ศาลอาญาทุจริตฯ อนุญาตครอบครัวบิลลี่ เป็นโจทก์ร่วมคดีชัยวัฒน์ กับพวกรวม 4 คน จำเลยอุ้มฆ่าบิลลี่

Share

ตามที่พนักงานอัยการโจทก์ ได้ยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรกับพวกรวม 4 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญาทุจริต และประพฤติมิชอบกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.ท.166/2565 ในข้อหาร่วมกันฆาตกรรมนายบิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ และข้อหาอื่น ๆ

โดยศาลได้นัดสอบคำให้การของจำเลยในวันที่ 26 ก.ย. 2565 เวลา 09.30 น. ที่ผ่านมานั้น ในวันดังกล่าว จำเลยทั้งสี่ได้ทราบฟ้องแล้ว ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานโดยกำหนดนัดตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานโดยเจ้าพนักงานคดี วันที่ 28 พ.ย.2565 เวลา 13.30 น. และนัดตรวจสอบพยานหลักฐานโดยศาล วันที่ 26 ธ.ค.2565 เวลา 09.30 น..

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 ที่นายบิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธ์ุกะเหรี่ยง “บางกลอย-ใจแผ่นดิน” ผู้ซึ่งเป็นหลานชายของนายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ผู้นำจิตวิญญาณ และนักต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ได้ถูกจับกุม และเอาตัวไปโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

หลังจากนั้นไม่มีผู้ใดได้ทราบชะตากรรรมของเขาอีกเลย จนกระทั่งกรม สอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และอัยการ ได้ร่วมกันติดตามสอบสวนจนได้พยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่ที่จับกุมนายบิลลี่ไปนั้น ได้ร่วมกันฆาตกรรมนายบิลลี่ และปกปิดอำพรางคดี

จึงได้แจ้งข้อหา และฟ้องนายชัยวัฒน์ และพวกรวมสี่คน ต่อศาลอาญาทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตน ได้กระทำความผิดอื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตน ได้กระทำไว้

ร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย

ร่วมกันโดยทุจริตหรืออำพรางคดีกระทำการใด ๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 157, 289, 309 และ 310 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล กฎหมายอาญา(ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ทวิ และ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2542 มาตรา 5

อนึ่งในวันนัดสอบคำให้การจำเลย ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายบิลลี่ ในฐานะมารดาโดยชอบธรรมของบุตรสองคนของนายบิลลี่ ให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในข้อหาความผิดตามฟ้องได้ด้วย เว้นแต่ความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ทวิ เกี่ยวกับการชุนสูตรพลิกศพซึ่งรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย

มูลเหตุของคดีศาลอาญาทุจริตฯ ดังกล่าวข้างต้น สืบเนื่องมาจากการที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ได้อยู่อาศัยที่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ในผืนป่าแก่งกระจาน ชายแดนไทย-พม่า โดยอยู่อาศัยตามวิถีชีวิต และประเพณีของตน มาเป็นเวลาช้านานหลายชั่วอายุคน

ต่อมาในปี 2524 ทางการไทยได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และในปี 2539 กรมอุทยานฯ ได้บังคับอพยพชาวบ้านให้ลงมาอยู่ในแปลงที่ดินที่จัดสรรให้ ที่บ้านโป่งลึก (เรียกว่า โป่งลึก-บางกลอยล่าง) แต่ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีที่ทำกินเพียงพอ ทั้งเป็นดินหินแข็ง ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงย้ายกลับไปยังบางกลอย-ใจแผ่นดิน

ต่อมาในเดือน พ.ค 2554 กรมอุทยานฯ นำโดยนายชัยวัฒน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ได้เปิดยุทธการตะนาวศรี ใช้กองกำลังอาวุธขึ้นไปบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ในยุทธการดังกล่าว มีการเผาบ้านเรือน ยุ้งข้าวชาวบ้าน และอพยพชาวบ้าน รวมทั้งปู่คออี้ ให้ย้ายลงมาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ปู่คออี้ และพวก โดยความช่วยเหลือของสภาทนายความ ฟ้องกรมอุทยานฯ ต่อศาลปกครองกลาง

ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่าการใช้กำลังเผาบ้านเรือนชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินโดยนายชัยวัฒน์ กับพวก นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้านผู้ฟ้องคดี สำหรับคดีอาญาที่ชาวบ้านร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนายชัยวัฒน์กับพวก กรณีร่วมกันเผาบ้านเรือนชาวบ้านนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

การที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน ต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวข้างต้น น่าเชื่อว่านำไปสู่กรณีที่ นายบิลลี่ สมาชิก อบต. หนุ่ม หลานชายปู่คออี้ ซึ่งเป็นผู้นำสำคัญของการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยง ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอุ้มหายไปเมื่อเดือน เม.ย. 2557 จนกระทั่งปรากฏหลักฐานที่ดีเอสไอ และอัยการเชื่อได้ว่าเขาได้ถูกนายชัยวัฒน์กับพวกร่วมกันฆาตกรรมจนเสียชีวิตไปแล้ว จึงได้ฟ้องนาชัยวัฒน์กับพวกเป็นคดีศาลอาญาทุจริตฯ ดังกล่าวข้างต้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้ติดตามการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน และคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดมา และพบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยง เป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล ทั้งในวงราชการกรมอุทยานฯ นักการเมืองในท้องถิ่นและในระดับชาติ สื่อมวลชนบางสำนัก

รวมทั้งมีเส้นสายเครือข่ายในหมู่เจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมบางคนด้วย โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ดังจะเห็นได้จากความล่าช้าในการฟ้องร้องดำเนินคดีนายชัยวัฒน์กับพวก เกี่ยวกับเหตุการณ์เผาบ้านเรือน และใช้กำลังบังคับโยกย้ายชาวบ้านกะเหรี่ยงในยุทธการตะนาวศรี ทั้งๆ ที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีพิพากษาแล้วว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ก็ได้มีคำสั่งชี้มูลความผิดนายชัยวัฒน์กับพวกแล้วนั้น

ดังนั้นมูลนิธิ จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ให้แสดงความเป็นอิสระและมืออาชีพ ทำตามหน้าที่อย่างสุจริต รวมทั้งการเร่งรัดการดำเนินคดีเผาบ้านชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินที่เกิดขึ้นในยุทธการตะนาวศรี เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน และยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้อย่างเป็นจริงด้วย

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading