[:th]CrCF Logo[:]
[:th]วรชาติ-พรเพ็ญ[:]

วรชาติ-พรเพ็ญ ยื่นอุทธรณ์ศาลแขวงดุสิต ให้ไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา การทำสำนวนของอัยการเป็นธรรมหรือไม่?

Share

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 วรชาติ อหันทริก และ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแขวงดุสิต ให้ไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาว่าการทำสำนวนของอัยการเป็นธรรมหรือไม่

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 วรชาติ-พรเพ็ญ ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแขวงดุสิต ให้ไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญายืนยันขั้นตอนการทำสำนวนของอัยการไม่เป็นธรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่าฝ่ายบริหารไม่สามารถใช้ฝ่ายตุลาการเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 อัยการพิเศษ แขวงดุสิต 3 ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต โดย วรชาติ-พรเพ็ญ ได้ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนรับฟ้อง ศาลแขวงดุสิตไม่ไต่สวนมูลฟ้องประทับรับฟ้องในวันเดียวกันพร้อมนัดพร้อมในวันที่ 15 สิงหาคม 2565

“การที่อัยการไม่ดำเนินการตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรม เพื่อขอให้สอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และอัยการสูงสุดก็ยังไม่มีคำสั่งมายังอัยการเจ้าของสำนวน เมื่ออัยการเจ้าของสำนวนเร่งรัดส่งสำนวนไปที่ศาล และศาลไม่ไต่สวนมูลฟ้องในคดีของเราตามที่เรายื่นคำร้อง ทำให้เรามองได้ว่า อัยการมีอำนาจเทียบเท่าศาล เพราะเราในฐานะผู้ต้องหาตกเป็นจำเลยทันที เราจึงเห็นว่ากระบวนการชั้นนี้ไม่เป็นธรรม เราจึงยื่นอุทธรณ์ในวันนี้” วรชาติ อหันทริก ผู้ต้องหาที่ 1 กล่าวในวันนี้

“แม้คดีนี้จะเป็นคดีลหุโทษ หากเรารับสารภาพและจ่ายค่าปรับ 700 บาทให้พ้นคดีไปก็ได้ แต่การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารโดยตำรวจ และอัยการนำคดีความผิดเล็กน้อยมาฟ้องเป็นคดีอาญา คดีนี้จึงสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง และละเมิดสิทธิที่เราทั้งสองจะได้รับความเป็นธรรม ด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมมีลักษณะเหมือนจะกลั่นแกล้งปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็น เราจึงอยากให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องก่อนประทับรับฟ้อง เมื่อศาลไม่ไต่สวน เราจึงอุทธรณ์โดยหวังว่าศาลจะรับอุทธรณ์นี้เพื่อสร้างบรรทัดฐานว่าศาล หรือฝ่ายตุลาการได้ใช้อำนาจตรวจสอบความชอบธรรมในการดำเนินคดีของอัยการต่อเรา และไม่ทำให้ประชาชนอย่างเราตกเป็นจำเลยโดยการฟ้องคดีของอัยการโดยง่าย และเพื่อแสดงให้เห็นว่าฝ่ายบริหารไม่สามารถใช้ฝ่ายตุลาการเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้ต้องหาที่ 2 กล่าวเสริม

คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ได้จัดเสวนา “1 ปี วันเฉลิมถูกอุ้มหาย-คืนยุติธรรม” บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ฝั่งมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครโดยมีการจุดเทียน วางดอกไม้ และเสวนารำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหาย ในกิจกรรมดังกล่าว กลุ่มผู้จัดงานได้เชิญพรเพ็ญและวรชาติ ร่วมเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับ (ร่าง) พ.ร.บ. ป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งพรเพ็ญ เป็นกรรมาธิการอยู่ด้วย และเป็นสิ่งที่ทั้งสองเรียกร้องให้เป็นกฎหมายมาตลอด โดยในวันดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. นางเลิ้งจำนวนหนึ่งมาอำนวยความสะดวกให้การจัดกิจกรรมเป็นไปได้ด้วยดีและไม่ได้สั่งห้าม แต่ต่อมามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. นางเลิ้ง กลับมากล่าวโทษ และมีพนักงานสอบสวน สน. นางเลิ้ง แจ้งข้อกล่าวหาสองนักปกป้องสิทธิ และต่อมามีความเห็นสั่งฟ้องในข้อหา กระทำผิดตาม พ.ร.บ. ความสะอาด พ.ร.บ. การจราจรทางบก และ พ.ร.บ. เครื่องขยายเสียง

โดยทั้งสองได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และปฏิเสธที่จะพิมพ์ลายนิ้วมือตามที่พนักงานสอบสวนแจ้งว่าต้องใช้ลายพิมพ์นิ้วมือไปตรวจสอบประวัติอาชญากรจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อประกอบสำนวนคดี พนักงานสอบสวนจึงเพิ่มข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน

เหตุที่บุคคลทั้งสองปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของบุคคล และพนักงานสอบสวนสามารถตรวจสอบประวัติได้โดยวิธีอื่นอยู่แล้ว โดยยินดีให้เจ้าพนักงานนำภาพถ่ายหน้าตรง และบัตรประจำตัวประชาชนชนไปตรวจประวัติอาชญากรได้ แต่กลับถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีกข้อหนึ่งคือ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร รวมเป็น 4 ข้อหา ทั้งๆ ที่เหตุผลที่บุคคลทั้งสองปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือนั้น เป็นเหตุผลที่พึงรับฟังได้อย่างยิ่ง

อีกทั้งบุคคลทั้งสองยังได้ทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน และผู้กับกำกับ สน. นางเลิ้ง ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบประวัติอาชญากรมาประกอบสำนวนคดีตามวิธีที่บุคคลทั้งสองเรียกร้อง เพราะทราบว่ากองทะเบียนประวัติอาชญากรให้บริการตรวจสอบประวัติอาชญากรได้โดยไม่ต้องใช้ลายพิมพ์นิ้วมือ แต่พนักงานสอบสวนกลับเพิกเฉย

กระทั่งต่อมาบุคคลทั้งสองก็ได้ขอประวัติอาชญากรของตนผ่านระบบออนไลน์ของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งไม่ต้องใช้ลายพิมพ์นิ้วมือแต่อย่างใด ก็ได้ผลออกมาเช่นเดียวกัน และได้ส่งมอบประวัติอาชญากรของตนเข้าสู่สำนวนคดีในชั้นพนักงานอัยการแล้ว แต่ก็ยังถูกดำเนินคดีในข้อหานี้อยู่ ทำให้บุคคลทั้งสองรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้งเพื่อให้ตกเป็นจำเลยมีภาระความยุ่งยากในการต่อสู้คดี กรณีเช่นนี้ย่อมไม่เป็นธรรมต่อประชาชน จึงสมควรที่ศาลพึงต้องตรวจสอบด้วยการไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนที่จะรับฟ้อง

ที่ผ่านมา สองนักปกป้องสิทธิ ได้เดินหน้ายื่นคำให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวน และชั้นสั่งคดี โดยทั้งได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ดุสิตและอัยการสูงสุด เพื่อให้มีคำสั่งสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หรือมีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าตนเป็นเพียงวิทยากรที่รับเชิญจากผู้จัดงานเสวนาให้ไปพูดเรื่อง ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เท่านั้น จึงไม่ได้กระทำผิด ทั้งการดำเนินคดีดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองรับรอง