[:th]โควิดจังหวัดชายแดนใต้[:]

รายงานสถานการณ์โดยย่อข้อห่วงกังวลต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

Share

บันทึกโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จากบทสนทนา ข้อมูลเผยแพร่ในสื่อโซเชียล และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดน เป็นผลให้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้ออกมาตรการใหม่เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ให้ปิดแคมป์แรงงานก่อสร้าง แรงงานในสถานประกอบการและโรงงาน งดการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มแบบนั่งทานในร้าน งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง รวมทั้งมีมาตรการตรวจคัดกรองการเดินเข้า-ออก ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเข้มงวด

เป็นผลให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องประสบปัญหาต่างๆ มากมาย จนถึงขณะนี้ (1 กรกฎาคม 2564) พบจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 2,180 ราย จังหวัดนราธิวาส จำนวน 2,158 ราย และจังหวัดยะลา จำนวน 1,989 ราย ขณะที่พบผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จังหวัดปัตตานี จำนวน 7 ราย จังหวัดนราธิวาส จำนวน 5 คน และจังหวัดยะลา จำนวน 13 ราย

จากการระดมความคิดเห็นต่อเนื่องประมวลเป็นข้อเสนอแนะเร่งด่วนได้ดังนี้

1. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ และมอบอำนาจให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเต็มที่ และเร่งการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น เครื่องช่วยหายใจ ออกซิเจน เตียงสนาม หมอน และผ้าห่ม เป็นต้น ก่อนจะเกิดการระบาดที่อาจเป็นวงกว้างไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศยังคงไม่ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง หรืออาจได้รับเพียงวัคซีนซิโนแวค ซึ่งไม่สามารถต่อต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ อินเดีย และแอฟริกาใต้ได้ 

1.1. มาตรการลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลหลัก

1.1.1. สนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของชุมชน หรือสถานที่กักตัวกลุ่มเสี่ยงเพื่อระวังการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน หรือการกักตัวในบ้าน ให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

– การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 7 แห่งที่ยังขาดบุคคลากร อุปกรณ์และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
– มีการจัดกิจกรรมในระดับชุมชน เปิดศูนย์สังเกตอาการโควิด 19 เสี่ยงสูงในหลายๆๆตำบลและอำเภอ เพราะมีการส่งตัวผู้ป่วยกลับบ้าน เพราะคาดว่าไม่มีมีเชื้อโควิดแล้วแต่ยังต้องเฝ้าระวัง   แพทย์แนะนำให้อยู่ที่บ้าน กักตัว ทำให้มีข้อตกลงในชุมชนเรื่องการกักตัวแบบ local quarantine ที่ต้องการสนับสนุนทั้งงบประมาณและการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่เป็นระบบมากขึ้น เช่นในพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีมีการจัด LQ ทุกตำบล
– ขณะนี้ทางชุมชนบางชุมชนได้ร่วมมือกันโดยต้องกระตุ้นความเข้าใจของชาวบ้านและของราชการไปพร้อมๆๆกัน เมื่อมีการตรวจแล้วก็ไม่มีใครติดเชื้อและสามารถกลับบ้านได้  ชุมชนที่มีศักยภาพก็มาจัดการกันเอง ระดมงบบริจาคเพื่อจัดถุงยังชีพให้ถ้าต้องมีการกักตัวที่บ้าน ชาวบ้านขาดรายได้ เช่นในชุมชนหนึ่งมีเคสโควิด 40 คนในชุมชน เกือบทุกบ้านก็มีความเสี่ยงสูงและต่ำบ้าง  ชุมชนใกล้เคียงก็มีความหวาดระแวง
– เช่น ชุมชนบ้านแหร  มีการทำงานเชิญผู้นำชุมชนมากทำความเข้าใจเรื่องจัดการโควิด 19 ดึงภาคส่วนต่างๆ มาบริหารจัดการ มีกำนัน มีฝ่ายปกครองผู้นำเยาวชน มามีส่วนร่วม มีการเฝ้าเวรยาม ตั้งด่าน ฝ่ายปกครอง กลุ่มเยาวชน เน้นการมอบอุปกรณ์ สิ่งของอุปโภคบริโภค อีกบทบาทหนึ่งของชุมชนที่ทำกันอยู่คือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวบ้าน การใช้เสียงตามสาย การพูดแบบปากต่อปาก ก็ยังต้องทำต่อ โดยภาพรวม เห็นว่ามีการเสริมพลังทางสังคม  ราบรื่นมากยิ่งขึ้น  ลดข้อจำกัดของบุคลากรทางการแพทย์ได้ในระดับหนึ่ง
– เช่นที่พื้นที่ลำใหม่  เน้นเรื่องการสื่อสารระหว่างจนท.รัฐ รพสต. กับอสม. ให้มีบทบาทในพื้นที่การสื่อสารในภาวะวิกฤต  ตอนนี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง พาคนจำนวนมากมาที่อนามัยกันหมด ทุกคนต้องกักตัว บางคนแค่ต้องสังเกตอาการ จึงได้จัดที่การแยกกลุ่มที่มัสยิด และแยกหญิงชาย   จัดสอบสวนโรคแล้วมีความเสี่ยงเช่นมากัน 8 คน มาให้ข้อมูลก็แบ่งเป็นสองโซน  คนที่ต้องกักตัวมีบางคน และให้สังเกตอาการอยู่บ้าน งบประมาณมีน้อยบางครั้งงบค่าอาหารต่อมื้อ  500 บาท ต้องจัดให้คนที่ถูกกัก สังเกตอาการ หรืออยู่ระหว่างการสอบสวนโรคจำนวนรวม 30-40 คนต่อมื้อ

– จัดสรรงบนมและงบอาหารกลางวันโรงเรียนปิด จะสามารถโอนงบเหล่านี้ให้ผู้ปกครองได้ทันทีหรือไม่ ลดภาวะความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนและผู้ปกครอง

1.1.2. ส่งเสริมการรักษาหรือสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายแบบพื้นบ้าน การใช้สมุนไพรไทย มีตัวอย่างประสบการณ์ในพื้นที่ เช่น

– โครงการหมอไทยอาสาสู้ภัยโควิด เช่นที่ รพสต.โคกโพธ์ มีพี่น้องปัตตานี ส่งต่อจากยะลาไปปัตตานีเยอะ  โครงการนี้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีกลุ่มเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง เกี่ยวกับการติดเชื้อ ยาตำรับสมุนไพรไทยเช่น ห้าราก ฟ้าสลายโจร จันทลีลา  เป็นต้น ตำรับยาสมุนไพร ในโรงพยาบาลสนามต่างๆ ในกลุ่มเสี่ยงหรือผู้กักตัว ให้ผู้ป่วยเล็กน้อยทานได้ คนที่ติดเชื้อเล็กน้อยไม่มีอาการรอเตียง ผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ  ในจังหวัดภาคใต้มีทั้งหมด 13 แห่งทั้งหมดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

– เมื่อวันที่ 2 กค. มีการเปิด “ศูนย์ร่วมต้านโควิดด้วยสมุนไพรไทย” ที่อำเภอจะนะเพื่อเป็นต้นแบบว่าจะนะเป็นเมืองสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองและลดภาระของโรงพยาบาลหลังพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 เพิ่มขึ้นอ.จะนะ จ.สงขลาในช่วง 2 สัปดาห์กว่า 300 คน

1.2. มาตรการเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเร่งด่วนทั้งสำหรับโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม

– บุคคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่เดิมต้องแบ่งกันไปรับผิดชอบโรงพยาบาลสนามที่ขณะนี้เปิดทั้งหมด 7 แห่ง  อุปกรณ์ด้านการแต่งตัวของจนท. หรือที่เรียกว่าชุดหมี ราคาสูงมากชุดราคาสี่ร้อยกว่าบาทมีไม่พอต้องขอบริจาค ทางราชการจัดสรรให้ไม่ทันมีความล่าช้า การรักษาคนไข้โควิดต้องมีพยาบาลสามสี่คน ในหนึ่งเวร ต้องแต่ชุดนี้สิ้นเปลืองมาก

– ในโรงพยาบาลหลักบางแห่งยังขาดแคลนบุคคลากรทางการแพทย์สาขาเฉพาะเช่นเรื่องปอด เป็นโรคระบาดใหม่ที่ต้องศึกษาหาวิธีการดูแลคนไข้อย่างดีที่สุดในภาวะที่ทรัพยากรและบุคคลากรมีจำกัด

– ขณะนี้คนไข้โควิดที่รุนแรงมีมากขึ้นเรื่อย ยกตัวอย่างจังหวัดปัตตานีหากมีคนไข้ในโรงพยาบาล 800 คน จากการศึกษาของต่างประเทศ 10  คน  10% จะลงปอด  80 คนและอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจคนพร้อมกันต้องใช้ 40 เครื่อง เท่ากับว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ต้องใช้เพิ่มจากเดิมเป็นจำนวนมาก

– สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยรักษาชีวิตที่มีอาการรุนแรงเร่งด่วนเช่นเครื่องช่วยหายใจเช่นเครื่องออกซิเจนไฮโฟร (High Flow) ราคาเครื่องละ 200,000 บาท ให้จำนวนมากที่สุดทั้งสำหรับโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลหลัก

2. รัฐบาลจำเป็นจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงาน และชุมชนที่ถูกปิดทางเข้า-ออก

2.1. เร่งการจัดประชุมร่วมกับร่วมกันกับหอการค้าทุกจังหวัด เพื่อนำเสนอปัญหาของผู้ค้ารายย่อย แรงงานรายวัน แรงงานในภาคบริการ เพราะยังมีมาตรการที่ไม่สามารถนั่งรับประทานอาหารได้ เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่แทนการบังคับปิดทุกกรณีทุกกิจการ

2.2. มาตราการการสร้างความเชื่อมั่น ในพื้นที่สาธารณะให้มีความสะอาด และรองรับการค้าขายที่จำเป็น เช่นทำความสะอาดตลาด   การสแกน QR code เข้าเมืองยะลา อยากให้มีการสแกนคนเข้าตลาด

2.3. ส่งเสริมการทำงานของท้องถิ่นทั้งในระดับเทศบาลและ ในชุมชนในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล  เช่นเทศบาลนครยะลา การทำงานของชุมชนไปได้ดีมาก ชุมชนจัดการตนเอง มักจะมีการแจ้งทางเทศบาลถ้าพบหรือมีข้อสงสัยเรื่องการแพร่เชื้อ ซึ่งเทศบาลก็ให้คำปรึกษาหารือ กรณีที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ

3. ขอให้ยุติการจับกุมควบคุมตัวบุคคลตามกฎอัยการศึกและพรก.ฉุกเฉิน

3.1. นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ยังมีปฏิบัติการทางทหารของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าช่วงเวลาปกติ เช่น การปิดล้อมตรวจค้น และเกิดเหตุปะทะจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 7 คน อีกทั้งมีการจับกุมบุคคลตามอำนาจกฎอัยการศึกจำนวน 82 คน

3.2. การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในสถานการณ์โควิด  บางรายอาจเป็นกรณีซัดทอด ไม่มีหลักฐานชัดเจน สถิติไม่ได้ลดลงเลย  เรื่องร้องเรียนจากญาติผู้ถูกจับกุม พวกเขายากจนทุกคนมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเดินทางข้ามจังหวัดการควบคุมตัวที่ค่ายทหารอิงคยุทธที่จังหวัดปัตตานีทำให้เยี่ยมญาติต้องใช้เงินค่าใช้จ่ายสูง บางครอบครัวไม่ไปสามารถมาเยี่ยมได้ บางรายควบคุมตัวนานถึง 37 วัน

4. การสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับการรับมือกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ปกติ และสายพันธุ์ใหม่ เช่น อังกฤษ อินเดีย และแอฟริกาใต้ ไปจนถึงความสำคัญของการเข้ารับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสดังกล่าว กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะชุมชนห่างไกล เพื่อสร้างความเข้าใจ และลดการไม่เข้าใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน

– มีข้อเสนอว่าต้องจัดหาวัคซีนให้ได้มากชนิด และเลือกได้ ที่มีคุณภาพป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสหลายสายพันธุ์ เพราะจังหวัดชายแดนใต้เป็นด่านแรกติดชายแดนติดกับประเทศที่มีการแพร่กระจายของสายพันธุ์ใหม่ๆ และมีการเข้าออกของบุคคลต่อเนื่อง เพื่อมาฉีดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายให้ได้ ป้องกันการแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆของประเทศไทย

– มีประเด็นเรื่องความเชื่อและความไม่เชื่อมั่นในวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ ประชาชนจำนวนมากไม่ต้องการฉีดวัคซีน และไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นด่านหน้าซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19สายพันธุ์ใหม่มากกว่าพื้นที่อื่น โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยลาดตระเวนชายแดนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดต่อการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสดังกล่าวมากกว่าพื้นที่อื่น

– เร่งหาแนวทางการสื่อสารให้ประชาชนท้องถิ่นเข้าใจเรื่องโรคระบาด และอาจใช้ช่องทาง G to G หรือการบริจาคเอกชน ที่ให้ประเทศมุสลิมทางอาหรับจัดส่งวัคซีน เช่น Sinopharm หรือ Pfizer เป็นต้น หรือวัคซีนตัวอื่นๆ ที่เหมาะสำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้  และยอมรับว่าวัคซีนแอสตร้าซีนิก้า Sinovac เป็นชนิดวัคซีน viral vector ไม่คลุมสายแอฟริกันใต้ที่ระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในขณะนี้

– รัฐเอกชนร่วมออกแบบการสื่อสารที่ชัดเจนมากขึ้นจากทางรัฐ  เอกชนและชุมชนต้องมีส่วนร่วมเพื่อให้ประชาชนหลายกลุ่มเท่าทันสถานการณ์ ให้ชุมชนรับรู้ปัญหาโดยเร็ว โดยไม่ต้องบังคับ  การสื่อสารในภาวะวิกฤต แบ่งกลุ่มทั่วไป เฉพาะกลุ่ม ชุมชน

– กรณีตัวอย่างเรื่องปัญหาเรื่องการสื่อสาร เช่นการปิดร้านก็สื่อสารไม่ทัน หลายร้านมีทหารเดินไปบอก นอกจากนั้นบางร้านที่มีเพื่อนหรือคนรู้จักไปนั่งกินข้าวด้วยกันก็เกือบโดนปรับที่โรงพักถึงสองหมื่นแต่เจรจาจนรอดไปได้  แต่บางคนเจรจาไม่ได้ผลโดนปรับไปเยอะมาก มีบางรายบอกว่ามีอาการเหมือนล่อซื้อก็มี

– การสื่อสารในแต่ละกลุ่มเรื่องวัคซีน มีความสำคัญ เช่น มีคนหลายกลุ่มที่ไม่ต้องการฉีดเลยเพราะไม่เอาวัคซีนที่รัฐจัดให้ กลุ่มนี้มีทั้งส่วนที่ไม่รับวัคซีนเลยไม่ว่าจะวัคซีนอะไรก็ตาม กับกลุ่มที่ไม่เอาวัคซีนที่รัฐจัดให้เพราะไม่เชื่อมั่นโดยเฉพาะซิโนแวค ยังมีกลุ่มที่ลังเลไม่อยากฉีด เช่น พนง.ในร้านอาหารหรือคนขับรถส่งของ แต่เจ้าของร้านหรือผู้ประกอบการมักจะพยายามให้พนง.ฉีดเพราะเป็นคนทำงานในร้านเจอคนเยอะ

– ผู้ประกอบการบอกว่าปฏิกิริยาคนจำนวนมากคือไม่อยากฉีดเพราะไม่มั่นใจวัคซีน แต่ส่วนใหญ่ก็ตกลงฉีดในที่สุด  อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางรายพยายามขอความช่วย้หลือให้จนท.ไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่พนักงานแต่ก็ยังรออยู่  ประเด็นถัดมาก็คือ หลายคนเห็นว่า แม้การรณรงค์ให้คนฉีดวัคซีนในระยะที่ผ่านมาลำบาก เช่นแถบชายแดน แต่พอมาถึงสถานการณ์ตอนนี้ พบว่าหลายคนพร้อมและยินดีจะฉีด แต่ไม่มีวัคซีน หลายคนได้รับการบอกเล่าว่าต้องรอวัคซีนล็อตถัดไปแต่ไม่มีข้อมูลว่าจะมาเมื่อไหร่

เอกสารเกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข, มูลนิธิเพื่อการแพทย์และสาธารณกุศล, สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้, สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) และ สำนักข่าวอามาน ได้เผยแพร่แถลงการณ์แสดงความห่วงใย 10 ประเด็น  ดังนี้

1. ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องตระหนักว่า “นี่คือโรคระบาดร้ายแรงของมนุษยชาติในรอบ 100 ปี” วิกฤติการระบาดครั้งนี้มีความรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย “นี่คือสงครามชีวภาพระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรคที่มองไม่เห็น” เราจะชนะศึกใหญ่ครั้งนี้โดยเร็ววันเป็นได้ยากดังนั้นขอให้พี่น้องทุกๆคนใช้ความอดทนต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ  อย่าได้เป็นต้นเหตุของการระบาดของโรคและงดเว้นสิ่งที่จะนำไปสู่การระบาดมากขึ้นที่ทำให้คนอื่นติดโควิดเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพราะเราอย่างเด็ดขาด

2. แนวทางที่จะชนะโรคร้ายขึ้นอยู่กับความตระหนักและการตื่นรู้ ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ และเชื่อถือได้  การมีระเบียบวินัยและรับผิดชอบต่อสังคมดังนั้น ประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาครัฐ ต้องมาร่วมมือและทำงานเป็นเครือข่าย

3. ประชาชน ต้องตระหนักและรีบฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเพราะอย่างน้อยเป็นเกราะป้องกันได้ระดับหนึ่ง ถึงแม้เสื้อเกราะจะบางก็ดีกว่าไม่ใส่อะไรเลย อันตรายจากการฉีดน้อยกว่าอันตรายจากการติดเชื้อมาก ดังนั้นประชาชนต้องเอาใจใส่และติดตามบริการการฉีดวัคซีนของหน่วยบริการใกล้บ้าน รีบไปฉีดวัคซีน ชนิดไหนก็ได้ให้ฉีดไปก่อน

4. เนื่องจากอยู่ในภาวะวิกฤต การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาหรือพิธีกรรมที่มีการรวมกลุ่มจำนวนเกิน 20 คน เพราะอาจจะเป็นสาเหตุทำเกิดการระบาดกลุ่มใหญ่ เป็นเหตุให้ประเทศปิดยาวเหมือนประเทศเพื่อนบ้านที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ดังนั้นศาสนสถานใดที่เคยเปิดหรือปฏิบัติศาสนกิจ ต้องงดหรือเลื่อนออกไปตามที่รัฐประกาศ

5. มาตรการการเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากากอนามัยและการล้างมือบ่อยๆ ยังถือเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการติดต่อของโรค การล็อคดาวน์แบบเต็มที่ก็พิสูจน์แล้วว่าได้ผลในหลายประเทศ แต่ก็สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง  แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการยับยั้งการระบาดของโรคนี้  ทางรอดของเราคือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยวิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือการฉีดวัคซีนให้รวดเร็วและครอบคลุมประชากรให้มากที่สุดดังนั้น รัฐต้องบริหารจัดการวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนต้องเปิดโอกาสให้องค์กรที่มีความพร้อมได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการวัคซีนในระดับพื้นที่

6. สภาวะวิกฤตนี้ ยังมีบุคคล กลุ่มคน รวมทั้งสถานประกอบการ บาร์ เบียร์ บ่อน ฯลฯที่ ยังไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ข้อกำหนด แนวปฏิบัติของรัฐหรือองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแล ดังนั้นรัฐบาลต้องจัดการปัญหาอย่างเฉียบขาด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค

7. การแพร่ระบาดของโรคจากกลุ่มความดีเช่นกิจกรรมทางศาสนาของคนบางกลุ่ม ทำให้เป็นเหตุให้เกิดการระบาดใหญ่ในหลายประเทศเช่นเกาหลีใต้  อินเดีย มาเลเซียรวมทั้งประเทศไทยด้วยนั้นควรให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบเช่นกรมศาสนาและองค์กรสูงสุดของศาสนานั้นๆเข้ามาควบคุมดูแลและจัดระเบียบอย่างจริงจัง

8. เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเปราะบางจากสถานการณ์ความไม่สงบตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ยังไม่สามารถแก้ได้ และมีหลายปัญหาที่ทับซ้อน ดังนั้นการใช้มาตรการเข้มงวดสูงสุด เช่น การประกาศล็อคดาวน์ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมกรุงเทพและปริมณฑลล่าสุด อาจหนุนเสริมให้ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ยิ่งทวีความรุนแรงรุนแรงมากขึ้นดังนั้นรัฐต้องเข้ามาดูแลอย่างรีบด่วน โดยเฉพาะเรื่องการเยียวยาครอบครัวชุมชน หมู่บ้านและโรงเรียนที่ถูกปิดเนื่องจากมีการระบาดของโควิด  แรงงานไทยที่กลับจากมาเลเซียแล้วไม่มีอาชีพที่มีจำนวนมาก  ร้านอาหารร้านค้าและตลาดนัดที่ไม่สามารถดำเนินการได้อันเนื่องมาจากล็อคดาวน์ทำให้ไม่มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว

9. หลายปีที่ผ่านมาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอัตราการฉีดวัคซีนในเด็กต่ำที่สุดของประเทศ อันเนื่องจากขาดข้อมูลที่จะนำความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยความแตกต่างทางภาษา ศาสนาวัฒนธรรม และปัญหาเศรษฐกิจ กอปรกับปัญหาความไม่สงบทำให้กระทบกับระบบบริหารสุขภาพส่งผลให้โรคบางโรคที่เคยหมดจากประเทศไทยแล้วกลับมาระบาดซ้ำดังนั้นรัฐต้องจัดหาวัคซีนเป็นกรณีพิเศษทั้งจำนวนและคุณภาพ โดยเน้นวัคซีนที่มีคุณภาพสูงเนื่องจาก 5 จังหวัดเป็นด่านหน้ามีแนวชายแดนที่ติดกับเพื่อนบ้านอาจพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่วัคซีนธรรมดาไม่สามารถป้องกันได้อีกทั้งเป็นการแสดงความจริงใจและความมุ่งมั่นว่าต้องการดูแลประชาชนทุกคนอยากให้การบริหารจัดการเข้าถึงทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเห็นต่างซึ่งไม่ไว้วางใจรัฐเป็นทุนเดิม จะได้มีโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนได้ครอบคลุมมากขึ้น

10. รัฐต้องตัดงบประมาณของประเทศที่ไม่จำเป็น ผันงบมาช่วยดูแลระบบสาธารณสุขทั้งประเทศที่ใกล้จะล่มเนื่องจาการระบาดอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนามเปิดไม่ทันกับจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้นมากในแต่ละวันเตียงไอซียูเต็ม ผู้ป่วยโควิดไปเบียดเตียงของคนไข้โรคอื่น ประชาชนต้องพึ่งตัวเองไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข จนทำให้โรคกำเริบและหลายรายต้องเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน เพราะโรงพยาบาลไม่มีเตียงรับ

ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ที่องค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนได้แก่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF), กลุ่มด้วยใจ (Duayjai Group), เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) และ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) ที่ออกแถลงการณ์เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564

1. นับตั้งแต่การการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 1 เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา เป็นผลให้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการปฏิบัติการทางทหารมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีรูปแบบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ หลายรูปแบบเกิดขึ้น เช่น การตรวจเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเด็ก สตรี และเยาวชนโดยพลการ การลงทะเบียนซิมการ์ดแบบตรวจเก็บอัตลักษณ์ใบหน้า “2 แชะ” รวมทั้งการตัดสัญญาณหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่ได้ลงทะเบียนระบบ “สองแชะ” ในพื้นที่ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563

2. มาตรการจากฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ตลอดมาเป็นผลให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยในพื้นที่เกิดความไม่ไว้วางใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะมีประสบการณ์ว่านโยบายความมั่นคงมักส่งผลให้ชาวบ้านตกเป็นผู้ต้องสงสัยตามอำเภอใจ บางคนต้องถูกควบคุมไปยังค่ายทหาร เสี่ยงต่อการถูกซ้อมทรมานทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ถูกบังคับสูญหาย หรือแม้แต่กระทั่งวิสามัญฆาตกรรม เป็นต้น

3. ยิ่งไปกว่านั้น จากการที่ชาวบ้านไม่ไว้วางใจการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วน และทัศนคติของชาวบ้านเอง รวมทั้งการตั้งคำถามเรื่องจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล เป็นผลให้นับตั้งแต่การนำเข้าวัคซีนเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีผู้ได้รับวัคซีนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ถึง 5% ของแต่ละจังหวัด โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและชาวบ้านบางส่วนเท่านั้น

4. ขณะที่ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา เป็นผลให้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และเริ่มเข้ามาทางจังหวัดนราธิวาสเมื่อเดือนที่ผ่านมา เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต้องสนธิกำลังในการตรวจตราชายแดนไทย-มาเลเซียมากขึ้น และเพิ่มรอยร้าวความขัดแย้งระหว่างทหารกับประชาชนในพื้นที่ เนื่องจาก มาตรการป้องกันโควิด-19 ล่าสุด ส่งผลให้มีการปิดทางเข้า-ออกหมู่บ้านที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุขและปัจจัยยังชีพ ตลาดสดในพื้นที่ต้องถูกปิดตัวตามประกาศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเริ่มออกลาดตระเวนตามร้านค้าต่างๆ ให้งดการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแบบนั่งรับประทานอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เริ่มหวาดระแวงในพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น

5. เมื่อประชาชนในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือในการเข้ารับวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยทุกแห่งและอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังต้องปฏิบัติหน้าที่หนักมากขึ้น และมีภาวะเสี่ยงทางด้านสุขภาพ เนื่องจากต้องทำงานเชิงรุกเพื่อตามหาผู้สัมผัสเชื้อ แยกกักตัว และส่งตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังคนอื่น หรือชุมชนอื่น รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ ออกซิเจน และอุปกรณ์สำหรับติดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ต้องกักตัวยังขาดแคลนอยู่มาก

6. จนถึงขณะนี้ (1 กรกฎาคม 2564) พบจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 2,180 ราย จังหวัดนราธิวาส จำนวน 2,158 ราย และจังหวัดยะลา จำนวน 1,989 ราย ขณะที่พบผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จังหวัดปัตตานี จำนวน 7 ราย จังหวัดนราธิวาส จำนวน 5 คน และจังหวัดยะลา จำนวน 13 ราย

7. นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ยังมีปฏิบัติการทางทหารของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าช่วงเวลาปกติ เช่น การปิดล้อมตรวจค้น และเกิดเหตุปะทะจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 7 คน อีกทั้งมีการจับกุมบุคคลตามอำนาจกฎอัยการศึกจำนวน 82 คน

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading