รายงานผลการติดตามข้อตกลงลดปฏิบัติการทางทหารระหว่างรัฐบาลไทย กับบีอาร์เอ็น (แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี) ระหว่างวันที่ 3 เมษายน – 14 พฤษภาคม 2565
Independent Monitoring Team หรือ IMT เป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปาตานี) ในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการลดระดับความเป็นปรปักษ์ ระหว่างรัฐบาลไทย กับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) หรือที่เรียกขานกันว่าความริเริ่มรอมฎอนสันติ (Peaceful Ramadan Initiative) ระหว่างวันที่ 3 เมษายน ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2022 ซึ่งอยู่ในห้วงเดือนรอมฎอน และระยะเวลาหลังจากนั้นเล็กน้อยรวม 40 วัน รายงานชิ้นนี้เป็นบทสรุปการดำเนินดังกล่าวจากการสังเกตการณ์ของ IMT ตลอดช่วงเวลานั้น
การริเริ่มของ IMT มีลักษณะเป็นการทำงานของภาคประชาสังคม ที่มีสถานะเป็นฝ่ายที่สามในความขัดแย้ง วางอยู่บนหลักการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และเป็นการรวมกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่อย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากมองเห็นว่าการดำเนินการในลักษณะหยุดยิงหรือลดปฏิบัติการความรุนแรงนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่สังเกตการณ์และตรวจสอบผลการปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าจะไม่ได้รับการยอมรับสถานภาพใดๆ อย่างเป็นทางการจากคู่กรณี และผู้อำนวยความสะดวก แต่ IMT เห็นว่าการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่จะทำให้กระบวนการดังกล่าวมีความชอบธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นหลักประกันในการทำให้การพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้อย่างจริงจังและมีความหมาย
ความร่วมมือข้างต้นอาศัยต้นทุนทางสังคม ประสบการณ์และองค์ความรู้ขององค์กร และการประสานงานกับอาสาสมัครผู้เป็นประชาชนในพื้นที่เป็นด้านหลัก โดยไม่มีการสนับสนุนด้านงบประมาณจากแหล่งใดเป็นหลัก โดยเฉพาะจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทย บีอาร์เอ็น หรือทางการมาเลเซีย ด้วยเหตุนี้ IMT จึงสามารถให้การยืนยันได้ถึงความเป็นอิสระ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และมุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้ง
การดำเนินงานครั้งนี้ถือเป็นความต่อเนื่องจากการริเริ่มที่เดิมพอมีอยู่บ้างแล้ว แต่ในครั้งนี้ถือเป็นการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการอีกครั้ง คณะทำงานของ IMT มีองค์ประกอบอย่างน้อย 5 องค์กร ได้แก่ สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ, กลุ่มด้วยใจ, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, สำนักสื่อ Wartani และ The Motive
บทสรุปผู้บริหาร
ภายหลังการพบปะพูดคุยแบบเต็มคณะในวันที่ 31 มีนาคมถึงวันที่ 1 เมษายน 2022 ระหว่างรัฐบาลไทย กับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) โดยมีผู้อำนวยความสะดวกจากทางการมาเลเซีย และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ ทั้งสองฝ่ายเห็นยังพ้องที่จะมีการลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน และประมาณอีก 10 วันแรกในเดือนเชาวาลหลังจากนั้นรวม 40 วัน ในพื้นที่ 3 จังหวัด (ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส) และ 4 อำเภอของสงขลา (จะนะ, นาทวี, เทพา และสะบ้าย้อย)
การดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว ยังขาดกลไกการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะกลไกการติดตามการลดปฏิบัติการทางทหาร และเพื่อให้การดำเนินการตามข้อตกลงสัมฤทธิ์ผลองค์กรภาคประชาสังคม ประกอบด้วยการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการจากหลากหลายองค์กรประกอบไปด้วย สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ, กลุ่มด้วยใจ, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, สำนักสื่อ Wartani และ The Motive และนักวิชาการอิสระ เพื่อดำเนินการติดตามตรวจสอบการลดระดับความเป็นปรปักษ์ระหว่างรัฐบาลไทย กับบีอาร์เอ็นในนาม Independent Monitoring Team (IMT) โดยได้รับข้อมูลจากภาคประชาชน สื่อกระแสหลัก การลงพื้นที่ตรวจสอบและจากเครือข่าย ผลจากการดำเนินการติดตามการลดระดับความรุนแรงในระยะเวลาดังกล่าว IMT จึงได้นำเสนอข้อเสนอแนะต่อทุกฝ่ายเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการติดตามการหยุดยิงถาวรในอนาคต
ข้อเสนอแนะ
- ข้อเสนอต่อคณะพูดคุย
- รัฐบาลควรทำตามข้อตกลงร่วมระหว่าง 2 ฝ่ายอย่างเคร่งครัด และไม่ควรมีปฏิบัติการแฝงที่ส่งผลต่อข้อตกลง อาทิเช่น การให้ตำรวจดำเนินการตรวจจสอบประชาชนที่ด่านหรือการให้ทหารไปประจำในสวนยาง หรือชุมชนซึ่งเป็นการกดดัน และส่งผลต่อวิถีชีวิตประชาชน
- ทั้งสองฝ่ายควรมีความชัดเจนในการนิยามปฏิบัติการทางทหาร และขอบเขตข้อตกลงทุกข้อ
- ควรมีคณะทำงานการติดตามการลดปฏิบัติการทางทหารร่วมกันทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นทางการ โดยได้รับมอบอำนาจ และทางผู้อำนวยความสะดวกควรมีบทบาทร่วมในการติดตาม
- ควรมีการประกาศข้อตกลงอย่างละเอียดต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดการติดตามอย่างมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วน
คู่กรณีทั้งสองฝ่าย ควรให้คณะติดตามอิสระและสื่อมวลชนสามารถเข้าไปดำเนินการติดตามเหตุการณ์ และตรวจสอบได้โดยไม่เลือกปฏิบัติ
- องค์กรภาคประชาสังคม
- ควรรักษาความเป็นกลางในฐานะเป็นฝ่ายที่สาม โดยไม่เข้าข้างฝ่ายใด และเน้นย้ำการป้องกันผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อพลเรือน
- ควรร่วมมือกันในการติดตามตรวจสอบความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงระยะเวลาการหยุดยิงที่ได้ตกลงกันไว้
- ควรขยายความร่วมมือทางการเมือง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ
- ข้อเสนอร่วมต่อผู้อำนวยความสะดวก
- ควรเอื้ออำนวยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถพูดคุยกันได้ในทุกรูปแบบในระหว่างการปฏิบัติตามข้อตกลง
- ควรอำนวยความสะดวกให้แก่คณะติดตามในการตรวจสบการใช้ความรุนแรงตลอดระยะเวลาาหยุดยิง