[:th]CrCF Logo[:]

บรรยากาศงานครบรอบวันคล้ายวันเกิด 37 ปีของสยาม ธีรวุฒิ “ไอซ์” หรือ “สหาย ข้าวเหนียวมะม่วง”

Share

สยาม ธีรวุฒิ เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ซึ่งสูญหายไปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 พร้อมกับชูชีพ ชีวะสุทธิ์ นักจัดรายการวิทยุใต้ดินในนาม “ลุงสนามหลวง” และกฤษณะ ทัพไทย

โดยกัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ได้รับทราบข่าวเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 ว่ามีตำรวจเวียดนามได้จับกุม และส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมือง 3 คนซึ่งถูกควบคุมตัวจากประเทศเวียดนาม และส่งกลับมายังประเทศไทย แต่หลังจากนั้นก็ไม่พบตัวทั้งสามคนอีกเลย

กิจกรรมงานครบรอบวันคล้ายวันเกิดของสยาม ธีรวุฒิ ซึ่งจะมีอายุ 37 ปี ในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ในช่วงเช้าครอบครัวของสยาม จัดงานทำบุญเลี้ยงพระ และในช่วงบ่ายมีการกล่าวเปิดงานโดยครอบครัวสยาม ธีรวุฒิ ครอบครัวชัชชาญ บุปผาวัลย์ และครอบครัวของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ปิดท้ายด้วยการเป่าเทียนตัดเค้กวันเกิด การอ่านบทกวี โดย กลุ่มคนไทยเดิ้ง การบรรยายเรื่องผู้สูญหาย 9 รายซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทย โดย กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ไปจนถึงกิจกรรมเสวนา “บังคับสูญหายกับยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน”
 
สำหรับการเสวนาในหัวข้อ “บังคับสูญหายกับยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ศิริโรจน์ ธนิกกุล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เขต3 พรรคก้าวไกล, ศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง, และ สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษากฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
 
ระหว่างการเสวนา ผู้ดำเนินรายการ และวิทยากร ได้เล่าถึงประสบการณ์ และความรู้ความเชี่ยวชาญที่แต่ละคนมีทั้งต่อสยาม ธีรวุฒิเอง ประเด็นการบังคับให้บุคคลสูญหาย กลไกด้านกฎหมายทั้งใน และระหว่างประเทศ หลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ไปจนถึงเรื่องของ พ.ร.บ. ป้องกัน และปราบปราบการทรมาน และการบังคับให้บุคคลสูญหาย ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และจะมีผลบังคับใช้ 120 วันนับจากวันที่ประกาศ
 
บัดนี้ เป็นเวลามากกว่า 3 ปีแล้ว ที่ครอบครัว เพื่อน คนรู้จัก และสังคมไม่สามารถรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการสูญหายของสยาม ธีรวุฒิ ขณะที่เวลาเดินผ่านไป ความพยายามจดจำเรื่องราวของผู้สูญหายทั้งหลายดูเหมือนจะเผชิญกับความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง
 
สำหรับการนำความยุติธรรมกลับมาสู่ครอบครัวของผู้สูญหายจะเกิดขึ้นได้นั้น ดังที่ผู้ร่วมเสวนาได้กล่าวสรุปไว้ แค่กฎหมายผ่านและมีผลบังคับใช้อาจไม่เพียงพอ แต่ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในสังคม การสร้างมวลชนที่เข้มแข็ง ไปจนถึงการมีเจตจำนงทางการเมืองที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีความจริงใจในการตามหาความจริง และการนำความจริงให้ปรากฎ การเยียวยาผู้เสียหายทางตรงและทางอ้อม การนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการลงโทษ และการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบหรือการปฏิรูปโครงสร้าง ซึ่งเป็นแนวทางหลักที่หลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเน้นย้ำ
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ติดตามและให้ความช่วยเหลือในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมต่อกรณีการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย ขอยืนหยัดเคียงข้างครอบครัวผู้สูญหายทุกคน และขอเชิญชวนประชาชน สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจ ติดตามกรณีการบังคับให้สูญหาย ไปจนถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ. ทรมานอุ้มหาย เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคน และยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้อย่างเป็นจริงและเป็นธรรม

[:]