[:th]CrCF Logo[:]
[:th]ภัทร คะชะนา ถูกฟ้อง พรก. ฉุกเฉินฯ[:]

ภัทร คะชะนา ถูกฟ้อง พรก. ฉุกเฉินฯ กรณีขายเสื้อ-หนังสือในงานชุมนุม

Share

คุณภัทร คะชะนาถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กรณีไปขายเสื้อ และหนังสือในงานชุมนุม สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ศาลแขวงพระนครเหนือนัดฟังคำพิพากษา 13 ก.ย. 2565

วันที่ 19-20 ก.ค 2565 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงพระนครเหนือ ได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ.๓๔๒๕/๒๕๖๔ กรณีที่นายคุณภัทร คะชะนา อดีตอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ของ มูลนิธิอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน (มอส.) ถูกจับ และแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ด้วยเหตุจากการนำเสื้อมือสอง และหนังสือไปขายในงานชุมนุม บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาภิเษกเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564 โดยสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว และศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 ก.ย. 2565 เวลา 9.00 น.

คดีนี้มีการสืบพยานโจทก์-จำเลยรวมทั้งสิ้น 9 ปาก โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 ได้มีการสืบพยานโจทก์จำนวน 4 ปาก โดยประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนชุดที่เข้าจับกุมนายภัทรในวันเกิดเหตุทั้งสองคน ได้ให้ข้อมูลเหตุการณ์วันเกิดเหตุตั้งแต่ได้รับคำสั่งให้จัดกำลังควบคุมฝูงชนหนึ่งกองร้อย ไปจนถึงการเคลื่อนกำลังเข้าผลักดันผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งบริเวณหน้าปากซอยรัชดาภิเษก 32 จนกระทั่งมีการจับกุมคุณภัทรในเวลาต่อมา

พยานอีกปากเป็นเจ้าพนักงานเขตพื้นที่จัตุจักร ให้รายละเอียดประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 25 ซึ่งมีการใช้ประกาศในขณะนั้น และพยานปากสุดท้ายคือ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พรก ฉุกเฉินต่อนายคุณภัทรในวันเกิดเหตุ

ในวันที่ 20 ก.ค. 2565 จำเลยนำพยานเข้าสืบพยานจำนวน 5 ปาก ประกอบด้วยนายคุณภัทร คะชะนา จำเลย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเจตนาที่จะไปขายเสื้อ และหนังสือในงานชุมนุม และลำดับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุโดยละเอียดพร้อม พยานปากที่สองคือพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นมูลนิธิที่คุณภัทรเคยทำงานด้วยเป็นเวลาหนึ่งปีขณะที่เป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลลักษณะนิสัย และความสนใจของคุณภัทรที่มีความสนใจในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้พยานปากที่สองได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีการใช้กำลังรุนแรงเกินสัดส่วนอันสมควร และการใช้เสรีภาพในการชุมนุมยังเป็นหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของสังคมเสรีประชาธิปไตย พยานต่อมาเป็นมารดาของนายคุณภัทร ได้ขึ้นให้การเป็นพยานปากที่สาม ยืนยันเรื่องการประกอบอาชีพค้าขายเสื้อมือสอง และหนังสือของคุณภัทร

พยานปากที่สี่ เป็นเพื่อนของนายคุณภัทรที่อยู่ด้วยในวันเกิดเหตุขณะถูกจับกุม ให้ข้อมูลลำดับเหตุการณ์ในเย็นวันเกิดเหตุเพิ่มเติมจากคุณภัทร และยืนยันว่าคุณภัทรไม่ได้กระทำการอันขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด พยานปากสุดท้าย เป็นเจ้าหน้าที่ที่ดูแลนายคุณภัทร และเป็นนายประกันของคุณภัทร ให้รายละเอียดลำดับเหตุการณ์ในระหว่างการสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน การสืบพยานจึงเสร็จสิ้น โดยศาลแขวงพระนครเหนือ ได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษา วันที่ 13 กันยายน 2565 เวลา 09.00 น.

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า “คดีนี้เป็นอีกคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจใช้กฎหมาย เป็นเครื่องมือฟ้องปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และการสั่งฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนเช่นนี้ ย่อมสร้างความยุ่งยาก และภาระให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวของจำเลยเอง ย่อมทำให้จำเลยต้องได้รับความลำบากยิ่งขึ้นอีกด้วย คดีเช่นนี้พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการควรทำสำนวนคดีโดยละเอียดรอบด้าน คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักการสำคัญ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดหรือให้รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมือง และประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่นคดีนี้จำเลยได้ใช้สิทธิเสรีภาพของตนในการทำมาหาเลี้ยงชีพเท่านั้น”

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนให้สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจ ติดตามนัดฟังคำพิพากษาในคดีนี้ตามวันและเวลาดังกล่าว เพื่อติดตามว่านายคุณภัทร คะชะนาจะได้รับความเป็นธรรมที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพอย่างสุจริตหรือไม่