ศาลแขวงดุสิต นัดสืบพยานวรชาติ อหันทริก และ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เดือน เมษายน 2566 คดีถูกฟ้องสี่ข้อหา หลังเข้าร่วมเสวนางานรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหาย
เมื่อวานนี้ (15 ส.ค. 2565) เวลา 10.00 น. ศาลแขวงดุสิต กรุงเทพมหานคร ได้มีการนัดพร้อมเพื่อคุ้มครองสิทธิฯ นัดสอบคำให้การ และนัดตรวจพยานหลักฐานภายในนัดเดียว ในคดีอาญา หมายเลขคดี อ.703/2565 หรือคดีที่ นางสาว พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ นาย วรชาติ อหันทริก สองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นการทรมาน-อุ้มหาย ตกเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันกระทำผิด พ.ร.บ. การจราจรทางบก, พ.ร.บ. เครื่องขยายเสียง และ พ.ร.บ. ความสะอาด และขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน
โดยนักปกป้องสิทธิฯ ทั้งสองให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และภายหลังจากที่ได้มีการตรวจสอบพยานหลักฐานของโจทก์ และจำเลยแล้ว ศาลแขวงดุสิตได้นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์จำนวน 6 ปาก พยานจำเลยจำนวน 7 ปากในวันที่ 19-20 และ 26-27 เม.ย. 2566
คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 นายวรชาติ และนางสาวพรเพ็ญ ได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรในกิจกรรม “คืน-ยุติธรรม รำลึกผู้ถูกบังคับสูญหาย” ที่จัดโดย กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ข้างทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากจำเลยทั้งสองเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ขับเคลื่อนในประเด็นการทรมาน อุ้มหาย และพลักดัน พ.ร.บ. ป้องกัน และปราบปรามการบังคับบุคคลให้สุญหาย พ.ศ…. มาเป็นระยะเวลานาน นั้น
หลังกิจกรรมเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวน สน. นางเลิ้งและพนักงานอัยการกลับมีความเห็นสั่งฟ้องเป็นคดีอาญา หมายเลขคดี อ.703/2565 อีกด้วย แม้ว่าก่อนหน้านี้วรชาติ และพรเพ็ญ ได้พยายามยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม และขอศาลไต่สวนมูลฟ้องเพราะเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีการฟ้องปิดปาก (SLAPPs) เพื่อกลั่นแกล้งนักกิจกรรมทางการเมืองที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริตตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ แต่ความพยายามในการเรียกร้องก็ไม่เป็นผล
นางสาวพรเพ็ญ เห็นว่า “การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. นางเลิ้งที่เข้ามาพูดคุยกับเราก่อนการจัดงานเสวนากฎหมายทรมานอุ้มหาย และไม่ได้ห้ามปรามในวันจัดงาน ต่อมาเป็นผู้มาแจ้งความดำเนินคดีผิด พ.ร.บ. ความสะอาด, พ.ร.บ. เครื่องเสียง, พ.ร.บ. จราจร น่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เจตนากลั่นแกล้งประชาชน
ต่อมาส่งสำนวนสอบสวนให้อัยการ และอัยการก็สั่งฟ้องโดยไม่พิจารณาหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรม จนทำให้วิทยากรที่ให้ความรู้ทางกฎหมายทั้งสองคนต้องตกเป็นจำเลย เสียเวลาที่หน่วยงานรัฐในกระบวนการยุติธรรม ต้องมาดำเนินคดีทั้งที่มีข้อเท็จจริงว่าเป็นการกลั่นแกล้ง นัดสืบพยานเป็นอีก 8 เดือนข้างหน้า เป็นเรื่องรกโรงรกศาล อยากให้ตำรวจพิจารณาถอนแจ้งความ หรืออัยการสูงสุดพิจารณาถอนฟ้อง เพราะคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ สิ้นเปลืองงบประมาณและบุคคลกรในกระบวนการยุติธรรม”
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอให้สื่อมวลชนและสาธารณชน ร่วมกันติดตามนัดสืบพยานในคดีนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด และร่วมกันยืนยันว่าการแสดงออกทางความคิดเห็นเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงกระทำ และคดีนี้เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน