แถลงข่าว พรบ. ทรมานอุ้มหายผ่านสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวันผู้สูญหายสากล

Share

ครอบครัวเหยื่อซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ขอบคุณ พ.ร.บ. ทรมานอุ้มหายผ่านสภา ชี้แม้จะไม่ใช่คัมภีร์วิเศษที่จะหยุดยั้งคนทำผิด แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ขอบคุณคำขอโทษ ‘ธิษะณา ชุณหะวัน‘ ที่ขอขมาครอบครัว ‘หะยีสุหลง‘

ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการบังคับให้บุคคลสูญหาย (ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมาน และการอุ้มหายฯ) ฉบับที่ผ่านการแก้ไขของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา สร้างความยินดีให้กับเหยื่อ และครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

ล่าสุด (31 ส.ค. 2565) พญ. เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย จ.ปัตตานี พร้อมด้วยนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส. ยะลา พรรคพลังประชารัฐ, นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม, เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกบังคับให้สูญหาย และซ้อมทรมาน เดินทางไปที่อาคารรัฐสภา แถลงขอบคุณที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ

พญ. เพชรดาว กล่าวว่า หลายครอบครัวยังรอทราบชะตากรรมของคนในครอบครัวที่ถูกอุ้มหายว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ ในฐานะ ส.ส. ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ และในฐานะหลานของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายเมื่อ 68 ปีที่ผ่านมา มองว่ากฎหมายฉบับนี้ถูกพิจารณาอย่างรอบคอบ ให้ครอบคลุมทุกประเด็น

“การประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการเริ่มต้น แม้ไม่ใช่คัมภีร์วิเศษที่จะหยุดยั้งบุคคลกระทำผิด แต่เราต้องติดตามอย่างเข้มข้นเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งเลวร้ายกับครอบครัวอื่น พร้อมเยียวยาดูแลครอบครัวผู้ที่ถูกอุ้มหายและซ้อมทรมาน” พญ. เพชรดาว กล่าว

พญ. เพชรดาว กล่าวขอบคุณ น.ส. ธิษะณา ชุณหะวัณ ที่ออกมาขอโทษครอบครัว ‘อับดุลกาเดร์’ หรือ ‘หะยีสุหลง โต๊ะมีนา’ ผู้นำ และปัญญาชนของชาวไทยเชื้อสายมลายูมุสลิม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถูกบังคับสูญหายเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2497 เนื่องจากคนในครอบครัวมีส่วนเกี่ยวข้องในการบังคับสูญหาย ซึ่งหลังจากได้รับคำขอโทษครั้งแรกจากนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ บิดาของ น.ส. ธิษะณา เมื่อ 6 ปีที่แล้วในวันจัดงานรำลึกบุคคลสูญหาย คำขอโทษนั้นถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น มีคุณค่า และความหมายต่อจิตใจครอบครัวผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก การให้อภัยเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในศาสนาอิสลาม และทุกศาสนา เพราะเมื่อความจริงปรากฏ ความเท็จย่อมมลายหายสิ้น

ด้านนายอาดิลัน กล่าวถึงกระบวนการออกกฎหมายว่า ภายหลังจากผ่านการพิจารณาโดยฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว จากนี้รัฐบาลต้องรอคอย 15 วันก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป กฎหมายฉบับนี้เปลี่ยนแปลงกระบวนการสืบสวนสอบสวนจากที่มีในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ฝ่ายปกครองและอัยการต่างช่วยกันถ่วงดุล สืบสวนสอบสวนทั้งการทรมาน กระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งใหม่ให้การสอบสวนและรวบรวมหลักฐานเป็นธรรมให้ประชาชนมากขึ้น

ส่วนนายรังสิมันต์ กล่าวว่า ความเจ็บปวดจากการใช้อำนาจรัฐเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันกฎหมายนี้ เรามาไกลเกินกว่าความตั้งใจหรือความคิดแรกที่ได้ฝันเอาไว้ เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างการเมืองปัจจุบัน ได้เท่านี้ก็นับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของภาคประชาชนและของคนที่ครั้งหนึ่งถูกกระทำไว้

ขณะที่ พรเพ็ญ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปคือการที่เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องทำความเข้าใจ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อไม่ให้มีการกระทำที่เข้าข่ายความผิด ตลอดจนเข้าข่ายการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ในอนาคตหากเราประสบกับรายละเอียดที่จะต้องแก้ไขในกฎหมายฉบับนี้ก็ต้องแก้ไข

ภาคประชาสังคม ออกแถลงการณ์เนื่องในวันผู้สูญหายสากล 30 ส.ค. 65

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเสนอข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ได้แก่

  1. ขอให้เร่งรัดการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้โดยเร็ว
  2. ขอให้เผยแพร่ ฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่รัฐ ในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านความมั่นคง ที่เกี่ยวข้องกับการจับกุม ควบคุมตัว ด้วยวิธีการต่างๆ การสอบสวน ซักถามหรือดำเนิน “กรรมวิธี” รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมให้มีความรู้ ความเข้าใจบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้ และจัดหาอุปกรณ์ต่างๆให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สามารถใช้กฎหมายได้อย่างเที่ยงธรรม และมีประสิทธิภาพ
  3. เผยแพร่ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจกฎหมาย เพื่อให้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตน ในการสอดส่องดูแลป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่กระทำผิด  สนับสนุนและช่วยเหลือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวนการกระทำผิดที่เกิดขึ้น
  4. จัดทำร่างอนุบัญญัติต่างๆ กฎ ระเบียบ นโยบายเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและการบริหารงานยุติธรรม โดยเฉพาะกฎ ระเบียบ มาตรการเพื่อป้องกันการกระทำผิด การสืบสวน สอบสวนเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด การคุ้มครองประชาชนที่แจ้งเบาะแสการกระทำผิดและพยาน  โดยขอให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้เสียหาย เพื่อปรับปรุงร่างอนุบัญญัติ และกฎระเบียบดังกล่าว ก่อนการอนุมัติเห็นชอบเพื่อนำไปใช้ต่อไป
  5. กำหนดมาตรการในการอำนวยความยุติธรรม การคุ้มครอง ช่วยเหลือ ฟื้นฟูเยียวยาครอบครัวของผู้ถูกกระทำให้สูญหายทั้งด้านสังคมและจิตใจ โดยพยายามฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งขอให้กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการให้ผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้สูญหาย มีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนตาม พรบ. ค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ด้วย
  6. ขอให้ดำเนินการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance : CED) โดยทันทีเมื่อกฎหมายมีผลบังคับ ตามที่รัฐไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมระหว่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554

ส่วนคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล เรียกร้องให้ทางการไทยเร่งอุดช่องว่างของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาณและบังคับสูญหาย ที่มีบางจุดยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

“ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ยังไม่มีบทบัญญัติครบถ้วน หรือถูกต้องตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทำให้ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ต้องบังคับใช้พระราชบัญญัติในลักษณะที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ UNCAT) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR)” เอียน เซเดอร์แมน (Ian Seiderman) ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบายของ ICJ เผย

ส่วนเอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ยอมรับว่าข้อบกพร่องบางประการที่องค์กรเคยเสนอแนะก่อนๆ ได้รับการแก้ไขแล้วในร่างพระราชบัญญัติฉบับที่ผ่านมติรับรอง ยกตัวอย่างเช่น บทบัญญัติเกี่ยวกับการปฎิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พร้อมทั้งมีบทบัญญัติที่รับรองให้อาชญากรรมการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง และหวังว่า ในอนาคต ประเทศไทยควรทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไป และดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์

องค์กรทั้งสองยังเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการตามคำมั่นว่าจะทำการให้สัตยาบันแก่อนุสัญญา ICPPED โดยไม่ล่าช้า พร้อมทั้งแก้ไขข้อบกพร้องในร่างพระราชบัญญัติเพื่อรับประกันการปฏิบัติตามกฎหมาย และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน

บทความ: https://workpointtoday.com/new-law

RELATED ARTICLES

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading