“123 คน”
เป็นจำนวนเท่าที่ทราบของผู้ที่ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน ระหว่าง พ.ศ. 2554 – 2561 1อ้างอิงจากรายงาน “สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ ประเทศไทย ปี 2561” โดยกลุ่มด้วยใจ จากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้ กฎหมายพิเศษ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรื่องสั้นบนผืนผ้าใบที่นำคุณมาสู่ที่แห่งนี้ กลั่นกรองมาจากเศษเสี้ยวหนึ่งจากเสียงของพวกเขา และคนใกล้ชิด
รัฐบาลไทยได้บังคับใช้กฎหมายพิเศษ กับ 33 อำเภอในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ช่วงปี 2547 – 2548 หลังเกิดเหตุการณ์ปล้นปืน ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 เป็นต้นมา กฎหมายพิเศษดังกล่าวประกอบด้วย พ.ร.บ. กฎอัยการศึก, พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. ความมั่นคง โดย พ.ร.บ. กฎอัยการศึกจะให้อำนาจหน่วยงานความมั่นคงตรวจค้น เข้าไปยังอาคารสถานที่จับกุม และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องขอหมายศาล และไม่มีการกำกับดูแลจากศาล
ในขณะที่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อนุญาตให้ขยายการควบคุมตัวได้รวมกันไม่เกิน 30 วัน โดยไม่มีหลักประกันคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานใด ๆกล่าวโดยสรุปคือ เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวประชาชนโดยแทบไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบใดๆ ได้สูงสุดนานกว่า
“37 วัน”
ในระหว่างการควบคุมตัวนานร่วมเดือนนี้ คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน ในการพิจารณาการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ระบุว่า ได้รับ “ข้อกล่าวหาจำนวนมากอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอว่า มีการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างสม่ำเสมอที่เกิดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหาร” 2อ้างอิงจากบทความ “เปิดรายงานถึง UN เรื่อง “การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายทางจิตใจ” เสนอโดย เครือข่ายภาคประชาสังคมต่อต้านการทรมานในประเทศไทย”
โดยใน รายงานสถานการณ์การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษย์ธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558 ซึ่งจัดทำโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และ กลุ่มด้วยใจ ระบุว่า วิธีการกระทำทรมานนั้นมีทั้งทางร่างกาย เช่น ทุบตี บีบคอ Waterboarding (การทำให้ขาดอากาศหายใจด้วยการเทน้ำใส่หน้าอย่างต่อเนื่องขณะนอนหงาย) หรือคลุมศีรษะด้วยถุงพลาสติก และทางจิตใจ
เช่น การข่มขู่ว่าจะทำร้ายคนในครอบครัว การซักถามติดต่อกันนานหลายชั่วโมง ไม่ให้ปฏิบัติตามหลักศาสนา และการบังคับให้อดนอน เป็นต้น 3อ่านรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษย์ธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558 ฉบับเต็ม ได้ที่ https://bit.ly/38QKNyV
จนถึงปัจจุบัน พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ใต้กฎหมายพิเศษนี้มาแล้วกว่า 18 ปี แต่สถานการณ์การละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่ทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง โดยล่าสุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – 2564) ยังมีรายงานว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวใต้กฎหมายพิเศษรวมทั้งหมดกว่า 305 ราย 4ข้อมูลจาก รายงานประจำปี 2564 โดย เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD)
ทว่าจำนวนของเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับโทษทางอาญาจากการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้กลับเป็น “0 คน” ด้านล่างนี้คือตัวอย่างจากคดีของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ หนึ่งในคดีเสียชีวิตปริศนาในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ซึ่งยังไม่มีการตัดสินให้ลงโทษทางอาญาต่อผู้กระทำผิดแต่อย่างใด:
“นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ควบคุมตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในเวลาประมาณ 19.00 น. ของวันที่ 20 ก.ค. 2562 ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค. 2562 พบว่านายอับดุลเลาะ หมดสติอยู่ในห้องควบคุมศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร
โดยนายอับดุลเลาะได้รับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จากนั้นได้ถูกส่งไปรักษาตัวต่อ ณ อาคารผู้ป่วยวิกฤติ ICU โรงพยาบาลปัตตานี และถูกส่งตัวไปรักษาต่ออีกครั้งที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 22 ก.ค. 2562 และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ก่อนที่นายอับดุลเลาะจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2562
นางสาวซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ ร่วมกับทนายความจาก ศูนย์ทนายความมุสลิม และ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมมาตลอด 2 ปี โดยฟ้องเป็นคดีไต่สวนการตาย คดีหมายเลขดำที่ ช.1/2563 และมีการสืบพยานมากกว่า 21 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทหารในค่ายอิงคยุทธบริหาร 13 คน พนักงานสอบสวน 1 คน
ผู้ที่ถูกควบคุมตัวในห้องที่ติดกับห้องควบคุมของนายอับดุลเลาะในวันเกิดเหตุ 1 คน ผู้แทนจากคณะกรรมาธิการการยุติธรรม การกฎหมาย และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร 1 คน เจ้าหน้าที่ภาคประชาสังคม 1 คน และแพทย์ 4 คน โดยมีแพทย์จากโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 2 คนซึ่งสืบพยานทางออนไลน์ และมีการเลื่อนนัดสืบพยานหลายนัดจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้คดีนี้ต้องใช้เวลาสืบพยานยาวนานกว่า 2 ปี โดยสืบพยานนัดสุดท้ายเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2565
จนกระทั่งวันที่ 9 พ.ค. 2565 ศาลจังหวัดสงขลาพิจารณาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานต่างๆ ที่ทนายฝ่ายญาติของผู้เสียชีวิต เสนอต่อศาลนั้นไม่เพียงพอต่อการบ่งชี้ได้ว่านายอับดุลเลาะเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายร่างกายได้ จึงมีคำสั่งว่า นายอับดุลเลาะ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 เวลา 04.03 น. เสียชีวิตจากการที่สมองขาดออกซิเจนและหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตระหว่างที่ถูกควบคุมตัวภายในค่ายอิงคยุทธบริหารจริง” 5ติดตามความคืบหน้าคดีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ และคดีการซ้อมทรมานอื่น ๆ ได้ที่ ห้องสมุดคดี มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ซ้อมทรมานไม่ได้เกิดขึ้นกับนายอับดุลเลาะ หรือผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงเท่านั้น แต่นับวันยิ่งขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่นคดีดังอย่าง “คดีโจ้ถุงดำ” หรือคดีล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2565 ที่ตำรวจ สภ. สามพราน 2 คนกระทืบ และทำร้ายร่างกายวัยรุ่นที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ ไม่นับรวมคดีที่ไม่มีการบันทึกภาพหลักฐานเอาไว้ได้ ซึ่งมีจำนวนเท่าไรก็ไม่อาจทราบได้แน่ชัด
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะต้องเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันให้มีกฎหมายที่เอาผิดการซ้อมทรมาน และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหล่านี้ได้ ดังเช่น พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ที่ขณะนี้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และกำลังรอการพิจารณาจากวุฒิสภาเพื่อผลักดันให้เป็นกฎหมาย เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้ต้องเกิดขึ้นซ้ำอีกกับพวกเขา หรือกับคุณและคนที่คุณรัก?
มาช่วยกันเปิดเผยไม่ให้มีผู้คนหรือเรื่องราวที่ถูกขีดฆ่าออกอีกต่อไป ด้วยการส่งต่อภาพชิ้นงาน “Kills Are Coated” หรือแชร์หน้าเพจนี้ ให้คนรอบตัวคุณได้รับรู้ และเดินหน้าเรียกร้องการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่พวกเราทุกคนสมควรได้รับไปพร้อม ๆ กัน
- 1อ้างอิงจากรายงาน “สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ ประเทศไทย ปี 2561” โดยกลุ่มด้วยใจ
- 2อ้างอิงจากบทความ “เปิดรายงานถึง UN เรื่อง “การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายทางจิตใจ” เสนอโดย เครือข่ายภาคประชาสังคมต่อต้านการทรมานในประเทศไทย”
- 3อ่านรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษย์ธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558 ฉบับเต็ม ได้ที่ https://bit.ly/38QKNyV
- 4ข้อมูลจาก รายงานประจำปี 2564 โดย เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD)
- 5ติดตามความคืบหน้าคดีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ และคดีการซ้อมทรมานอื่น ๆ ได้ที่ ห้องสมุดคดี มูลนิธิผสานวัฒนธรรม