บันทึกเสวนาทาง Clubhouse “จับตา 15 กันยา 2564 พ.ร.บ. อุ้มต้องไม่หาย กฎหมายต้องมี!” เขียน และเรียบเรียงโดย รสา เต่าแก้ว / ณฐพร ส่งสวัสดิ์
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
หลายๆ คนคงได้รับทราบสถานการณ์ [เกี่ยวกับการอุ้มหายและซ้อมทรมาน] ในสังคมไทยผ่านทางทั้งข่าวและรายงานสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติบ้างแล้ว
ประเทศไทยได้ส่งสถิติ [เกี่ยวกับการอุ้มหายและซ้อมทรมาน] ไปให้กับองค์การสหประชาชาติ ในการรายงานสิทธิมนุษยชนในเรื่องของอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการต่อต้านการทรมานและบังคับให้สูญหาย ซึ่งประเทศไทยได้รายงานในครั้งแรกเมื่อปี 2556 หรือ 6 ปีหลังจากประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน
รายงานจำนวนมากเป็นรายงานกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมีองค์กรสิทธิมนุษยชนเข้าไปรับเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกรณีเหล่านี้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ เพียงแต่อาจจะไม่มีรายงานออกไป เนื่องจากมีกลไกที่ยากลำบาก [ในการที่ผู้เสียหายจะได้รับความเป็นธรรม] เช่น กรณี [โจ้ถุงดำ] ที่นครสวรรค์ หากไม่มีคลิปวีดีโอเผยแพร่ออกมา ผู้ปกครองของมาวินก็น่าจะบอกว่าไม่ติดใจ เหมือนเคยพูดก่อนที่จะมีคลิปออกมา ซึ่งกรณีส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเช่นนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เนื่องจากการทรมานไม่ทิ้งร่องรอยบาดแผลเอาไว้
การละเมิดลักษณะในนี้ เช่น การจับกุม ควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายยาเสพติด กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ต่างมีขั้นตอนที่ทำให้ชาวบ้านเสี่ยงกับการทรมาน การควบคุมตัวโดยมิชอบ และอาจนำไปสู่การพลาดพลั้งทำให้เสียชีวิต ซึ่งก็จะมีการซ่อนและทำลายศพตามมา
กรณรซ้อมทรมานและอุ้มหาย ส่วนใหญ่มักเกิดกับนักกิจกรรม ผู้เห็นต่าง ผู้ลี้ภัยทางการเมืองออกจากประเทศไทย ซึ่งพบว่ามีกรณีที่สูญหายและเสียชีวิตรวมกันแล้ว 9 กรณี รวมถึงกรณี วันเฉลิม ด้วย
สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ไทยถูกประชาคมระหว่างประเทศจับตามอง ว่าเมื่อไรประเทศไทยจะทำให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งอันที่จริงแล้ว การทำร้ายร่างกายก็ถือเป็นความผิดทางอาญาอยู่แล้ว แต่ [ในกรณีนี้ ที่ผู้กระทำความรุนแรงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ] ต้องแจ้งความร้องทุกข์ให้องค์กรที่เป็นองค์กรเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดสังกัดอยู่มาตรวจสอบกันเอง ดังนั้นกฎหมายปกติจึงไม่พอ เพราะแม้จะใช้ปราบปรามควบคุมประชาชนด้วยกันได้ แต่ใช้ควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้
พ.ร.บ. ฉบับนี้ร่างขึ้นในปี 2556 หลังจากประเทศไทยกลับจากการรายงานสิทธิมนุษยชนที่เจนีวา โดยท่าน ณรัชต์ เศวตนันทน์ อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ ร่วมกันกับกระทรวงยุติธรรมออกแบบ พ.ร.บ. ที่เป็น stand-alone law ซึ่งเป็นกฎหมายที่แยกออกมา ไม่ได้เกี่ยวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเสียทีเดียว ถือเป็นกฎหมายที่ทันสมัย เอาความผิดทางอาญาสองข้อหาที่ประเทศไทยยังไม่มีมารวมเป็น พ.ร.บ. ฉบับเดียว เรียกว่า “พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานและทำให้สูญหาย”
ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาป้องกันไม่ให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายด้วย แต่ [ความผิด] 2 ข้อนี้กลับไม่มีในกฎหมายไทย การอุ้มหาย ทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังไม่มีนิยามในกฎหมายไทย
พ.ร.บ. นี้ถูกทบทวนหลายรอบ โดยฉบับล่าสุดนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2558 – 2559 ร่างฉบับนี้ได้ถูกเข้าไปพิจารณาโดยสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว มีการแก้ไขบางบทบางมาตรา ทำให้อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการสากล จึงถูกปรับแก้ และเพิ่มเติม หลังจากมีรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ภาคประชาสังคมจึงได้หยิบฉบับที่กระทรวงยุติธรรมร่างผ่านกฤษฎีกามาปรับแก้ และเสนอต่อคณะกรรมาธิการในช่วงที่อาจารย์ปิยบุตรเป็นประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย และการยุติธรรมสิทธิมนุษยชน
กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ชาวบ้านพึ่งพิงได้จริงๆ เพราะจะเอื้อให้การสืบสวนสอบสวนเป็นอิสระมากขึ้น และขยายนิยามให้ครอบคลุมถึงการอุ้มหาย เนื่องจากในปัจจุบันนี้ หากไม่พบศพก็จะไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้เลย
ร่างของภาคประชาชนมีพรรคการเมืองนำไปแก้ไขเพิ่มเติม ตอนนี้จึงมี 3 ร่าง คือ ร่างของ กมธ. ซึ่งมีคุณ สิระ เจนจาคะ และคุณ รังสิมันต์ โรม ร่วมกันล่ารายชื่อ ส.ส. 101 รายชื่อ มีร่างของ พรรคประชาชาติ และของ พรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นโดยรวมแล้วจึงมี ส.ส. กว่า 130-140 คนแล้วที่เห็นชอบกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ และรอการพิจารณาอยู่
ซึ่งในช่วงที่เกิดคดีผู้กำกับโจ้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้นำร่างของกระทรวงยุติธรรมมาทำเป็นกฎหมายเร่งด่วน จึงได้เลื่อน [คิวการรอพิจารณา] จากลำดับท้ายๆ มาเป็นลำดับ 9 ในวันที่ 8 ก.ย. และได้เลื่อนขึ้นมาอีกครั้งเป็นลำดับที่ 4 อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมามีการทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่เคยได้รับการพิจารณาในสภาผู้แทนฯ จึงไม่รู้เลยว่าวันที่ 15 ก.ย. นี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะหายไปอีกไหม
สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists: ICJ)
ที่มาของ [กฎหมายเกี่ยวกับ] การทรมาน และการอุ้มหาย มาจากกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นหัวใจสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนมีอยู่ทั้งหมด 9 ฉบับ หากประเทศใดเป็นสมาชิกครบทุกฉบับจะถือว่ามีหน้ามีตามาก ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับการทรมานและการอุ้มหายถือเป็น 2 ใน 9 ของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก
เมื่อประเทศใดเป็นสมาชิกของอนุสัญญาเหล่านี้แล้ว จะต้องกลับมาออกกฎหมายภายในประเทศ แต่ในประเทศไทยนั้นมีปัญหาคือไม่สามารถออกกฎหมายภายในได้เสียที เนื่องจากระบบไม่พร้อม และอื่นๆ ในขณะที่ประเทศที่มีสถานะใกล้เคียงกับประเทศไทยออกกฎหมายภายในได้แล้ว และเป็นกฎหมายที่ใช้ถ้อยคำเหมือนมาตรฐานสากล เช่น ฟิลิปปินส์ อาร์เจนติน่า ศรีลังกา แอฟริกาใต้ อูกันดา และอาเซอร์ไบจาน แต่การบังคับใช้นั้นถือเป็นคนละเรื่องกัน เพราะบางประเทศก็ยังมีปัญหาอยู่
ประเทศไทยเริ่มดำเนินการ [ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทรมานและอุ้มหาย] โดยแก้ประมวลกฎหมายอาญา และส่งไปที่องค์การสหประชาชาติในช่วงปี 2556 – 2557 และองค์การสหประชาชาติก็ได้แสดงความคิดเห็นกลับมา ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับรัฐประหารรอบ 2 พอดี กฎหมายฉบับนี้จึงใช้เวลานานมาก เพราะคาบเกี่ยวกับการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง
ในครั้งนั้นองค์การสหประชาชาติให้ความเห็นว่ากฎหมายของเรายังไม่ได้มาตรฐาน ทั้งด้านคำนิยาม บทลงโทษ และอายุความ ยังมีปัญหาอยู่ เราจึงยุบรวมกันทั้ง 2 กฎหมาย ไม่ให้ผูกกับกฎหมายอาญา
ในช่วง 5-6 ปีต่อมา กฎหมายนี้ถูกโยนไปมา มีการรับฟังความคิดเห็นโดยหลายหน่วยงาน หลายรอบ และหลายร่าง ซึ่งร่างที่เกิดขึ้นหลังจากการยุบรวมร่างรอบแรกๆ ของอาจารย์ปกป้อง ถือเป็นร่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ได้มาตรฐานสากล แต่หลังจากนั้นก็ถูกลดทอนลงไปเรื่อยๆ บางมาตราในร่างกฎหมายนี้ถูกดึงออกตลอดเวลาและไม่ถูกรวมอยู่ในร่างสุดท้ายเสียที ซึ่งมาตราที่ถูกดึงออกเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลหลักของผู้ที่ต้องตัดสินใจผ่านร่างกฎหมายนี้
กฎหมายลักษณะนี้ออกยาก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย โดยช่วงที่จะออกกฎหมายลักษณะนี้ได้ง่ายส่วนใหญ่จะเป็นช่วงหลังจากมีการเปลี่ยนผู้มีอำนาจ เพราะกฎหมายที่ลงโทษอาชญากรรมที่ก่อโดยรัฐ และเจ้าหน้าที่จะออกยากหากไม่ได้แรงผลักดันจากคนในสังคม หรือมีการเปลี่ยนผู้ปกครองมาเป็นผู้ที่ไม่กลัวว่าจะถูกเล่นงานโดยกฎหมายลักษณะนี้
วัฒนธรรมการทรมานอยู่ในประบวนการสืบสวนสอบสวนของหลายประเทศ คาบเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น และความกดดันในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งระบุว่า ผู้บังคับบัญชากดดันให้ไขคดีตามกรอบเวลาที่กำหนด ทำให้มีการซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้สารภาพ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือเจ้าหน้าที่คิดว่า ตนเองกำลังเสียสละทำงานสกปรกเพื่อให้ได้มาซึ่งคำสารภาพและข้อเท็จจริง ทำให้ [การซ้อมทรมาน] อยู่ในวัฒนธรรมของไทยและหลายประเทศ การพูดถึงกฎหมายต่อต้านการทรมานจึงค่อนข้างท้าทาย
ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิบัติอันโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ไม่ถึงขั้นทรมาน แต่เป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีโดยเจ้าหน้าที่ กฎหมายไม่รองรับความผิดลักษณะนี้ เพราะจะยิ่งเป็นการจับตามอง (monitor) ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดีได้มากและได้ง่าย แต่แน่นอนว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน ที่วันหนึ่งอาจจะไปอยู่ท่ามกลางกระบวนการยุติธรรมโดยไม่คาดคิด
เนื้อหาของร่างเหล่านี้ ที่ถูกหยิบยกออกไป แก้ไข และลดทอนตลอดเวลาที่ผ่านมาในร่างหลักของรัฐบาล และทำให้ร่างกฎหมายนี้ไม่ผ่านเสียที ประการแรกคือบทนิยามที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งภาพรวมในส่วนบทนิยามของการทรมานไม่แย่มากนัก แม้จะมีการตัดคำออกไปบ้าง แต่ในส่วนของการอุ้มหายมีการแก้บทนิยามค่อนข้างหนัก ทำให้การอุ้มหายหลายกรณีไม่นับเป็นการอุ้มหาย เช่น ผู้ที่อุ้มหายและผู้ที่ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีการอุ้มหาย จะต้องเป็นคนคนเดียวกัน ซึ่งในทางปฏิบัติไม่ใช่
ผู้ที่อุ้มหายจะเป็นอีกคนหนึ่ง ส่วนผู้ปฏิเสธคือโฆษก กรณีอย่างนี้ก็จะไม่ถูกนับรวมว่าเป็นการอุ้มหายและหลุดไปจากกฎหมายนี้ ประการที่สองคือกลไกการลงโทษ ร่างของรัฐบาลนั้นมี 2 กลไก คือ กลไกการคุ้มครอง และกลไกการลงโทษ ซึ่งกลไกการคุ้มครองไม่ค่อยมีปัญหา คือ ให้กลับไปหาศาลหากสงสัยว่าเกิดกรณีเหล่านี้ ให้ศาลออกคำสั่ง และมีบทบาทเข้ามาช่วยในการคุ้มครอง แต่กลไกการลงโทษนั้นมีปัญหา ดังนี้
1. หน่วยงานที่เข้ามาดูแลกรณีเหล่านี้ ในร่างของรัฐบาลจะกำหนดให้อยู่ที่ DSI และศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบ คดีของผู้กำกับโจ้ยังอยู่ที่กองปราบ ไม่ได้ไปที่ DSI ในกรณีที่ DSI เป็นผู้กระทำความผิดเอง ตำรวจจะเป็นผู้เข้ามาดูแลรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามควรให้อัยการเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบาทของอัยการเข้าไปในร่างของภาคประชาสังคมแล้ว
นอกจากนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบใช้ระบบไต่สวนที่ทำให้ผู้พิพากษาสามารถล้วงเข้าไปหาข้อมูลได้ ซึ่งน่าสนใจ แต่ปัญหาอยู่ที่ศาลทุจริตฯ ไม่ตัดอำนาจศาลทหาร หมายความว่า หากผู้กระทำผิดคือเจ้าหน้าที่ทหาร คดีจะไปอยู่ที่ศาลทหารแทน ซึ่งศาลทหารไทยถูกติติงโดยสหประชาชาติเกี่ยวกับความเป็นกลางและประสิทธิภาพในการดำเนินคดี เพราะบุคลากรที่รับผิดชอบคดีในศาลทหารไม่จำเป็นต้องศึกษาด้านกฎหมายหรือจบเนติบัณฑิต และการดำเนินคดีไม่เหมือนศาลอาญาทั่วไป เพราะถูกออกแบบให้เหมาะกับการดำเนินคดีเกี่ยวกับวินัยทหารมากกว่า
2. มาตราที่ถูกดึงออกจากร่างกฎหมายนี้เป็นประจำ คือบทลงโทษผู้บังคับบัญชา ผู้ที่ทราบ หรือควรทราบถึงการกระทำความผิด แต่ไม่ห้าม และไม่นำตัวผู้ใต้บังคับบัญชาไปดำเนินคดี ซึ่งจะโดนลงโทษด้วย มาตรานี้มีระบุไว้ในกฎหมายของประเทศอื่น ทำให้ผู้บังคับบัญชาไปกดดันลูกน้อง ในตอนที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีระบุให้ [ผู้บังคับบัญชา] รับผิดในกรณีอุ้มหาย แต่ไม่ใช่กรณีทรมาน ซึ่งผู้ที่เคยอยู่ใน สนช. ในปัจจุบันนี้ก็เป็น ส.ว. ด้วย ดังนั้นมาตรานี้ก็น่าจะถูกดึงออกอีก มีการใส่ถ้อยคำที่ลดทอน และไม่ได้มาตรฐานสากลเพิ่มอีก
3. ร่างกฎหมายนี้ยังขาดกลไกการป้องกัน ในต่างประเทศ การสอบสวนจะมีการอัดวีดีโอตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีการหยุดระหว่างอัด ซึ่งในประเทศไทยไม่มี ในหลายประเทศพิสูจน์ได้แล้วว่าการอัดวีดีโอช่วยได้มากต่อทั้งฝ่ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด โดยนำไปเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้
4. ปัญหาด้านอายุความ กฎหมายลักษณะนี้ไม่ควรมีอายุความ เพราะต้องต่อสู้กับผู้มีอำนาจที่ดำรงอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลานาน แต่ระบบกฎหมายไทยเชื่อมั่นในอายุความ ร่างของภาคประชาชนจึงพยายามยืดอายุความให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คืออยู่ที่ 20-50 ปี
5. อีกสิ่งหนึ่งที่หายไปในร่างของรัฐบาล คือ ส่วนที่ระบุว่าการอุ้มหายเป็นความผิดต่อเนื่อง ไม่ว่าเหตุการณ์จะเกิดมาแล้วนานเพียงไหน หากปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรมของเหยื่อ เมื่อมีกฎหมายออกในวันนี้ ก็จะนำไปดำเนินคดีในอดีตได้ด้วย เพราะถือว่าผู้กระทำผิดยังคงกระทำผิดอยู่
6. ความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี ยังไม่อยู่ในร่างกฎหมายนี้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ เพราะจะทำให้ไม่มีข้อกฎหมายใดมารองรับกรณีที่ประชาชนถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจปฏิเสธได้ว่ายังไม่ถึงขั้นของการทรมาน
6. ประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย มีการดึงมาตราที่ป้องกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยถูกผลักดันกลับเข้าประเทศที่ต้องสงสัยว่าถูกทรมาน และอุ้มหายออกอยู่เรื่อยๆ โดยให้เหตุผลว่ามีการทำอยู่แล้วในทางปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีกรณีที่ประเทศไทยผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางอยู่เรื่อย ๆ
นี่เป็นเพียงภาพกว้าง ๆ เท่านั้น และได้มีความพยายามในการแก้ไขในร่างกฎหมายคู่ขนาน ทั้งในภาคประชาสังคมและสภาผู้แทนราษฎร จึงหวังว่าเมื่อนำมารวมกันแล้วจะเป็นร่างกฎหมายที่สมบูรณ์
(หากสนใจดูร่างกฎหมายฉบับนี้ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดในเพจเฟซบุ๊ค CrCF ได้)
รศ. พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล อดีตบุคลากรตำรวจ
ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญ แต่ก็มีข้อสังเกตในเรื่องของมิติอื่นๆ เช่น วัฒนธรรมองค์กรของตำรวจ ระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง การรวมกลุ่ม และการสั่งการตามสายบังคับบัญชา
ในโลกประชาธิปไตย การฝึกตำรวจจะไม่ให้ฝึกเหมือนทหาร เพราะถือว่าไม่มีประชาธิปไตย ถ้าตำรวจถูกฝึกให้โดนละเมิด เช่น การตัดผมสั้นหรือการเข้าแถวสวนสนาม จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตำรวจรู้สึกถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อฝึกจบ และไปทำงานจริงก็จะมีการละเมิดประชาชนต่อ ซึ่งในประเทศไทย การฝึกตำรวจยังคงฝึกเหมือนทหาร มีคำกล่าวให้ท่องว่า คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นพรจากสวรรค์ โดยไม่ได้บอกว่าคำสั่งนั้นชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ซึ่งในการทหาร และการสงครามนั้นใช้ได้ เพราะถ้าสั่งแล้วไม่ทำในทางเดียวกันในสนามรบอาจจะเกิดปัญหา แต่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างตำรวจต้องทำงานดูแลทุกข์สุขของประชาชนจึงทำเช่นนั้นไม่ได้ ดังนั้น วัฒนธรรมขององค์กรตำรวจ ถ้ายังเป็นเหมือนวัฒนธรรมของทหาร จะทำให้ดุลยพินิจของตำรวจสอดคล้องกับมาตรฐานสากลน้อยลง
ประการต่อมาคือระบบกลไกการป้องกันการกระทำไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ เช่น คดีผู้กำกับโจ้ ที่จริงแล้วเรามีกฎหมายป้องกันกรณีเจ้าหน้าที่ทุจริต ประพฤติมิชอบ ใช้อำนาจเกินขอบเขตอยู่แล้ว มีระบบการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ แต่คำถามคือ ทำไมมาตรการป้องกันและตรวจสอบจึงไม่เกิดขึ้นก่อนจะเกิดเหตุเหล่านี้
จึงแสดงให้เห็นว่า นอกจากร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ต้องอย่าลืมคำนึงถึงอีกหลายมิติที่มองข้ามไม่ได้ รวมถึงเรื่องการทำผลงานและการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาเกือบ 100% ไม่ได้มาจากประชาชน ดังนั้นตำรวจเลยฟังแต่ผู้บังคับบัญชา
นอกจากนี้ ก็เห็นด้วยกับการใช้เทคโนโลยีให้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการนี้ อย่างในประเทศอังกฤษ ก่อนจะมีการติด body cam ตำรวจถูกประชาชนร้องเรียนเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยในการขึ้นเวร 1 ครั้ง ตำรวจ 1 คนจะถูกร้องเรียน 2 ครั้ง แต่หลังจากมีการติดกล้อง body cam การร้องเรียนลดลง เหลือไม่ถึงคนละ 0.01% ต่อการขึ้นเวร 1 ครั้ง แต่ในประเทศไทยเราไม่ลงทุน งบที่จัดมาก็มีไม่พอ ต้องขอสปอนเซอร์จากธุรกิจในพื้นที่ ส.ส. มีการตัดงบตรงนี้ เนื่องจากไม่เข้าใจมุมมองในด้านนี้ จึงคิดว่าเป็นเรื่องดีที่ควรผลักดันให้มีการลงทุนในส่วนนี้
อีกประการหนึ่งคือ ต้องพูดถึงเรื่องการปฏิรูปตำรวจควบคู่ไปด้วย เนื่องจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งที่เชื่อกันว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่กระทำความผิด แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ไม่เกิดขึ้นอีกเลย ในต่างประเทศก็ยังพบการร้องเรียนกรณีเช่นนี้อยู่แม้จะมีกฎหมายนี้แล้วก็ตาม เช่น กรณี จอร์จ ฟรอยด์
ดังนั้นการมี พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นเรื่องดี แต่ก็ยังมีอีกหลายมิติที่ต้องทำควบคู่กันไป
วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ สื่อมวลชน
กรณีเช่นนี้ [ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย] พูดกันมาเป็น 10 ปีแล้ว ในหลายรัฐบาล แต่ก็ยังไม่หมดไปเสียที ตลอดช่วงระยะเวลา 13-14 ปี ที่ทำรายการเจาะข่าวตื้นมา ก็ได้ยินกรณีเช่นนี้ตลอด เช่น แพะที่ถูกซ้อมให้รับสารภาพ ซึ่งเป็นคดีที่เกิดกับคนไทย และน่าจะด้วยฝีมือคนไทยด้วยกันเอง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องช่วยกันผลักดัน [พ.ร.บ. ฉบับนี้]
โดยส่วนตัวก็มีความกังวลว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะผ่านไหม เพราะรัฐบาลชุดนี้ดูจะไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีความกังวลว่าตัวแทนประชาชนที่อยู่ในสภาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ขนาดไหน และคิดว่าประชาชนต้องช่วยกันออกมากดดัน และส่งเสียง
เห็นด้วยกับการปฏิรูปตำรวจ และดังที่มีการอภิปรายไปข้างต้น ก็เห็นด้วยว่าเทคโนโลยีต่างๆ น่าจะเข้ามาช่วยได้ และช่วยให้ประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบ [เจ้าหน้าที่รัฐ]
อยากให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่าน เพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง และปฏิรูป ที่สำคัญที่สุด คิดว่าประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตยก่อน [เรื่องเหล่านี้จึงจะสำเร็จ] คิดว่าต้องทำกันไปหลาย ๆ ทาง การเข้าถึงโซเชียลในยุคปัจจุบันนี้ก็ช่วยให้เกิดการกระจายข้อมูลได้มาก แต่ก็หวังว่าจะมีการขยับการเคลื่อนไหวออกมาจากโลกโซเชียลด้วย
พรทิพย์ โม่งใหญ่ หัวหน้าผู้สื่อข่าว Workpoint TV สื่อมวลชนเจ้าของรางวัลสกู๊ปข่าวยอดเยี่ยม จากงานประกาศรางวัลนาฏราช
ไม่คิดว่าตนเองจะได้รางวัล เพราะทำข้อมูลข่าวที่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้นจะให้ความสนใจ จึงขอขอบคุณคณะกรรมการที่เห็นความสำคัญเรื่องการอุ้มหายและซ้อมทรมาน
ปีที่แล้วช่วงที่ทำสารคดี “สูญสิ้น สูญหาย แต่ไม่สิ้นหวัง” คือช่วงที่ทำคือรัฐสภาเปิดให้คนเข้าไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. นี้ ส่วนตัวติดตามประเด็นซ้อมทรมานและอุ้มหายมาหลายปี คิดว่าประชาชนควรเข้าไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ. นี้ แต่ ณ ขณะนั้นผู้คนกลับสนใจน้อยมากๆ และคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก พ.ร.บ. นี้เสียด้วยซ้ำ หลังจาก 3 ปีที่ติดตามประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง พบว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ เดี๋ยวก็เข้าสภา เดี๋ยวก็ถูกดึงออกไปให้ศึกษาเพิ่มเติม มีการถอดออก และวนเวียนอยู่อย่างนี้มา 10 กว่าปีแล้ว
อยากจะแสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า การที่สมาชิกสภาฯ ดึงกฎหมายตัวนี้ออก เป็นการกระทำที่ไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ที่ถูกซ้อมทรมานเหล่านี้เลย พวกเขาถูกกดความรู้สึกและความทุกข์เอาไว้ การกระทำเช่นนี้จึงไม่ต่างกับการเล่นกับความรู้สึกของผู้คนเหล่านี้
ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมากกว่า 100 ครอบครัวที่รอความยุติธรรมมานานกว่า 17 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณี กรือเซะ ตากใบ หรืออื่นๆ พวกเขาไม่ได้รับการเยี่ยวยาทางจิตใจ แม้จะได้รับการเยียวยาเป็นตัวเงินซึ่งได้รับสูงสุดอยู่ที่หลักแสน แต่ก็ไม่สามารถเทียบกับความสูญเสียของพวกเขาได้เลย ตลอดหลายปีที่สมาชิกในครอบครัวหายตัวไป และถูกเจ้าหน้าที่และสังคมตีตราว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ พวกเขาถูกบีบให้อยู่ในสังคมที่แคบลง ทั้งๆ ที่การซ้อมทรมาน และอุ้มหายในภาคใต้ แทบไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบเลย และตามกฎหมายแล้ว คนกลุ่มนี้ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธ์อยู่ รัฐจึงไม่มีสิทธิอุ้มหาย หรือกล่าวหาได้ แต่ผู้คนในสังคมก็ตีตราคนเหล่านี้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดไปแล้ว
ในช่วงที่ไปลงพื้นที่ทำสกู๊ปข่าวกับครอบครัวมุสลิม 4 ครอบครัว ทางเครือข่ายแนะนำว่าคนเหล่านี้ไม่ไว้ใจบุคคลภายนอก เนื่องจากพวกเขาต้องเผชิญกับความเจ็บช้ำมามากกว่า 10 ปี ที่หาความยุติธรรมไม่ได้เลย แต่เพราะการประสานงานของ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และเครือข่ายภาคใต้ ทำให้การลงพื้นที่ราบรื่น และเป็นไปได้ด้วยดี
ในขณะที่พูดคุยกับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ มีคนหนึ่งบอกว่า ขอบคุณที่ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ถูกทิ้ง หรือถูกลืม ซึ่งตนเองไม่คิดมาก่อนว่านักข่าวที่ลงพื้นที่ไปขอข้อมูลเพื่อทำข่าวจะได้รับประโยคนี้ คุณ อังคณา นีละไพจิตร เคยบอกกับตนว่า ครอบครัวเหล่านี้รู้สึกห่างเหินจากความเป็นธรรม เพราะไปร้องเรียนมาแล้วทุกหน่วยงาน แต่เรื่องก็มักจะเงียบหาย และนอกจากไม่ติดตามเรื่องให้แล้ว ก็ยังไม่เยียวยาทางจิตใจให้พวกเขาด้วย
ในปีล่าสุด ตนเองได้ลงพื้นที่เพื่อที่จะไปฟังเสียงของแม่คนหนึ่งที่รอการกลับมาของลูกชายที่หายตัวไปมากว่า 15 ปีแล้ว แต่ก็มีเจ้าหน้าที่มาหา และขอให้ถอดรายชื่อของลูกชายออกจากรายการรายชื่อบุคคลที่ถูกบังคับสูญหาย ซึ่งอยู่ในรายงานขององค์การสหประชาชาติ เพื่อลดตัวเลข [ผู้ถูกบังคับสูญหาย] ลง ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกถูกซ้ำเติมไปอีก
สุดท้ายนี้ อยากฝากเอาไว้ว่า พ.ร.บ. นี้ก็เป็นเสมือนยาที่เยียวยารักษาบาดแผล แม้บางบาดแผลจะเป็นแผลเป็นไปแล้ว แต่อย่างน้อยๆ ก็จะช่วยให้แผลเป็นนั้นรอยตื้นขึ้น และเป็นเสมือนวัคซีนให้กับหลายครอบครัว ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นกับใครอีก และอยากให้ผู้สั่งการข้างบนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์เหล่านี้ด้วย
ขอแสดงความดีใจกับประชาชน ที่ผลักดันมานานให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ สมัยที่ตนเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมเมื่อช่วงปี 2552 – 2554 และเป็นประธานศึกษากฎหมายฉบับนี้ เราพยายามให้ยุติธรรมนำการเมือง และการทหาร ให้ทุกคนได้รับความยุติธรรม ในกรณีต่างๆ เช่น ตากใบ หรือกรือเซะ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรมแล้ว ประชาชนยังคลางแคลงใจ เราจึงตั้งคณะที่นำทุกภาคส่วนเข้ามา เพราะความยุติธรรมถ้วนหน้าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม
กระบวนการกฎหมายเดิมระบุว่าต้องพบศพ พบตัว หรือพบกระดูกหรือชิ้นส่วนที่พิสูจน์อัตลักษณ์ก่อนจึงจะดำเนินคดีได้ แม้ว่าคุณสัณหวรรณบอกว่าร่างมีความไม่สมบูรณ์หลายประการ แต่ร่างของกระทรวงยุติธรรมมีมาตรา 6 ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะขัง ลักพา หรือกระทำการใดๆ ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพทางร่างกาย โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิเสธ ซึ่งทุกคนจะปฏิเสธหมดว่าไม่ได้กระทำ หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ของคนที่ถูกจับไปอยู่ในการคุ้มครองตามอำนาจกฎหมายของรัฐ ถือว่ากระทำผิดให้บุคคลสูญหาย เช่น กรณีบิลลี่ ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมตัวไปก็จะมีภาระการพิสูจน์ โดยหากบอกว่าไม่สูญหายก็ต้องนำตัวมาให้ได้
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น สมัยที่ตนเรียนโรงเรียนนายร้อย มีวิชาอาชญาวิทยา ศึกษาตั้งแต่ยุคตั้งเดิมของยุโรป ความผิดที่เป็นปรปักษ์ต่อศาสนา ผลการกระทำจะถูกลงโทษโดยการทรมาน เช่น กรณีกาลิเลโอ ที่บอกว่าพระอาทิตย์ไม่ได้หมุนรอบโลกอย่างที่ศาสนาบอก ตุลาการศาสนาจึงบังคับให้เปลี่ยนความคิดเห็น และถูกลงโทษจนตาบอด และเสียชีวิตในคุก การตีความกฎหมายโดยใช้ความเห็นส่วนตัวหรือมีอคติ จึงมีมาหลายร้อยปีแล้ว การบัญญัติกฎหมาย [ตามแนวทางของอาชญาวิทยา] จึงเสนอ 8 ประเด็น
1. กฎหมายต้องเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ต้องคุ้มครองประชาชน และเป็นที่พึ่งของประชาชน
2. อาชญากรรมต้องเป็นภัยต่อสังคม ไม่ใช่ต่อความรู้สึกหรือความมั่นคงของคนใดคนหนึ่ง
3. การป้องกันอาชญากรรมสำคัญกว่าการลงโทษอาชญากร กฎหมายจึงต้องออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร
4. การกล่าวหาทางลับ การทรมาน ทารุณกรรม และประหารชีวิต ควรยกเลิก
5. การลงโทษมีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งผู้ประกอบอาชญากรรม และป้องกันการล้างแค้น
6. การกำหนดโทษจำคุก ถือว่าเหมาะสม แต่ก็ต้องเหมาะกับผู้ถูกลงโทษ สำคัญที่สุดคือเรือนจำต้องถูกสุขลักษณะ น่าอยู่ ไม่ใช่เอามาเป็นสถานที่ทรมาน
7. การลงโทษ ถ้ารุนแรงเกินไป อย่างกรณีการซ้อมทรมาน หวังจะได้สิ่งหนึ่งก็จะไปเกิดอีกสิ่งหนึ่งแทน เช่น การฆ่าคนเพื่อจะหาว่าใครลักทรัพย์
8. การบัญญัติกฎหมาย เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องกระทำโดยคนที่มาจากประชาชนที่ปราดเปรื่อง ปัจจุบันมีการก้าวล่วงให้องค์กรตุลาการมาบัญญัติกฎหมายแทน
กฎหมายฉบับนี้ เราควรต้องส่งเสริม ผลักดัน อย่างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มน้อย จะถูกมองว่ามีความด้อยค่าในความเป็นมนุษย์ จึงจะถูกละเมิด ดังนั้นถ้าผลักดันให้ผ่านจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมาก
หลายท่านมองว่ากฎหมายฉบับนี้จะมองแค่ตำรวจ แต่ต้องแยกว่า กระบวนยุติธรรมจะมีทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ มีผู้บังคับใช้กฎหมาย เรามีกฎหมายพิเศษโดยกอ.รมน. ทหารบังคับใช้กฎหมายได้ทั้งหมด คนดังกล่าวเราไม่ได้ฝึกปรือ เราพยายามจัดโครงสร้างของตำรวจ เราจัดโครงสร้างคนทั้งประเทศเป็นแบบทหาร แต่การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจต่างกับทหาร 4 ประการด้วยกัน คือ
(1) ตำรวจปฏิบัติงานตามลำพัง ใช้วิจารณญาณมาก มีการตีความตามดุลยพินิจ แต่ทหารจะให้ทำตามคำสั่ง ถ้าได้กฎหมายนี้ต้องพัฒนา และฝึกอบรมตำรวจสายตรวจ และสายสืบ เพราะเป็นส่วนที่ต้องเผชิญเหตุ การที่ผู้บังคับบัญชาสั่งแบบทหาร อาจจะทำให้กระทำการเกินกว่าเหตุได้
(2) ตำรวจเป็นโครงสร้างแบบล่างขึ้นบน
(3) ตำรวจเป็นคณะเล็ก และ
(4) ตำรวจมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมตลอดเวลา ดังนั้นตำรวจอาจจะเป็นจำเลยเกินไป จึงออกมาในภาพที่เห็น ปีที่แล้วก็ยังมีคดีของจอร์จ ฟรอยด์ แต่เราก็ไม่ควรให้เกิดเหตุแบบนี้ กระดูกสันหลังของตำรวจคือสายตรวจ ส่วนเส้นเลือดคือสายสืบ และตำรวจสืบสวน คนเหล่านี้กลับไม่ได้รับการพัฒนา กลับไปเน้นการสร้างโครงสร้างของลำดับยศสูง ๆ กฎหมายจะดีไม่ดี อยู่ที่ผู้บังคับใช้ ดังนั้นคนใช้กฎหมายนี้ต้องมีใจสัตย์ซื่อ
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 นี้ กฎหมายแรกคือหารแก้กฎหมายอาญา สองคือ พ.ร.บ. ครู ซึ่งมีปัญหาเยอะ กลัวว่าจะพูดจนถึงค่ำก่อนจะมาถึงกฎหมายฉบับนี้ โดยกฎหมายฉบับนี้ ต้องขอบคุณ คุณ พรเพ็ญ ที่ยกคณะมาที่ พรรคประชาชาติ พูดเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เราอาจจะมองระบบของเมืองนอกให้ได้ตามหลักสากล แต่ต้องยอมรับว่าระบบในรัฐประหารช่วงหลังๆ กิจการตำรวจที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมถูกใช้จับกุม คุมขัง สอบสวน เพื่อข่มขู่ลงโทษ ไม่ให้บุคคลนั้นๆ ไปสร้างความไม่สบายใจให้คนบางคน ตำรวจจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะนายกที่คุมตำรวจอยู่ เมื่อนายกแจ้งความเองเรื่องหมิ่นประมาท ใครจะกล้าไม่จับ เรื่องนี้คิดว่าไม่เหมาะสม ถ้าจะนายกจะดำเนินคดีก็ควรใช้ศาล แต่กลับไปใช้ตำรวจที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน ประชาชนจึงมองว่าตำรวจรับใช้ผู้มีอำนาจ
ถ้าตั้งคณะกรรมาธิการ 25 คน อาจจะไม่เพียงพอ ควรขยายกรรมาธิการให้มากขึ้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ผู้ได้รับผลกระทบควรได้มีส่วนในการทำกฎหมายฉบับนี้ ตนเองถือว่ากฎหมายเป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นต้องมีเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน ที่ผ่านมาในกรณีเหล่านี้ เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นการสูญหาย แต่คณะทำงานประชุมกันว่าต้องหาตัว หาศพให้ได้ก่อน การลอยนวลพ้นผิดจึงมีอยู่ กฎหมายไทยจำนวนมากต้องจึงปฏิรูป โดยเฉพาะกฎหมายที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีตัวแทนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
อาชญากรรมไม่ใช่แค่ผู้กระทำผิด แต่ยังหมายถึงกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และบุคคลในกระบวนการยุติธรรม หากกฎหมายนั้นทำให้คนบางกลุ่มมีความสุข แต่ทำให้คนส่วนมากเข้าไม่ถึงความเป็นธรรม กฎหมายฉบับนี้เชื่อว่าเป็นความต้องการของประชาชน รัฐบาลหาเวลามานาน กลัวเข้าตัวผู้ออกกฎหมาย แต่ตอนนี้เป็นเสียงเรียกร้องของคนทั้งประเทศ
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล – นักกิจกรรมเยาวชน
ในฐานะประชาชนคนรุ่นใหม่ คำว่าอุ้มหาย และซ้อมทรมานไม่ได้เกินกว่าความรับรู้ของเราเลย อย่างกรณีคลุมถุงฆ่าที่นครสวรรค์ อุ้มหายพี่ต้าร์ วันเฉลิม กรณีฆ่ายัดปูนถ่วงน้ำ และหลายกรณีที่อยู่ในหน้าข่าว และกรณีที่ไม่ได้อยู่ในหน้าข่าว กรณีที่เราจะได้ยินมาก ก็คือ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง พี่ต้าร์ คุณบิลลี่ สหายภูชนะ นายสุรชัย แซ่ด่าน การที่เราได้เราเป็นนักเคลื่อนไหวด้วยทำให้เราค่อนข้างที่สนใจเรื่องนี้ เพราะทุกคน และเราเองก็เสี่ยงที่จะถูกกระทำเช่นนี้ ดังที่จะได้เห็นในหน้าข่าวเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา คือชื่อแบล็คลิสต์ผู้ที่เห็นต่างจากทหาร เราและคนที่อยู่ในห้องนี้ รวมทั้งพี่โรมก็อยู่ในรายชื่อนั้น เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะเอารายชื่อเหล่านี้ไปก็ทำอะไรในอนาคต
การที่คนไทยเอาคำว่า “ระวังโดนอุ้มนะ” มาทำให้ตลกได้ ทั้งๆ ที่มันเลวร้ายสำหรับคนที่อยู่ในประเทศไทย ณ ตอนนี้ จริงๆ แล้วก็เป็นการสะท้อนเหมือนกันว่าทุกคนมีความกลัวกับเรื่องนี้มากๆ กังวลว่า คนที่โดนอุ้มหรือโดนซ้อมทรมานอาจจะเป็นตัวเองก็ได้ อย่างเป็นกรณีใกล้ตัว แค่คนที่พูดวิจารณ์รัฐบาล ยังไม่ถึงขนาดวิจารณ์เจ้า เขายังเคยพูดแบบนี้ใส่เลย ว่า “ระวังโดนอุ้มนะ” หรือ “พูดอะไรไม่กลัวตายหรอ” และคิดดูว่าคนวิจารณ์สถาบันจะโดนขนาดไหน
แต่เมื่อได้ยินว่ามีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ขึ้นมา ก็ทำให้เราดีใจว่ามีก้าวใหม่ในเรื่องการอุ้มหายและซ้อมทรมาน ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง เราก็คิดว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องผลักดันร่างนี้ให้ผ่าน เพื่อให้เป็นเครื่องมือหนึ่งของผู้ที่ถูกกระทำ เช่น การต่อสู้คดีของผู้ที่ถูกละเมิด เพื่อป้องกันการอุ้มหายและการซ้อมทรมานที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีก ส่วนตัวคิดว่า ในกรณีของการกระทำเหล่านี้ เราควรจะคิดหาทางแก้ไขทั้งทางกฎหมายและทางวัฒนธรรมด้วย เช่น สังคมในองค์กรของทหารและตำรวจเอง
ตอนที่ฟังทุกคนพูดไปทำให้นึกถึงเรื่องหนึ่งได้ว่า เมื่อก่อนตนเคยมีเพื่อนคนหนึ่งที่รู้จักกัน ตั้งแต่ก่อนมัธยมต้น แล้วตอนมัธยมปลายเขาก็ไปสอบเข้าโรงเรียนช่างฝีมือทหาร และก็ยังเป็นเพื่อนสนิทกันอยู่ ในสังคมนั้น การโดน “ซ่อม” ก็คือการทำร้ายร่างกายหรือโดนซ้อม เราได้ยินกันอย่างเป็นปกติ ทำกันอย่างเป็นปกติ ตนก็เคยดูแลเพื่อนคนนั้นที่เคยโดนซ่อมมา มันเจ็บปวด เขาเองก็เจ็บปวด เราเองก็เจ็บปวด ตอนนั้นเราอายุแค่ 16 แต่ตอนนั้นเราต้องมาพบกับการซ้อมและการทรมานในระบบ เขาสู้ไม่ได้ เพราะเขาต้องอยู่ในระบบต่อไป มันเป็นคำสั่งที่ได้รับมาแล้วเขาต้องก็ทำไปตามนั้นโดยที่ไม่สามารถปริปากพูดอะไรได้เลย ไม่มีอะไรมาปกป้อง เราก็ไม่รู้ว่ามีการกระทำอะไรเหล่านี้ในสังคมทหาร แต่ที่รู้คือการซ้อมทรมานคือการทำลายคน และละเมิดสิทธิของคนคนนั้นอย่างชัดเจน
ตอนนี้ที่เรามีกำลังมากพอที่จะพูด เราก็อยากเป็นอีกคนหนึ่งที่จะช่วยเท่าที่ทำได้ในทุกๆ ทางเพื่อให้ พ.ร.บ. นี้เดินไปต่อได้ และสามารถประกาศใช้ได้ในอนาคต
ประเทศเรามันมืดมนจริงๆ ตั้งแต่เห็นข่าวเหล่านี้ ก็รู้สึกว่าไม่ได้แปลกเลย สำหรับเรา การมีคนโดนอุ้มไม่ได้แปลกเลย การที่มีคนโดนซ้อมก็กลายเป็นเรื่องไม่แปลกไปแล้วในสังคม ซึ่งมันผิดปกติ เราก็คิดว่าเหล่านี้เป็นการเคลื่อนไหวหนึ่งในประเทศ และตอนนี้เราก็คิดว่ามีการเคลื่อนไหวและผลักดัน พ.ร.บ. นี้อยู่ มันคือการป้องกัน จะเป็นเครื่องมือที่ปกป้องทุกๆ คนจากการกระทำอันเลวทรามนี้ได้ และถึงแม้เหตุจะเกิดขึ้นไปแล้ว เราก็หวังว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ผู้กระทำทุกคนในอดีตหรือครอบครัวผู้ที่สูญเสียจะต้องได้รับการลงโทษ เราต้องประกาศอย่างชัดเจนว่าเราจะไม่ปล่อยไป
ในการเรียกร้องประชาธิปไตยของเรา เราก็พยามพูดเรื่องนี้ในทุก ๆ โอกาสที่มี เพราะ พ.ร.บ. นี้ก็คือหนึ่งเครื่องมือสำคัญ ว่าทำไมประชาชนที่ออกมา เช่น พี่ต้าร์ แม้เราไม่ได้รู้จักเขาหรือรู้ว่าเขาทำอะไรมาในอดีตแต่เรารับรู้ได้ว่าเรื่องนี้มันผิดอยู่ดี เขาถูกอุ้มไปจนหายไปถึง ณ ตอนนี้ มันผิดอย่างชัดเจน สังคมต้องช่วยกันนำความจริงให้ปรากฏออกมา ต้องนำคนที่ทำมารับบทลงโทษให้ได้ และผู้ที่สูญเสีย รวมถึงครอบครัวและญาติเขาต้องได้รับการดูแลและเยียวยาอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เมื่อคนคนหนึ่งหายไป
มานพ คีรีภูวดล – สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล
คิดว่าประเด็นสำคัญคือ กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญที่จะต้องผ่านวาระหนึ่ง ผมคิดว่าในส่วนตัวผม ในส่วนของ พรรคก้าวไกล ผมให้ความสำคัญมาตลอด ก่อนจะเข้าถึงเนื้อหาเรื่องของวาระเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมก็ลงไปรับหนังสือกับเครือข่ายที่มายื่น จากลำดับ 9 ก็ขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 3 ในวันที่ 15 ก.ย. นี้ แต่มันก็จะมี พ.ร.บ. ที่สองคือการศึกษา ที่ไปเกี่ยวกับคำสั่ง คสช. คาดว่าจะมีการอภิปรายกันเยอะ แต่เราก็จะผลักดันให้ พ.ร.บ. อุ้มหายในฉบับที่ 3 มีการรับหลักการไว้ก่อน จริงๆ แล้วในวันที่ 15 จะเข้าอยู่ประมาณสี่ร่าง มีร่างของ ครม. มีร่างของอาจารย์วันนอร์ ท่านสุทัศน์ เงินหมื่น และ กมธ. ซึ่งทางเครือข่ายก็ได้เสนอสมัยที่อาจารย์ปิยบุตรเป็นประธานกรรมาธิการเรื่องกฎหมาย ตอนนี้ก็ใช้คำว่าร่างของ สิระ เจนจาคะ และคณะ
คิดว่าเนื้อหาก็จะมีทั้งหมด 4 ร่าง ในส่วนของเนื้อหามีเหตุผลความจำเป็นสำคัญที่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ในประเทศไทย เหตุผลแรกก็คือสถานการณ์ภายในประเทศไทย ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นผมคิดว่ามันมีอยู่สองคำคำว่าทรมานกับคำว่าอุ้มหาย จริงๆ ในเรื่องการทรมานมันมีเยอะมาก ทั้งผู้ต้องหาที่อยู่ในเรือนจำ ชาวบ้านที่ถูกคุมขังส่วนใหญ่ กระบวนการตรงนี้มาจากการทรมาน มันหลากหลายรูปแบบ ถ้าเป็นคดีป่าไม้ตั้งแต่การใช้นอกสถานที่ในการควบคุมผู้คน จนไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม
ยิ่งกรณีเรื่อง ปปส. อำนาจของเจ้าหน้าที่ ปปส. สามารถควบคุมตัวได้สามวันก็จะนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดี อันนี้มันก็คือช่องว่างเพราะฉะนั้นกระบวนการของอำนาจรัฐซึ่งเปิดโอกาสให้มีการทรมานค่อนข้างเยอะ และในกรณีอุ้มหาย ผมเองนอกจากเป็นผู้แทนราษฎรแล้วก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ผมคิดว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ผู้ที่ด้อยโอกาส ผู้ที่ไม่มีอำนาจ ผู้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอย่าง คุณบิลลี่ ที่แก่งกระจาน ชัดเจนเลยว่าเหตุการณ์อย่างนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน
และเราเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เป็นกรณีเล็กๆ ที่อยู่ในขอบเขตตามพื้นที่ชายขอบมันยังมีอีกเยอะ หลายพื้นที่ หลายเคส ไม่ใช่แค่กรณีอุ้มหาย มันเป็นเรื่องของการทำร้าย และฆาตกรรม อย่างกรณีคุณ ชัยภูมิ ป่าแส ที่เป็นนักกิจกรรมเยาวชนที่เชียงดาว ผมจึงคิดว่ากฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นค่อนข้างมาก ซึ่งผมคิดว่าทั้งหมดต้องอาศัยพลังทั้งภายนอกสภา และภายในสภา
ในส่วนของภายในสภา ผมคิดว่า ส.ส. จำนวนมากให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งผมเข้าใจว่า ส.ส. ที่ทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชนให้ความสำคัญ เราอยากผลักดันเรื่องนี้ เพื่อให้มันจบในสมัยประชุมนี้ เพื่อที่จะรับหลักการ เพื่อที่จะได้แต่งตั้งกรรมาธิการ ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับท่านทวีที่เสนอว่า จริงๆ แล้วเรื่องใหญ่อย่างนี้ควรจะตั้งกรรมาธิการให้เยอะ 25 คนคิดว่าน้อยไป และกรรมการวิสามัญที่จะเกิดขึ้น ถ้ามีจำนวน 35 คนขึ้นไปก็จะเปิดพื้นที่ให้กับพี่น้องประชาชนเข้าไปนั่งได้มากขึ้น หรือโควตาผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายได้เข้ามา
แม้กระทั่งกรณีผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ พอดีผมก็เคยอยู่ในกรรมาธิการวิสามัญเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการลอบประทุษร้ายประชาชน อันนี้ก็เป็นข้อมูลที่ผมได้อยู่ในอนุกรรมาธิการของชายแดนใต้ และชาติพันธ์ เราได้เห็นอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกระทำ และใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการกระทำ ผมคิดว่ามันเลยขอบเขตข้อตกลงที่ประเทศไทยได้ลงนามร่วมกับนานาอารยะประเทศซึ่งมีข้อตกลงใหญ่ ที่ไปลงนามไว้แล้ว ถ้าจะให้เหตุผลในเรื่องนี้ ประเทศไทยต้องตอบโจทย์ให้กับเพื่อนสมาชิกในประเทศต่างๆ ว่า เมื่อได้ลงนามไปแล้วได้กระทำการ แก้ไข หรือปรับปรุงกฎหมาย หรือได้สร้างเครื่องมือกลไกใหม่อย่างไร
สองเหตุผลใหญ่คือ เรื่องเหตุผลภายในของสถานการณ์จริง การกระทำการทรมาน และสูญหายมันเกิดขึ้นจริงๆ และเหตุผลที่สองคือความตกลงระหว่างประเทศ ผมมีข้อสังเกตคือ 14 ปี ในการพยายามขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ ผ่านหลายรัฐบาล ผ่านหลายกระบวนการ ผ่านหลายองค์กร ซึ่งใช้เวลานานแต่มีการคัดค้านในส่วนของการปกป้องคุ้มครองการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจ และมีพื้นที่ในการทำงาน เพื่อที่จะตอบสนองผู้บังคับบัญชา ซึ่งประการนี้ผมเห็นว่ามันเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งหมายความว่า หากไม่มีพฤติกรรมเกิดขึ้นจริง จะไม่มีการคัดค้านกฎหมายฉบับนี้
เมื่อมีการคัดค้าน เหตุผลที่จะย้อนทางกับผู้ที่จะพยายามหลีกเลี่ยงให้ไม่มีกฎหมายฉบับนี้ก็คือย่อมแสดงว่าพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการทรมาน อุ้มหาย บังคับให้สูญหายมันเกิดขึ้นจริง โดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ที่ใช้กฎหมายดำเนินการ
อันนี้เป็นข้อสังเกตว่าทำอย่างไรเพื่อที่จะตอบโจทย์ทั้งสามข้อที่ได้กล่าวมาแล้ว เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยมีพื้นฐาน มีเครื่องมือที่จะบอกกับสังคมโลก บอกคนภายในได้ว่าอยู่ในกรอบของสิทธิมนุษยชนและผู้คนในพื้นที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย
สุดท้าย ผมคิดว่าในวันที่ 15 นี้ในส่วนของ พรรคก้าวไกล เข้าใจว่ารายละเอียดของกฎหมายกรรมาธิการปรับปรุงจากภาคประชาชนได้นำเสนอ ตอนที่อาจารย์ปิยบุตรได้นำเสนอ ส.ส. โรม เป็นคนที่ดูรายละเอียดค่อนข้างที่จะเยอะ เรายืนยันแล้วก็วันที่ 15 นี้ เราพยายามดันให้ถึงที่สุดในฐานะผู้แทนพี่น้องประชาชน
อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ
ผมถือว่าเรื่องนี้เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเราคิดว่าเป็นกฎหมายที่จำเป็นต้องมีในสถานการณ์ทั้งในอดีต และปัจจุบัน และเชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีกฎหมายฉบับนี้คอยปกป้อง
ผมเป็นทนายความที่อยู่ในชายแดนภาคใต้ ช่วยเหลือในระดับหนึ่ง ที่เราเห็นก็คือในสภาพของปัญหากฎหมายที่เราบังคับใช้ในชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก และตามด้วย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. ความมั่นคง แต่เรายังเห็นถึงสภาพปัญหาของการที่มีกฎหมายเหล่านี้ที่เป็นอุปสรรคในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เป็นปัญหาที่เราได้รับข้อร้องเรียนมาโดยตลอด มีการซ้อม มีการทรมาน มีการบังคับให้รับสารภาพ มีการบังคับซัดทอด เราในฐานะที่เป็นนักกฎหมายในขณะนั้น เราก็ต้องทำหน้าที่ในการหาข้อมูลหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีหักล้างหลักฐาน
เมื่อได้รับคัดเลือกเป็นสภาผู้แทนราษฎร และได้เข้ามาทำหน้าที่ ก็เป็นคนหนึ่งที่ในปี 2562 ได้ตั้งกระทู้ถามทางรัฐบาลเพื่อที่จะติดตามความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ. การปราบปรามการซ้อมทรมาน และฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้นำไปร่าง และพิจารณาเสร็จในวาระหนึ่ง เจตนาตอนนั้นเรารู้ว่า กฎหมายฉบับนั้น คนที่เคยที่ติดตามร่าง พ.ร.บ. ปราบปรามการซ้อมทรมานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ผ่านการพิจารณา โดยกรรมาธิการเป็นร่างที่แปลงร่างเสียจนที่จะไม่เห็นเค้าเดิมที่เสนอโดยกรมคุ้มครองสิทธิ ทำให้เราเองที่เป็น ส.ส. ต้องตั้งการ์ดสูงเช่นเดียวกัน ในการที่จะต้องช่วยกันดูร่าง พ.ร.บ. ปราบปรามการทรมาน ที่เราเชื่อว่าสามารถที่จะพิจารณาผ่านวาระหนึ่งได้ในวันพุธนี้
และเมื่อตั้งคณะกรรมาธิการแล้ว ไม่ให้เป็นเหมือนเช่นร่างเดิมของในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผมเชื่ออย่างนั้น เพราะคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะได้พิจารณากันต่อไปหลังจากผ่านวาระวันพุธนี้แล้ว ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่มาจากผู้แทนของประชาชน หรือผู้แทนของภาคประชาชนที่ได้รับสิทธิ์และสัดส่วนของพรรคการเมืองเข้าไปทำหน้าที่ในการปกป้อง และกำหนดทิศทางของตัวร่างกฎหมายฉบับนี้
ในส่วนของกฎหมายฉบับแรกในวันพุธนี้เป็นเรื่องของ พ.ร.บ. แก้ไขกฎหมายอาญา สาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก ที่ยังค้างมาจากการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งคิดว่าน่าจะไม่นาน ส่วนกฎหมายฉบับที่สองคงจะมีการหารือกันว่าขอให้เอา พ.ร.บ. การปราบปรามการทรมานขึ้นมาฉบับที่สอง เพราะเป็นเรื่องของการพิจารณาฉบับใหม่ทั้งคู่ ไม่ได้เป็นการค้างพิจารณาเหมือนฉบับที่หนึ่งอย่างเรื่องของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าฝ่ายการเมืองเอง ทั้งหมดในสภา มีส่วนต้องการกฎหมายฉบับนี้ เพราะถือว่าเราเป็นผู้แทนของประชาชน
และเราก็เห็นสภาพปัญหาของทุกภูมิภาค ไม่ใช่ของเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาอย่างนี้ ซึ่งผมก็คิดว่าเราต้องช่วยกันผลักดัน และอาจจะต้องมีการนำเสนอขอหารือกับท่านประธานด้วยในวันพรุ่งนี้ วันนี้ผมพยายามจะตรวจสอบว่า ตกลงผู้ประสานงานของฝ่ายรัฐบาลมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ได้ทราบข้อมูลเพียงเบื้องต้นว่าวันพุธนี้จะมีกฎหมายฉบับนี้เข้าไปในลำดับที่สามนี่ เป็นสิ่งที่เราจำเป็นช่วยกันสื่อสาร และเรียกร้อง สะท้อนความต้องการของพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนให้ได้ยินเสียง ผมถือว่าห้องที่เราได้คุยกันวันนี้มีคุณูปการเป็นอย่างมากที่ทำให้เราได้หารือเรื่องนี้ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งทางนิติบัญญัติเอง ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ช่วยกันเรียกร้อง
ผมจะขอทำความเข้าใจที่ ท่านมานพ ได้สื่อสารเมื่อสักครู่นี้ กลัวจะเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน ร่างที่เสนอโดย ส.ส. มีด้วยกันสามร่าง ร่างที่หนึ่งเป็นของอาจารย์ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าคณะในการร่างฉบับนี้ ฉบับที่สองเป็นของท่าน สุทัศน์ เงินหมื่น ร่างที่สามเป็นของคณะกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งเราตกลงกันในคณะกรรมาธิการให้นำร่างของ ท่านรังสิมันต์ โรม เป็นร่างหลัก แล้วเอาร่างของฉบับประชาชน และของรัฐมนตรีของเก่าที่ ครม. ผ่านสภานิติบัญญัติมาเป็นส่วนประกอบในการดูความเหมาะสมของฉบับนี้
ทำให้เราค่อนข้างจะเชื่อมั่นว่า ร่างที่ คุณสิระ เจนจาคะ เป็นผู้ลงนาม เป็นร่างที่ผ่านพิจารณาโดยบุคคลหลายภาคส่วนในคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนที่ผมเป็นประธาน ได้ผ่านการพิจารณาครบถ้วนอย่างรอบด้านในระดับหนึ่ง ซึ่งคิดว่าเรามีหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น ท่านรังสิมันต์ โรม คุณ พรเพ็ญ หรือในส่วนกรรมการสิทธิก็ได้เข้ามามีส่วนให้ความรู้ให้เราได้มีร่างฉบับนี้ขึ้น ทำให้ผมค่อนข้างอยากจะจับร่างนี้เป็นร่างหลัก
แต่ในวันพิจารณาในการลงมตินั้น ผมก็ยังคิดว่าโดยทั่วไปแล้วก็ต้องเอาร่างของรัฐมนตรีเป็นร่างหลัก และร่างอีกสามฉบับเป็นร่างประกบในการพิจารณา แต่เราผู้ที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญ มีหน้าที่ในการผลักดันในสิ่งที่เราอยากได้ให้ปรากฏในตัวร่างที่เป็นกฎหมายให้ผ่านวาระสองวาระสาม สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะได้คือพยายามให้รับวาระหนึ่งในวันพุธนี้ หลังจากสภาปิดไปแล้วกรรมาธิการวิสามัญจะทำหน้าที่พิจารณาร่างอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นสภาเปิดมาอีกครั้งนึง เราก็จะได้มีโอกาสเข้าไปในวาระสองสาม และประกาศบังคับใช้ใน 120 วันตามตารางเดิมตามที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน นี่คือข้อมูลที่อาจจะอัพเดทให้กับทุกท่านได้รับฟังในห้องนี้ได้ ส่งแรงใจผลักดันกันให้ได้ฉบับนี้
รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล
ผมคิดว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ผ่าน เพราะว่าเป็นกฎหมายที่เราไปตกลงกับต่างประเทศ และเมื่อเราพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อประเด็นเรื่องไม่ว่าจะเป็นการอุ้มหายหรือการซ้อมทรมาน ที่มีรายงานเป็นที่ยุติว่าเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ผมจึงคิดว่ากฎหมายฉบับนี้มีโอกาสผ่านมาก และถ้าเราไปดูเรื่องของการสนับสนุนของกรรมาธิการที่เป็นหนึ่งในสี่ร่าง เราได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน 100 กว่าชีวิต ผมจึงคิดว่ามีโอกาสผ่านมาก เพียงแต่ว่าความน่ากังวลคือ [กฎหมาย] จะออกมาหน้าตาแบบไหนในชื่อของการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือสุดท้ายมันก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมได้ นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างกังวลจริง ๆ
ต้องบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ ต้องอุทิศให้กับคนที่ถูกซ้อมทรมาน และถูกกระทำให้สูญหายในหลายๆ คน และในขณะที่กรรมาธิการกฎหมายได้รับรองฉบับนี้ ก็เป็นกรณีที่เกิดขึ้นของคุณต้าร์ วันเฉลิม ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจ และปลุกให้คนจำนวนมากเริ่มตระหนักว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของเรา แค่เขาต้องไปอยู่ต่างประเทศ เพราะเขาไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมันก็แย่พอแล้ว แต่สุดท้ายเขาก็ยังถูกตามล่า และถูกกระทำให้สูญหาย
จนถึงทุกวันนี้เราก็ไม่ทราบอะไร กรรมาธิการเคยเรียกเจ้าหน้าที่มาชี้แจง ยังจำได้ดีด้วยว่าเจ้าที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ไม่รู้ว่าต้องไปหาข้อมูลหลักฐานอย่างไร ต้องให้หน่วยงานอีกหน่วยงานหนึ่งคือองค์กรอัยการ มาบอกตำรวจว่า ถ้าคุณอยากจะประสานงานหาพยานหลักฐานในคดีนี้ คุณต้องทำแบบนี้ ไปช่องทางนี้ มันเป็นเรื่องที่ทั้งโหดร้ายและตลกร้าย ที่เราได้เห็นความง่อย ของหน่วยงานของรัฐที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ถ้ามันคลอดออกมาได้ จะมีความสำคัญมาก ถ้าเราไปดูในเนื้อหา เอาเฉพาะในส่วนของร่างกรรมาธิการ ร่างอื่นผมยอมรับว่าผมอาจจะยังไม่ได้ดูละเอียด แต่ถ้าเป็นร่างของกรรมาธิการซึ่งผมเป็นส่วนหนึ่งในการทำเรื่องนี้มา ผมคิดว่ามันมีเนื้อหาหลายอย่างที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการช่วยให้เกิดการติดตามสืบสวนสอบสวนคดีเกี่ยวกับการทรมาน และการอุ้มหายโดยไม่ถูกกีดขวางด้วยกรอบของระยะเวลา สถานที่ และกำหนดให้คดีเหล่านี้ไม่มีอายุความ และบังคับให้คดีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ หากผู้กระทำเป็นคนไทยหรือผู้เสียหายเป็นคนไทย อันนี้ก็ครอบคลุม
อันที่สองเป็นส่วนที่ผมก็คิดว่าดีมาก เป็นจุดเด่นของร่างของกรรมาธิการเลย คือคณะกรรมการจะมีที่มาจากคนหลากหลายที่ปฏิบัติงานที่มีความเข้าใจในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ถ้าเราไปดูร่างของกระทรวงยุติธรรม หลายส่วนจะเป็นปลัดกระทรวงต่างๆ มีรัฐมนตรียุติธรรมนั่งหัวโต๊ะ ซึ่งก็มีคอมเม้นต์วิจารณ์เรื่องการปิดชื่อประธาน บางส่วนที่เข้ามานั่งในกรรมการก็อาจจะตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายด้วยซ้ำไป
ดังนั้นผมจึงคิดว่าร่างของกรรมาธิการอาจจะสะท้อนถึงดุลยภาพระหว่างคนที่ทำงานในรัฐ และคนที่ทำงาน และเข้าใจในสิทธิมนุษยชน และที่สำคัญมีตัวแทนของคนที่เคยได้รับความเสียหายมานั่งเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งผมคิดว่าบทบาทของกรรมการนี้ ถ้าเราอยู่ในประเทศไทย เราอาจจะคิดว่า ตั้งกรรมการอีกแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และความจริงแล้วที่ผ่านมาอาจจะมีหลายๆ กฎหมายที่มีการออกแบบที่ไม่ค่อยดี
แต่ในกรณีนี้อาจจะมีความจำเป็น และมีความหวังอยู่ เพราะว่าถ้าเกิดทำได้โดยมีโครงสร้างอย่างนี้จริง ๆ เราจะมีคนที่เข้าใจและไปวางทิศทางเพื่อให้รัฐบาลจะต้องสนับสนุน และออกกฎหมายหรือออกนโยบาย เป็นการสนับสนุนให้ออกกฎหมายป้องกัน
นอกจากนี้ กรรมการชุดนี้จะเป็นเหมือนกับคนที่เป็นเพื่อนกับผู้เสียหาย คนที่สูญเสียจากเรื่องนี้หรือคนที่เกี่ยวข้องกับคนที่ถูกอุ้มหาย ผมคิดว่าช่วงแรกๆ หลายคนมืดมนไม่รู้จะต้องทำยังไง ดังนั้นเมื่อมีคนที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง มีอำนาจที่จะเรียกเอกสาร เรียกข้อมูล เรียกการชี้แจงต่างๆ ผมคิดว่ามันจะช่วยทุเลาความกังวลใจลง และเมื่อสถานการณ์คนในครอบครัวของเราหายตัวไปหรือถูกซ้อมทรมานช่วงแรกๆ 24 ชั่วโมงแรก 48 ชั่วโมงแรก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ถ้าเรามีกลไกที่มีประสิทธิภาพ เราอาจจะหยุดยั้งไม่ให้เกิดการสูญหายก็ได้ หรือเราอาจจะหยุดยั้งไม่ให้เขาเสียชีวิตจากการถูกซ้อมทรมานหรืออุ้มหาย ดังนั้นผมจึงคิดว่าบทบาทของกรรมการมีความสำคัญ
ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายนี้รับรองความเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา โดยให้สามีภรรยา คู่ชีวิต ผู้เป็นบุพการีผู้สืบสันดาน และคนที่อยู่ในอุปการะ ไม่ว่าจะทั้งโดยนิตินัยหรือพฤตินัย สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายอาญาได้ ได้รับทราบความจริง และเข้าถึงความเป็นธรรมได้ ซึ่งตรงนี้จะทำให้หลายกรณี บางทีอาจจะเป็นสามีภรรยาที่อยู่กินฉันสามีภรรยา บางทีกฎหมายก็ต้องพิสูจน์ว่า คุณมีสิทธิ์มาเรียกร้องอะไรไหม คุณเป็นผู้เสียหายจริงๆ ไหม และหลายกรณีจึงมีปัญหาอย่างกรณีพี่สาวน้องชาย มันอาจจะมีปัญหาได้ ดังนั้นในการรับรองความเป็นผู้เสียหายในกรณีอาญาจึงมีความสำคัญมาก
และสุดท้าย ผมก็คิดว่าการไม่มีอายุความเลยจะช่วยให้เราตามหาว่าใครเกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานหรือการอุ้มหาย ซึ่งเราต้องยอมรับว่าในคดีเหล่านี้ เหตุที่ต้องไม่มีอายุความเนื่องจากมันมีความยากเป็นพิเศษเพราะว่าหลายครั้ง คนที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มหายหรือซ้อมทรมานจะเป็นคนที่อยู่ในอำนาจรัฐ ซึ่งเราต้องยอมรับความจริงว่าเขาเกี่ยวข้อง ต้องรอให้เขาไม่มีอำนาจก่อน ในที่นี้ไม่ใช่ว่าเราอยากจะยอม แต่เราไม่รู้จริงๆ ว่าใครเป็นคนทำ จนกระทั่งเขาไม่มีอำนาจแล้วเราถึงรู้
ดังนั้นการที่ไม่มีอายุความจะทำให้เราสามารถตามหาได้เสมอว่าใครคือคนที่เป็นฆาตกร ใครคือคนที่กระทำความผิดในทางอาญาเหล่านี้ ผมจึงคิดว่ามันเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และอย่างน้อยถึงแม้ว่ากฎหมายฉบับนี้สำหรับหลายคนจะรู้สึกว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรา เราไม่น่าจะถูกอุ้มหายหรือถูกซ้อมทรมานได้ แต่ว่าผมอยากจะให้เราพึงระลึกว่า วันหนึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ ผมมีคนรอบตัว เป็นคนในครอบครัวด้วยซ้ำที่เคยถูกซ้อมทรมาน และบางที ณ วันนั้นเราก็ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับเรา แต่สุดท้ายมันก็เกิด
ผมเลยคิดว่าอย่างน้อยที่สุด การมีกฎหมายแบบนี้ก็เป็นการสร้างมาตรฐานทั้งสองคนว่าการซ้อมทรมาน และการอุ้มหายไม่ใช่สิ่งที่จะถูกยอมรับได้อีกต่อไปในหมู่ของเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ที่ไม่ได้รู้สึกว่าการซ้อมทรมานหรืออุ้มหายเป็นสิ่งที่ผิด เขารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ต้องไม่ให้ถูกจับได้ก็พอ ทำไปเถอะ แต่ต้องไม่ถูกจับได้ ถ้าถูกจับได้ก็ซวย ซึ่งมันไม่ควรที่จะถูกยอมรับแบบนั้น และการมีกฎหมายฉบับนี้จะทำให้คนที่เกี่ยวข้องการอุ้มหายหรือการซ้อมทรมานไม่สามารถลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมได้ปลอดภัยอีกต่อไป
วันนี้เรายังจับคุณไม่ได้หรือยังไม่สามารถที่จะหาพยานหลักฐานมายืนยันว่าคุณเกี่ยวข้อง แต่ไม่แน่วันหนึ่งชีวิตของคุณอาจจะจบที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพก็ได้ อันนั้นก็เป็นความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ที่ดี
ถ้าพูดถึงกระบวนการเบื้องต้นจริงๆ ใช้เวลามานานกับกฎหมายฉบับนี้ แล้วก็อยู่ในลำดับที่สามของการพิจารณาของสภา ปกติในสภาจะต้องพิจารณาสองวันในวันพุธกับวันพฤหัส วันพุธจะเป็นการพิจารณากฎหมาย วันพฤหัสจะเป็นการพิจารณากระทู้ที่รัฐมนตรีไปถาม และมีญัตติตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาเรื่องนี้ วันพุธจึงเป็นโอกาสสุดท้ายของสมัยประชุมนี้ที่จะประชุมกฎหมายฉบับนี้ ความตั้งใจของผมที่เป็นผู้ประสานงานของ พรรคก้าวไกล เราก็อยากจะผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาวันพุธนี้ให้ได้ เพื่อที่ว่าอย่างน้อยการตั้งกรรมาธิการต่าง ๆ จะได้ขยับไปได้โดยที่ไม่ต้องเสียเวลากันที่จะรอให้สภาเปิด
เท่าที่มีการคุยกับผู้ประสานงานของฝ่ายรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการ ผมคิดว่าเขาไม่ได้ติดใจอะไร เท่าที่ได้ฟังจากน้ำเสียงอะไรต่างๆ ก็คิดว่ามีโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาเข้า แต่วันพุธนี้อาจจะมีเกิดขึ้นได้สามเหตุการณ์ คือ หนึ่ง ได้รับการพิจารณา และผ่าน ตั้งกรรมาธิการได้เลย แต่ต้องยอมรับว่าโอกาสอย่างนี้จริงๆ แล้วอาจจะไม่มาเท่าไหร่ เพราะว่าตัวร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาน่าจะมีคนสนใจกันเยอะ และอภิปรายกันเยอะ
อันที่สองคือ ได้รับการพิจารณาในวันพุธนี้ แต่ไม่จบ ต้องนำไปพิจารณากันต่อในสมัยประชุมหน้า ก็คือเริ่มในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งตรงนี้ถ้าเป็นอย่างนี้จริง เราก็จะเสียเวลาพอสมควร ก็คือยังไม่มีการตั้งกรรมาธิการเพื่อให้เข้าวาระสองในช่วงเวลาถัดไป ทำให้ร่างนี้ช้าไปอีก แต่มันก็ยังดีกว่าที่ไม่พิจารณาเลย อย่างน้อยที่สุดก็ได้รับการพิจารณาบ้าง เป็นหลักประกันว่าพอเปิดสมัยประชุมหน้าก็จะได้รับการพิจารณาทันที
และสาม ก็คือ อาจจะไม่ได้รับการพิจารณาเลย อันนี้คือกระบวนการทั้งหมด ถ้าทันกันเสร็จเรียบร้อยทั้งสามวาระ ผ่านวาระที่หนึ่งรับหลักการ ผ่านวาระที่สองก็จะมีการพิจารณารายมาตรา หลังจากกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จแล้ว และวาระที่สามก็จะถามสภาว่าจะรับหรือไม่รับ แล้วก็จะมีการส่งต่อไปให้ ส.ว. ซึ่งเขาก็จะทำกระบวนการสามวาระเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าเราทำได้ในวาระที่หนึ่งภายในวันพุธนี้ ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้อยู่ที่กฎหมายฉบับนี้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในปีนี้ จึงทำให้เราใช้กลไกในตรงนี้ในการไปตามหาเคสที่เกิดขึ้นในกรณีต่างๆ
ต่อไปนี้ พยานหลักฐานเอกสารที่ฝ่ายรัฐมีอยู่ กรรมการชุดนี้จะเข้ามามีบทบาทได้แล้ว เรียกไปสอบได้ และเรียกค้นเอกสารเพื่อมาสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมไม่ทำงานกัน รวมถึงช่วยวางนโยบายให้กับภาครัฐในการติดตามเชิงลบต่อไป ซึ่งผมคิดว่ามันจะมีความหวังมากขึ้นในการที่เราจะติดตามกับคนที่สูญหายเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับครอบครัวเขาต่อไป และผมคิดว่าถ้ามันผ่านได้ ผมก็อยากจะอุทิศให้กับครอบครัวคนที่สูญหายถูกซ้อมทรมานที่ได้เกิดขึ้น
จริงๆ เราเข้าสู่รัฐสมัยใหม่มานาน แต่เราก็ต้องยอมรับว่าในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ก็เป็นเสมือนว่าเราไม่เคยมีการเปลี่ยนเข้าสู่รัฐสมัยใหม่เลย หลายๆ กรณีในสมัยอดีตกาลทำกันอย่างไร วันนี้ก็ทำกันอย่างนั้นอยู่ ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าเสียใจที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่อย่างนี้ และเป็นความทุกข์ทรมานของครอบครัวและหลายครอบครัวที่ได้แต่รอว่าเป็นอย่างไร และหลายคนยังเชื่อว่าคนที่ถูกกระทำให้สูญหายยังมีชีวิตอยู่
ผมเชื่อว่าหลายคนฝันที่จะได้ยินเสียงของคนในครอบครัวตัวเอง ซึ่งผมคิดว่าเรายังคงต้องมีความหวังกับมัน ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมีกลไกอะไรที่จะไปช่วยในการตรวจสอบ ไปช่วยในการเร่งหา ดังนั้นผมจึงคิดว่ากฎหมายนี้ออกมาเพื่อทุเลาความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับครอบครัวคนใกล้ชิดรวมถึงตัวผู้ถูกกระทำ ก็หวังว่าจะได้ผลไม่มากก็น้อย ก็อยากให้มันเกิดขึ้น อย่างน้อยก็คงไปรับประกันให้กับสังคมไทยได้
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ในเช้าวันพุธที่ 15 ก.ย. จะยกมือขอให้เลื่อนลำดับการพิจารณากฎหมายฉบับนี้จะเป็นไปได้ไหม หรือต้องขอเลื่อนโดย พรรคเพื่อไทย ที่เป็นเจ้าของร่าง เหมือนที่เคยทำได้ในวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่มีการเลื่อนจากลำดับ 9 มาเป็นลำดับ 4 ได้
รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล
จริงๆ การเลื่อนลำดับในวันที่ 8 ก.ย. เป็นการคุยกันในวิป ที่ไม่เลื่อนขึ้นมาอยู่ก่อน พ.ร.บ. การศึกษา เพราะไม่แน่ใจว่ากฎหมายจะพิจารณาเสร็จเมื่อไร ตามข้อบังคับการประชุมสภา คือจะไม่พิจารณากฎหมายที่ถูกเลื่อนในวันที่เลื่อนทันที เร็วที่สุดคือพิจารณาในวันถัดไป ณ ตอนนั้นคิดว่ากฎหมายเรื่องเครดิตน่าจะเร็ว และถ้าเลื่อน พ.ร.บ. ฉบับนี้ไปไว้ก่อน [พ.ร.บ. การปฏิรูปการศึกษา] ก็ไม่ได้เข้าพิจารณาอยู่ดี เลยนำไปต่อท้าย พ.ร.บ. ปฏิรูปการศึกษา ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้พิจารณาเลย
ดังนั้น ถ้าเลื่อนอีกรอบในครั้งนี้ก็จะไม่ได้พิจารณาอยู่ดี และสุดท้ายก็จะไม่ได้พิจารณา [ในสมัยประชุมนี้] เลย วิธีเดียวในตอนนี้คือต้องช่วยกันอย่างมากทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เร่งการพิจารณา 2 ฉบับก่อนหน้าให้เร็วขึ้น เพื่อให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้รับการพิจารณา ต้องมีการตกลงกันและส่งสัญญาณถึงท่านชวนว่า ต้องเข็นให้พิจารณาให้ได้ ไม่ว่าจะต้องเลิกดึกแค่ไหน เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านวาระ 1 ให้ได้
อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ
เห็นด้วยกับ ส.ส. โรม กฎหมายเรื่องการศึกษา ต้องคุยกันทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เข้าใจว่าผู้แทนราษฎรอยากนำเสนอปัญหา และเสนอความคิดเห็น แต่ด้วยเวลาจำกัด จึงต้องมีการดูรายชื่อและดูประเด็นการอภิปรายว่ามีตรงไหนซ้ำกันบ้าง เพื่อลดจำนวนผู้อภิปราย ให้กฎหมายนี้เข้าพิจารณาได้ทัน
ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข เจ้าหน้าที่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ในฐานะคนใกล้ชิดของต้าร์ วันเฉลิม นี่ถือเป็นเดิมพันครั้งนึงของเรา เวลาเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ต่อให้เราไม่ได้เป็นคนในครอบครัว แต่ก็ใกล้ชิดกับพี่ต้าร์ ทำให้มีผลกระทบทางใจ เราอยากเห็น พ.ร.บ. นี้ออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน ให้บังคับใช้ได้ สำหรับคนอย่างเราที่อยู่กับความทรมานแบบนี้ รวมถึงครอบครัวและญาติของผู้ถูกบังคับสูญหาย 1 วันอาจจะช้าไปด้วยซ้ำสำหรับพวกเราที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเสียที
เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
เรารู้สึกว่า ร่างกฎหมายนี้ดำเนินการมากว่า 12 ปีแล้ว เราจะอยู่กับสังคมที่มีการลอยนวลพ้นผิดเช่นนี้หรือ คนที่เจ็บปวดคือญาติของผู้ถูกบังคับสูญหายและซ้อมทรมาน และองค์กรได้มีการตามตัวร่างกฎหมายมาโดยตลอด เราเชื่อในความหวังของคนในที่นี้ และคนที่แสดงตัวว่าสนับสนุนกับร่าง พ.ร.บ.นี้
เรามีแคมเปญเรื่องระบบและการเข้าวาระ การปกป้องคุ้มครอง เรื่องกลไก ความยุติธรรม จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่เราไปลงนามสัญญาไว้ ต้องทำให้เห็นว่าคนที่ถูกทำร้ายจากรัฐ คนที่สูญหาย ถูกทรมาน มีพื้นที่เรียกร้องความยุติธรรม มีกฎหมายที่บ่งบอกว่าคนกลุ่มนี้จะไม่ถูกลืมไป
ในตอนนี้ เราจะมีแฮชแท็ก (#) 3 อัน คือ #พรบต้องไม่หายกฎหมายต้องมี #พรบทรมานอุ้มหาย #พรบอุ้มต้องไม่หาย วันนี้อยากส่งถึงทุกคน ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ คนที่อยู่ในสภา ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำอะไรสักอย่าง ในส่วนของนักข่าวและสื่อ เราอยากให้เล่นประเด็นนี้ สื่อสารออกไปว่าสังคมเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ ให้ผ่านร่างและให้ความยุติธรรมกับครอบครัวผู้ถูกกระทำ เราจึงอยากให้นำเรื่องนี้ที่ได้ฟังมา แชร์ออกไปว่าเกิดอะไรขึ้น ส่งเสียงออกไป เล่าต่อกับคนรอบตัวว่าเกิดอะไรขึ้น เราเชื่อว่าต้องทำได้
เรามีเวลาเหลืออีกแค่ไม่กี่วัน นี่ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่จริง ๆ เราอยากเห็นพลังของประชาชนคนธรรมดา ผลักดันให้เกิดเป็นตัวกฎหมายออก หากใส่แฮชแท็กเอาไว้ เราจะช่วยสื่อสาร ทั้งทางออนไลน์ออฟไลน์ นี่เป็นแคมเปญเปิดกว้าง แต่มีความสำคัญในสังคมไทย และเชื่อว่าต่อไปจะไม่มีเหตุที่เกิดกับคุณสมชาย บิลลี่ วันเฉลิม หรือพฤษภา 35 อีกต่อไป เราไม่ควรลืมบุคคลที่สูญหาย บุคคลที่ถูกทรมาน และช่วยให้พวกเขาเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส