[:th]CrCF Logo[:]

คณะกรรมการค่าตอบแทนฯ ยกอุทธรณ์ คำขอรับค่าตอบแทน คดีพลทหารประจักษ์ ถูกทำร้ายสาหัสในค่ายทหาร

Share

คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ ส่งหนังสือตอบกลับ ยกอุทธรณ์ คำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา คดีพลทหารประจักษ์ กรณีถูกทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสในค่ายทหาร

เมื่อวันที่ 19 ก.ค 2565 สำนักงาน กรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดสงขลา ได้ส่งหนังสือคำวินิจฉัยอุทธรณ์คำขอรับค่าตอบแทนคดีอาญา กรณีพลทหารประจักษ์ แก้วคงธรรม ถูกทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสในค่ายทหาร คำวินิจฉัยมีมติให้ยกอุทธรณ์อีกครั้ง อ้างยังคงเห็นพ้องเรื่องการยื่นคำร้องเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปีหลังทราบเหตุ

สืบเนื่องจากมารดาของพลทหารประจักษ์ นางปพิชญา เอียดนุ่ม ได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดี กรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อขออุทธรณ์คำวินิจฉัยค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2565 หลังคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ประจำจังหวัดสงขลา วินิจฉัยให้ยกคำร้องด้วยเหตุว่าการยื่นขอรับค่าตอบแทนของพลทหารประจักษ์เกินกำหนดระยะเวลาภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำผิด จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544

ที่ผ่านมา มารดาของพลทหารประจักษ์ ได้ร้องเรียนเพื่อทวงความยุติธรรมให้กับนายประจักษ์ที่ถูกกระทำการละเมิด โดยได้ยื่นหนังสือถึงกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เพื่อขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญาในชั้นคำร้องและอุทธรณ์ ยื่นหนังสือถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุที่เกิดขึ้นกับพลทหารประจักษ์ และได้เข้ายื่นหนังสือต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) อีกด้วย

ล่าสุดคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ได้พิจารณาคำขออุทธรณ์ มีมติเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฯ ที่วินิจฉัยยกคำร้องไป โดยคณะกรรมการฯ ยังคงยึดความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ เรื่องการยื่นคำร้องเกินกำหนดระยะเวลาเป็นสำคัญ เห็นว่าควรนับอายุความตั้งแต่นายประจักษ์ เริ่มจดจำเหตุการณ์ได้หลังจากเกิดเหตุคือ 5 เดือน หลังวันเกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 จึงถือว่าผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำผิดประมาณวันที่ 1 ตุลาคม 2562 แต่ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอรับค่าตอบแทนเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 จึงเป็นการยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา

นางปพิชญา เห็นว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้ มีเพื่อเยียวยาความเสียหายในคดีอาญา ซึ่งก็คือลูกชายของตนที่ถูกทำร้ายจนต้องกลายมาเป็นผู้พิการไปตลอดชีวิต ดังนั้นเมื่อรัฐบกพร่อง และไม่สามารถคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากอาชญากรได้ รัฐจึงต้องทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อเป็นหลักประกันในการเยียวยาประชาชนให้มีประสิทธิภาพ แต่กลับปรากฎว่า รัฐกลับไม่ได้คำนึงถึงจุดประสงค์หลักของ พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นที่ตั้ง ย่อมเป็นการสร้างความบอบช้ำให้กับครอบครัวของข้าฯ เพิ่มยิ่งขึ้น

นางปพิชญา และ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จะดำเนินการเรียกร้องขอค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญานี้ต่อไป จึงขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจ ติดตามคดีนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รัฐให้ความยุติธรรมแก่เหยื่อผู้ถูกกระทำการละเมิดโดยรัฐ อย่างสมควร