เรียบเรียงโดย สุพิชชา ชุมนุมศิริวัฒน์ / อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
เนื่องในวันนี้ (19 มิ.ย. 2564) ตรงกับวันครบรอบ 30 ปี การบังคับให้สูญหายของ ทนง โพธิ์อ่าน อดีตสมาชิกวุฒิสภา สมัยนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย และผู้นำแรงงานคนสำคัญ ภายหลังการรัฐประหาร ของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ คณะกรรมาธิการกิจการแรงงาน และคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จึงร่วมจัดเสวนาออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “30 ปี การบังคับให้สูญหาย “ทนง โพธิ์อ่าน ” และการพัฒนากฎหมาย” เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ 404 ชั้น 4 อาคารสัปปายะสภาสถาน เกียกกาย กรุงเทพมหาคร
โดยเสวนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากตัวแทนครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหาย และตัวแทนจากหน่วยงานหลายภาคส่วน อาทิเช่น อดิศร โพธิ์อ่าน บุตรชายของ ทนง โพธิ์อ่าน, ส.ส. สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการกิจการแรงงาน, ส.ส. ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน, ส.ส. ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, วรชาติ อหันทริก อดีตกรรมการบริหารสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย, วาสนา ลำดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสาร ของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และมี พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา
อดิศร โพธิ์อ่าน: คุณพ่อ และวีรบุรุษของขบวนการแรงงานในความทรงจำ
เสวนานี้เริ่มต้นจาก อดิศร โพธิ์อ่าน บุตรชายของ ทนง โพธิ์อ่าน ได้กล่าวถึงความทรงจำที่เขามีร่วมกับพ่อของเขาในวัยเด็กว่า คุณพ่อ ทนง โพธิ์อ่าน เป็นอดีตประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย แม้ขณะนั้นประเทศไทยจะมีสภาแรงงานยิบย่อยแล้วทั้งหมด 4 สภา สภาของคุณพ่อเป็นสภาที่แข็งแกร่งที่สุดและมีสมาชิกมากที่สุด งานที่โดดเด่นคือค่าจ้างลอยตัว โดยบัญญัติไว้ว่าต้องมีค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเกณฑ์ไปแต่ละจังหวัดตามค่าครองชีพ
อีกทั้ง คุณพ่อยังเป็นคนผลักดันให้ประเทศไทยมีร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม เรื่องที่ขอไปคือ ให้กรมแรงงานแยกมาจากกระทรวงมหาดไทย คุณพ่อมักพูดเสมอว่า กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงที่มีคนอยู่เยอะอันดับสองของประเทศ รองจากกระทรวงมหาดไทย และจริงๆ แล้วกระทรวงแรงงานไม่ได้หมายรวมแค่กรรมกร แต่หมายถึงคนทำงานทั้งหมด
ความฝันของคุณพ่อเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คืออยากให้ทุกวิชาชีพ แม้กระทั่งข้าราชการมีสหภาพแรงงาน และอยากให้ขบวนการแรงงานรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับรัฐบาล แม้ตอนนั้นผมเองจะยังไม่เข้าใจว่า ทำไมพ่อต้องทำเพื่อคนอื่นขนาดนั้น
ขณะที่เป้าหมายต่อไปของคุณพ่อคือ การเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะไปเติบโตต่อในตำแหน่งรัฐมนตรี และเป็นนักวิชาการเพื่อสอนคนรุ่นหลัง เพื่อพัฒนาระบบแรงงานให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
“ถ้าคุณพ่อไม่โดนอุ้มไปวันนั้นเมืองไทยคงมีอะไรหลายหลายอย่างดีขึ้น เพราะคุณพ่อเข้าใจถึงความทุกข์ยากของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ตอนเป็นเด็กผมจำได้ว่าจะมีวันกรรมกรและคุณพ่อจะไปทุกปี ผมจึงรู้วิธีจากคุณพ่อว่า ทำยังไงให้ระบบแรงงานเติบโตไปพร้อมกับระบบพรรคการเมืองได้” อดิศร โพธิ์อ่าน
ที่ผ่านมาเราจึงได้เข้าใจว่า รัฐไทยไม่ต้องการให้ขบวนการแรงงานเข้มแข็ง คุณพ่อพูดเสมอว่า กระทรวงแรงงานมีผู้คนอยู่ร่วมกันมากเป็นอันดับสองรองจากกระทรวงมหาดไทย และนี่คือเหตุผลสำคัญที่กระทรวงแรงงานต้องกำหนดแนวทางการดำเนินงานของตนเองได้
อดิศร โพธิ์อ่าน: คณะรัฐประหาร ขบวนการที่พรากคุณพ่อไปตลอดกาล
ย้อนกลับไปช่วงก่อน รัฐประหาร ปี 2534 สมัยนั้นการขึ้นราคาค่าใช้จ่ายต่างๆ ต้องมาจากการสอบถาม องค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ก่อนว่า ผู้นำแรงงานในสมัยนั้นเห็นด้วยหรือไม่? เพราะถ้าไม่เห็นด้วย นั่นแปลว่า หากมีการบิดพริ้วราคาสินค้าขึ้น ก็อาจนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน
สมัยนั้น หากรัฐบาลได้ยินคำว่า “การเคลื่อนไหว” ก็กลัวแล้ว เนื่องจากสมัยนั้นเศรษฐกิจกำลังดี หากมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น เศรษฐกิจก็จะพังทลายลงไปด้วย รัฐบาลจึงต้องรับฟังความคิดเห็นสภาแรงงานของคุณพ่อ เพราะทั้งแรงงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจทั้งหมดอยู่กับคุณพ่อ
เมื่อคณะ รสช. เข้ามารัฐประหาร ตอนปี 2534 คณะ รสช. จึงต้องเรียก ทนง โพธิ์อ่าน ประธาน สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ไปคุยส่วนตัวก่อน คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้น คณะ รสช. เสนอเงินให้จำนวนสามสิบล้านบาท ซึ่งถือว่าเยอะมากในสมัยนั้น
และเป็นเหตุผลให้ผมกับแม่ถามคุณพ่อว่า “ทำไมถึงไม่รับเงินจำนวนนั้นมา? เพราะครอบครัวเราก็ไม่ได้ร่ำรวย” คุณพ่อจึงบอกว่า “พ่อทำไม่ได้หรอก” หลังจากนั้นพ่อก็ทะเลาะกับทหารผ่านหน้าสื่อ และหนังสือพิมพ์มาโดยตลอด ระยะเวลากว่า 2-3 เดือนที่พ่อเคลื่อนไหวผ่านหน้าสื่อต่างๆ มีตำรวจนอกเครื่องแบบพยายามส่งคนมาตามประกบถึงที่บ้าน มาเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของ ทนง โพธิ์อ่าน ตลอดทั้งวันทั้งคืน
“มีอยู่วันหนึ่งที่ผมขับรถให้พ่อ และปรากฏว่ามีรถขับไล่หลังเรามา รถสองคันนั้นเป็นรถยี่ห้อเปอโยต์กับโตโยต้า ผมได้จดหมายเลขทะเบียนรถส่งให้กับตำรวจ เขาก็แจ้งกลับมาว่า เป็นทะเบียนปลอม หากแต่ความเป็นจริงคือ มันเป็นทะเบียนจริง” อดิศร โพธิ์อ่าน
แต่ก็เพราะว่า คณะรัฐบาลขณะนั้นตกอยู่ภายใต้การครอบงำของคณะรัฐประหาร ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้ว พอเดินออกจากสภาฯ เขาก็ยังตามอยู่ ผมเลยบอกให้คนจากกรมแรงงานมาช่วยปิดถนน และลงไปถามว่า “ตามมาทำไม?” เขาก็บอกว่าไม่ได้ตาม เขาแค่มาหาเพื่อน ประจวบเหมาะกับที่รถคันหลังที่ขับตามมาก่อนหน้านี้กำลังจะขับหนี ผมจึงทำท่าจะโยนกระป๋องนมใส่ แต่คุณพ่อขอห้ามไว้ก่อน จริงๆ ถ้าได้เข้าโรงพักวันนั้นก็คงเป็นเรื่องดีกว่า เพราะหลังจากวันนั้น ท่าทีของคุณพ่อที่ทะเลาะกับรัฐบาลผ่านหน้าสื่อก็เริ่มแข็งกร้าวมาเรื่อยๆ แล้วก็บอกว่า “ไม่ยอม เขาจะจัดม็อบอย่างเดียว”
ก่อนจะไปประชุมที่ องกรณ์ ILO ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คุณพ่อก็ได้ประกาศผ่านหน้าสื่อว่า “จะเอาความชั่วช้าของระบบรัฐบาลในขณะนั้นไปประกาศกับเวทีโลก” เพราะไม่มีวิธีอื่นแล้ว หลังจากนั้นคุณพ่อโดนอุ้ม โดยเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2534 เราเจอรถคุณพ่อออกมาจากสภาแรงงาน ตอนนั้นเราอึ้ง เงียบ หลายๆ คนต่างก็สงสัยว่า พ่ออาจจะไม่ได้หายไปจริงหรอก เพราะลูกชายคนโตยังไม่เห็นร้องไห้เลย มีแต่แม่ร้องไห้
“หลายต่อหลายครั้งที่มีคนมาถามผมเรื่องคุณพ่อ ผมก็เลี่ยงไม่คุยเลย เพราะทุกอย่างมันยังคงอยู่ในใจ มันเจ็บมาก ชีวิตผมก็ต้องมาพังทลาย เพราะไม่มีเงินเรียนหนังสือ คุณแม่ก็ต้องส่งเสียลูก 3 คน ด้วยเงินเดือน แปดพันบาท” อดิศร โพธิ์อ่าน
สมยศ พฤกษาเกษมสุข: ว่าด้วยพฤติกรรมการอุ้มหาย มรดกตกทอดของคณะรัฐประหาร
สมยศ กล่าวว่า กรณีของ ทนง โพธิ์อ่าน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงความเป็นเผด็จการทหารที่พยายามเข้ามาครอบครองรัฐบาลพลเรือน ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่สำคัญมาก หากจำไม่ผิด ในสมัยของ พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ค่าจ้างขั้นต่ำได้ก้าวกระโดดจาก 45 บาทขึ้นมาเป็น 90 บาท ทันทีที่เข้ามาเป็นคณะรัฐบาล และก็เป็นที่มาของการร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม เป็นครั้งแรกในประเทศไทย หมายความว่า ความเป็นประชาธิปไตยนั้นให้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกับประชาชนอย่างมาก
การขยายตัวของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ด้วยการเปิดประเทศให้มีการลงทุนระหว่างประเทศ ถือเป็นการก่อกำเนิดของชนชั้นแรงงานอย่างกว้างขวางในยุคของการพัฒนา ขณะที่ตอนนั้น เราทุกคนต่างคาดหวังว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียได้ แต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2534 ก็ทำให้เราเห็นภาพอย่างชัดเจนว่า
“เมื่อความเจริญเข้ามาเมื่อไหร่ จะต้องมีคนบางพวกเข้ามาขัดขวางเมื่อนั้น” สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เมื่อ พลเอกสุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะ รสช. ผู้กระทำการรัฐประหารเมื่อปี 2534 ได้เรียกประชุมขบวนการแรงงาน ก็เป็นอีกภาพแสดงให้เห็นชัดว่า ขบวนการแรงงานเป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสูงมาก ในการประชุมครั้งนั้นมีบุคคลในขบวนการแรงงานบางส่วนได้ไปยินดีกับการรัฐประหารของคณะ รสช.
หากแต่ ทนง โพธิ์อ่าน ได้เดินทางไปพบกับคณะ รสช. วันนั้น พร้อมทั้งบอกว่า ไม่เห็นด้วย และเขามีจุดยืนเพื่อกลุ่มผู้ใช้แรงงานอย่างชัดเจน โดย ทนง โพธิ์อ่าน ได้พูดถึงความเดือดร้อนของกรรมกรและมีความต้องการให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมทั้งยกระดับสถานภาพของกรมแรงงานเป็นกระทรวงแรงงาน
“เขา (ทนง โพธิ์อ่าน) เป็นประเภทนักเลง เพราะต้องอยู่กับกรรมกรตลอด และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เขามีบทบาทสำคัญในการต่อต้านรัฐประหารก่อนคนอื่นๆ และเป็นที่ประทับใจของขบวนการต่อต้านรัฐประหารสมัยนั้น” สมยศ พฤกษาเกษมสุข

วาทกรรมที่ว่า “วันนี้สามช่า วันหน้าไม่มีแผ่นดินอยู่นะ” หรือ “ไอ้พวกรัฐประหาร ควายทั้งนั้น” วาทกรรมเหล่านี้ต่างมีต้นกำเนิดมาจาก ทนง โพธิ์อ่าน ประธานสภาแรงงานทั้งสิ้น
ผลเสียของการรัฐประหารของคณะ รสช. ในปี 2534 อย่างแรกคือ การที่ พลเอกสุจินดา ประกาศแยกสหภาพแรงงานออกจากรัฐวิสาหกิจ และเป็นผลให้สภาองค์การลูกจ้างขาดกำลังทั้งในแง่การเงินและบุคลากรต่างๆ ที่เป็นความเข้มแข็งของสภาแรงงานอันมีที่มาจากการแยกรัฐวิสาหกิจออกไป หมายความว่ากำลังสำคัญขององค์กรมันได้หายไป
อย่างที่สองคือ คณะ รสช. ได้ออกคำสั่งที่ 54 เพื่อตัดกำลังการสนับสนุนผู้ใช้แรงงานภาคเอกชน เพราะเมื่อก่อนสภาแรงงานสามารถยื่นข้อเรียกร้องขอเพิ่มค่าจ้างสวัสดิการ ขอตั้งสหภาพแรงงาน และสามารถติดต่อหาใครก็ได้ที่องค์กรเชื่อถือ
การสั่งห้ามของ พลเอกสุจินดา ในตอนนั้นเรียกว่า “มือที่สาม” ใครอยากช่วยต้องขึ้นทะเบียนฝ่ายลูกจ้าง ด้วยเหตุนี้ การรัฐประหารครั้งนั้นจึงเป็นจุดกำเนิดของการควบคุมขบวนการแรงงานมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้เกิดผู้นำแรงงานประเภทฉวยโอกาส แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน เข้าไปรับตำแหน่งและยกระดับจากความเป็นไพร่ขึ้นมาเป็นขุนนาง ปัจจุบันตำแหน่งสภาแรงงานกลายเป็นอาชีพที่ทำรายได้จนร่ำรวยมหาศาล เกิดการทุจริตและเกิดผู้นำแรงงานที่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อผู้ใช้แรงงานจริง
จึงอาจพูดได้ว่า ทนง โพธิ์อ่าน เป็นผู้นำคนสุดท้ายที่ต่อสู้เพื่อคนใช้แรงงาน หลังจากนั้นบทบาทการต่อสู้ขององค์กรลูกจ้างก็หายไปเลย ถึงมีก็กลายเป็นในรูปแบบของการเข้าไปนั่งตำแหน่งโดยทุจริต โดยเฉพาะในบอร์ดของประกันสังคม ณ ตอนนั้น ทนง โพธิ์อ่าน ได้ประกาศว่า วันที่ 20 ก.ค. 2534 จะมีการชุมนุมของขบวนการผู้ใช้แรงงานที่มาจากทั้ง 4 สภาแรงงานที่สนามหลวง แต่เผอิญว่า ทนง โพธิ์อ่าน ได้รับโอกาสสำคัญในการไปเข้าร่วมประชุมร่วมกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีทั้งนายจ้างและลูกจ้างทั่วโลกไปร่วมประชุม
การกระทำของคณะรัฐประหารที่เข้าไปขัดขวางการเป็นสหภาพแรงงานลูกจ้างถือเป็นการละเมิดสิทธิ ณ ตอนนั้น ก็โดนสั่งห้าม แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ใช้เงินของสหภาพแรงงานซื้อตั๋วเครื่องบินไปจนได้ และมีกำหนดการเดินทางวันที่ 20 มิ.ย. 2534 จึงเป็นเหตุให้ ทนง โพธิ์อ่าน ถูกอุ้มหายในวันที่ 19 มิ.ย. 2534 โดยเหตุผลหลักคือ การหยุดยั้งกระบวนการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน หมายความว่า “รัฐเป็นคนอุ้มหาย”
“มีจำนวนผู้นำแรงงานถูกอุ้มหาย 86 คน ก็เป็นการกระทำของรัฐบาลพลเอกสุจินดาทั้งสิ้น เพราะถ้าเป็นการอุ้มหายจากภาคเอกชนจะต้องถูกจับได้อย่างแน่นอน แต่ที่จับไม่ได้เพราะมาจากภาครัฐ และรัฐไทยมักมีพฤติการณ์จ้องจับคนที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ หรือคนที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประชาธิปไตยมาโดยตลอด” สมยศ พฤกษาเกษมสุข
หนึ่งในตัวอย่างของการอุ้มหายที่มาจากรัฐ คือ การอุ้มหาย โมฮัมหมัด อัลลูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย จากคดีเพชรซาอุฯ ซึ่ง DSI ได้ดองคดีนี้ไว้กว่า 20 ปี และเป็นผลให้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องการจะเร่งปิดคดีนี้ให้ได้ เนื่องจากมีการพบหลักฐานสำคัญ แต่สุดท้ายก็หลุดหมด รวมทั้งผู้พิพกาษาศาลที่ออกหมายแฉว่า มีหลักฐานชัดเจนในการมัดตัวผู้กระทำผิดก็ถูกสั่งย้ายทันที ผู้พิพากษาชุดใหม่มาก็เขียนสำนวนใหม่ยกฟ้อง นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ผู้ใดที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ รัฐจะทำให้หายทั้งทางตรงและทางอ้อม
“การทำให้สูญหายเป็นความรุนแรงซ้อนความรุนแรง ขนาดการประหารชีวิตยังต้องทำให้เป็นกระบวนการ แต่การอุ้มหายมันทำนอกเหนือกระบวนการ และนำความทุกข์ทรมานมาสู่ครอบครัว ทำให้มีผลกระทบทางจิตใจ อีกทั้งการอุ้มหายเป็นการอำพราง และเป็นวิธีการทางการเมืองที่ดีที่สุดในการรักษาอำนาจเผด็จการ ทำลายผู้ขัดแย้งทางการเมือง” สมยศ พฤกษาเกษมสุข
กรณีของ ทนง โพธิ์อ่าน จึงเป็นหลักการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ เพราะเขาแสดงออกว่าเป็นผู้คัดค้านเผด็จการทหารและต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานในรูปแบบต่างๆ
ซึ่ง อดิศร ก็ได้เสริมตอนท้ายว่า ภายหลังเหตุการณ์มีผู้พบเจอนามบัตรคุณพ่อที่สถานีขนส่งสินค้าออก และก็ที่กองทัพอากาศ ตอนนั้นคุณพ่อมีภาวะโรคเบาหวานแล้ว น่าจะมีอาการช็อค เพราะหลังจากนั้นสองสามวัน มีคนแปลกหน้าไปหาหมอที่โรงบาลราชวิถี และถามว่าต้องทำยังไงบ้าง เพราะปรกติคุณพ่อจะต้องฉีดอินซูลินทุกวัน ขาดไม่ได้ แต่ไม่ทราบว่า เสียตั้งแต่ถูกกักขังอยู่ที่กองทัพอากาศหรือเปล่า
วรชาติ อหันทริก: ไม่มีการรัฐประหารใดทำเพื่อประชาชน
วรชาติ เริ่มบทสนทนาว่า เขาได้เข้าไปเป็นกรรมการสภาแรงงาน ภายหลัง ทนง โพธิ์อ่าน ถูกอุ้มหาย แต่กระนั้นเขาก็ได้ติดตามการเคลื่อนไหวเพื่อแรงงานของ ทนง โพธิ์อ่าน มาโดยตลอด
“พี่ทนงมักพูดเสมอว่า กรรมกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ค่าจ้างที่ดีขึ้น สวัสดิการที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องมีกฎหมาย มีสิ่งที่เป็นรัฐสวัสดิการให้แก่กรรมกร”
ทั้งหมด เป็นผลให้ ทนง โพธิ์อ่าน พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม เนื่องจากเขาเป็นประธานสภาแรงงาน และเป็นสมาชิกขององกรณ์ระหว่างแรงงานประเทศด้วย อีกทั้งการได้ไปศึกษาความเป็นอยู่ของแรงงานในประเทศพัฒนาแล้วทำให้ทราบว่า ลูกจ้างในประเทศเหล่านี้มีความเป็นอยู่อย่างไร และมีสิทธิเสรีภาพอย่างไร และเป็นผลให้ ทนง โพธิ์อ่าน ได้มีความพยายามที่จะเอาสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้กับผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย
จนคณะ รสช. เข้ามาทำรัฐประหารเมื่อปี 2534 สามวันให้หลังก็มีการประกาศให้ผู้นำแรงงานทั่วประเทศ ทั้งประธานและเลขาให้ไปรายงานตัว ณ วันนั้น ทนง โพธิ์อ่าน อ่านเป็นคนหนึ่งที่ไปรายงานตัว และลุกขึ้นพูด พร้อมกับชี้หน้าพลเอกสุจินดา คราประยูร ที่ขณะนั้นนั่งเป็นประธานในห้องประชุม โดยคำพูดของ ทนง โพธิ์อ่าน ในครั้งนั้นแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เขาต่อต้านการทำรัฐประหาร
“ประโยคสำคัญที่เขาพูดคือ เขาพูดว่า ประชาธิปไตยมันกำลังจะเต็มใบแล้ว แต่เผอิญว่ามีควายมาขวาง” วรชาติ อนันทริก

ขณะที่ได้ฟังประโยคนั้น ผมตกใจและอุทานในใจว่า “ทำไมพี่ทนงถึงกล้าขนาดนั้น?” และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนกลัว แต่ก็มีหลายคนที่กล้าฮึดสู้ขึ้นมา รวมทั้งตนเองด้วย
หลังจากนั้น ทนง โพธิ์อ่าน ก็ตัดสินใจว่า จะนำเรื่องนี้ไปเปล่าประกาศให้แรงงานทั่วโลกได้รู้ถึงความอัปยศของการทำรัฐประหารและการกดขี่ผู้ใช้แรงงานของคณะ รสช. ซึ่งแยกรัฐวิสาหกิจออกจาก พ.ร.บ. สัมพันธ์แรงงาน 2518 ทำให้การรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานมีความยุ่งยากมากขึ้น และเป็นผลให้บทบาทภาครัฐมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ขณะที่ขบวนการแรงงานอ่อนแอลง และมีบทบาทในการต่อรองยากขึ้น เพราะเมื่อผู้ใช้แรงงานมีกำลังลดลง ภาครัฐก็จะสบาย นายทุนก็จะสบาย ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก และเปรียบได้กับก้อนหินก้อนใหญ่ที่ถูกทุบทำลายให้กลายเป็นเม็ดทราย
ถึงภายหลังจะมีการยกระดับกรมแรงงานเป็นกระทรวงแรงงาน แต่ก็ได้ทำให้ผู้ใช้แรงงานถูกลดบทบาท และศักดิ์ศรีไปอย่างมาก เพราะบางครั้งมีการจัดตั้งไตรภาคี เช่น การศึกษาดูงานต่างประเทศเข้ามา และก็ได้กลายเป็นเครื่องมือในการทำให้ผู้ใช้แรงงานแตกคอกันในที่สุด
วรชาติ กล่าวว่า ตนเคยเป็นกรรมการสภาค่าจ้างกลาง ขณะนั้นมีการตั้ง พ.ร.บ. ขึ้นมา และให้มีคณะอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด ซึ่งในรายละเอียดคนที่จะเป็นคณะอนุกรรมการได้ ต้องมีผู้มีอำนาจตามหนังสือนิติบุคคล พอตนได้มาตรวจสอบรายชื่อมีผู้สิทธิเป็นคณะอนุกรรมการก็พบว่า ผู้จัดการมาเป็นตัวแทนลูกจ้าง ก็มีความเห็นว่า “หลายคนเป็นถึงผู้จัดการจะให้เขาเอามาเป็นตัวแทนอนุกรรมการลูกจ้างประจำจังหวัดในฐานะลูกจ้างได้อย่างไร? และเมื่อไหร่ลูกจ้างจะได้ขึ้นเงินเดือน?” นี่ก็เป็นตัวอย่างของกระทรวงแรงงานที่พยายามจะลดบทบาทอำนาจของลูกจ้าง
ภายในขบวนการแรงงานมันมีบุคคลที่พยายามหาผลประโยชน์ และมีบุคคลที่ไม่ได้ทำเพื่อผู้ใช้แรงงานที่แท้จริง แม้ว่าส่วนที่ดีที่ยังออกมาขับเคลื่อนสิทธิแรงงานจะยังมีอยู่บ้าง แต่ก็ติดเรื่องข้อกฎหมายที่ไปตีกรอบให้ขบวนการแรงงานเกินไป และเป็นผลให้ขบวนการแรงงานไม่สามารถเติบโตได้
อีกทั้ง คนที่จะมาเป็นที่ปรึกษากระทรวงแรงงานได้ จะต้องจดทะเบียนฝ่ายลูกจ้าง ตามคำสั่งของ รสช. ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีข้อบังคับดังกล่าวใช้อยู่ ลักษณะเช่นนี้มันเป็นการตีกรอบให้คนที่มีความสามารถไม่สามารถเป็นตัวแทนได้ เพราะฉะนั้นผู้ใช้แรงงานจึงยังคงเสียเปรียบ
“จะเห็นได้ว่า ศักดิ์ศรีของผู้ใช้แรงงานถูกลดลงอย่างชัดเจนนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 เมื่อเทียบกับก่อนนี้ ทุกวันแรงงานจะมีขบวนการแรงงานออกมาถือป้าย เพื่อประท้วงและสะท้อนปัญหาของผู้ใช้แรงงานว่ามีปัญหาอย่างไร และต้องการอย่างไร ทุกวันนี้เอาหนังสือมายื่นนายกรัฐมนตรีไม่ให้เข้าพบ เลยยื่นได้แค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเท่านั้น” วรชาติ อหันทริก
วรชาติ จึงกล่าวต่อว่า หากเป็นไปได้ ตนก็อยากให้ยกเลิก พ.ร.บ. รัฐวิสาหกิจ และนำรัฐวิสาหกิจกลับมารวมกับแรงงานสัมพันธ์ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ในหมวด 3 ยังระบุไว้ว่า สิทธิเสรีภาพของคนไทย เปิดโอกาสให้มีการรวมตัวกันอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้กระทั่งภาครัฐเอง ผมยังอยากให้ข้าราชการมีการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานในวิชาชีพต่างๆ แม้แต่ตำรวจก็ยังมีสหภาพแรงงาน ที่ต้องมีก็เพื่อถ่วงดุลการกระทำที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งจะมาแต่งตั้งใครก็ได้ที่ไม่มีศักยภาพก็เป็นเรื่องที่กระทำไม่ได้ หากวิชาชีพนั้นมีสหภาพแรงงาน
เพราะฉะนั้นตนจึงมองว่า การจัดตั้งสหภาพแรงงานวิชาชีพต่างๆ คือสิ่งที่จะทำให้สอดคล้อง กับแนวคิดของ ทนง โพธิ์อ่าน ที่ผลักดันมาโดยตลอดชั่วชีวิตของเขาคือ ต้องการให้แรงงานรวมตัวกันเป็นหนึ่ง และแม้ว่าจะต้องทำงานแลกเงินก็ตาม แต่ถ้าภาครัฐได้ฟังแนวความคิดเช่นนี้ก็คงไม่เอา หรือหากไม่เป็นเช่นนั้น ทุกวันนี้เราจะอยู่กันอย่างไร หนี้ท่วมหัวอย่างไร และอยู่กันอย่างลำบากยากเข็นอย่างไร ทั้งหมดเป็นผลมาจากกฎหมายที่กดขี่แรงงาน
ณ ตอนนั้นจึงกล่าวได้ว่า ขบวนการแรงงานไม่ได้เรียกร้องอะไรที่มากเกินไปเลย การเดินขบวนของผู้ใช้รายงานก็ไม่ได้สร้างความเสียหาย ทั้งหมดเป็นไปตามกติกาที่มีอยู่ แต่ขณะนั้น คณะ รสช. ได้หาข้ออ้างในการทำรัฐประหารทั้งเรื่องทุจริตต่างๆ โดยเขามองว่า “รัฐวิสาหกิจมักจะขู่ด้วยการตัดน้ำตัดไฟ” ซึ่งแท้จริงแล้ว มันเป็นแค่ข้ออ้างเพื่อแยกรัฐวิสาหกิจออกจากภาคเอกชนให้รวมตัวกันไม่ติด
“กลับมาเรื่องของการอุ้มหาย ทั้งหมด 86 คน นี่เป็นส่วนหนึ่งของผู้นำแรงงานที่มีบทบาทมากแล้ว แต่แรงงานที่ไม่มีบทบาทโดดเด่นอีกเท่าไหร่? ผมเชื่อว่าไม่ต่ำกว่า 500-600 คน มันจึงเป็นการกระทำของผู้มีอำนาจมืดในประเทศไทย และไม่มีตาสีตาสาคนใดทำได้ คนที่ทำได้คือคนที่มีอำนาจ” วรชาติ อหันทริก
วรชาติ กล่าวอีกว่า แม้ตนจะเคยเป็นทหาร แต่ตนบอกได้เลยว่า การกระทำการใดๆ ก็ตามของทหาร ถ้าไม่มีแบ็ค ไม่มีผู้มีอำนาจเป็นผู้สั่งการ ทหารจะไม่สามารถทำได้ และไม่มีทางที่จะทำไปโดยไม่มีใครรับทราบ เพราะพยานหลักฐานก็มีเช่น หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ก็มี สามารถตามจับได้ง่าย
“ถึงเวลาแล้วที่ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จะต้องถูกหยิบยกเข้ามาสู่สภา และไม่ถูกปรับตกเพื่อผู้ที่ได้ต่อสู้จะมีทางลืมตาอ้าปากได้ อยู่ในเหตุการณ์ทางการเมืองตลอด เพราะเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ดำเนินการแบบนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง สังคมต้องการแบบนี้ สิ่งที่ผมเห็นด้วยคือการทำปฏิวัติ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร
“ถามสื่อหรือนักวิชาการทั่วประเทศไทยว่า จนถึงขณะนี้มีใครทำข้อมูลหรือยังว่า มีการรัฐประหารครั้งไหนที่เกิดขึ้นมาเพื่อสาธารณะชนบ้าง โดยเฉพาะปัจจุบันที่ไม่มีนโยบายไหนที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มีแต่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน ทุกวันนี้มีไม่กี่นายทุนที่คุมประเทศแล้ว เราต้องแก้ไขเพื่อให้สิทธิ มนุษยชนมีบทบาทกว่านี้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับต่อนานาประเทศได้” วรชาติ อหันทริก
ณัฐวุฒิ บัวประทุม: การผลักดันร่าง พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการบังคับให้บุคคลสูญหาย
ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ประโยคสุดท้ายในหนังสือของ ทนง โพธิ์อ่าน สิ่งที่น่าสนใจคือ อดิศร ได้ใช้คำว่า “จะมีใครที่อยากทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ในแผ่นดิน เมื่อทำแล้วได้สิ่งตอบแทนไม่ตายก็หายสาบสูญจากการกระทำของรัฐทหาร”
แน่นอนว่า ตนคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่ทำนองเดียวกันเรากลับมีคนอีกมากมายที่ยอมเสี่ยงชีวิต เพื่อทำในสิ่งที่คิดว่า คนอื่นจะได้ประโยชน์ที่สมควรได้รับ กรณีคุณเจริญ วัดอักษร ก็เป็นอีกหนึ่งคดี ที่มีความเกี่ยวข้อง เพราะเค้าออกมาเรียกร้องสิทธิในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สิทธิของชุมชน และสิทธิที่จะอยู่ในบ้านเกิดของตัวเองเหมือนกับพวกเรา
ตนที่เติบโตขึ้นมาในช่วงที่มีการปราศรัยต่อต้านรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง การเสียชีวิตของ ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ ซึ่งแม้จะเป็นเพราะอุบัติเหตุ หรือความตั้งใจใดใดก็แล้วแต่ แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นตัวกระตุ้นที่บอกว่า เราไม่จำเป็นต้องสยบยอมต่ออำนาจรัฐ กรณีของ ทนง โพธิ์อ่าน ก็เป็นหนึ่งในกรณีแบบนั้น
กรณี หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ อาจจะเป็นกรณีเดียวที่เกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหายที่ครอบครัวของผู้กระทำการบังคับสูญหายมาขอโทษอย่างเป็นทางการกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต โดยทายาทของผู้เสียชีวิตให้อภัยในระดับครอบครัวแล้ว เพียงแต่เขาไม่ให้อภัยกับภาครัฐ
กรณีคุณ สมชาย นีละไพจิตร ก็ยังคงไม่มีคำตอบ กรณีของ บิลลี่ รักจงเจริญ และล่าสุดอย่าง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นี่คือการหายตัวที่มีพยานหลักฐานที่เชื่อมโยง มีข้อมูลที่พูดถึงเส้นทางการดำเนินการต่างๆ แม้กระทั่งคนที่เราคิดว่า การเดินทางกลับจากประเทศหนึ่งมาประเทศไทย เพื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว จะด้วยเทคโนโลยีหรือความก้าวหน้าใดๆ ก็แล้วแต่ หลายเรื่องในอดีตที่รัฐได้ทำมันยิ่งโปร่งและลึกขึ้น มันยิ่งทำให้ภาพชัดแจ้งขึ้น ยิ่งเค้าปิดตาให้มืดเท่าไหร่คนในประเทศก็ตาสว่างมากขึ้นเท่านั้น
จนถึงวันนี้กว่า 70-80 ปีที่ผ่านมา เราก็หนีไม่พ้นคำว่า นายทุน ขุนศึก ศักดินา เราไม่สามารถช่วยเหลือเป็นรายกรณีได้ ถ้าเราไม่แตะเรื่องโครงสร้างของปัญหาในประเทศนี้ว่า อะไรที่ทำให้คนไม่สามารถเข้าสู่สังคมแห่งความเท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิและโอกาส และแน่นอนว่า พวกเขาไม่ควรได้รับการละเมิดสิทธิไม่ว่าประการใดๆ ก็ตาม

“ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับญาติของคุณ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกรณีที่เกี่ยวกับการเรียกเข้าไปบังคับรีดเข็นความจริงในฐานะผู้ต้องสงสัยในคดีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลบอกว่าได้มีการพยายามเยียวยาเป็นเงิน แต่ที่ผมได้ยินเสียงญาติตอนที่บอกกับเราคือเค้าไม่ได้อยากได้เงินเค้าแค่อยากให้คนในบ้านเขาไม่ตาย” ณัฐวุฒิ บัวประทุม
เช่นกัน สภาแห่งนี้ก็อาจจะไม่ได้เป็นที่ๆ จะสามารถพูดได้ทุกเรื่อง ขอยกตัวอย่าง กรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ผมพูดถึงกรณี 3 คนที่ถูกอุ้มหาย ที่เกิดขึ้น ณ ประเทศลาว ซึ่งทางประธานสภาบอกว่า สามารถพูดได้ แต่ไม่ให้เอารูปปรากฏขึ้นหน้าจอของห้องประชุมสภา แน่นอนว่า ผมประกาศ 3 ชื่อนี้ในสภา เพื่อจะบอกว่าการบังคับสูญหายที่เรามีอยู่ไม่ว่าจะกรณีของ ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน หรือแม้แต่ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติที่บอกว่า ท้ายที่สุด ประเทศไทยมีคนที่ถูกบังคับสูญหายจำนวน 70 กว่าคน และตัวเลขเหล่านี้ก็ได้สะท้อนว่า การบังคับสูญหายมีอยู่จริง ไม่พูดถึงการกระทำที่ร้ายแรงน้อยลงมาอย่าง การทรมาน การซ้อม หรือการถูกบังคับให้จำยอมด้วยเหตุผลต่างๆ นี่คือประเด็นที่สอง ที่อยากจะพูดถึง
ประเด็นที่สามคือ ประเทศไทยเป็นเหมือนประเทศหน้าบาง เพราะเราพยายามจะปฏิเสธไม่เข้าไปรับอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ แต่อนุสัญญาระหว่างประเทศหลักๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้รัฐไทยยอมลงนาม เพื่อพยายามบอกกับประชาคมโลกว่า เรายอมรับหลักการเหล่านั้น แต่รัฐบาลไทยปฏิเสธการลงนามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย หรืออนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยทั้งหมดทุกฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉบับ พ.ศ. 1951
แต่ลองถามใจทุกคนดูว่า เชื่อจริงๆ หรือว่า ประเทศไทยไม่มีผู้ลี้ภัย แต่ทำไมเราถึงปฏิเสธที่จะเป็นภาคี ท่านแค่กลัวความรับผิดชอบทางการเงินที่ท่านบอกว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ลี้ภัยแค่นั้นจริง หรือท่านกลัวว่า เขาเหล่านั้นจะเรียกร้องสิทธิต่างๆ ที่ราคาสูงกว่าเรือดำน้ำที่ท่านซื้อประดับบารมี
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเองก็ยังดูดีที่เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาหลายฉบับ แม้บางเรื่องเป็นในเชิงสังคม เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรืออนุสัญญาที่ห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติในทุกกรณีกับผู้หญิง รวมถึงกติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาว่าด้วยการทรมานและอนุสัญญาบุคคลที่ถูกบังคับสูญหาย เพียงแต่ขั้นตอนกระบวนการที่อ้างมานี้ เราลงนามหลายฉบับแต่เรายังไม่ยอมลงให้เป็นสัตยาบัน หรือแม้แต่การให้สัตยาบัน เราอาจจะมีข้อเสนอว่า เรายังไม่ใช้กฎหมายนั้นได้หรือไม่ ผมกลับไปดูข้อมูลว่า ในอนุสัญญาเหล่านี้ได้พูดถึงอะไรบ้าง
ซึ่ง ณัฐวุฒิ เห็นตรงกันข้อหนึ่งว่า อาชญากรรมของรัฐในเรื่องการบังคับสูญหายคือ รัฐไม่ยอมรับการกระทำ เพราะฉะนั้นคำที่อาจไม่ปรากฏในประเทศไทยคือคำว่า “การคืนศักดิ์ศรีให้กับครอบครัวของคนที่ถูกสูญหาย” เพราะอย่างน้อยที่สุดคือ รัฐต้องยอมรับว่ามันเกิดการกระทำขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลไม่อาจยอมรับได้ มีอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจคือ การขอโทษสาธารณะ (Public Apology) ซึ่งคำนี้มีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะกรณีของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเราทุกคนก็รู้ว่า ซึ่งเราคนไทยทุกคนต่างรู้ว่า มีคนจำนวนน้อยมากที่มีเชื้อชาติเป็นไทยแท้จริงๆ หมายความว่า ถ้าตัดความรู้สึกความเป็นชาติด้วยกรอบของสัญชาติหรือเชื้อชาติไทยก็อาจพบว่ามันไม่มีจริง และเราอาจจะเข้าใจพี่น้องชาติพันธุ์ และยอมรับการขอโทษสาธารณะ รวมทั้งจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความขัดแย้งหรือความไม่ไว้วางใจกลุ่มชาติพันธุ์ได้
การเยียวยาทางกฎหมายต้องเป็นเรื่องที่ตามมา แต่ตามขั้นตอน กระบวนการ หลักฐาน หรือแม้กระทั่งอายุความ ทั้งหมดกลายมาเป็นข้อจำกัดในการดำเนินการเหล่านี้ อาจจะต้องมีการสร้างสถานที่รำลึก ซึ่งอนุสาวรีย์ของประชาชนแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐจะทำ แม้กระทั่งการรำลึกของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 หรือ 14 ตุลา 2516 ซึ่งรัฐบาลพยายามจะเคลมว่า ถ้าไม่มีเหตุการณ์เหล่านั้นก็คงไม่สามารถสงบลงได้
“การทำให้บุคคลสูญหายหนึ่งรายนั้นอาจจะนำไปสู่เรื่องของการปฏิรูปโครงสร้าง แต่ทั้งหมดทั้งมวลถ้าไม่เริ่มจากการยอมรับ มันไม่มีทางที่จะไปถึงได้ และถ้าหากว่าสังคมยังมีวัฒนธรรมที่เรียกว่า ‘คนผิดต้องลอยนวล’ วัฒนธรรมการลอยนวลก็จะยังลามมาถึงปัจจุบัน โดยมีทหารใช้อำนาจกดทับนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่เห็นแย้งด้วยการดำเนินคดีต่างๆ และทำให้พวกเขาลอยนวลพ้นผิด รวมทั้งทำให้นักการเมืองเหล่านี้เลือกกลับมาสนับสนุนในเผด็จการทหารในปัจจุบันได้” ณัฐวุฒิ บัวประทุม
ประเด็นสุดท้ายคือ “กฎหมายไม่ใช่ทุกคำตอบ แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมาย” สิ่งที่เกิดขึ้นกับการบังคับสูญหายหรือการซ้อมทรมานไม่ใช่ว่าไม่มีกฎหมายเสียเลย จริงๆ เรามีกฎหมายที่พร้อมมีบทบาทในการแก้ไขปัญหา เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองพยาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ในกรมมีหน้าที่ป้องกันการถูกคุกคาม ค่าเสียโอกาสและค่าเสียรายได้ของครอบครัวผู้เสียหายที่ปัจจุบันยังไม่มีโอกาสเข้าถึง แม้กระทั่ง พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรมต่างๆ มีหลายกรณีที่เขาจะออกมาเรียกร้องสิทธิจากรัฐก็ทำให้เขาต้องติดคุก วันนี้เขายังไม่ได้รับการเยียวยา
“เราจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายเฉพาะคือ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พอรัฐบาลไทยถูกกดดันจากนานาอารยะประเทศมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน UPR (Universal Periodic Review) ต่างๆ เราต้องตอบคำถามต่อนานาโลกว่า ตอนนี้กฎหมายนี้ตอนนี้อยู่ที่ไหน” ณัฐวุฒิ บัวประทุม
อย่างน้อยที่สุดเราทราบว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีอยู่ 4 ร่างด้วยกัน ร่างแรกคือ ร่างของรัฐบาลที่มีการเสนอผ่านกระทรวงยุติธรรม และส่งมาที่รัฐบาล ในความเป็นจริงถือว่าเป็นกฎหมายที่มานานแล้ว แต่ก็มีกฎหมายอื่นที่รัฐเห็นว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนและแซงคิวกันออกมาเป็นประจำ อีก 3 ร่างไม่ได้กล่าวมีเนื้อหาแตกต่างกันเพราะทั้งหมดทั้งมวลล้วนมาจาก คณะกรรมาธิการกฎหมายสิทธิมนุษยชนและการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่ รศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ต่อมาคือร่างฉบับที่ลงนามโดยประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายในปัจจุบันคือ สิระ เจนจาคะ ซึ่งเป็นร่างที่พวกเราต่างร่วมลงนามด้วย
ร่างที่ 3 เป็นในนามของพรรคประชาชาติ ซึ่งแน่นอนว่า อาจจะต้องมีการคุ้มครองเป็นพิเศษในกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีกร่างเป็นร่างของ พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะของทั้ง 4 ร่างในเนื้อหาไม่ได้แตกต่างกันมาก
ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า เราจำเป็นต้องชี้ให้เห็นว่า การกระทำให้บุคคลสูญหายคือ การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใดๆ ก็ตามที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการโดยรับอนุญาตจากรัฐ บางครั้งเป็นเรื่องของการปกปิดที่อยู่ของบุคคลที่ถูกให้สูญหาย
“เราได้เจอญาติของผู้สูญหายหลายคน แน่นอนว่าจนถึงตอนนี้ บางคนต้องการเห็นแค่ศพ หรือกระดูกหรือผ้าผ่านศพสุดท้าย เรื่องเหล่านี้เรารับฟังได้ แต่ไม่สามารถที่จะเรียนรู้ความเจ็บปวดในใจของครอบครัวหรือคนใกล้ชิดของผู้ถูกกระทำได้” ณัฐวุฒิ บัวประทุม
อีกทั้ง กฎหมายดังกล่าวจะต้องมีหมวดเลือกกรรมการและร่างของกรรมาธิการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต้องมาจากภาคของผู้เกี่ยวข้อง มากกว่าสัดส่วนภาครัฐ หมวดที่ 2 เป็นเรื่องของการป้องกันการกระทำความผิดต่างๆ หมวดที่ 3 เป็นเรื่องของการดำเนินคดี และหมวดที่ 4 เป็นเรื่องของกำหนดบทลงโทษ ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่อยากให้พี่น้องประชาชนเรียกร้อง เพราะสภาไม่สนใจ มีเรื่องญัติที่แทรกเข้ามาตลอด
สิ่งที่ต้องเรียกร้องคือ ต้องไว้ใจและเชื่อมั่นเรื่องพื้นที่อำนาจต่อรองในสภา ซึ่งผมเคยเห็นบทบาทแบบนั้นของพี่น้องแรงงาน และมีความพยายามที่จะให้ขบวนการแรงงานมีส่วนในสภา แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนที่อยู่ด้านนอกก็ต้องเป็นแรงผลักดันที่สำคัญกว่า ไม่คาดหวังการปรับเปลี่ยนจากรัฐบาลไทยในห้วงเวลาสั้นๆ แต่ยังมั่นใจว่าอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับให้สูญหายอาจจะเป็นหนึ่งสิ่งที่ควรทำให้มันจบที่รุ่นเรา
วาสนา ลำดี: บทบาทของพิพิธภัณฑ์แรงงาน
วาสนา กล่าวถึงบทบาทพิพิธภัณฑ์แรงงานว่า บทบาทหนึ่งของพิพิธภัณฑ์คือ การติดตามการสูญหายของ ทนง โพธิ์อ่าน มาโดยตลอด มีการจัดพิธีรำลึกทุกปี และมีส่วนในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ หรือข้อมูลที่เกี่ยวกับ ทนง โพธิ์อ่าน ในด้านต่างๆ ที่นี่มีรูปปั้นของ ทนง โพธิ์อ่าน ที่ตั้งเอาไว้ เพื่อที่จะให้คนมาเยี่ยมชม และเรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ การมีบทบาทในการติดตามทวงถามตลอดทั้งกระทรวงมหาดไทย รัฐสภา และคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือแม้กระทั่งคณะกรรมาธิการแรงงาน คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และสุดท้ายเราทวงถามกลไก พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร
แต่สิ่งที่ได้มาก็เป็นเอกสารที่ขีดปิดเอาไว้ ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน แต่ก็พอจะได้ข้อมูลจากหลายหลายท่านว่า เขาไปอยู่ตรงโน้นตรงนี้ และอาจจะต้องมานั่งบันทึกประวัติศาสตร์กันใหม่เหมือนกัน เพราะพี่พิพิธภัณฑ์ก็มีหน้าที่ในการบันทึกประวัติศาสตร์ต่างๆ เอาไว้ให้ลูกหลานหรือผู้ใช้แรงงานต่างร่วมรำลึก
ตอนนี้เรารำลึกถึง 30 ปีของ ทนง โพธิ์อ่าน และเรื่องสิทธิแรงงานที่ยังคงถูกละเมิดมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเราคือคนหนึ่งที่มีโอกาสร่วมเขียนหนังสือเล่มนี้ ตอนช่วง 10 ปีที่สูญหาย เดิมทีไม่ได้มีใครรู้จัก ทนง โพธิ์อ่าน เป็นการส่วนตัว แต่จากที่เราได้อ่านและตามรอยทัศนะของนักสู้อย่าง ทนง โพธิ์อ่าน ในหน้าหนังสือพิมพ์ นี่คือบทบาทสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกว่า ทำไมคนถึงตั้งคำถาม? เราพยายามเรียนรู้จากหนังสือต่างๆ ที่บันทึกการทำงานของ ทนง โพธิ์อ่าน ซึ่งมีความพยายามในการทำงานหลายอัน และมีความดุดันในการที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงานมาโดยตลอด
“ภาพที่เราเห็นคือ เขาพยายามที่จะทำงานแม้ว่าตอนนั้น ความแตกแยกของขบวนการแรงงานมันเริ่มมีมาบ้างแล้ว แต่ว่า ทนง โพธิ์อ่าน อ่านก็เป็นคนหนึ่งที่พยายามทำงานขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัย ของโรงงานต่างๆ ที่มีปัญหา ภาพหนึ่งที่เห็นคือ การที่เข้าไปมีส่วนในรัฐสภาในฐานะ สมาชิกวุฒิสภา อันนี้ ทนง โพธิ์อ่าน ก็พยายามที่จะเข้าไปในฐานะผู้ได้รับการแต่งตั้ง และเรียกร้องสิทธิแทนแรงงานระดับล่างที่เป็นสมาชิกของเขา เขาทำหน้าที่อย่างตั้งใจที่จะให้แรงงานได้รับสิทธิประกันสังคม
และมีส่วนการพูดถึง ร่าง พ.ร.บ. แรงงานหลายฉบับ และการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่พยายามขับเคลื่อนสิทธิแรงงานอันเป็นประโยชน์ที่ทำให้หลายคนควรได้รับ แม้ว่าอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศยังไม่ได้รับการยอมรับจากการจัดตั้งของสหภาพแรงงานเบื้องต้น และยังปรากฏว่ามีการละเมิดสิทธิอยู่จนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่เห็นตอนนั้นคือ การต่อสู้ของ ทนง โพธิ์อ่าน ที่เคียงข้างผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะที่ไหนก็แล้วแต่ ทำให้เขาเป็นที่รักของแรงงานในยุคนั้น การจ้างงานระยะสั้น ซึ่ง 4 สภาแรงงานร่วมกันขับเคลื่อน และพิพิธภัณฑ์ได้เก็บหลักฐานเอาไว้ เป็นป้ายเพื่อรณรงค์ไม่ให้เกิดการจ้างงานระยะสั้น เพราะมันเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานที่ชัดเจนมาก ซึ่งตอนนี้ก็ยังถูกเอามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานชั่วคราว หรือการจ้างงานที่มีรูปแบบเปลี่ยนไป ซึ่งปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็มีการรูปแบบการจ้างงานที่ซับซ้อนมากขึ้น และทำให้เราเห็นการเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น โดยกฎหมายไม่สามารถเอื้อมเข้าไปให้การคุ้มครองตรงนี้ได้
ทนง โพธิ์อ่าน เคยพูดเอาไว้ตอนขับเคลื่อนเรื่อง พ.ร.บ. ประกันสังคม ว่า “กรณีการคุ้มครองแรงงานที่ว่างงานอาจจะต้องมาในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมันก็เป็นจริงๆ แบบที่เขาคาดเดาเอาไว้ แม้ว่าการประกาศบังคับใช้ กรณีประกันสังคมที่ขบวนการแรงงานในอดีตเรียกร้องมันก็มีแต่ยังไม่ได้ทำให้ขบวนการแรงงานได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่
จนกระทั่งวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ประกันสังคมก็ไม่ได้รับรองสิทธิอะไรตรงนั้น เพราะประกันสังคมก็ไม่ได้คุ้มครองกรณีว่างงาน จนมีการเรียกร้องการทำงานของ ทนง โพธิ์อ่าน ซึ่งทุกอย่างถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ถ้ามีโอกาสก็อยากจะเอามาขยายให้พี่น้องแรงงานได้รับรู้และเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การต่อสู้ของผู้นำแรงงานในอดีตที่เขาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมอย่างไรบ้าง
“การสูญหายไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของผู้นำแรงงาน ไม่ใช่เรื่องครอบครัว การที่ ทนง โพธิ์อ่าน หายไปจึงเป็นเรื่องส่วนรวมของขบวนการแรงงาน และเราได้เห็นความอ่อนแอที่เพิ่มมากขึ้นในขบวนการแรงงาน” วาสนา ลำดี
จนถึงวันนี้ การบังคับสูญหายของ ทนง โพธิ์อ่าน มีผลต่อการแบ่งแยกของแรงงานภาคเอกชนกับรัฐวิสาหกิจอย่างชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าจะมีบางหน่วยงานพยายามรวมให้เป็นสหภาพคนทำงาน แต่ว่ามันไม่สามารถนำมารวมเป็นขบวนการได้เช่นเดิม เนื่องจากในขบวนการยังมีการแตกแยกเป็นกลุ่มต่างๆ อยู่ เห็นได้ชัด เมื่อตอนที่เรามาจัดงานรำลึก ทนง โพธิ์อ่าน ที่นี่ เพราะแรงงานรุ่นใหม่ไม่รู้จัก ถ้าเราพูดถึงเรื่องการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาฝ่ายลูกจ้าง ซึ่ง ทนง โพธิ์อ่าน พยายามคัดค้าน เพื่อจะได้เกิดการตรวจสอบคนที่จะมาเป็นที่ปรึกษา
แต่ ณ วันนี้มีการอบรมกันเป็นล่ำเป็นสัน ในการที่จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรแรงงาน ซึ่งก็บ่งบอกว่า ประวัติศาสตร์มันไม่ได้สามารถสะท้อนภาพปัจจุบันที่ให้คนเข้าใจว่า การถูกคุกคามหรือการละเมิดสิทธิมันคืออะไร การปกป้องไม่สามารถทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะถูกควบคุมตั้งแต่เริ่มต้นด้วยกันถูกขึ้นทะเบียนฝ่ายลูกจ้าง ตอนนี้มันเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเองให้อยู่รอดไปวันวัน หรือเป็นการต่อสู้เพื่อให้สวัสดิการกับตัวเองเท่านั้น อันนี้เป็นประเด็นที่เห็นชัดขึ้นในปัจจุบัน การขับเคลื่อนทางการเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สหภาพแรงงานอ่อนแอมากขึ้น เพราะมันมีแนวคิดที่แตกต่างกันทำให้ไม่สามารถมีการต่อรองกับอำนาจรัฐได้อย่างชัดเจน
ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์: แนวทางการทำงานในการเคลื่อนไปข้างหน้า
ณัฐชา กล่าวว่า การครบรอบ 30 ปีของการบังคับสูญหาย ทนง โพธิ์อ่าน อ่านถือว่าเป็นช่วงอายุของคนหนึ่งคน ถ้าเกิดเราไม่ยุติปัญหาเหล่านี้ ในอนาคตเราอาจมีการจัดรำลึกบุคคลสูญหายครบ 365 วันก็ได้ ในวันนี้เราเรียนรู้จากอดีต และนำมาสู่คำถามว่า “เราจะทำอย่างไรกับร่างกฎหมาย” อันเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติจริงๆ และต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน
“วันนี้ผมเติบโตเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชน ท่ามกลางความสุขสบาย ณ วันนี้คือ ความสูญเสียของหลากหลายครอบครัว วันนี้เราเห็นประชาชนคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาเรียกร้อง ซึ่งเราไม่รู้เลยว่า อีกกี่วินาทีเราจะต้องรำลึกเขาในฐานะผู้สูญหาย เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากการทำงานของนิติบัญญัติแล้ว อยากให้พี่น้องประชาชนร่วมคิดไปด้วยกันว่า ในอนาคตเราจะตอบคำถามของวิญญาณหรือครอบครัวผู้สูญหายได้หรือยังว่าสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานจะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหน และจะตรงกับเจตนารมย์ของผู้ต่อสู้หรือไม่” ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์
วันนั้น ทนง โพธิ์อ่าน จะไปประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และต้องการจะผลักดันเรื่องอะไร ต้องการจะพลิกฟื้นชีวิตของกรรมกรอย่างไร วันนี้ต่อยอดอะไรจากการต่อสู้แล้วบ้าง เพราะการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ คือ การสูญเสียแกนนำหลัก เช่น ทนง โพธิ์อ่าน ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว
ณัฐชา กล่าวอีกว่า การที่เราจะหาทางออก ทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือ วันนี้มีคนจากหลากหลายฝ่ายมาพูดเรื่องที่พี่น้องประชาชนหลายคนก็ยังไม่ทราบ การเสวนาก็คือการบอกต่อ ก่อนมาเป็น สส. ตนเป็นพนักงานประจำที่ต้องส่งประกันสังคม โดยที่ไม่เคยได้รับรู้ว่า สิ่งที่ดีวันนี้มันสร้างความสูญเสียเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สังคมต้องเรียนรู้ ผู้ใช้แรงงานต้องเรียนรู้ วันนี้โลกมันเปลี่ยนไป ตนเชื่อว่าหน้าที่ของเพื่อนหลายหลายท่านในสภาผู้แทนราษฎร ต้องหยิบยกเรื่องนี้ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ต้องทำงานกับคณะกรรมาธิการแรงงานที่ผลักดันสิทธิสภาพของแรงงานขึ้นมา สื่อสารให้สื่อมวลชนต่างๆ ได้หยิบยกเรื่องนี้ไปนำเสนอของผู้ใช้แรงงานหรือประชาชนว่า

“ที่ผ่านมา ชีวิตของเราในวันนี้มีข้อเรียกร้องหรือข้อต่อสู้ และมีคนสูญหายไปกี่กรณีมากแล้ว ในฐานะที่เข้ามาเป็นตัวแทนประชาชนและฝ่ายนิติบัญญัติในคณะกรรมาธิการ ผมยินดีรับฟังและเข้าไปทำงานร่วมด้วยในหลายหลายมิติ ทุกข้อเสนอที่เข้ามาจะรับไว้พิจารณาทั้งหมด” ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์
แม้ว่าบทสนทนาภายในเสวนา “30 ปี การบังคับให้สูญหาย “ทนง โพธิ์อ่าน ” และการพัฒนากฎหมาย” จะจบลงและทุกคนในเสวนานี้จะต้องแยกย้ายกันไป แต่สิ่งที่เราอาจจะต้องนำกลับมาทบทวน และส่งต่อคำถามไปสู่ประชาชนคนทั่วไปนอกเหนือไปจากการผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายแล้ว ก็
อีกหนึ่งคำถามที่ตามมาหลังจากนั้นคือ “หากว่าวันนี้เราไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิที่เราถูกคุกคามแล้ว เราจะยอมทนทุกข์ทรมานกับการถูกลิดรอนสิทธิหรือไม่” เพราะท้ายที่สุด “ไม่มีสิทธิใดที่จะได้มาโดยการร้องขอ แต่ทุกสิทธิได้มาด้วยการต่อสู้ทั้งนั้น”