุปผาวัลย์

โดยจดหมายได้จัดส่งทางอีเมล์ สำนักงานที่รับผิดชอบที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้รับจดหมายไว้แล้ว