[:th]CrCF Logo[:]

ศาลแพ่งสั่ง สตช. ชดใช้ 3.38 ล้าน พร้อมดอกเบี้ย แก่นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร กรณีถูก ตร. ทรมาน ขณะปฏิบัติหน้าที่

Share

ศาลแพ่งสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดใช้ค่าเสียหาย เพียง 3.38 ล้าน พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุ กรณีตำรวจทรมานใช้ถุงคลุมศีรษะนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ขณะปฏิบัติหน้าที่

วันที่ 28 มิ.ย. 65 เวลา 9.30 น. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อ่านคำพิพากษาให้ สตช. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เป็นจำนวนเงิน 3,380,000 บาท ส่วนคำขอให้ลบทะเบียนประวัติอาชญากรของโจทก์ให้ยกฟ้อง ในคดีหมายเลขดำ พ.949/2560 หรือคดีที่นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เหยื่อซ้อมทรมานฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จำนวน 13 ล้านบาท เพื่อให้ สตช. รับผิดชอบและชดเชยให้แก่นายฤทธิรงค์ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมทรมานคลุมถุงดำ และทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ ขณะมีอายุเพียง 18 ปี เท่านั้น

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2552 นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัด จับกุม และซ้อมทรมานทำร้ายร่างกาย โดยมีการใช้ถุงดำคลุมศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ เพื่อบังคับให้รับสารภาพในคดีวิ่งราวทรัพย์ ซึ่งจากการสืบสวนในภายหลังพบว่าเป็นการจับผิดคน

ต่อมาปี 2558 นายฤทธิรงค์จึงได้ฟ้องดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าวรวม 7 นาย โดยในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถือว่าถึงที่สุดว่า พันตำรวจโทวชิรพันธ์ โพธิราช จำเลยที่ 3 กระทำความผิดจริง ตามประมวลอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง, 295, 296, 309, 310 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90

จึงลงโทษฐาน “เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา กระทำการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ” ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด โดยลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 12,000 บาท แต่ศาลลดโทษให้โดยเห็นว่าคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 8,000 บาท เมื่อคำนึงถึงประวัติ อาชีพ และสภาพความผิดแล้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัว กล่าวคือรอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี

ต่อมา นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร จึงได้ฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งต่อ สตช. ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560 โดยเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. ความละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และขอให้ลบทะเบียนประวัติอาชญากรของโจทก์ออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อเป็นการชดเชยความเสียหายต่อร่างกายจากการถูกซ้อมทรมานด้วยการทำร้าย และการคลุมถุงดำบังคับให้รับสารภาพ ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้อำนาจกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ชอบ กระทำให้โจทก์ และครอบครัวเสียชื่อเสียง รวมทั้งต้องแบกรับบาดแผลทางจิตใจและภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาและดำเนินคดีมาตลอด 13 ปี

ในวันนี้ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า “บาดแผลตามเนื้อตัวร่างกายของโจทก์ที่ปรากฎตามผลชันสูตร โดยแพทย์ผู้ตรวจบาดแผลตรวจบาดแผลมีการกดเจ็บที่ข้อมมือสองข้าง กดเจ็บที่คอด้านหลัง ไม่พบบาดแผลที่ท้อง มีลอยถลอกด้านซ้ายบน ที่ท้องด้านซ้ายล่าง ใช้เวลารักษา 3 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน

แพทย์พบเพียงบาดแผลถลอกบนร่างกาย และโจทก์เบิกความว่า ถูกทำร้ายร่างกายโดยใช้ถูกพลาสติกคลุมศรีษะ และมัดรวบด้านหลังทำให้ขาดอากาศหายใจ โดยกระทำหลายครั้งทั้งที่ยังใช้ถุงคลุมหลายใบครอบหลายชั้น จนขาดอากาศจนโจทก์มีอาการชักเกรง รวมทั้งใช้เข่ากดบริเวณลำตัวไม่ให้ดิ้น ทั้งข่มขู่ว่า หากโจทก์ไม่รับสารภาพ ถ้าโจทก์ตายจะนำศพไปทิ้งที่เขาอีโต้ เป็นเพียงคดีคนหายเท่านั้น เพียงเพื่อให้รับสารภาพว่าได้กระทำความผิดอาญา

การกระทำทั้งโจทก์เป็นการทรมานโจทก์ในฐานะผู้ต้องหาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อไม้ให้เกิดร่องรอยบาดแผลบนลำตัวของโจทก์ และเป็นการป้องกันตนเองให้พ้นจากความรับผิดทางกฎหมาย ถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนตามกฎบัตรของสหประชาชาติและกฎหมายรัฐธรรมนูญอีกด้วย”

โดยศาลได้กำหนดให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ประกอบด้วย ค่าเสียหายต่อชีวิตร่างกาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จำนวน 1 ล้านบาท ค่าเสียหายต่อการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวตั้งแต่เวลา 15.00-19.00 น. จำนวน 8 หมื่นบาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงโดยคำนวนจากสถานภาพของโจทก์ขณะถูกทำร้าย และโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต ให้ 3 แสนบาท และสุดท้ายค่าเสียหายต่อจิตใจ

โดยศาลได้พิจารณาจากคำเบิกความของแพทย์ที่รักษาโจทก์มาเป็นเวลาหลายปี ว่าโจทก์มีอาการทางจิตเวชหรือ PTSD หรือโรคเครียดอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าว จำนวน 2 ล้านบาท จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,380,000 บาทแก่โจทก์ โดยให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 หากรวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง เป็นจำนวนเงิน 6,844,500 และให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

ส่วนคำขอให้ให้ลบประวัติอาชญากรของโจทก์ออกจากทะเบียนประวัติอาชญาก นั้น ศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอดังกล่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนให้สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจ ติดตามคดีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อทวงถามความรับผิดชอบจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของ สตช. เพื่อคืนความเป็นธรรมและให้แก่นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร และครอบครัว ที่ต้องต่อสู้กับความอยุติธรรมมาเป็นเวลายาวนานกว่า 13 ปี

ร่วมลงชื่อกดดันให้รัฐบาลผ่านกฎหมายเพื่อ https://chng.it/xvPCSD8t