องค์กรสิทธิระหว่างประเทศ คณะกรรมการ นักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ) และ องค์การ นิรโทษกรรมสากล (Amnesty International – AI) เปิดข้อเสนอที่ควรบรรจุ ในร่าง พ.ร.บ. ทรมาน-อุ้มหาย ให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ได้ผ่านการรับรองในวาระที่ 1 การรับหลักการร่างกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้ อยู่ในระหว่างการพิจารณา ทบทวน และแก้ไขข้อบัญญัติรายมาตรา โดยคณะกรรมาธิการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ซึ่งมีการเริ่มประชุมครั้งแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา
โดย ณ ที่ประชุม มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ฉบับรัฐบาล ที่ร่างโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นร่างกฎหมายหลักที่ใช้พิจารณาในขณะนี้ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยหลายจุดที่คลาดเคลื่อนไปจากหลักการกฎหมาย อนุสัญญาระหว่างประเทศ และพันธกรณีระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะในส่วนของ นิยามของคำว่า การทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหาย หลักการเรื่องการเยียวยาผู้เสียหาย และครอบครัว คู่สมรสของผู้เสียหาย หรือแม้แต่รายละเอียดของการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ขาดหายไป ซึ่งเป็นหนึ่งในรายละเอียดที่สำคัญใน อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และรัฐไทยได้ลงนามเป็นภาคีไว้ด้วย
คณะกรรมการ นักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty Thailand) จึงจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … เพื่อส่งให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้ ให้นำไปใช้พิจารณารายมาตราที่ยังขาดตกบกพร่อง และให้อ้างอิงตามข้อบัญญัติในอนุสัญญาฯ CAT เพื่อความเป็นมาตรฐานสากลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
หากท่านใดสนใจสามารถเข้าไปอ่านเพื่อทำความเข้าใจได้ที่นี่: