[:th]CrCF Logo[:]
[:th]SAVE บางกลอย[:]

ทำไมต้อง #SAVEบางกลอย? เข้าบางกลอย เข้าใจการจัดการป่าไม้ไทย เรื่องโดย ขวัญเรียม จิตอารีย์

Share

บ้านใจแผ่นดิน ปรากฏครั้งแรกในแผนที่ทหาร ปี 2455 เราคงไม่รู้จักใจแผ่นดิน และบ้านบางกลอย หากไม่มีการประกาศเขต อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในปี 2524 อุทยานแห่งชาติลําดับที่ 28 นี้เกิดหลังหมู่บ้านในแผนที่ข้างต้นถึง 69 ปี

รวมถึง พ.ร.บ. อุทยาน แห่งชาติที่ออกมาในปี 2504 ที่เกิดขึ้นตามหลังถึง 50 ปี แต่ถึง กระนั้นชาวชุมชนก็ยังถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่ด้วยแนวคิดใน การอนุรักษ์จัดการป่าที่ต้องการให้ป่านั้นปลอดคน ต่อมาในปี 2539 จึงมีการอพยพชาวบ้านใจแผ่นดิน และบางกลอยบนจํานวน 57 ครัวเรือน รวม 391 คนลงมายังที่ดินจัดสรรบ้านโป่งลึก-บางกลอย

แต่ที่ดินที่ดังกล่าวไม่อาจปลูกข้าวให้พอกินได้ เพราะเป็นดินหินแข็ง ไร้คุณภาพ แหล่งน้ําไม่เพียงพอ มีเพียงไม่กี่ครัวเรือนเท่านั้นที่ ปลูกข้าวได้ ซ้ําร้ายบางครอบครัวได้ที่ดินเพียงน้อยนิด และไม่ได้เลย แม้ผีกกระพี้ก็มี จำต้องออกไปเป็นแรงงานรับจ้าง แบกรับหนี้สินจากการรเชื่อข้าวของจากร้านชำ วิถีวัฒนธรรมค่อยๆ กร่อนตัวเองลงไปเป็นเรื่องเล่าสำหรับคนรุ่นหลัง มีเพียงบ้านเกิดเท่านั้นที่ชาวบ้านจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

ผู้บุกรุกในบ้านของตัวเอง

แม้บางครอบครัวจะอยู่ต่อ แต่ ปู่คออี้ พร้อมลูกหลานอีกไม่น้อยก็เลือกกลับสู่ใจแผ่นดินหลังจากย้ายลงมาไม่กี่เดือน กลับมา ปลูกบ้านปลูกข้าวไร่ ผืนป่า ลําห้วย และไร่ข้าวมิได้เปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือความหมายในการเป็นเจ้าของป่าของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นานวันการกระทบกระทั่งระหว่างชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่อุทยานยิ่งเพิ่มขึ้น

มีการเผาบ้านชาวบ้านครั้งแรกในปี 2540 และต่อมาในปี 2553 ครม.ได้เสนอกลุ่มป่าแก่งกระจาน พื้นที่ 2.9 ล้านไร่ ให้ยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกโลก เพราะเป็นผืนป่าที่อุดม สมบูรณ์ หากขึ้นทะเบียนสําเร็จจะนํามาซึ่งรายได้จากการเป็นแหล่ง ท่องเที่ยว การดํารงอยู่ของชาวบ้านบางกลอย และใจแผ่นดินจึงถูกมองเป็นเงื่อนปมหนึ่งที่รัฐบาลต้องจัดการ แต่แทนที่จะคลายปมกลับ เลือกการตัดปมทิ้ง ปี 2553 มีการผลักดันขับไล่ชาวบ้าน 12 จุดใน พื้นที่ และผลักดันคนออกเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง

แม้ปฏิบัติการนั้น จะทํากันอย่างเงียบเชียบราวกับไม่ต้องการให้ใครรู้เห็น แต่ข่าว เฮลิคอปเตอร์ของทหารที่ตกในป่าแก่งกระจาน 3 ลํา มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 16 คน และนักข่าวอีก 1 คนจากภารกิจผลักดันชนกลุ่มน้อยชายแดนไทย-พม่าในเดือนพฤษภาคม 2554 นั่นทําให้เรา ได้รู้ว่ามี “ยุทธการตะนาวศรี” มีเจ้าหน้าที่อุทยานโรยตัวจาก เฮลิคอปเตอร์ลงไปจับกุมและขับไล่ชาวบ้าน มีการเผาบ้าน เผายุ้งข้าวและยึดข้าวของทรัพย์สิน

ชาวบ้านถูกผลักดันกลับมาอยู่ที่ บางกลอยล่างอีกครั้ง ซึ่งระหว่างปี 2553-2554 มีการเข้ารื้อทําลาย บ้านชาวบ้านถึง 6 ครั้ง จน ปู่คออี้ และชาวบ้านรวม 6 คนยื่นฟ้อง กรมอุทยานที่กระทําการละเมิดสิทธิมนุษยชน เผาบ้าน และยุ้งฉาง ทําให้มีชาวบ้านเดือดร้อนถึง 98 ครัวเรือน กรมอุทยานต้องชดใช้ และขอสิทธิให้ชาวบ้านกลับไปอยู่อาศัย และทํากินในที่ดินเดิม

พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ หลานชาย ปู่คออี้ เป็นคนหนึ่งที่มี ข้อมูลหลักฐาน และถือเป็นพยานคนสําคัญ ทั้งยังเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตําบลห้วยแม่เพรียงด้วย แต่ต่อมาในเดือน เมษายน 2557 หนึ่งเดือนก่อนการพิจารณาตัดสินคดี บิลลี่กลับ หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จน พิณนภา พฤกษาพรรณ (มีนอ) ภรรยา ของบิลลี่ ต้องยื่นหนังสือถึง องค์การสหประชาชาติสํานักงาน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชน (UN) ให้เข้ามาช่วยติดตามคดี

และ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2558 ได้ยื่นคําร้องต่อ กรมสอบสวนคดี พิเศษ (DSI) ให้รับคดีการหายตัวของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ ขณะเดียวกันนี้ชาวบ้านก็ยังร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อยืนยันสิทธิที่จะกลับไปอยู่ในที่ดินเดิม ที่บางกลอยบน และใจแผ่นดิน ที่ที่ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกบ้านของตนเอง เป็นผู้แบกรับความเจ็บปวด และสูญเสีย ขณะที่อีกฝั่งถือตนเป็นผู้ครอบครอง และไม่เคย มองป่าเป็นบ้านเลยด้วยซ้ํา

ค่าเรียกขานผ่านม่านมายา

“ชนเผ่าพื้นเมือง” เรารู้จักกัน และกันมากน้อยแค่ไหน นอกจากชุดชนเผ่าที่ดูแปลกตา ภาษาที่ฟังไม่คุ้นหู จริงๆ แล้วเรา อาจแทบไม่รู้จักกันเลยก็เป็นได้ หรือเราอาจรับรู้ในอีกความหมายหนึ่ง เช่น ที่ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ถูกทําให้รับรู้เช่นเดียวกับ ชนเผ่ากลุ่มอื่นๆ ที่ถูกมองว่า ชาวเขาตัดไม้ทําลายป่า ชาวเขาทําไร่ เลื่อนลอย ชาวเขาค้ายาเสพติด ชาวเขาล่าสัตว์ป่าเพื่อขาย และ ชาวเขาไม่ใช่คนไทย มายาคติผ่านถ้อยคําเหล่านี้ถูกส่งต่อผ่าน แบบเรียนและสื่อต่างๆ ผลิตซ้ํามาอย่างยาวนาน การผลักไสให้ พวกเขาออกจากป่าจึงดูเหมือนเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

จาก ยุทธการตะนาวศรี ที่นําโดยอุทยานแห่งชาติแก่ง กระจาน มีนาย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานเป็นผู้นํา ปฏิบัติการในปี 2554 ยืนยันว่าชาวบ้านที่ถูกเผาเพิงพักชั่วคราวนั้น เป็น “กะหร่าง” กองกําลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ KNU (Karen National Union) หรือกะเหรี่ยงเคเอ็นยูที่อพยพข้ามชายแดนเข้า มาบุกรุก แผ้วถางป่า ทําไร่เลื่อนลอยเพื่อสะสมข้าวเป็นเสบียงส่งให้ กองกําลังติดอาวุธ แสดงว่าปู่คอและลูกหลานไม่ใช่คนไทยหรือ?

บ้านเรือน และยุ้งข้าวกลายเป็นเพิงพักชั่วคราวไปได้อย่างไร? และการ ทําไร่หมุนเวียนที่ทํากันก่อนจะมีอุทยานแห่งชาตินั้นกลายเป็นการทําไร่เลื่อนลอยเพื่อส่งเสบียงไปได้อย่างไร? โดยเฉพาะการทําให้การทําไร่เลื่อนลอยกับไร่หมุนเวียนเป็นสิ่งเดียวกัน โดยเชื่อว่าชาวบ้านจะถางป่าเพื่อทําไร่ไปเรื่อยๆ จนภูเขาหัวโล้น แต่ในความ เป็นจริงคือ การทําไร่หมุนเวียนไปในที่ดินเดิมซึ่งมีอยู่หลายแปลง เวียนกันไปตามลําดับและวนซ้ําโดยไม่ต้องถางไร่เพิ่มเพื่อให้ดินฟื้นตัวตามธรรมชาติ

ไร่หนึ่งๆ อาจเว้นระยะ 3-7 ปีต่อรอบ หากไร่แปลง ไหนดินดีน้ําดีอาจเว้นระยะแค่ 2 ปีก็กลับมาถางใหม่ได้ แต่เดิมชาว บางกลอย-ใจแผ่นดิน มีข้าวพอกินในครัวเรือน แต่เมื่อย้ายลงไป บางกลอยล่างที่ไม่อาจปลูกข้าวเลี้ยงชีพได้ การหวนคืนสู่แผ่นดิน ถิ่นเดิมจึงเป็นทางเลือกเดียว แม้จะต้องเผชิญกับการผลักไสของ เจ้าหน้าที่อุทยานก็ตาม

“เราไม่ได้โกงหรือแย่งชิงที่ดินของใครมา เพราะน้ํานมหยดแรก เราก็ดื่มที่นี่ ข้าวเม็ดแรก เราก็กินที่นี่ รอยเท้าแรก เราก็ย่ำที่นี่ เราอยากกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินเหมือนเดิม”

ถ้อยคําของ ปู่คออี้ ที่ ฝากลูกหลานมารับรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจําปี 2560 จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในวัน สิทธิมนุษยชนสากล (10 ธ.ค.) แทนตนที่แก่ชรามากแล้ว

ต่อมาใน ปี 2561 ศาลปกครองตัดสินให้กรมอุทยานชดเชยค่าเสียหายให้ ชาวบ้านทั้ง 6 คน แต่ไม่ยินยอมให้กลับไปอยู่อาศัย และทํากินใน ที่ดินเดิม เพราะเป็นที่ดินในเขตอุทยาน และชาวบ้านไม่มีเอกสาร สําคัญแสดงสิทธิในที่ดิน หรือการได้รับอนุญาตจากราชการ ศาลจึง ไม่อาจบังคับให้ผู้ฟ้องร้องกลับไปอยู่อาศัย และทํากินในที่ดินเดิมได้ และท้ายที่สุด ปู่คออี้ ก็ได้เสียชีวิตลงในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนี้ โดยไม่ได้หวนคืนสู่ใจแผ่นดินอีกเลย

นอกจากมายาคติเรื่องไร่เลื่อนลอยแล้ว คนชนเผ่ายังหนีไม่พ้นคําว่า “ไม่ใช่คนไทย” ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าไหนอันจะเห็นได้จากปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิที่เรื้อรังยาวนาน มีคนไทยไร้สิทธิ อยู่ทั่วประเทศที่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตรประจําตัวประชาชน ไม่ได้สิทธิ บริการสุขภาพ การศึกษา การจ้างงาน การถือครองที่ดิน ฯลฯ แม้พวกเขาจะเกิดบนผืนดินไทยก็ตาม สําหรับที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน มีหลักฐานยืนยันสถานะบุคคลที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็น การสํารวจข้อมูลบุคคลในบ้าน ทรชข.

โดยศูนย์ชาวเขากาญจนบุรี ปี 2531 การแจกเหรียญชาวเขาโดยนายอําเภอปี 2514 การตั้ง หมู่บ้านเป็นบ้านบางกลอย หมู่ 7 ต.สองพี่น้อง มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกในปี 2518 และการทําบัตรประจําตัวประชาชนของชาวบ้านใน ปี 2534 และ 2538 แล้วการผลักดันชาวบางกลอย-ใจแผ่นดินให้ เป็นคนอื่นของอุทยานฯมีความหมายเช่นไร?

ทางเลือกสุดท้าย

ผ่านไปนานถึง 5 ปี หลังจากบิลลี่ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ อุทยานฯซึ่งอ้างว่าปล่อยตัวแล้ว ได้หายสาบสูญ ต่อมามีการพบ โครงกระดูกในถังน้ํามัน ในปี 2562 ตรวจยืนยัน DNA ชัดเจนว่า เป็นบิลลี่ เขาถูกอุ้มฆ่า ความสูญเสียใหญ่หลวงนี้มิใช่แค่บิลลี่ยังมี ทัศน์กมล โอบอ้อม หรืออาจารย์อ๊อด ผู้ที่เข้ามาประสานความช่วย เหลือต่างๆ ให้กับชาวบางกลอยที่ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 10 กันยายน 2554

จนกระทั่งบัดนี้ทั้งสองคดียังไม่อาจหาตัวผู้กระทําผิดได้ เมื่อ อุทยานที่หมายมุ่งให้เป็นมรดกโลกอาบไปด้วยเลือดและความ คับแค้นของผู้คน ข้อเสนอเป็นมรดกโลกจึงถูกที่ประชุมยูเนสโก ตีกลับมาเพื่อให้ทางประเทศไทยจัดการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องเหมาะสมก่อน

ขณะที่เส้นทางชีวิตเพียงทางเดียวบีบแคบเข้าเรื่อยๆ ชาวบางกลอยจึงยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลกเรียกร้องให้ 1.จัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 7 ไร่ รวม 107 ครัวเรือนที่บางกลอย ล่าง 2.ขอกลับไปทําไร่หมุนเวียนบนที่ดินเดิม 3.ชาวบ้านบางส่วน ขอกลับไปอยู่หมู่บ้านเดิม (บางกลอยบนใจแผ่นดิน) เพราะการ ดํารงชีวิตที่บางกลอยล่างไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีโครงการช่วยเหลือ ถึงร้อยกว่าโครงการ แต่การปลูกข้าวได้ไม่พอกิน ที่ดินทําการเกษตร ไม่ได้ผล

ยิ่งสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานข้ามปี งานรับจ้างก็ไม่มี ความเป็นอยู่จึงยิ่งอัตคัดขัดสน ชาวบ้าน 50 คน จึงตัดสินใจกลับบางกลอยบนใจแผ่นดินเพื่อปลูกข้าวไร่ ในเดือน มกราคมปีนี้ (2564) ต่อมาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ อุทยานฯ ได้เผย ภาพพื้นที่ป่าถูกแผ้วถางจากมุมภาพถ่ายทางอากาศ 18 แปลง รวม เป็น 154 ไร่ อีก 4 วันถัดมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ อุทยานฯ ได้แจ้ง จับชาวบ้านข้อหาบุกรุกป่าตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ

แม้หลายองค์กรสิทธิจะแสดงภาพถ่ายทางอากาศที่อธิบายได้ว่าพื้นที่ที่แผ้วถางเป็นไร่เดิมที่ชาวบ้านเคยทํามาก่อน แต่อุทยานยังยืนยันให้ ชาวบ้านออกจากพื้นที่เช่นเดิม ต่อมาในวันที่ 5 มีนาคม ยุทธการ พิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรได้บังคับชาวบ้านโยกย้ายออกนอกพื้นที่โดยคุมตัวชาวบ้านทั้งผู้ใหญ่ และเด็กรวม 85 คนลําเลียงขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ลงมาที่สํานักงานอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จากนั้นจึงจับกุม ชาวบ้าน 22 คนตามที่แจ้งข้อหาไว้

ในนี้รวมหน่อแอ๊ะ ชายพิการ เดินไม่ได้วัย 59 ปี ลูกชาย ปู่คออี้ และหญิงที่ต้องให้นมลูกเล็กด้วย พวกเขาถูกฝากขังที่ศาลเพชรบุรี และถูกส่งเข้าเรือนจําเขากลิ้ง ก่อน จะถูกปล่อยตัวในอีก 2 วันต่อมาโดยไม่รู้ว่ามาจากคําสั่งใด ส่วนคดี เผาบ้านและยุ้งข้าวในเดือนพฤษภาคม ปี 2554 ใช้เวลาพิจารณา คดีถึง 9 ปี

นาย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ ถูกตัดสิน ให้ออกจากราชการเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถ้าครบ 10 ปีใน เดือนพฤษภาคมปีนี้คดีจะหมดอายุความในทันที #SAVEบางกลอย กลายเป็นกระแสร้อนแรงขึ้นเมื่อข่าวการจับกุมชาวบ้านเผยแพร่ในวงกว้าง ขณะเดียวกันการประชุมพิจารณามรดกโลกครั้งต่อไปก็ใกล้ เข้ามาทุกที ตามกําหนดการจะจัดขึ้นระหว่างมิถุนายน-กรกฎาคม ปี 2564 ก่อนจะถึงเวลานั้นเรายังไม่อาจรู้ได้ว่าปัญหาของชาวบ้านบางกลอยจะมีทางออกต่อไปเช่นไร

ทางที่ไม่ถูกเลือก กับอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ป่าไม้ (อังกฤษ: Forest, Jungle) ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 หมายถึง ที่ดินที่ไม่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้มาซึ่ง กรรมสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมายที่ดิน หากเราย้อนกลับไปมองการจัดการป่าไม้ของไทยจะพบว่าเริ่มขึ้นเมื่อมีการสัมปทานป่าสมัย ร.5 จากที่อังกฤษได้สัมปทานทําไม้ในอินเดีย และพม่าทําให้ทางฝั่งสยามที่กําลังรวบอํานาจจากหัวเมืองต่างๆ เข้าสู่ศูนย์กลาง เริ่มระบบจัดการป่าไม้ รัฐบาลกลางได้การเจรจาแบ่งผลประโยชน์ กับเจ้านายระดับหัวเมืองที่ถือครองการสัมปทานไม้อยู่ และสามารถควบคุมกิจการได้ในเวลาต่อมา

พร้อมกันนั้นโครงสร้างอํานาจของ รัฐรวมศูนย์เริ่มเข้ารูปเข้ารอย มีการตั้งกรมป่าไม้ในปี 2439 โดยมี Mr. H.A. Slade คนของรัฐบาลอินเดียจากอังกฤษที่มาดูแลการ ทําไม้ในพม่าให้เข้ามาดูแลระบบการสัมปทานและจัดการป่าไม้ของไทยในตําแหน่งเจ้ากรมป่าไม้ และได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ และกฎหมายต่างๆ เพื่อควบคุมกิจการป่าไม้ และที่ดินของ รัฐบาลกลางโดยลําดับ

ช่น การประกาศออกโฉนดที่ดิน พ.ศ. 2456 ตามมาด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2473 พระราช บัญญัติสงวน และคุ้มครองป่า พ.ศ. 2481 พระราชบัญญัติให้ใช้ ประมวลกฎหมายที่ดิน และประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497

โดยเฉพาะการออกพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับ เดียวกันนี้ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2532) กลับอนุญาตให้เอกชน เข้ามาใช้พื้นที่ป่าได้ การสร้างอํานาจเหนือดินแดนของรัฐได้กําหนดต้องถูกขับออก ขอบเขตพื้นที่ภูมิศาสตร์ และข้อบังคับกับผู้คนในพื้นที่ ชาวบ้านที่อยู่ มาก่อนแต่ไม่มีเอกสารสิทธ์จึงกลายเป็นผู้กระทําผิด จากป่าตามเงื่อนไขที่รัฐเป็นผู้กําหนดขึ้น เช่นกรณีบ้านบางกลอย ใจแผ่นดินกับ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ถึงฉบับปัจุบัน (2562)

แม้ว่าการสัมปทานป่าไม้ในประเทศไทยจะถูกยกเลิกไป ตั้งแต่ปี 2532 แต่การจัดการป่ายังเป็นปัญหาอยู่จนถึงทุกวันนี้ เพราะรัฐไม่เคยมองเห็นคนผู้อยู่ร่วมกับป่าตั้งแต่เริ่มแรกครั้งเข้ามาสัมปทานป่าตัดไม้ขายแล้ว จึงเป็นเหตุผลซึ่งดูย้อนแย้งที่ป่าจะหมายถึงที่ดินที่ไม่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ครอบครอง ตามกฎหมายที่ดิน ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ดังที่ได้กล่าวข้างต้น แต่เอกชนไม่น้อยยังมีอภิสิทธิ์เข้ามาครอบครองและใช้ประโยชน์ จากป่า ซ้ำยังรวมไปถึงหน่วยงานรัฐที่ทําผิดเสียเอง

เช่นกรณีบ้าน ป่าแหว่ง จ.เชียงใหม่ แม้ประชาชนจะการลุกขึ้นเรียกร้องการมี ส่วนร่วมในการจัดการป่าตั้งแต่หลังเลิกสัมปทานป่าของรัฐผ่านร่าง กฎหมายป่าชุมชน จนถึงวันนี้เรายังไม่ได้ พ.ร.บ. ป่าชุมชนฉบับ ประชาชน ทั้งยังมีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ของกระทรวง ทรัพยากรฯในปี 2561 ด้วยเช่นกัน ชุมชนในพื้นที่ป่าจึงยังอยู่ใน ความขัดแย้งยาวนาน ซึ่งประเทศไทยมีกว่า 10,000 หมู่บ้านที่อยู่ ในเขตป่าอนุรักษ์ และไม่น้อยอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ และอุทยานแห่งชาติ

ซ้ำร้ายนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. คําสั่ง 64/2557 และ 66/2557 ที่ยังผลมาถึงปัจจุบันทั้งที่อยู่อาศัย และทํากิน ซึ่งกรมป่าไม้ และกรมอุทยานดําเนินคดีกับชาวบ้านเพิ่มขึ้นตั้งแต่ ปี 2557 จนถึงปีนี้ยังเป็นปัญหาค้างคาอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ เห็นได้ชัดเจนว่าระบบการจัดการป่าไม้ไทยมีปัญหาและไม่เคยได้รับ การแก้ไขอย่างถูกต้อง เพราะไม่เคยฟังเสียงของประชาชนเลย

ถ้าถามว่ารัฐมีทางเลือกในการจัดการป่าหรือไม่? แน่นอนว่าต้องมีอยู่แล้ว แต่รัฐจะเลือกหรือไม่ จากอดีตที่ผ่านมาการแก้ไข ปัญหาชุมชนในเขตป่าล้วนแล้วแต่มีปัญหา และผู้ได้รับผลกระทบคือชาวบ้าน เช่นในกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอพยพย้ายชาวบ้านเผ่าเมี่ยน ลีซู ลัวะ 160 ครอบครัว 880 คนมาอยู่ในพื้นที่รองรับมาอยู่บริเวณริมถนนทางหลวงสายวังเหนือ-ลําปางที่บ้านผาช่อ อ.วังเหนือ จ.ลําปาง เมื่อปี 2537 ตั้งเป็นหมู่บ้านวังใหม่ (ผาช่อ) เพราะเดิมอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์

มีการตัดไม้ขาย แต่พอชาวบ้านย้ายออกมาแล้วการตัดไม้ ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม ที่หมู่บ้านใหม่นี้ชาวบ้านประสบปัญหาที่ดินทํากิน ขาดแหล่งน้ํา ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ หลายคนคิดฆ่าตัวตาย หญิงสาว ออกไปค้าประเวณีด้วยอับจนหนทาง วัฒนธรรมชุมชนล่มสลายลง อย่างเลี่ยงไม่ได้ ต่อมาในปี 2546 อุทยานแห่งชาติถ้ําผาไทย จ.ลําปาง ได้อพยพชาวลาหู่ 4 หย่อมบ้าน 85 ครัวเรือน รวม 361 คนมาอยู่ ที่ดินจัดสรรบ้านห้วยวาด อ.แจ้ห่ม

ชาวบ้านต้องมาอยู่ในที่ดินลูกรัง เพาะปลูกไม่ได้ ทั้งหมู่บ้านมีบ่อน้ำแค่บ่อเดียว ประสบความทุกข์ ยากไม่ต่างจากหมู่บ้านวังใหม่ ถ้าเป็นก่อนหน้านั้นก็จะมีการอพยพ ชาวม้ง เมี่ยน ลาหู่ ออกจากป่าคลองลานในปี 2528-2529 หลังจาก มีการตั้งอุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กําแพงเพชร ในปี 2525 เป็น อุทยานแห่งชาติลําดับที่ 44 ของประเทศ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจาก ร้อยพันปัญหาจากการจัดการป่าของรัฐ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชาวบ้านจะ ลุกขึ้นสู้เพื่อมีชีวิตรอด การได้กรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินทํากินยากยิ่ง กว่าสิ่งใด

เมื่อไร้ที่ดินทํากินปัญหาชีวิตอื่นก็ตามมาไม่สิ้นสุด นี่คือผล จากการบริหารจัดการของรัฐ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้อย่างในกรณีของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่ชาวกะเหรี่ยงทั้ง 6 ตําบลสามารถอยู่ร่วมกับป่า และยังทําไร่หมุนเวียนได้ด้วย และที่ นี่ยังเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อปี 2534

การยอมรับว่าชุมชนสามารถ อยู่รวมกับป่าได้ทําให้ทั้งหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ มูลนิธิและองค์กร ต่างๆ เข้ามาทําความเข้าใจร่วมกันกับชุมชน ประสานงานให้เกิด ความยืดหยุ่น ให้ชาวบ้านปรับตัวเรียนรู้เกษตรแบบอื่นไปด้วย เพื่อเสริมการทําไร่หมุนเวียนที่ต้องควบคุมพื้นที่ให้เหมาะสม

เมื่อชาวบ้านสามารถดํารงอยู่ได้ การจัดการดูแลรักษาป่าอย่างมี ส่วนร่วมก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน หากการแก้ไขปัญหาการจัดการป่าไม้ ของไทยในวันนี้เป็นไปอย่างมีส่วนร่วม ถูกต้องชอบธรรม เชื่อว่า ปัญหาดังที่กล่าวมาจะคลี่คลายลง จบวงจรปัญหาที่วนเวียนซ้ำ หากทางเลือกนี้ถูกเลือกต่อไปในภายภาคหน้าป่าจะเป็นของทุกคนอย่างจริงแท้แน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก

www.the101.world
greennews.agency
– facebook: ภาคีSAVEบางกลอย
prachatham.com
www.khaosod.co.th
– หนังสือ เรียนรู้จากการซ่อมสร้างชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย โดย สถาบันพัดบนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)/2562 หนังสือ “ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกระเหรี่ยงแก่งกระจาน ” โดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
– บทความ การเมืองเรื่องป่าชุมชน: ปัญหาเชิงนโยบายและ ระบบกรรมสิทธิ์ร่วมในสังคมไทย โดย บัณฑิต ศิริรักษ์โสภณ