[:th]CrCF Logo[:]
[:th]บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ[:]

ศาลอาญาทุจริตฯ อนุญาตครอบครัวบิลลี่ เป็นโจทก์ร่วมคดีชัยวัฒน์ กับพวกรวม 4 คน จำเลยอุ้มฆ่าบิลลี่

Share

ตามที่พนักงานอัยการโจทก์ ได้ยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรกับพวกรวม 4 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญาทุจริต และประพฤติมิชอบกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.ท.166/2565 ในข้อหาร่วมกันฆาตกรรมนายบิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ และข้อหาอื่น ๆ

โดยศาลได้นัดสอบคำให้การของจำเลยในวันที่ 26 ก.ย. 2565 เวลา 09.30 น. ที่ผ่านมานั้น ในวันดังกล่าว จำเลยทั้งสี่ได้ทราบฟ้องแล้ว ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานโดยกำหนดนัดตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานโดยเจ้าพนักงานคดี วันที่ 28 พ.ย.2565 เวลา 13.30 น. และนัดตรวจสอบพยานหลักฐานโดยศาล วันที่ 26 ธ.ค.2565 เวลา 09.30 น..

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 ที่นายบิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธ์ุกะเหรี่ยง “บางกลอย-ใจแผ่นดิน” ผู้ซึ่งเป็นหลานชายของนายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ผู้นำจิตวิญญาณ และนักต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ได้ถูกจับกุม และเอาตัวไปโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

หลังจากนั้นไม่มีผู้ใดได้ทราบชะตากรรรมของเขาอีกเลย จนกระทั่งกรม สอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และอัยการ ได้ร่วมกันติดตามสอบสวนจนได้พยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่ที่จับกุมนายบิลลี่ไปนั้น ได้ร่วมกันฆาตกรรมนายบิลลี่ และปกปิดอำพรางคดี

จึงได้แจ้งข้อหา และฟ้องนายชัยวัฒน์ และพวกรวมสี่คน ต่อศาลอาญาทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตน ได้กระทำความผิดอื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตน ได้กระทำไว้

ร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย

ร่วมกันโดยทุจริตหรืออำพรางคดีกระทำการใด ๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 157, 289, 309 และ 310 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล กฎหมายอาญา(ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ทวิ และ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2542 มาตรา 5

อนึ่งในวันนัดสอบคำให้การจำเลย ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายบิลลี่ ในฐานะมารดาโดยชอบธรรมของบุตรสองคนของนายบิลลี่ ให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในข้อหาความผิดตามฟ้องได้ด้วย เว้นแต่ความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ทวิ เกี่ยวกับการชุนสูตรพลิกศพซึ่งรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย

มูลเหตุของคดีศาลอาญาทุจริตฯ ดังกล่าวข้างต้น สืบเนื่องมาจากการที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ได้อยู่อาศัยที่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ในผืนป่าแก่งกระจาน ชายแดนไทย-พม่า โดยอยู่อาศัยตามวิถีชีวิต และประเพณีของตน มาเป็นเวลาช้านานหลายชั่วอายุคน

ต่อมาในปี 2524 ทางการไทยได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และในปี 2539 กรมอุทยานฯ ได้บังคับอพยพชาวบ้านให้ลงมาอยู่ในแปลงที่ดินที่จัดสรรให้ ที่บ้านโป่งลึก (เรียกว่า โป่งลึก-บางกลอยล่าง) แต่ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีที่ทำกินเพียงพอ ทั้งเป็นดินหินแข็ง ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงย้ายกลับไปยังบางกลอย-ใจแผ่นดิน

ต่อมาในเดือน พ.ค 2554 กรมอุทยานฯ นำโดยนายชัยวัฒน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ได้เปิดยุทธการตะนาวศรี ใช้กองกำลังอาวุธขึ้นไปบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ในยุทธการดังกล่าว มีการเผาบ้านเรือน ยุ้งข้าวชาวบ้าน และอพยพชาวบ้าน รวมทั้งปู่คออี้ ให้ย้ายลงมาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ปู่คออี้ และพวก โดยความช่วยเหลือของสภาทนายความ ฟ้องกรมอุทยานฯ ต่อศาลปกครองกลาง

ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่าการใช้กำลังเผาบ้านเรือนชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินโดยนายชัยวัฒน์ กับพวก นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้านผู้ฟ้องคดี สำหรับคดีอาญาที่ชาวบ้านร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนายชัยวัฒน์กับพวก กรณีร่วมกันเผาบ้านเรือนชาวบ้านนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

การที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน ต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวข้างต้น น่าเชื่อว่านำไปสู่กรณีที่ นายบิลลี่ สมาชิก อบต. หนุ่ม หลานชายปู่คออี้ ซึ่งเป็นผู้นำสำคัญของการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยง ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอุ้มหายไปเมื่อเดือน เม.ย. 2557 จนกระทั่งปรากฏหลักฐานที่ดีเอสไอ และอัยการเชื่อได้ว่าเขาได้ถูกนายชัยวัฒน์กับพวกร่วมกันฆาตกรรมจนเสียชีวิตไปแล้ว จึงได้ฟ้องนาชัยวัฒน์กับพวกเป็นคดีศาลอาญาทุจริตฯ ดังกล่าวข้างต้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้ติดตามการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน และคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดมา และพบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยง เป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล ทั้งในวงราชการกรมอุทยานฯ นักการเมืองในท้องถิ่นและในระดับชาติ สื่อมวลชนบางสำนัก

รวมทั้งมีเส้นสายเครือข่ายในหมู่เจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมบางคนด้วย โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ดังจะเห็นได้จากความล่าช้าในการฟ้องร้องดำเนินคดีนายชัยวัฒน์กับพวก เกี่ยวกับเหตุการณ์เผาบ้านเรือน และใช้กำลังบังคับโยกย้ายชาวบ้านกะเหรี่ยงในยุทธการตะนาวศรี ทั้งๆ ที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีพิพากษาแล้วว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ก็ได้มีคำสั่งชี้มูลความผิดนายชัยวัฒน์กับพวกแล้วนั้น

ดังนั้นมูลนิธิ จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ให้แสดงความเป็นอิสระและมืออาชีพ ทำตามหน้าที่อย่างสุจริต รวมทั้งการเร่งรัดการดำเนินคดีเผาบ้านชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินที่เกิดขึ้นในยุทธการตะนาวศรี เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน และยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้อย่างเป็นจริงด้วย