การถือกำเนิดของคนเรานับเป็นเรื่องงดงามในชีวิต ยามที่ชีวิตน้อยๆ ของคนคนหนึ่งได้ลืมตาดูโลก ได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และได้สร้างชีวิตตามคิดฝัน แต่สำหรับใครหลายคนการถือกำเนิดของสมาชิกใหม่ไม่ใช้เรื่องง่าย เมื่อโลกที่รอรับมิได้เพียบพร้อมง่ายดายสำหรับพวกเขา
“การแจ้งเกิด” เป็นความสัมพันธ์แรกของบุคคลกับรัฐที่จะยังผลไปสู่ความสัมพันธ์อื่นในฐานะพลเมืองของรัฐ อันครอบคลุมทุกเรื่องในชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงวันหลับตาลาโลก หากการเกิดคือการปักหมุดชีวิตการแจ้งเกิดก็คือการปักหมุดตัวตนอันมีสิทธิแห่งตนในฐานะพลเมืองของรัฐด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรกฎาคม 2563 ระบุว่า ประเทศไทยมีคนไร้สัญชาติที่ไม่ไร้รัฐจำนวน 539,696 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่เป็นบุตรของชนเผ่าพื้นเมือง 36,943 คนกลุ่ม (อดีต) เด็ก และเด็กนักเรียนในสถานศึกษาและคนไร้รากเหง้าจำนวน 82,154 คน และเด็กเกิดใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดแต่ยังไม่สามารถกำหนดสถานะในสัญชาติได้จำนวน 87,291 คน
ทั้งนี้ยังไม่รวมเด็กไร้รัฐในระบบโรงเรียนและนักเรียนรู้หัส G ของกระทรวงศึกษาอีกกว่า 90,000 คน และกลุ่มบุตรของแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติของประเทศต้นทาง ซึ่งยังไม่อาจทราบจำนวนได้แน่ชัด
จากจำนวนของเด็กๆ ที่กล่าวมาย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า พ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขาก็ยังอยู่ในบ่วงของปัญหานี้เช่นเดียวกัน แม้ว่าที่ผ่านมาทั้งภาครัฐ องค์กรเอกชน ภาคีความช่วยเหลือต่างๆ จะพยายามจัดการแก้ไขปัญหานี้มาอย่างยาวนาน แต่ปัญหาก็ไม่อาจสิ้นสุดลงได้
โดยเฉพาะกับคนชนเผ่าที่มีอยู่มากมายในประเทศไทย ซึ่งล้วนแต่ประสบปัญหาเรื่องสัญชาติ อันเป็นเหตุสู่ปัญหาอื่นที่ทยอยตามมา เช่น การถือครองที่ดิน การเข้าถึงทรัพยากร การศึกษา การรักษาพยาบาล การประกอบอาชีพ การเข้าสู่วงจรค้ามนุษย์ ฯลฯ แตกต่างกันไปตามพื้นที่เงื่อนไขของสังคมและของรัฐ (จากตัวบทกฎหมาย) ที่ต้องพบเจอทำให้เราต้องย้อนกลับมาที่ “การแจ้งเกิด” หมุดตัวแรกของความเป็นประชาชนคนไทย
ก่อนกาลจะต้องแจ้งเกิด
ก่อนที่จะไปสู่การแจ้งเกิดของผู้เป็นพลเมืองของรัฐ เราต้องย้อนกลับไปสู่ยุคสมัยที่ความเป็นรัฐหรือประเทศยังไม่เกิดขึ้น บนแผ่นดินที่เรียกว่า สยาม ล้านนา ล้านช้าง และอื่นๆ ก่อนหน้านั้นมีผู้คนหลายกลุ่มหลากเชื้อชาติดำรงอยู่ร่วมกัน
มีการอพยพโยกย้าย เส้นพรมแดนไม่ได้ชัดเจนทั้งยังหด และขยายตามอำนาจของกษัตริย์ ผู้ครองแผ่นดินแต่ละแว่นแคว้น เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านความเป็นรัฐสมัยใหม่ได้ก่อตัวขึ้น รัฐเริ่มจัดการรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางหลังการเข้ามาของลัทธิล่าอาณานิคม และได้มีการสำรวจตรวจสอบคนในแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัย ร.5 ในปี 2448 ว่ามีใคร จำนวนเท่าไร เรียกกันว่า “บัญชีพลเมือง” มีจุดประสงค์เพื่อการจัดทำบัญชีสำมะโนครัวบัญชีคนเกิดคนตาย และจัดทำบัญชีคนเข้าคนออก
ต่อมาในปี 2452 กระทรวงมหาดไทยได้มีการเก็บข้อมูลประชากรอย่างเป็นระบบครั้งแรก และตรวจนับทุกๆ 10 ปี จนถึงปี 2490 เรียกว่า “การสำรวจสำมะโนครัว” หลังจากนั้นสำนักงานสถิติแห่งชาติได้เข้ามารับผิดชอบ ในปี 2503 และได้จัดทำสำมะโนประชากรทุก 10 ปีจนถึงปัจจุบัน
กฎหมายที่สำคัญคือ พ.ร.บ. ทะเบียนราษฎร ที่เริ่มตั้งแต่สมัย ร.6 ในชื่อ “พ.ร.บ. การทำบาญชีคนในพระราชอาณาจักร พ.ศ. 2452” และการทำทะเบียนต่างๆ จำนวน 12 ฉบับ (นับตั้งแต่ปี 2452-2490) และได้ปรับปรุงยกร่างใหม่ทั้งหมดในปี 2499 เป็น “พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2499” หลังจากกระทรวงมหาดไทยได้ตรวจสอบทะเบียนราษฎรทั้งประเทศเสร็จสิ้นจึงมีการจัดทำ “ทะเบียนบ้าน” ในลำดับต่อมา เรียกว่า ทะเบียนบ้าน ฉบับปี 2499
และเพิ่มรายละเอียดชื่อบิดามารดาผู้ให้กำเนิดเข้าไปในปี 2515 ต่อมาในปี 2527 โครงการเลขประจำตัวประชาชน ได้สำรวจตรวจสอบประชาชน และประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อจัดทำเลขประจำตัวได้เสร็จสิ้นลง ทะเบียนบ้านจึงได้เพิ่มช่อง ข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน ลงใน “ทะเบียนบ้าน ฉบับปี 2526” จากนั้นตั้งแต่ปี 2531-2539 จึงเป็นการคัดสำเนาให้เจ้าบ้านประมาณ 14 ล้านหลังคาเรือนทั่วประเทศจนครบ เรียกว่า “สำเนาทะเบียนบ้าน” อย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
จากการจัดทำทะเบียนราษฎรดังที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกันคือ “สัญชาติ” ของพลเมืองในรัฐ ซึ่งแต่เดิมเราทุกคนมิได้มีสัญชาติระบุไว้ ไม่ว่าเราจะเป็น คนมอญ จีน ญวน ลาว แขก ซาไก ไทลื้อกะเหรี่ยง ม้ง ลีซู หรือเชื้อชาติชนเผ่าใดก็ตาม ดังนั้นรัฐไทย หรือสยามในยามนั้นจำเป็นต้องให้สัญชาติแก่ผู้คนในแผ่นดิน เพื่อจัดการอำนาจในการปกครอง การได้สัญชาติจึงเกิดขึ้นใน 2 ลักษณะคือ
การเกิดตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดามารดา และการเกิดตามหลักดินแดนของรัฐนั้นๆ ขณะที่ความเป็นรัฐของไทยเพิ่งก่อร่างสร้างตัว จึงมิได้แผ่ขยายอำนาจการจัดการได้อย่างทั่วถึง ผู้คนในถิ่นแดนไกลมิได้รับรู้และมิได้รู้สึกถึงความเป็นพลเมืองของรัฐ ทั้งการสำรวจตรวจสอบประชากรก็มิได้ถี่ถ้วนครอบคลุมคนทุกกลุ่มทุกพื้นที่มีกรอบเกณฑ์ซับซ้อน ไม่แน่ชัด สร้างความเข้าใจที่สับสน อันเป็นเหตุให้การไร้สัญชาติเกิดขึ้นตามมา
พ.ร.บ. แปลงสัญชาติ 2454 (ร.ศ. 130) นับเป็นกฎหมายว่าด้วยสัญชาติฉบับแรกของไทย (ว่าด้วยการแปลงสัญชาติเป็นไทยของคนที่อพยพเข้ามา) และต่อมามี พ.ร.บ. สัญชาติ 2456 ที่ว่าด้วยสัญชาติไทยโดยทั่วไปซึ่งการให้สัญชาติสามารถทำได้โดยง่าย ทั้งผู้ที่เกิดตามหลักสืบสายโลหิตและเกิดในสยามตามหลักดินแดนซึ่งจะได้รับสัญชาติทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้จะเป็นผู้ที่เพิ่งอพยพเข้ามาไม่นานก็ตาม ต่อมา พ.ร.บ. สัญชาติได้มีการปรับเปลี่ยนอีกหลายครั้ง (2495 และ2508)
จนมาถึงยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่มีความหวั่นเกรงเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ จึงได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติ 337 (ปว. 337) ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ที่ได้กำหนดให้บุคคลที่เกิดในไทยแต่บิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดาเป็น (1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยในราชอาณาจักไทยเป็นพิเศษเฉพาะราย หรือ (2) ได้รับอนุญาตให้อยู่เพียงชั่วคราวหรือ
(3) เข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองทั้งหมดไม่สามารถรับสัญชาติไทยได้ หรือถ้าได้สัญชาติไทยแล้วให้ถอนสัญชาติเสีย นั่นจึงเท่ากับว่าการให้สัญชาติโดยหลักดินแดนถูกยกเลิก คนที่เคยได้สัญชาติไทยจาก พ.ร.บ. ฉบับก่อนหน้าจะกลายเป็นคนไร้สัญชาติไปในทันที อันเป็นเหตุของปัญหาสัญชาติของคนรุ่นลูก และรุ่นหลาน เพราะตัวบทกฎหมายเหล่านี้ยังคงส่งต่อหลักการกำหนดสัญชาติมาถึง พ.ร.บ. สัญชาติที่ปรับปรุงเพิ่มเติม ภายหลัง (2535 และ 2551)
แม้จะได้มีการยกเลิก ปว. 337 ตามผลของการแก้ไข พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และมีการแก้ไขเพิ่มให้มีการคืนสัญชาติให้แก่คนที่ได้รับผลจาก ปว. 337 ใน พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 23 แต่มิใช่ทุกอย่างจะลุล่วงได้โดยง่าย เพราะเวลาไม่ได้หยุดนิ่ง ปัญหาคนไร้สัญชาติได้ถูกส่งต่อสู้คนรุ่นถัดไป สิทธิของพลเมืองที่ควรได้รับหายไปตามเวลาที่ล่วงผ่านโอกาสต่างๆ ที่ควรได้รับไม่หวนคืน
กอปรกับช่วงเวลาที่มีการจัดทำทะเบียนราษฎรได้คาบเกี่ยวกับประกาศดังกล่าวจนมีผลทำให้คนจำนวนมากถูกจัดให้เป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย อันหมายถึงคนอื่น มิใช่คนไทยอย่างที่เป็นจริง บุตรที่เกิดมาจึงมีสถานะของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายตามบิดามารดาที่ถูกถอนสัญชาติไป จุดที่กฎหมายถูกบังคับใช้จึงเสมือนมือที่ย้อนยื้อไปมีผลถึงอดีต
ขณะเดียวกันอีกมือหนังก็ยื่นยาวสาวถึงอนาคต นี่คือหนึ่งในเหตุที่ออกผลเป็นปัญหาสัญชาติซึ่งถูกส่งต่อไม่รู้จบ จะเห็นได้ว่าผู้ที่มีปัญหาสถานะบุคลและสิทธิไม่วาจากกฎหมายฉบับใด นโยบายทางการเมืองของรัฐชวงเวลาไหนก็ตามจะเป็นคนชนเผ่าแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าบนพื้นที่สูง เช่น กะเหรี่ยง อาข่า ลีซูม้ง ดาระอั้ง ฯลฯ
ส่วนพื้นราบที่ยังจะมีอยู่คือ คนจีนโพ้นทะเล คนญวน คนลาว ที่ยังคงตกหล่น นอกจากนี้ยังมีคนไทยพลัดถิ่น เช่น มอแกลน มอแกน อุรักลาโว้ย ผู้ที่บรรพบุรุษอาศัยระหว่างเกาะแก่งเขตแดนของแต่ละรัฐจนมีการปักปันเขตแดน จึงเกิดการพลัดถิ่นขึ้น ถ้าไม่นับผู้ที่อพยพเข้ามาอยู่นานแล้วคน ชนเผ่าส่วนใหญ่จะเป็นคนดั้งเดิมหรือคนติดแผ่นดิน มิได้เป็นใครใดอื่นเลย แต่ตกหล่นจากการสำรวจเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่ได้ติดต่อกับคนภายนอก ไม่รู้ภาษาไทย สื่อสารไม่ได้ ทั้งยังไม่รู้ว่าการแจ้งเกิดหรือลงทะเบียนบุคคลประเภทต่างๆ จะส่งผลต่อสิทธิของตนเองอย่างไร
ทั้งกฎหมายที่มีความซับซ้อน ปรับเปลี่ยนไปมาจนขัดกันเองก็ยังมี สำหรับชนเผ่าในประเทศไทยการสำรวจเริ่มมีขึ้นในทศวรรษ 2510 (หลังการสำรวจสามะโนครัว 2499) รัฐบาลเริ่มโครงการสำรวจจำนวนประชากรชาวเขาและจัดทำทะเบียนราษฎรชาวเขา (แบบ ท.ร.ช.ข.1) ในปี พ.ศ. 2512-2513 ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน จากนั้นก็มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนอีกหลายครั้ง เช่น การสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขา
ปี 2528-2531 ทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ปี 2533-2534 ทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูง ปี 2541-2542 เป็นต้น ทำให้คนชนเผ่าจำนวนหนึ่งมีบัตรประจำตัวประชาชน บัตรบุคคลบนพื้นที่สูง บัตรชนกลุ่มน้อย ซึ่งแบ่งตามประเภทเป็นบัตรสีต่างๆ มีทะเบียนบ้านถาวร (ท.ร. 14) และทะเบียนบ้านผู้อยู่อาศัยชั่วคราว (ท.ร. 13) และหลักฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “เหรียญที่ระลึกชาวเขา” ที่ชาวชนเผ่าได้รับกันใช้ถือแทนบัตรประจำตัวประชาชนในช่วงแรกเริ่มของการสำรวจทำทะเบียน
แต่ยังมีอีกไม่น้อยที่ไม่มีเอกสาร หลักฐานใดๆ หรือมีแล้วแต่ถูกเพิกถอน หรือข้อมูลลงทะเบียนผิดพลาด คนไทยภูเขาดั้งเดิมกลายเป็นชนกลุ่มน้อยอพยพ เป็นต้น ต่อมาในปี 2547 บัตรสีต่างๆ ที่จำแนกตามกลุ่มชนกลุ่มน้อยและผู้อพยพถูกยุบรวมเป็นบัตรประจำตัวของคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (สีชมพู) ส่วนคนที่ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ หรือคนไร้รัฐ จะได้บัตรขึ้นต้นเลข 0 หรือบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (หน้าขาว หลังชมพู) การจะได้รับสัญชาติไทยจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนฝันถึง
แต่ก็มิใช่เรื่องง่าย เพราะการพิสูจน์สิทธิเพื่อให้ได้รับสัญชาติมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ล่าช้า และมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น การตรวจ DNA ซ้ายังอาจถูกเรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ หรือคนเดินเรื่องให้ และยังถูกมองด้วยทัศนคติทางลบจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นคนต่างด้าว ทำให้สัญชาติที่มีติดตัวอยู่แล้วตั้งแต่เกิดกลายเป็นสิ่งไกลเกินเอื้อม ต้องต่อสู้เรียกร้องถึงที่สุดกว่าจะได้มา
เช่น กรณีการยกเลิกสัญชาติของชาวบ้าน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ 1,243 คน โดยนายอำเภอในปี 2545 ด้วยอ้างว่า ชาวบ้านมิใช่คนไทย ได้บัตรประชาชนมาจากการซื้อขาย ปลอมแปลงและทุจริต จนชาวบ้านต้องต่อสู้เรียกร้องให้คืนสถานะ เพราะอยู่ๆ ก็กลายเป็นคนไร้สัญชาติ คนที่เป็นทหารถูกปลด เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลไม่ได้ เด็กที่เกิดไม่ได้รับสัญชาติ เสียสิทธิในที่ดินและการกู้เงิน ธ.ก.ส. เป็นต้น ต้องต่อสู้เรียกร้องหาพยานหลักฐานยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จนได้คืนสัญชาติในปี 2548
หากมองย้อนไปในอดีต อำเภอแม่อายได้เปิดทำบัตรประชาชนครั้งแรกในปี 2507 บางคนที่อยู่บนดอยห่างไกล ไม่รู้ข่าวสาร ไม่รู้หนังสือไม่เห็นว่ามีความจำเป็น ทั้งยังเดินทางยากลำบากก็ไม่ได้ลงมาทำบัตร ต่อมาในปี 2519 ที่ทำการอำเภอถูกไฟไหม้ เอกสารสูญหายแทบทั้งหมด จำเป็นต้องทำบัตรประชาชนใหม่ แต่เมื่อชาวบ้านมาทำบัตรประชาชนบัตรใหม่ที่ได้กลับกลายเป็นบัตรผู้พลัดถิ่นชาวพม่า ชาวบ้านจึงเรียกร้องจนได้ทำบัตรประชาชนใหม่อีกครั้งในปี 2543-2544
ช่วงนั้นเองทั้งทางการเห็นว่า มีคนอยากได้สิทธิคนไทยเข้ามาปลอมแปลงซื้อขายบัตร นายอำเภอจึงเพิกถอนสัญชาติขึ้น เพื่อแก้ปัญหาแต่กลับกลายเป็นการขมวดปมปัญหาให้ยุ่งขึ้นไปอีก แม้ทุกวันนี้ปัญหาจะลุล่วงทุเลาลง แต่ก็ยังคงอยู่จึงมีการพิสูจน์สถานะ
และนับเป็นเรื่องดีที่มีคนได้รับสัญชาติไทยให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกกรณีที่โด่งดังคือ นักฟุตบอลทีมหมูป่าติดถ้ำนางนอน จ.เชียงราย เมื่อ 3 ปีที่แล้ว (ปี 2561) หากความโด่งดังของข่าวความช่วยเหลือที่กินเวลายาวนานถึง 17 วันไม่กลบประเด็นสำคัญอย่างเรื่องสัญชาติของเด็กๆ และโค้ชทีมฟุตบอล ทุกคนคงจำได้ว่า นอกจากจะหลุดออกจากถ้ำแล้ว ทุกคนยังหลุดออกจากความไร้สัญชาติด้วย หากเป็นภาวะปกติพวกเขาอาจต้องรอนานถึงเมื่อไรไม่รู้ เช่นที่คนไร้สัญชาติอีกมากรอคอยอยู่ แต่ไม่ใช้ทุกคนจะได้โอกาสให้ถูกมองเห็นเช่นนี้
เด็กชาย 2 คน ได้รับสัญชาติเพราะเกิดในไทย พ่อแม่เป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้ออพยพเข้ามาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2538 อยู่อาศัยมานานเกิน 15 ปี เด็กจึงได้รับสัญชาติไทย เด็กชายอีกคนหนึ่งวัย 14 ปีถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง เกิดในแผ่นดินไทย มีคุณสมบัติเป็นเด็กไร้รากเหง้าที่พ่อแม่ทอดทิ้ง อยู่ในการดูแลของศูนย์คริสต์จักร มีเอกสารรับรองจากพัฒนาสังคมฯ จังหวัด
ส่วนโค้ชฟุตบอล วัย 25 ปี เกิดในแผ่นดินไทย มีพ่อเปืนชนกลุ่มน้อย (ไทลื้อ) ซึ่งเกิดในไทย แต่ไม่ได้รับสัญชาติเพราะประกาศของคณะปฏิวัติ 337 (ปว. 337) ที่มีผลตั้งแต่ปี 2515 – 2535 ต่อมา พ.ร.บ. สัญชาติ ฉบับที่ 4 ( ปี 2551) มาตรา 23 ให้คืนสัญชาติ แต่พ่อได้เสียชีวิตไปก่อน โค้ชเกิดที่โรงพยาบาลแม่สาย มีหนังสือรับรองการเกิดจึงได้สัญชาติไทย
จะเห็นได้ว่า ปัญหาสัญชาติดำรงอยู่คู่คนไทยมานานเนิ่น คนไทยไม่น้อยต้องกลายเป็นผู้มีปัญหาสถานะบุคคลจากกฎหมายและนโยบายของรัฐที่แช่แข็งประชาชนไว้ ความพยายามแก้ไขปัญหาของภาคีความร่วมมือทุกภาคส่วนทำให้จำนวนผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิลดลง หลายคนได้รับสิทธิด้านการรักษาพยาบาล เด็กๆ ได้รับการศึกษา แต่ผู้ที่ยังตกค้างก็ยังมีไม่น้อย แค่ส่องแสงลงไปในเงามืดก็จะพบ หากไม่มีแสงไฟส่องถึงปัญหาสัญชาติก็จะยังเป็นเงามืดทาบทับไปถึงอนาคต
แจ้งเกิดนั้นสำคัญไฉน
เชื่อแน่ว่าหลายคนคงไม่เคยเห็น “ใบเกิด” หรือที่เรียกว่า “สูติบัตร” ของตนเองหากไม่มีความจำเป็นต้องใช้ประกอบกิจธุระอันใด ใบเกิดเป็นสิ่งที่เราแทบไม่เคยนึกถึง เพราะแค่บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียวก็สามารถใช้แสดงตัวตน และทำธุรกรรมทางทะเบียนต่างๆ ได้แล้ว หาจะมีเพิ่มเติมมาอีกคงมีเพียงสำเนาทะเบียนบ้านเท่านั้น
แต่สำหรับผู้ยื่นขอสัญชาติหรือเปลี่ยนแปลงสถานะบุคคล เอกสารรับรองการเกิดนับเป็นหลักฐานหนึ่งที่สำคัญมาก และไม่ใช้สิ่งที่ทุกคนจะมี ผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หลายคนก็ไม่มีเอกสารนี้ เพราะไม่ได้เกิดที่โรงพยาบาล พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิดกับอำเภอแต่ก็มีชื่อในทะเบียนบ้าน มีบัตรประจำตัวประชาชนคนไทย ทำให้เกิดความยุ่งยากหากต้องจำเป็นต้องใช้ใบเกิดมายืนยันตัวตนไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม
จากเหตุการณ์ถอนสัญชาติชาวบ้านแม่อาย 1,243 คนที่ได้กล่าวไป ทางการเรียกหาเอกสารรับรองการเกิดของชาวบ้าน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มี เพราะเกิดก่อนการตั้งโรงพยาบาลอำเภอในอดีตไม่ว่าจะเป็นบนดอย หรือพื้นราบชาวบ้านจะคลอดลูกเองที่บ้าน
แม้จะมีโรงพยาบาลแล้วในภายหลังหลายพื้นที่ก็ยังคลอดลูกที่บ้านเช่นเดิม ทั้งไม่รู้ว่าต้องแจ้งเกิด การแจ้งเกิดสำคัญอย่างไร อยู่ในพื้นที่ห่างไกลอำเภอต้องมีค่าใช้จ่าย หรือไม่ ฯลฯ หลายเหตุผลทำให้เด็กหลายคนไม่ได้แจ้งเกิด บางคนพ่อแม่ต้องไปแจ้งย้อนหลัง ลูกคนโตกลายไปเป็นน้อง ผู้สูงอายุบางคนอายุเกิน 60 มาหลายปีแต่ยังไม่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ เพราะพ่อแม่แจ้งเกิดช้า
บางคนกลายเป็นคนตกหล่น ไม่มีชื่อทางทะเบียนใดๆ ไม่ใช้แค่คนบนดอย พื้นราบ ชุมชนริมทะเล เกาะแก่ง แม้แต่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ก็มีคนคนไร้สถานะเพราะไม่ได้แจ้งเกิดอยู่มากมาย ทำให้พวกเขาไม่อาจเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่พึงได้รับ โดยเฉพาะสิทธิด้านสุขภาพและการเข้ารับการรักษาพยาบาลซึ่งจำเป็นและสำคัญต่อชีวิตอย่างมาก ยิ่งในสภาวะการณ์ที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ศูนย์ตรวจหาเชื้อติดป้ายรับตรวจเฉพาะผู้มีสัญชาติไทย โรงพยาบาลรับรักษาคนที่มีบัตรประชาชนคนไทยก่อน
มีข่าวหนึ่งรายงานว่า ครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนครอบครัวหนึ่งในกรุงเทพฯ ติดเชื้อโควิดทั้งบ้าน อาม่า และลูกหลานได้รับการรักษา แต่อากงรอจนเสียชีวิต เพราะไม่มีบัตรประชาชนคนไทย จึงไม่มีรถพยาบาลมารับ แม้อากงจะอยู่เมืองไทยมาทั้งชีวิตก็ตาม
การแจ้งเกิดจึงเป็นเรื่องจำเป็น และสำคัญยิ่งกับคนทึกคนนับตั้งแต่ปี 2551 ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า และแก้ไขกฎหายการทะเบียนราษฎร (พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551) เพื่อรับรองสิทธิที่จะได้รับการการจดทะเบียนการเกิดของเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างด้านสัญชาติ การเข้าเมืองหรือสถานะบุคคลตามกฎหมายของบิดา มารดา และเด็กที่เกิดในประเทศไทยทุกคนจึงสามารถจดทะเบียนการเกิดได้ เพื่อรับรองตัวตนของพวกเขาไม่ให้ตกหล่น เลื่อนหาย หรือถูกลงหลุมไป เพราะสิทธิในตัวตนคือสิ่งแรกที่พวกเขาพึงได้รับไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม