[:th]CrCF Logo[:]

จดหมายเปิด จาก สสส. และหลายองค์กรสิทธิ์ เรื่องร่าง พรบ. อุ้มหาย ถึงวุฒิสภา

Share

จดหมายเปิด จาก สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และหลายองค์กรสิทธิ์ เรื่องร่าง พ.ร.บ. ป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ถึงวุฒิสภา

ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 จนกระทั่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาทำการพิจารณาแก้ไขความตามร่างกฎหมายฉบับสภาผู้แทนราษฎรหลายมาตรา ก่อนนำเข้ามาในที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อลงมติวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 นั้น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชนดังรายนามข้างท้าย มีความเห็นร่วมกันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวที่ผ่านการแก้ไข จากชั้นคณะกรรมาธิการของวุฒิสภานั้น ได้ทำให้สาระสำคัญหลายประการผิดไปจากเจตนารมณ์ของสภาผู้แทนราษฎรและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ที่มุ่งหมายให้มีกฎหมายฉบับนี้ เป็นการยกระดับปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนประเทศไทยให้เป็นไปตาม อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance : CED)

ร่างกฎหมายที่แก้ไขโดยคณะกรรมาธิการ วุฒิสภาได้ถูกตัดสาระสำคัญออกไปหลายประการ เช่น การตัดนิยามของ “การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ ที่มิใช่การกระทำความผิดตามมาตรา 5 ถือเป็นความผิดทางอาญา” ออกไป ส่งผลให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดทางอาญา

ตัดข้อบังคับให้ต้องบันทึกวีดีโอระหว่างควบคุมตัวซึ่งระบุให้เจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อควบคุมตัวแล้วจะต้องทำการบันทึกภาพ และเสียงทั้งในขณะที่ทำการจับกุม และควบคุมตัวจนกระทั่งส่งไปถึงพนักงานสอบสวน การตัดข้อความดังกล่าวออกไปซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงว่าจะมีการซ้อมทรมานมากที่สุด จะทำให้เกิดการซ้อมทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหายได้โดยง่าย การกำหนดให้กฎหมายอื่นๆ ที่มีข้อยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้นำมาใช้กับกฎหมายนี้

การแก้ไขเรื่องอายุความสำหรับความผิดอันเกิดจากการกระทำให้สูญหาย เป็นอายุความ 20 ปี โดยมิให้เริ่มนับจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย แก้ไขให้คดีความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ โดยตัดอำนาจ พนักงานสอบสวน พนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการให้เข้ามามีส่วนร่วม ในการสอบสวนคดีซ้อมทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหายออกไป

การพิจารณาคดีตาม พ.ร.บ. นี้ให้เป็นการพิจารณาในศาลอาญาทุจริต และประพฤติมิชอบแต่ยังให้เจ้าหน้าที่ทหารที่กระทำความผิดขึ้นศาลทหารที่ล่าช้า และส่งผลถึงการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้เสียหาย เนื่องจากศาลทหารมีกระบวนพิจารณาที่มุ่งหมายตรวจสอบการกระทำผิดตามกฎหมายอาญาทหารเท่านั้น มิใช่มุ่งดำเนินกระบวนพิจารณากรณีที่ทหารกระทำผิดอาญาแผ่นดิน

ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา ได้โปรดยืนยันหลักการตามร่างกฎหมายฉบับเดิมที่ผ่านมติเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว เพื่อเป็นการยืนยันหลักการเจตนารมณ์ของการมีร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งการมีกฎหมายป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย สอดคล้องกับที่ประเทศไทยต้องอนุวัติการกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับกฎหมายสากลที่รัฐไทยมีพันธกรณี

ทั้งยังเป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนให้การยอมรับ นำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่สามารถเกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง อันเป็นการยกระดับความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ให้ยืนหยัดอย่างสง่างามในเวทีประชาคมโลกต่อไป

ด้วยความเชื่อมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

รายชื่อองค์กรร่วมลงนาม
1. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
2. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF)
3. กลุ่มด้วยใจ
4. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
5. กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย
6. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
7. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)
8. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD
9. เครือข่ายสิทธมนุษยชนปาตานี HAP