เมื่อกฎหมายบ้านเมือง ทำร้ายกะเหรี่ยงบางกลอย เรื่องโดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

Share

งานด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญประการหนึ่งคือ การบันทึกข้อเท็จจริงเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เห็นเป็นปรากฎการณ์ และสถานการณ์ที่ชัดเจน ถูกต้องแม่นยำที่สุด โดยเฉพาะข้อเท็จจริงจากปากคำของผู้เสียหายที่ต้องเป็นศูนย์กลางของเรื่องเล่า อันจะนำมาสู่การทำหน้าที่ของรัฐในการแก้ไขปัญหาและปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน

ตัวอย่างนี้เป็นการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเมื่อกฎหมายบ้านเมืองทำร้าย กะเหรี่ยงบางกลอย กลไกสิทธิมนุษยชนในประเทศอ่อนแอ และไม่ทำงานตามหน้าที่ของตนทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยรวมทั้งหน่วยงานของรัฐในนามกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การบันทึกข้อเท็จจริงเหล่านี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อรายงานต่อองค์การระหว่างประเทศ

ทั้งกลไกกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีภาระผูกพันต้องปฏิบัติที่อาจมีมาตรการทางกฎหมาย นโยบาย และปฏิบัติที่แตกต่างและคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มเปราะบางได้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากกว่า

ลำดับเหตุการณ์เหล่านี้มีบันทึกว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564 มีชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมตัดสินใจเดินทางจากบ้านบางกลอยล่าง กลับขึ้นไปยังพื้นที่อยู่อาศัย และทำกินดั้งเดิมจำนวน 30-40 คน หลายครอบครัว ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 มีรายงานข่าวจาก อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า ชาวบ้านบางกลอยล่างกลุ่มหนึ่งไม่ทราบจำนวนแน่ชัด ได้พากันเดินทางเท้ากลับขึ้นไปยังหมู่บ้านบางกลอยบน ที่อยู่ในป่าใหญ่ใจแผ่นดิน

ภายหลังจากชาวบ้านบางกลอยทั้งหมู่บ้านถูกอพยพลงมาตั้งแต่ปี 2539 แต่ประสบปัญหาอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีที่ทำกิน และหนีกลับขึ้นไปอยู่บ้านเดิม จนกระทั่งอุทยานฯ ได้ใช้ยุทธการตะนาวศรีเผากระท่อม และยุ้งข้าวของชาวบ้านเมื่อปี 2554 และกดดันให้ชาวบ้านย้ายลงมาอยู่หมู่บ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึก 

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ได้มีการติดตามจับกุมดำเนินคดีต่อชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวอย่างรุนแรง และขัดต่อกฎหมายไทยและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บันทึกเหล่านี้จึงเป็นหลักฐานและพยานได้เป็นอย่างดีว่า เมื่อกฎหมายบ้านเมือง ทำร้าย กะเหรี่ยงบางกลอย ใครต้องรับผิดชอบ

ดีเดย์ 5 มีนาคม 2564 เมื่อรัฐตั้งหน้ารบกับชาวบ้านบางกลอย

บันทึกข้อเท็จจริงในชั้นจับกุม

– เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ 7.00 น. ในวันที่ 5 มีนาคม  2564 มีการนำกองกำลังขึ้นไปประจำการจำนวนหลายสิบคน และมีการปิดล้อมรอบพื้นที่พักของชาวบ้านจำนวนกว่า 80 คน
– ทุกคนถูกเรียกมาให้นั่งรวมกันแล้วมีเจ้าหน้าที่มาอ่านเอกสาร ให้ฟัง จับความได้ว่าเป็นการแจ้งข้อหา เรื่องการบุกรุกพื้นที่อุทยาน ชาวบ้านทั้งหมดเป็นชาวกะเหรี่ยงไม่สามารถรู้ และเข้าใจภาษาไทยโดยเฉพาะขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมายได้ดี
– ต่อมามีการพยายามจับกุมชายสามคนแรกในลักษณะที่รุนแรง และมีการจับใส่ข้อรัดมือ บังคับให้ขึ้นฮอลิคอปเตอร์
– มีบางคนที่ตัดสินใจเดินขึ้นไปด้วยตนเองไม่ขัดขืนหลังจากเหตุว่าอาจมีการใช้ความรุนแรงก็จะไม่ถูกพันธนาการ
– มีการใช้วาจาดุด่า เรื่องการไม่เชื่อฟังแล้วขึ้นมาทำไร่บนพื้นที่ป่าอุทยาน
– การจับกุมสตรีที่มีเด็ก มีการดึง และยือยึดกันเพราะว่าแม่ไม่ต้องการแยกออกจากเด็ก ทำให้ต่อมาต้องให้เด็กถูกควบคุมตัวมาด้วยบนฮอลิคอปเตอร์
– ชั้นสอบสวนที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาชาวบ้าน ทำเอกสารขั้นจับกุม และต่อมาส่งตัวไปเรือนจำเขากลิ้ง ในเขตอำนาจของศาลเพชรบุรี เพื่อควบคุมตัวตามอำนาจฝากขังของศาลเพชรบุรี
– มีการนำตัวบุคคลที่ถูกจับมาที่สำนักงานอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยฮอลิคอปเตอร์
– ต่อมามีการปิดกั้นไม่ให้บุคคลภายนอกซึ่งเป็นญาติ ตั้งแต่เวลา 10.00
– เวลา 10.00-14.00 มีความวุ่นวายเกิดขึ้น และหนักขึ้นเมื่อการเจรจาให้ญาติขอเข้าพบผู้ถูกจับจากใจแผ่นดินไม่ได้
– เวลา 14.00 มีทนายอาสาสมัครของมูลนิธิฯ และเป็นตัวแทนของสมาคมฯ ได้เดินทางไปถึงหน้าอุทยานแห่งชาติฯ ได้แสดงตนพร้อมบัตรประจำตัวทนายความแต่ไม่สามารถเข้าไปให้คำปรึกษากับผู้ถูกจับทั้งหมดได้ หรือแม้แต่การนำเสนอชื่อและจะติดตามเข้าไปพร้อมญาติก็ไม่สามารถดำเนินการได้
– เวลา 17.00 น ชาวบ้านถูกนำถึงรถราชการไปยังเรือนจำเขากลิ้ง จำนวน 22 คน โดยมีการแยกหญิง และเด็ก และบุคคลที่ไม่มีหมายจับให้เดินทางกลับบ้านได้ บุคคลจำนวน 20 คนถูกกร่อนผมในเรือนจำเขากลิ้ง อีกสองคนคือผู้อาวุโสสองคนที่มีผมยาวตามวิถีดั้งเดิม และมีผ้าพันศีรษะอยู่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องกร่อนผมหลังจากชาวบ้านได้ร้องขอ

ปากคำของชาวบ้านบางกลอยที่ถูกจับกุม เมื่อได้พบกับชาวบ้านหลังการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564

ผู้ต้องหา 22 รายได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มี.ค. 2564 โดยมีเงื่อนไขไม่ให้กลับขึ้นไปยังพื้นที่บางกลอยบนและต้องรายงานตัวกับผู้นำชุมนุนทุกๆ 12 วัน

– เอกสารที่ จนท. ตระเตรียมได้มีมาให้ลงลายมือชื่อโดยการประทับลายนิ้วมือโดยไม่ได้มีการถามตอบ
– จะมีทนายความร่วมอยู่หรือไม่ไม่ทราบ
– มีการจัดเก็บน้ำลาย (ด้วยไม้พันสำลีทั้งจากแก้มซ้ายและขวา)
– มีการจัดเก็บเส้นผมใส่ในถุงพลาสติก
– มีการเจาะเลือดบนนิ้วใดนิ้วหนึ่ง
– มีการลงลายมือชื่อในเอกสารที่ไม่ได้อ่าน
– การเก็บดีเอ็นเอเก็บทั้งผู้ใหญ่ หญิง เด็ก รวมแล้วกว่า 80 กว่าคน
– ไม่มีการอ่านเอกสารให้ฟังเพื่อให้เข้าใจก่อนลงลายมือชื่อ ในเอกสารหรือในกล่องบรรจุหลักฐานทางพันธุกรรม
– ชาวบ้านเกือบทั้งหมดไม่สามารถพูดภาษาไทยได้
– บางคนพูดได้แต่ก็ไม่สามารถอ่านเอกสารภาษาไทยได้ให้เข้าใจ
– แต่ละคนจะถูกพาไปที่ละขั้นตอนให้เดินต่อๆ กัน โดยไม่เข้าใจและไม่สามารถปฏิเสธได้
– ทุกคนที่สัมภาษณ์เซ็นเอกสารหรือประทับลายนิ้วมือเอกสารไม่น้อยกว่า 5 ครั้งโดยไม่ได้อ่าน และไม่เข้าใจเอกสาร
– จะเป็นเอกสารยินยอมการตรวจสารพันธุกรรมหรือไม่ก็ไม่เข้าใจ
– จะเป็นเอกสารยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหาก็ไม่รู้
– จะเป็นเอกสารเรื่องการขอฝากขังหรือไม่ชาวบ้านก็ไม่รู้

ในชั้นตอนการสั่งฟ้องหรือฝากขัง

– ชาวบ้านจำนวน 22 คนถูกนำตัวขึ้นรถไปโดยตอนแรกจะไปที สภอ.แก่งกระจาน ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมายต่อมาบอกว่าจะพาไปที่ศาลเพชรบุรีเพื่อสั่งฟ้องต่อศาลแล้วจะมีการประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์ 60,000 บาทต่อคน
– ต่อมาเวลาประมาณ 17.00-18.00 เริ่มมีการนำชาวบ้านขึ้นรถไปเรือนจำเขากลิ้ง โดยไม่ต้องนำตัวไปศาลฯ

สภาพในเรือนจำ

– พบว่าเรือนจำเขากลิ้งเป็นเรือนจำเพื่อรองรับผู้ต้องขังสิ้นสุดจะออกจากการควบคุม เป็นเรือนจำเกษตร
– มีการโกนผมผู้ต้องขังทุกคนตามหมายจับที่ไม่ได้รับการประกันตัว
– ยกเว้นชาวบ้านสองคนที่ระบุว่าตนไม่ต้องการโกนศีรษะ
– ผู้ต้องขังหญิงที่มีบุตรเล็กไม่สามารถนำบุตรอายุไม่ถึงหนึ่งปีเข้าไปด้วยได้ จึงมีภาวะที่เด็กร้องไห้ และแม่ที่ต้องให้นมมีความเจ็บปวดจากนมที่คัดเต้า จนต้องบีบนมใส่ขวดไว้ได้จำนวนมากแต่ไม่สามารถส่งมอบให้ลูกได้
– ที่เรือนจำไม่มีน้ำดื่มเป็นเฉพาะ ต้องดื่มน้ำจากห้องน้ำ มีความยากลำบากมาก

ต่อมาเมื่อวันนี้ (26 มี.ค. 2564) เวลา 8.30 น. ณ สภ. แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ชาวบ้านบางกลอย จำนวน 7 คน ได้เดินทางจากหมู่บ้านบางกลอยล่าง ระยะทาง 30 กิโลเมตรแต่ต้องใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงเพื่อเข้ามอบตัวตามหมายจับ ภายหลังได้รับหมายจับจากศาลเพชรบุรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา เป็นผลให้ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานสนธิกำลังเข้าจับกุมชาวบ้านบางกลอยทั้งหมด 87 คน

ก่อนจะจับกุมชาวบ้านที่มีอยู่ในรายชื่อหมายจับจำนวน 22 คน จาก 30 คน และฝากขังในเรือนจำกลางจังหวัดเพชรบุรี พร้อมทั้งโกนศีรษะ ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 7 มี.ค. 2564 หลังเข้ามอบตัว ได้เข้ารับข้อกล่าวหาว่า ชาวบ้านละเมิด มาตรา 19 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 41 และ 42 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2562 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สี่ถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่แสนถึงสองล้านบาท

เมื่อกลไกทางปกครอง ก็ไม่มีใครคุ้มครองชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

ระหว่างวันที่ 9 มี.ค. 2564 คือวันแรกที่ชาวบ้านจำนวนกว่า 50 คน ได้เดินเท้าขึ้นไปบนพื้นป่าบางกลอยบ้านบ้านเกิดและที่ทำกินของบรรพบุรุษ มีความพยายามในการดำเนินการทางปกครองเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ลำดับเหตุการณ์นี้เป็นบันทึกเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงว่ากลไกทางปกครอง ก็ไม่มีใครคุ้มครองชาว กะเหรี่ยงบางกลอย

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 ช่วงเช้า นาย พิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นาย มานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ปกครอง พัฒนาความมั่นคงมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปในพื้นที่โป่งลึก-บางกลอย ก็มีการเปิดภาพไร่หมุนเวียนที่ชาวบ้านแผ้วถาง เปิดเผยข้อมูลการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดูยังไงก็ไม่เป็นความจริง อ้างว่าแก้ปัญหาให้หมดแล้ว และพยายามเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านกลับลงมา

วันที่ 28 ม.ค. 2564 นาย จงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยคณะข้าราชการ ทส. นาย ณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ตรวจพื้นที่ป่าใจแผ่นดิน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อสำรวจพื้นที่ภายหลังจากที่ชาวบ้านบางกลอยอพยพกลับไปอยู่ในหมู่บ้านดั้งเดิมตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม

หลังจากนั้นทั้งหมดได้เดินทางมายังหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย โดยได้ประชุมร่วมกับชาวบ้านประมาณ 150 คน และนาย ประยงค์ ดอกลำใย ผู้แทน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) นายจงคล้าย พยายามชี้แจงว่าอย่าไปพูดถึงอดีต และเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านลงมา จะจัดหาที่ให้ ระหว่างรอจัดหาที่จะหางานให้

วันที่ 2 ก.พ. 2564 ช่วงเช้า รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นาย ประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล และคณะ ได้เข้าไปในพื้นที่บ้านบางกลอยล่าง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หารือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับแกนนำชุมชนและญาติของชาวบางกลอยล่างที่กลับขึ้นไปบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน แต่ปรากฏว่าท่าทีของหน่วยงานรัฐไม่ได้ดีขึ้น และมีการข่มขู่ชาวบ้านว่าหากไม่ลงมาจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน จะมีการดำเนินคดี

ในวันเดียวกัน 2 ก.พ. เวลาประมาณ 19.00 น. ได้รับรายงานจากชุมชนว่า ชุดลาดตระเวนของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เดินทางมาถึงหมู่บ้านบางกลอยล่างเตรียมพร้อมจะเดินขึ้นไปใจแผ่นดินในวันพรุ่งนี้เช้า เป้าหมายเพื่อเจรจาให้ลงมา หากไม่ลงมาจะขึ้นไปดำเนินคดีอีกครั้งหนึ่ง

ในระหว่างวันที่ 5-7 ก.พ. 2564 ชาวบ้านบางกลอยได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องความปลอดภัยด้วยว่า มีการห้ามไม่ให้ส่งข้าวสารและข้าวทำพิธีกรรม ในวันที่จะมีกิจกรรมการทำขวัญข้าว และมีการขู่ว่าจะไม่ให้สัญชาติ หรือชักชวนให้เดินทางลงมาเพื่อให้ดำเนินเรื่องสัญชาติในทันที ถ้าไม่ลงมาก็จะไม่ได้สัญชาติ เป็นต้น หรือกรณีที่มีใบปลิวเผยแพร่ในวันที่ 3 ก.พ. และ วันที่ 5 ก.พ. มีข้อความและรูปแบบที่ทำให้เกิดความหวาดกล้ว จากการข่มขู่ว่าจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย

ปรากฎการณ์ #SAVEบางกลอย ของคนรุ่นใหม่

การชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในกรุงเทพในนาม #SAVEบางกลอย สร้างปรากฎการณ์ใหม่ในการเรียกร้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย เริ่มจากเมื่อในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 มีการจัดกิจกรรมหน้า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กลุ่มเยาวชนได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนา “คืนศักดิ์ศรี และความเป็นธรรมให้กะเหรี่ยงใจแผ่นดิน”

และต่อมาได้มีการประกาศชุมนุมในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ โดยจะมี ชาว กะเหรี่ยงบางกลอย บางส่วนจะขึ้นมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเป็นธรรมที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ทำให้เกิดข้อตกลงเป็นเอกสารการลงนามร่วมกับ นาย วราวุธ ศิลปอาชา รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากบางกลอย จะไม่มีการคุกคามพี่น้องบ้านบางกลอยลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564

แต่เมื่อมีข่าวมาจากในพื้นที่ว่าเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ เริ่มมีการติดตาม และกดดันชาวบ้านบางกลอยให้อพยพกลับลงมายังพื้นที่บางกลอยล่างที่ชาวบ้านระบุว่าไม่สามารถทำกินได้และไม่ยินยอมที่จะเดินทางกลับลงมา แม้ส่วนหนึ่งจะถูกกดดันและกลับลงมา ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ภาคี SAVEบางกลอย เริ่มประกาศนัดชุมนุมครั้งแรกที่บริเวณแยกปทุมวัน กรุงเทพฯ หลังจากเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้สนธิกำลังกับเจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคง ทหาร-ตำรวจตระเวนชายแดน ขึ้นไปบนพื้นที่บางกลอยบน ในยุทธการพิทักษ์ต้นน้ำเพชร

และต่อมาในวันที่ 5 มีนาคม 2564 ก็โดยสนธิกำลังทหาร-ตำรวจ มากกว่า 100 นาย และใช้เฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ ในการบุกไปจับตัวชาวกะเหรี่ยง ที่อยู่ในเขตใจแผ่นดิน และบางกลอยบน ลงมาที่ภาคพื้นด้านล่าง สุดท้ายก็ลำเลียงชาวบ้าน 85 คนลงมาได้สำเร็จ

กิจกรรม #SAVEบางกลอยมีความเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับทั้งในสื่อออนไลน์ และการปักหลักชุมนุมเรียกร้องสิทธิให้กับชาวกะเหรี่ยงโดยการชูประเด็นเรื่องพาชาวบางกลอยกลับบ้าน โดยมีดารา นักร้องมาปราศรัยและแสดงความเห็นสนับสนุนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล การชุมนุมติดต่อกันเกือบสองเดือนสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองได้อย่างมีนัยสำคัญ ชาวบ้านบางกลอยได้เข้ามาร่วมชุมนุมด้วยตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2564

ภาคี #SAVEบางกลอย ได้ส่งชาวบ้านบางกลอยเดินทางกลับบ้าน หลังจากรัฐบาลได้ลงนามใน 4 ข้อเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามที่ชาวบ้านบางกลอยเสนอผ่าน ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลถูกส่งต่อให้ หมู่บ้านทะลุฟ้า

และต่อมารัฐบาลก็เลือกจะใช้ความรุนแรงอีกครั้ง โดยเมื่อเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 29 มีนาคม หลังจากการเข้ากระชับพื้นที่ทั้งทางฝั่งสะพานชมัยมรุเชฐ และสะพานอรทัย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ที่อยู่ในพื้นที่ได้ทั้งหมด 64 คน ไปสอบสวน กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภ.1) จ.ปทุมธานี ไปดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.บ. โรคติดต่อ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นอันยุติการชุมนุมเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของชาวบ้านบางกลอยที่ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ต่อไป

ข้อเรียกร้องของชาวบ้านบางกลอยบนทั้ง 4 ข้อ จะได้รับการแก้ไขได้อย่างไรหากเมื่อกฎหมายบ้านเมือง ทำร้าย กะเหรี่ยงบางกลอย

1. ให้ชาวบ้านกลับไปได้ดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ ขอแนวทางที่ชัดเจน ทางกรมฯ บอกว่าไมได้ ติดคำพิพากษาศาลไม่ได้ผูกพันคนที่ฟ้องคดี ไม่เช่นนั้นกรมอุทยานจะต้องจ่ายทั้งหมดทุกคนที่ถูกเผา
2. ยุติการใช้กำลังจุดตรวจ ลาดตระเวณ การข่มขู่คุกคามยังคงเกิดขึ้น อยากให้ลงพื้นที่ไปด้วยกันในวันที่ 19 ก.พ. 2564
3. ยุติการขัดขวางการนำข้าวเข้าสู่บ้านบางกลอยบน ร้านค้าไม่ยอมขายให้ถูกสกัดไม่ให้ขายเพราะจะเอาเสบียงไปทำลายป่า
4. ให้รัฐบาลปฏิบัติตามมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 เราได้นำเสนอตลอดว่า เราต้องใช้มติครม.นี้บูรณาการให้กับ ม.64 รัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน
5. ให้ชาวบ้านที่ประสงค์จะอยู่บางกลอยล่างให้ดำรงชีวิตอยู่โดยจัดสรรที่ตามความเหมาะสม

อ่านฉบับเล่มวารสารได้ที่:

Exit mobile version