[:th]CrCF Logo[:]
[:th]สิทธิเด็กในการชุมนุมโดยสงบ[:]

สิทธิเด็กในการชุมนุมโดยสงบ โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Share

สิทธิเด็กในการชุมนุมโดยสงบ โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียบเรียงโดย ณฐพร ส่งสวัสดิ์ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

สิทธิในการชุมนุมของเด็ก และเยาวชน

การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการชุมนุมไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ และเด็กมีสิทธิในการชุมนุมไม่ต่างจากประชาชนกลุ่มอื่น ๆ โดยมีรัฐธรรมนูญไทย กฎหมายการคุ้มครองเด็ก และข้อตกลงระหว่างประเทศที่รับรองสิทธินี้อยู่ นั่นคือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) มาตรา 12, 13, 15 ว่าด้วยการรวมกลุ่มโดยสันติ โดยต้องมีขอบเขต เช่น การชุมนุมต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

สิทธิในการแสดงออกและรวมกลุ่มนี้ไม่ใช่สิทธิเด็ดขาด และถูกจำกัดได้ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐจะจำกัดสิทธิในการชุมนุมนั้นจะต้องมีหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะหลักเกณฑ์พื้นฐาน 3 ประการ คือ หลักกฎหมาย (Legality) หลักความจำเป็น (Necessity) และหลักความได้สัดส่วน (Proportionality)

กล่าวคือ รัฐต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการจำกัดสิทธิในการชุมนุมนั้นชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามอำเภอใจและมีความสมเหตุสมผล เป็นการใช้อำนาจเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันภัยร้ายแรงที่กำลังจะเกิดขึ้น และได้สัดส่วนกับสิ่งที่เป็นภัย เพื่อผลประโยชน์ในด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชน นอกจากนี้ก็ยังมีหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่ควรปฏิบัติตามอีก เช่น หลักความชอบธรรม หรือหลักความเป็นสากล โดยต้องคำนึงถึงว่า รัฐไม่ใช่ผู้ที่ “ให้สิทธิ” แต่เป็นผู้ที่มีหน้าที่ “ประกันสิทธิ” ให้แก่ประชาชนในการชุมนุม

สถานการณ์การชุมนุมของเด็กเละเยาวชนในปัจจุบัน

สถานการณ์การชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา มีมิติที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จากข้อมูลของภาคประชาสังคม พบว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงเดือนสิงหาคม 2564 มีการรวมกลุ่มทั้งสิ้นกว่า 1,800 ครั้งทั่วประเทศ ซึ่งแทบไม่มีการลงข่าวเผยแพร่ในทางสาธารณะเลย และมีประชาชนอย่างน้อย 1,300 คนถูกดำเนินคดีไปในจำนวนนี้ มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีกว่า 180 คนได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิในการรวมกลุ่ม

และได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเด็กไปแล้วกว่า 115 คนในช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเด็กอายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มีอายุเพียง 14 ปี และเด็กอายุน้อยที่สุดที่ถูกฟ้องโดยเจ้าหน้าที่ภายใต้พรก.ฉุกเฉินมีอายุเพียง 12 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ก็ยังมีข้อมูลว่า เยาวชนจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบและเกิดบาดแผลทางร่างกายจากการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ ทั้งการใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และรถฉีดน้ำแรงดันสูง

ผู้ชุมนุมในช่วงที่ผ่านมานี้ไม่ใช่กลุ่มเดิมกับผู้ที่ไปร่วม Flash Meetings ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เด็กกลุ่มปัจจุบันที่ออกมาชุมนุมเป็นกลุ่มมีฐานะทางเศรษฐกิจยากจน ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้เข้าเรียน ไม่มีงานทำ ทำให้เกิดความกดดันและต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและเข้าร่วมชุมนุม วิธีการสื่อสารของผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ก็เป็นวิธีการใหม่ เช่น มีการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน Tiktok มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจต่อไป

หลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการการชุมนุม และกรอบการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่

เครื่องมือในกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง และถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการการชุมนุมคือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งคลุมเครือในหลักการจำกัดสิทธิในการชุมนุม และยังเป็นกฎหมายไทยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในเวทีโลก จึงเห็นว่าควรยกเลิกการบังคับใช้หรือปฏิรูปเสียที ไม่เพียงเท่านั้น การบังคับใช้ในปัจจุบันยังมีการเอามาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มาขยายต่อ เช่น การออกประกาศจำกัดสิทธิของสื่อมวลชน

แต่ยังถือเป็นเรื่องดีที่บางกรณีศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้ฝ่ายบริหารออกประกาศมาจำกัดสิทธิได้อีก พ.ร.ก. นี้ ฝ่ายบริหารได้ใช้ในการขยายอำนาจตนเองมาก และนอกจาก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ก็ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และนำมาใช้ในการฟ้องดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมร่วมด้วยอีก เช่น พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ. จราจร, พ.ร.บ. เครื่องมือกระจายเสียง และกฎหมายอาญา

ตามหลักเกณฑ์แล้ว การใช้กฎหมายฉุกเฉินต้องปฏิบัติตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และมีพันธกรณีพิเศษที่ต้องแถลงให้เลขาธิการสหประชาชาติทราบด้วยทุกครั้ง แต่เชื่อว่า รัฐไทยไม่เคยได้แจ้งให้สหประชาชาติทราบในทุกครั้งที่มีการใช้ และต่ออายุ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายฉุกเฉินในกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ก็ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ ที่ต้องปฏิบัติตาม ICCPR ซึ่งรวมไปถึงการให้ความเห็น (General Comment) ซึ่งแถลงโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภายใต้ ICCPR ขององค์การสหประชาชาติ ฉบับที่ 34 เรื่องการแสดงออกและการรวมกลุ่ม และฉบับที่ 37 เรื่องการชุมนุม ที่ระบุว่าการสลายการชุมนุมจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการชุมนุมที่รุนแรงเท่านั้น ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 26 ของไทยมีความสอดคล้องกับความเห็นทั้งสอบฉบับ

ในประเด็นการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ตามหลักการสากล หากอ้างอิงตามหลักการใช้อาวุธขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในการปราบปรามหรือใช้กำลังสลายการชุมนุม ก่อนจะไปถึงขั้นตอนของการใช้อาวุธในการควบคุมการชุมนุม จะต้องใช้ De-Escalation Technique หรือวิธีการลดระดับของการชุมนุมในรูปแบบอื่นๆ เสียก่อน เช่น การตักเตือนด้วยวาจา การเจรจา การใช้รถฉีดน้ำหรือแก๊สน้ำตา ซึ่งเป็น Less Lethal Weapon (อาวุธที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตน้อยกว่า)

และการใช้อาวุธเหล่านี้ก็ต้องมีหลักในการใช้ เช่น ต้องเล็งไปที่ผู้ที่กำลังก่อความรุนแรงเท่านั้น ไม่ใช่ใช้กับผู้ชุมนุมทุกคนเป็นการทั่วไปอย่างไม่แยกแยะ และต้องลดภัยที่อาจจะเกิดตามมาจากการใช้อาวุธนั้นให้มากที่สุด หรือ แก๊สน้ำตาต้องใช้เป็นลำดับสุดท้ายหลังการเจรจา และต้องให้เวลาหลังการประกาศก่อนการสลายการชุมนุมหรือก่อนการใช้แก๊สน้ำตา เป็นต้น

ส่วนกระสุนยางนั้นไม่ถือเป็น Less Lethal Weapon แต่เป็น Firearm (อาวุธปืน) การใช้จึงต้องใช้อย่างจำกัดมาก เล็งเป้าหมายเฉพาะบุคคลที่รุนแรงด้วยความจำเป็นในการป้องกันตัวหรือป้องกันภัยที่อาจนำไปสู่ความตาย หรือบาดเจ็บอย่างสาหัสเท่านั้น และต้องพึงระลึกไว้ว่า การใช้อาวุธปืนในการสลายการชุมนุม มิชอบเสมอ และถ้ารู้ว่ามีเด็กในที่ชุมนุมก็ต้องห้ามใช้อาวุธเช่นนั้น

นอกจากนี้ หากจะใช้อาวุธปราบปรามการชุมนุม เจ้าหน้าที่ก็จะต้องจัดให้มีแพทย์อยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยอาจยังไม่ชัดเจนนักในการปฏิบัติการตามหลักการเหล่านี้ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเองไม่ได้ระบุเรื่องเหล่านี้เลย แต่กลับมาบังคับครอบคลุมทุกกฎหมายรองที่ใช้ จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล นอกจากนี้ พฤติการณ์ที่ผลักดันให้ผู้ชุมนุมอยู่ในที่แคบแล้วใช้แก๊สน้ำตานั้นก็ถือว่าไม่เหมาะสมและไม่ควรกระทำ

นอกจากประเด็นดังกล่าว ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ได้ย้ำเตือนว่า รัฐมีความรับผิดชอบ (State Accountability) คือ 1. รัฐต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ 2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ควรเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐได้ทันที และ 3. จะต้องเชื่อมโยงกับกลไกขององค์การสหประชาชาติ

หลักเกณฑ์การปฏิบัติหากเกิดการจับกุมเด็ก และนำเด็กเข้าสู่กระบวนการศาล

การจับกุมเด็ก และเยาวชนที่มาร่วมชุมนุมโดยทั่วไปแล้วจะต้องมีหมายจับ ห้ามใช้ตรวนในการควบคุมตัว และการกักตัวต้องแยกกับผู้ใหญ่ หรือตามหลักการแล้วก็ไม่ควรกักตัวเลย ในการดำเนินกระบวนการเหล่านี้ จะต้องมีสหวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมด้วยตั้งแต่ต้น และภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจับกุมนั้นสำคัญมาก จะต้องให้เด็กเข้าถึงทนายความ และผู้ปกครอง ถึงแม้ว่ายังไม่ได้นำตัวเด็กขึ้นศาลเยาวชน แต่ควรที่จะนำเด็กเข้าสู้กระบวนการทางศาลโดยพลันภายใน 24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จะต้องใช้มาตรการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเด็ก ใช้หลัก non-custodial (ไม่ควบคุมตัว) และต้องดูเรื่องพื้นฐานของเด็กว่าเป็นใครอย่างไรประกอบด้วย

หากต้องให้เด็กขึ้นศาล เจ้าหน้าที่รัฐต้องพิจารณาว่ามีวิธีอื่นอีกหรือไม่ สามารถคุ้มครองเด็กโดยวิธีใดๆ ได้อีกไหม ซึ่งศาลเยาวชนจะมีแนวทางที่ไม่ต้องกักตัวเด็ก สามารถปล่อยตัวชั่วคราวได้ทันทีโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ใดๆ และเจ้าหน้าที่รัฐก็จะต้องไม่ลืมที่จะใช้นโยบายและเครื่องมืออื่นๆ นอกจากการใช้กฎหมายและกฎหมายอาญา เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก และ พ.ร.บ. พัฒนาเด็ก และเยาวชน นอกจากนี้ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการในเรื่องการฟื้นฟูเยียวยาเด็กที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้ด้วย

ข้อเสนอแนะของศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ต่อประเด็นสิทธิเด็กในการชุมนุมอย่างสงบ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ มีข้อเสนอแนะถึงสิ่งที่ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่และสหวิชาชีพส่งเสริมสิทธิพลเมืองของเด็กได้ดียิ่งขึ้น โดยกล่าวว่า ตัวแปรสำคัญ (Agent of Change) ในการทำงานด้านสิทธิเด็กที่ต้องมีการพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง มีดังนี้

1. เจ้าหน้าที่รัฐ: ตำรวจผู้เข้าปราบปรามการชุมนุมจะต้องให้ความร่วมมือและทำงานร่วมกับหน่วยงานเอกชนและภาคประชาสังคม โดยจัดให้มีการฝึกอบรม พัฒนาความสัมพันธ์กับตำรวจให้ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด สร้างศักยภาพให้ตำรวจให้มีกำลังใจในการทำงานที่ดี เช่น เสนอให้ UNICEF ทำงานกับตำรวจที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน การเรียนการสอนจะต้องพูดถึงการปฏิบัติต่อเด็กด้วย ต้องมีแผนและนโยบายระดับสูงให้กับตำรวจฝ่ายปฏิบัติ จัดเตรียมเครื่องมือที่เหมาะสมในการปฏิบัติ

ตำรวจเองก็ต้องได้รับการคุ้มครองโดยจัดให้มีอุปกรณ์ในการป้องกันตนเองที่ดี จะเป็นการป้องกันและลดการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เองในการโต้ตอบ และควรเน้นการเอื้ออำนวยความสะดวกแก่กันและกัน เวลาตำรวจปฏิบัติหน้าที่ต้องชี้แจงแนวทางว่าจะไปไหน อย่างไร

ผู้บังคับบัญชาต้องมีคำสั่งที่ละเอียดว่าสิ่งใดทำได้และสิ่งใดทำไม่ได้ เนื่องจากการอ้างกฎหมายบางครั้งไม่พอ เช่น ในกรณีที่มีเด็กในที่ชุมนุมต้องทำอะไรและไม่ทำอะไร ควรจัดให้ตำรวจได้รับการฝึกอบรมการเจรจากับเด็ก เรียนรู้จิตวิทยาในการสื่อสารต่อเด็กในที่ชุมนุม

นอกจากนี้ ผู้บังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีกับเด็กจะต้องหาแนวทางการจัดการคดีด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ให้เป็นคดี ให้การคุ้มครองปกป้องพิเศษ ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายอาญาอย่างเดียว ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงแรกหลังจับกุมก่อนที่เด็กจะถึงศาลถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ภาครัฐต้องชี้แจงกับสังคมว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ได้ให้การคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายขั้นพื้นฐานกับเด็กหรือไม่ การจับกุมเป็นไปโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงในการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อเด็กในช่วงเวลาดังกล่าว เด็กจะต้องเข้าถึงทนายและผู้ปกครอง การจะควบคุมตัวเด็กได้ก็ต้องมีหมายจับ และห้ามใช้ตรวนในการควบคุมตัว

2. ผู้ชุมนุม: การที่เด็ก และเยาวชนผู้มาร่วมชุมนุมทราบสิทธิของตนเองจะช่วยให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อออกไปร่วมการชุมนุมก็ควรที่จะบอกทางบ้าน และไม่พกพาอาวุธในการไปชุมนุม และควรแจ้งว่าจะไปชุมนุมในสถานที่ใด ทิศทางใด ไม่ใช่การปกปิด เพื่อประโยชน์ในการรักษาสิทธิของตน

3. ศาล: สามารถใช้ดุลยพินิจในทุกขั้นตอนของกระบวนการที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน จำหน่ายเด็กและเยาวชนออกจากกระบวนการทางอาญาให้เร็วที่สุด

4. หน่วยงานเอกชน หน่วยงานอิสระ และภาคประชาสังคม: จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และต้องเป็นอิสระ มีตัวกลางในการตรวจสอบข้อมูลก่อนเผยแพร่ การตรวจสอบองค์กรตำรวจต้องเกิดขึ้นทั้งจากภายใน และภายนอกเพื่อให้เกิดความโปร่งใส องค์กรภายนอกควรจัดทำรายงานกรณีศึกษา ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ที่บริเวณดินแดงมากขึ้น

สำหรับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบรายงานสถานการณ์สิทธิ และผู้ตรวจการรัฐสภา มีความเห็นว่ายังไม่มีบทบาทสำคัญเพียงพอ จะต้องตั้งคนทำงานเฉพาะกิจเรื่องเด็ก ทำงานรับคำร้องเรียนและตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ไปจนถึงการถ่วงดุลอำนาจ และต้องมีการใช้กลไกอื่นๆ เข้ามาช่วยคุ้มครองสิทธิของเด็กให้มากขึ้น เช่น การกำหนดหรือตั้งผู้พิทักษ์เด็ก การใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก และ พ.ร.บ. ศาลเยาวชน ใช้คำสั่งคุ้มครอง (Protection Order) ไม่ใช่มาตรการทางอาญา เป็นต้น

5. สถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษา: ต้องช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้เด็กทราบสิทธิของตนเอง หากผู้ปกครอง และครูอาจารย์ไม่ช่วยพัฒนาในเรื่องนี้ ก็ต้องจัดให้มีการอบรมพ่อแม่ผู้ปกครอง และครูผู้สอน ในโรงเรียนครูอาจารย์ก็ต้องมีประชาธิปไตยในการเรียนการสอน ให้เด็กวิจารณ์ได้ และผู้ใหญ่ต้องสื่อสารด้วยวิธีที่ดีเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเด็ก

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า สถานการณ์ที่ดินแดงในขณะนี้นั้น ถือเป็นผลลัพธ์ ไม่ใช่สาเหตุ ต้องมีการตั้งคำถามว่าทำไมเด็กกลุ่มนี้จึงออกมาดินแดงช่วงนี้ ตอนนี้ ในลักษณะนี้ ซึ่งคำตอบก็คือพวกเขาขาดประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น รู้สึกว่าเสียงของพวกเขาไม่ถูกรับฟัง และเป็นเด็กกลุ่มยากจนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสภาพการเมืองและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ จึงเกิดการปฏิบัติเพื่อคัดค้านอำนาจเผด็จการ และเราจะต้องพิจารณาว่า พวกเราทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างความหวังและช่วยเหลือพวกเขา หรือจะใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นสื่อสารออกไปในวงกว้างอย่างไร

ในการผลักดันเรื่องนี้ เราต้องไม่ท้อแท้ ไม่มองแต่การสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับมหภาคเพียงอย่างเดียว แต่ควรทำในระดับจุลภาคด้วย คือ ทำสิ่งเล็กๆ เท่าที่ทำได้ ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดและความเข้าใจกันและกันไปทีละเล็กทีละน้อย และตัดวัฏจักรความรุนแรงทางลบที่ตัวเราเองก่อน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูป (Transformative Change) เพื่อสร้างความหวัง