[:th]CrCF Logo[:]

เสียงจากเยาวชนและสตรีบ้านบางกลอย… ในวันที่รัฐไม่ให้พวกเขากลับบ้าน เรื่องโดย อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ

Share

ปฏิเสธไม่ได้ว่าใครก็ตาม ไม่ว่าจะยากดีมีจน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะหญิง ชาย หรือคนหลากหลายทางเพศ ประโยคที่ว่า “ไม่มีที่ไหนไม่สุขใจ…เท่าบ้านเรา” ก็ยังถือเป็นอุดมคติที่มนุษย์ทุกคนคาดหวังว่า บ้านจะเป็นเสมือนพื้นที่ Save Zone ที่ไม่ว่าเราจะออกไปใช้ชีวิตทั้งวันให้กับการเรียน การทำงาน หรือแม้แต่เที่ยวเล่นเตร็ดเตร่ที่ไหนก็ตาม เราจะยังอยากกลับมาพักผ่อนอยู่ “บ้าน” เพื่อเติมเต็มพลังงานที่เสียไประหว่างวันให้พร้อมสำหรับภาระหน้าที่ในวันรุ่งขึ้นต่อไป

แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากไม่ว่าใครก็สามารถกลับ “บ้าน” ของตนเองได้ โดยที่ไม่ต้องมานั่งกังวลใจว่า บ้านของตนจะถูกใครมาพรากจากไปหรือไม่ เหมือนกับสิ่งที่เกิดกับพี่น้องชาวบ้าน “บางกลอย” ได้พบ ที่หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “พวกเขาไม่มีบ้านให้กลับ”

ทวนความจำ: 5 มีนา กับการกระทำอันอุกฉกรรจ์ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

ย้อนกลับไปเมื่อเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2564 ณ ผืนป่าบริเวณที่เรียกว่า “ใจแผ่นดิน” ขณะที่ชาวบ้านเพิ่งลืมตาตื่น กำลังจะก่อฟืนหุงหาข้าวปลาอยู่นั้น เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้สนธิกำลังเข้ามายังพื้นที่ ก่อนจะใช้ปืนและมีดพร้าที่อยู่ใกล้ตัวเคาะกับพื้นไม้ให้เกิดเสียงดังกังวาล พร้อมทั้งเปล่งเสียงเรียกให้ทุกคนที่อยู่ในบริเวณนั้นมารวมตัวกัน

บรรยากาศที่เริ่มไม่สู้ดีนัก ทำให้ชาวบ้านทุกคนที่อยู่ในละแวกนั้นต้องหยุดกิจวัตรที่ทำอยู่ และมารวมตัวกัน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเริ่มประกาศผ่านโทรโข่งว่า “ชาวบ้านทุกคนที่อยู่ที่นี่ (ใจแผ่นดิน) กำลังทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ มาตรา 19 ยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม อันเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่สามารถจับกุม ดำเนินคดี และฝากขังได้ทันที จึงขอให้ชาวบ้านทุกคนออกจากพื้นที่ และขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปกับเจ้าหน้าที่”

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้สนธิกำลังเข้าควบคุมตัวชาวบ้านขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปทีละคนจนครบ 80 คน ก่อนจะนำตัวลงมายังสำนักงานของ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสอบสวนมารออยู่สอบปากคำอยู่ก่อนแล้ว โดยระหว่างกระบวนการดังกล่าวไม่อนุญาตให้ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่ทนายความส่วนตัวเข้าพบ จนกระทั่งเสร็จสิ้นกระบวนการ จึงนำตัวชาวบ้านจำนวน 22 คน จาก 30 คน ที่มีรายชื่อตามหมายจับที่เจ้าหน้าที่ออกก่อนหน้านี้ ไปยังศาลเพชรบุรี เพื่อรออนุญาตฝากขัง

และท้ายที่สุด ศาลก็มีคำสั่งอนุญาตฝากขังชาวบ้านทั้ง 22 คน ณ เรือนจำกลางจังหวัดเพชรบุรีนับตั้งแต่คืนวันที่ 5 มีนาคม ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวอีกครั้งในช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม 2564 โดยไม่ต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว แต่มีเงื่อนไขว่า ชาวบ้านจะต้องไม่กลับขึ้นไปยังอุทยาน หรือพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตอีก

จากกรุงเทพสู่บางกลอย: เมื่อการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น

ภายหลังทราบเหตุการณ์คร่าวๆ ว่า ชาวบ้านบางกลอยทั้ง 22 คนได้รับการปล่อยตัวแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม ผู้เขียนพร้อมด้วยทีมงาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงเร่งออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ในรุ่งเช้าของวันจันทร์ที่ 8 มีนาคม ทันที

กว่า 164 กิโลเมตร กับเวลากว่า 3 ชั่วโมง คือระยะทางและเวลาที่พวกเราใช้ไปกับการมุ่งหน้าสู่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อันมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่หมู่บ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึก แม้ว่าระหว่างทางเข้าสู่อุทยานนั้น ถนนหนทางจะถูกตัดเชื่อมโยงกันเป็นอย่างดี แต่เมื่อเรามาถึงด่านมะเร็ว อันเป็นจุดตรวจก่อนขึ้นไปยังหมู่บ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึก การเดินทางของเราต้องเป็นอันชะงักไป เนื่องจากพวกเรากลับไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปยังหมู่บ้าน

โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า “เป็นมาตรการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19” เป็นเหตุให้เราต้องรออยู่หลายชั่วโมง จนกระทั่ง ส.ส. พรรคก้าวไกลมา เจรจาต่อรอง เพื่อนำส่งชาวบ้านบางส่วนที่เพิ่งออกมาจากเรือนจำกลับเข้าที่พัก และนั่นก็ทำให้เราได้เดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านได้  

และทำให้เราได้ค้นพบว่า ถนนหนทางจากด่านขึ้นมายังหมู่บ้านนั้นเต็มไปด้วยหินและลูกรังที่ยากต่อการสัญจรไปมาอย่างมาก ส่งผลให้ต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง กับระยะทางเพียง 30 กิโลเมตร เพื่อจะเข้าไปยังตัวหมู่บ้านได้ ยังผลให้กว่าจะมาถึงหมู่บ้านบางกลอยล่างได้ก็เป็นเวลามืดค่ำแล้ว พวกเราจึงรับประทานอาหารค่ำและขอเข้าพักอาศัย ณ บ้านของพะตี่ (ลุง) ท่านหนึ่งชื่อว่า ตะกินุ กว่าบุ หนึ่งในชาวบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบนใจแผ่นดิน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา และด้วยความอ่อนล้าจากการเดินทางตลอดทั้งวัน ก็ทำให้เราทีมงานจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมต่างรีบเข้านอนกันในคืนนั้น

รุ่งเช้าวันใหม่ เริ่มต้นขึ้นด้วยเสียงก่อฟืนเพื่อเตรียมอาหารเช้าของชาวบ้าน หมอกลอยต่ำและน้ำค้างบนยอดไม้ใบหญ้า ทำให้ดินแดนลับแลแห่งนี้ดูสวยงาม และน่าหลงใหลอย่างมาก เราทุกคนจึงออกมาล้างหน้าล้างตา และดื่มด่ำกับบรรยากาศเช่นนั้นอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะร่วมรับประทานอาหารเช้ากับเจ้าบ้าน

เช้านี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับพะตี่ตะกินุ ทำให้ได้ทราบเพิ่มเติมว่า แม้ภาพจะปรากฏผ่านทางสื่อออนไลน์ว่าเจ้าหน้าที่เข้าเจรจากับ หน่อแอะ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณและตัวแทนชาวบ้านที่เดินทางกลับใจแผ่นดินนั้นจะดำเนินการไปด้วยความสงบและเรียบร้อย ไม่มีการข่มขู่และใช้อาวุธ แต่ภาพเหล่านั้นกลับเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะหลังกล้องคือ เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมตัวชาวบ้านวันนั้น ทุกคนมีอาวุธประจำกาย สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านอย่างมาก

ณ เวลานั้น ชาวบ้านทุกคนตกลงยินยอมถอยและร้องขอเจ้าหน้าที่ว่า พวกตนจะเดินทางกลับลงไปยังบ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึกตามเดิม หากแต่เวลานี้ เจ้าหน้าที่กลับแข็งกร้าวและไม่โอนอ่อนอีกแล้ว เป็นผลให้ชาวบ้านคนแล้วคนเล่าถูกเจ้าหน้าที่เข้าประชิดตัว บ้างถูกดึง บ้างถูกลาก บ้างถูกอุ้มเพื่อนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์กลับไปพร้อมเจ้าหน้าที่ ไม่เว้นแม้แต่เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ หรือแม่ลูกอ่อนก็ตาม

เป็นเหตุให้ผู้เขียนต้องตั้งคำถามอีกครั้งถึงความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เพราะเวลานั้นชาวบ้านไม่ได้มีพฤติการณ์ที่เป็นปรปักษ์และอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ อีกทั้งทุกคนยินยอมที่จะออกจากพื้นที่ใจแผ่นดินตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือ เจ้าหน้าที่มีสิทธิเพียงเชิญตัวบุคคลที่มีรายชื่อตามหมายจับที่ออกมาก่อนหน้านี้ (ซึ่งวิธีการออกหมายจับก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) ให้ไปสอบปากคำกับเจ้าหน้าที่สอบสวนต่อไป และเคารพสิทธิในการตัดสินใจของชาวบ้านที่เหลือที่จะเดินเท้ากลับลงไปยังบางกลอยล่าง-โป่งลึกด้วยตนเอง

ความสงสัยใคร่รู้ ทำให้ผู้เขียนจึงกับพะตี่ตะกินุว่า เราสามารถเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านที่เป็นเยาวชนและผู้หญิงที่ถูกจับกุมในวันเดียวกันนั้นได้หรือไม่ ซึ่งพะตี่ก็ยินดีที่จะให้เราได้พูดคุยกับชาวบ้านให้หลากหลายคนมากขึ้น จึงได้บอก สุพัน กว่าบุ ผู้เป็นลูกสาว พาพวกเราไปพบกับชาวบ้านคนอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 5 มีนาคม

เสียงของเยาวชนบางกลอย: เราแค่ต้องการชีวิตที่พึ่งพิงอาศัยอยู่กับธรรมชาติ

สุพัน ได้พาผู้เขียนและทีมงานจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมไปพบกับ ตาโอะ หลานชายของพะตี่ หน่อแอะ มีมิ และเป็นเยาวชนเพียงคนเดียวที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา

เรานั่งพูดคุยกับ ตาโอะ ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ใจแผ่นดินในวันนั้น ทำให้ทราบว่า ตาโอะ เป็นชาวบ้านคนที่สองที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานลากไถไปกับพื้น ขณะที่ขาของเขายังเจ็บและมีบาดแผลอยู่ก่อนแล้ว การถูกลากไถไปกับพื้นเป็นผลให้บาดแผลเดิมที่มีอยู่นั้นฉีดขาดและเลือดไหลออกมาเป็นจำนวนมาก

“เจ้าหน้าที่คนที่ลากใส่ชุดสีดำเป็นชุดพญาเสือ ระหว่างที่ลากไปบาดแผลเดิมที่เกิดจากการทำไร่ ก็มีกิ่งไม้เข้าไปในแผลทำให้เลือดออกเยอะมาก ตอนมาถึงเครื่องเขาก็มัดมือเราด้วยพลาสติก (ซิปไทด์)”

ตาโอะ กล่าว

ตาโอะ เล่าให้เราฟังถึงพฤติการณ์เจ้าหน้าว่า เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวเขาลงมาจากเครื่องเฮลิคอปเตอร์แล้ว พวกเขาถูกถามด้วยน้ำเสียงที่ก้าวร้าวและท่าทีที่วางอำนาจว่า “พวกมึงรู้ตัวไหมว่าพวกมึงทำผิด” และ “ที่ตรงนั้นมันไม่ใช่พวกมึง มันของพวกกู”

จริงอยู่ที่ว่า พื้นที่ตรงนั้นอาจเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นผู้อำนาจตามกฎหมายในการเข้ามาดูแลพื้นที่เหล่านี้ไม่ให้มันเกิดการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า หรือล่าสัตว์ป่าสงวน แต่สำหรับพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอยแล้ว พื้นที่ตรงนั้นก็เป็นบ้านของเขา บ้านที่เขาเคยใช้ชีวิต เคยทำมาหาเลี้ยงครอบครัว และอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติไปได้

แม้ ตาโอะ จะเคยใช้ชีวิตอยู่บนพื้นที่ใจแผ่นดินเป็นเวลาไม่นาน ก่อนจะถูกบังคับให้ย้ายลงมาเมื่อปี 2554 ภายหลังเจ้าหน้าที่ลอบวางเพลิง แผ้วถางบ้านเรือนบนใจแผ่นดิน อันเป็นผลสืบเนื่องจากยุทธการณ์ตะนาวศรี แต่พันธะผูกพันที่มีต่อผืนแผ่นดินบ้านเกิดที่หล่อเลี้ยงชีวิตเขาให้เติบใหญ่ขึ้นมาได้ ก็ทำให้เขาตัดสินใจที่จะเดินเท้าขึ้นไปยังใจแผ่นดิน พร้อมกับผู้คนส่วนหนึ่งในหมู่บ้าน เมื่อรุ่งเช้าวันที่ 9 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา

“เราขึ้นไปบนนั้น (ใจแผ่นดิน) ก็แค่อยากจะไปทำไร่ ปลูกข้าว เราไม่เคยคิดจะเข้าไปอยู่ในเมืองเพราะว่ามันไม่พอกิน เราไม่ขออะไรมาก ขอแค่อยากกลับไปอยู่ที่เดิมที่พ่อแม่ปูย่าตายายของเราเคยอยู่ เพราะบนนั้น ถึงไม่มีเงินเราก็อยู่ได้”

ตาโอะ กล่าว

น้ำเสียงและแววตาของตาโอะสะท้อนความคิดความรู้สึกที่ชวนให้เราคิดว่า จะดีกว่าหรือไม่ ถ้ารัฐฟังเสียงความต้องการและเคารพในการตัดสินใจที่จะเลือกดำรงวิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ให้มากกว่านี้ เพื่อวางแผนนโยบายในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและไม่ทำร้ายกันไปเช่นนี้อีก

เสียงของสตรีบางกลอย: เมื่อเรือนจำคือพื้นที่ลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างที่สุด

ภายหลังพูดคุยกับตาโอะเสร็จสิ้น เดินไปไม่ไกลมากนัก เป็นบ้านของครอบครัวปานดุก และนั่นก็ทำให้เราได้พบกับ จุไรรัตน์ ปานดุก หญิงสาวแม่ลูกอ่อนที่ตัดสินใจหอบลูกน้อยวัยเพียง 9 เดือน และข้าวของที่จำเป็นกลับไปยังบ้านเกิดอย่างใจแผ่นดิน เพื่อหวังให้ลูกน้อยได้มีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ และดำรงวิถีชีวิตอย่างกะเหรี่ยงใจแผ่นดินที่ผูกพันกับธรรมชาติได้ แต่แล้วเจ้าหน้าที่ก็ได้สนธิกำลังเข้ามาจับกุมเธอกับลูกน้อยให้พลัดแยกออกจากกัน

“ตอนนั้นเราอุ้มลูกอยู่ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ก็เข้าไปดึงแขนเราข้างหนึ่ง พอชาวบ้านเห็นก็เข้ามาช่วยกันดึงขา สภาพตอนนั้นของเราจึงมือข้างหนึ่งอุ้มลูกไว้ อีกข้างหนึ่งเจ้าหน้าที่ก็ดึงแขน ส่วนชาวบ้านก็ช่วยกันดึงขา แต่ด้วยจำนวนของเจ้าหน้าที่มีมากกว่า ท้ายที่สุดเราก็เลยถูกลากขึ้นไปยังเฮลิคอปเตอร์”

จุไรรัตน์ กล่าว

นี่เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ในวันนั้นที่ จุไรรัตน์ ต้องพบเจอ การฉุดกระชากลากถูอย่างรุนแรงของเจ้าหน้าที่ เพียงเพื่อหวังว่าเธอจะต้องเดินตามขึ้นไปยังเฮลิคอปเตอร์อย่างไม่ขัดขืน เป็นผลให้ทั้งแขน ขา และใบหน้าของจุไรรัตน์อยู่ในอาการชา คล้ายจะวิงเวียนศีรษะ เนื่องจากความดันเลือดที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าอันตราย ก็ยิ่งทำให้ผู้เขียนรู้สึกสะเทือนใจเมื่อได้รับฟังมากขึ้น

แต่กระนั้น จุไรรัตน์ เล่าว่า เธอก็ยังพอโชคดีอยู่บ้าง ที่เฮลิคอปเตอร์ลำเดียวกันนั้นมีสามีของเธอนั่งมาด้วย เขาจึงเป็นบุคคลที่สามารถช่วยดูแลลูกน้อยให้อยู่รอดปลอดภัยได้ ท่ามกลางความเหนื่อยอ่อนที่แผ่ปกติคลุมร่างของจุไรรัตน์ จนคล้ายกับว่าจะหมดลมหายไปตอนนั้น

“เมื่อมาถึงสำนักงานของอุทยาน (แก่งกระจาน) เขาก็จับเราวัดความดัน แล้วบอกกับเราว่า ‘นี่กลัวใช่ไหม ความดันสูงมากเลยนะ’ หลังจากนั้นเขาก็ใช้สำลีก้านตวัดเข้ามาข้างกระพุ้งแก้มทั้งซ้ายและขวา แต่ที่แปลกใจก็คือ เขามากระตุกเส้นผมเราไปถึง 3 ครั้ง แล้วที่ดึงไปก็ไม่ใช่น้อยๆ แต่เป็นกระจุกเลย ซึ่งเขาก็ไม่ได้บอกว่าเอาไปทำอะไร แต่ผู้หญิงทุกคนที่ถูกจับจะโดนกันหมดเลย”

จุไรรัตน์ กล่าว

หากใครอ่านมาถึงจุดนี้ อาจสงสัยกับพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่อุทยาน ตำรวจชุดสอบสวน และเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ว่า การใช้สำลีก้านตวัดกระพุ้งแก้ม หรือการกระตุกเส้นผมนั้นมีจุดประสงค์ไปเพื่อสิ่งใด แต่สำหรับแวดวงการแพทย์ หรือนิติวิทยาศาสตร์

พฤติการณ์เหล่านี้คือการตรวจเก็บอัตลักษณ์จากสารพันธุกรรม (DNA Collection) ซึ่งถูกใช้มาก่อนหน้านี้แล้วกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการตรวจหา DNA ของผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย หรือคนรอบตัวของผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงของชาติ เพื่อนำไปสู่การหาหลักฐาน หรือแม้แต่การสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อเชื่อมโยงไปยังคนรอบตัวของผู้ต้องสงสัยได้ และนี่คือหนึ่งในพฤติการณ์ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ เนื่องจากสารพันธุกรรมเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่เจ้าหน้าที่จะมาตรวจเก็บตามอำเภอใจไม่ได้

จุไรรัตน์ เล่าให้ฟังต่อว่า หลังจากนั้นเขาก็พาตัวเธอไปทำเอกสาร ปั้มลายนิ้วมืออีกหลายนิ้ว จนเมื่อเวลาล่วงเลยไประยะหนึ่ง เจ้าหน้าที่อุทยานพร้อมด้วยตำรวจชุดสอบสวนจึงนำตัวเราไปศาลจังหวัดเพชรบุรี เพื่อทำเรื่องขออนุญาตฝากขัง วินาทีนั้น จุไรรัตน์ รู้ได้ในทันทีว่า วันนี้เธอคงไม่ได้กลับไปนอนที่บ้านเหมือนอย่างทุกคืนแน่นอน

และก็เป็นไปอย่างที่เธอคาดการณ์ไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานพาตัวเธอและบุคคลที่มีรายชื่อตามหมายจับอีก 21 คน ไปยังเรือนจำกลางจังหวัดเพชรบุรี ช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ที่เธอและลูกน้อยวัย 9 เดือนต้องแยกออกจากกันครั้งแรก โดยที่ทั้งเธอและลูกน้อยต่างไม่ยินยอม แต่ถึงจะไม่ยินยอมแค่ไหน เธอก็คงไม่มีสิทธิที่ออกเสียงค้านใดๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะตอนนี้เธอคือผู้ต้องขังในคดีบุกรุกป่า

เมื่อเข้ามาถึงห้องขัง จุไรรัตน์ เล่าให้เราฟังว่า ในห้องประกอบไปด้วย ฟูกนอน ผ้าห่มผืนเก่าๆ 1 ผืน ชักโครก และถังใส่น้ำ 1 ถัง เท่านั้น และคงไม่มีอะไรลำบากไปกว่าการที่ต้องอยู่และใช้งานสิ่งของเหล่านั้นจริงๆ

“ตอนที่อยู่ในเรือนจำ ต้องกินข้าว กินน้ำใช่ไหม แต่น้ำที่เขาได้กินคือน้ำที่เอาไว้ล้างก้น ข้าวนี่กินไม่ลง ก็ต้องฝืนกินให้ลง เพราะถ้าไม่กินก็อยู่ไม่ได้ใช่ไหม แต่หน้าตาของข้าวมันแบบ ขนาดอาหารของสัตว์มันยังน่ากินกว่านี้”

จุไรรัตน์ กล่าว

คำอธิบายที่ชวนให้เห็นภาพเหล่านี้ คือสิ่งที่ผู้ต้องขังทุกคนต้องเจอ ไม่เพียงแต่แค่พี่น้องบางกลอย แต่หมายรวมไปถึงเรือนจำทั่วประเทศ บ่งบอกให้เห็นว่า นอกจากเรือนจำจะเป็นสถานที่ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในแง่ของการลงโทษทางกฎหมายแล้ว สถานที่นี้ยังพรากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันควรเป็นสิ่งพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน แต่ดูเหมือนว่า แม้แต่น้ำ หรือข้าวปลาอาหารที่เป็นปัจจัยยังชีพลำดับแรกๆ ของมนุษย์กลับยังถูกทำให้ยากต่อการดำรงชีวิตต่ออย่างมาก สะท้อนให้เห็นหลักคิดของรัฐที่มีต่อบุคคลต้องขังที่ไม่ถูกทำให้เห็นว่าเป็นมนุษย์อีกต่อไปแล้ว

แต่สิ่งที่อาจเป็นเรื่องยากและทำให้ จุไรรัตน์ ลำบากใจมากขึ้นก็คือ ภาวะร่างกายของตนที่ยังให้นมลูก เป็นผลให้เธอยังคงมีอาการคัดน้ำนมอย่างต่อเนื่อง โดย จุไรรัตน์ ได้เล่าถึงการแก้ไขปัญหาภาวะร่างกายขณะนั้นว่า

“มีตอนแรกที่เจ้าหน้าที่เขาเอาน้ำขวดมาให้ ทีนี้พอกินน้ำหมดเราก็เก็บขวดไว้ เพราะน้ำนมเรามันไหลตลอดเวลา เราก็เลยต้องบีบใส่ขวด บีบจนได้สองขวด นี่ขนาดยังไม่ได้บีบออกมาหมดนะ”

จุไรรัตน์ กล่าว

ช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ผ่านพ้นไป เมื่อ 2 วันหลังจากนั้น ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวชาวบ้านบางกลอยทั้ง 22 คน โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ใดๆ แต่มีเงื่อนไขว่า ทุกคนจะต้องไม่กระทำการในลักษณะเดิมอีก แม้ว่าจนถึงขณะนี้ จุไรรัตน์ จะยังคงอยากกลับไปใช้ชีวิตอยู่บนใจแผ่นดินเช่นเดิม แต่ความกังวลที่มีต่อเจ้าหน้าที่อุทยานก็ทำให้เธอต้องพูดกับเราว่า

“จนถึงตอนนี้ เราก็ยังกลัวและกังวล เพราะตอนที่เขา (เจ้าหน้าที่รัฐ) ขึ้นไปจับพวกเรา พวกเขาใช้ความรุนแรงกับเรา หลังจากนี้เลยไม่รู้ว่า พวกเขาจะทำอะไรกับพวกเราอีกหรือเปล่า… ถ้า ณ ตอนนี้ยังทำขนาดนี้ แล้วต่อไปจะทำขนาดไหน”

จุไรรัตน์ กล่าว

หลังพูดคุยกันเสร็จสิ้น พวกเราได้จับมือและให้ขวัญกำลังใจ จุไรรัตน์ และชาวบ้านที่อยู่แถวนั้น ก่อนที่จะเดินทางออกจากหมู่บ้านบางกลอย-โป่งลึกในช่วงบ่ายด้วยความรู้สึกที่หลากหลาย สิ่งที่เราได้พบเห็น พบเจอ และรับรู้จากการมาพบชาวบ้านในครั้งนี้คือ พวกเขาต่างก็เป็นมนุษย์ผู้มีวิถีชีวิต และอัตลักษณ์ในแบบที่พวกเขาพึงต้องการมี และหากจะว่ากันในแง่ของสิทธิมนุษยชน วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม หรือแม้แต่ความเป็นชุมชนดั้งเดิมเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต่างควรได้รับการยอมรับและเข้าใจกันบนความต่าง

แต่ถ้าเมื่อใดที่เกิดปัญหาแล้วไม่ใช้การเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่กลับเลือกหยิบจับอาวุธมาเข่นฆ่ากันแล้ว ท้ายที่สุดปัญหาเหล่านี้ก็จะเรื้อรังไม่ต่างอะไรกับโรคที่รักษาไม่หาย และไม่นำมาซึ่งประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในทางใดอย่างแน่นอน

อ่านฉบับวารสารได้ที่:

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [1.27 MB]