ปิดภาพจำ เปิดภาพจริงพื้นที่ชายแดนใต้ 5 วัน กับ น้องก้อย นศ. ฝึกงานจาก มศว. พื้นที่สีแดง เหตุระเบิด และเหตุการณ์ปล้นฆ่า เรื่องโดย ทิพาพร สนั่นเมือง
แต่แล้ววันหนึ่ง ก้อย ก็ได้รับโอกาสให้ไปเยือนพื้นที่แห่งนี้ ภายหลังที่ได้รู้จัก และเข้ามาฝึกงานกับ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) พี่ๆ ได้หยิบยื่นทริปการเดินทางท่องวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 20-24 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา การเดินทางระยะเวลากว่า 5 วัน อันเป็นโอกาสที่จะได้ไปสัมผัสยังชายแดนใต้เป็นครั้งแรก เพื่อทบทวนภาพที่ก้อยเคยจำตลอดมาว่า พื้นที่ตรงนี้อันตรายอย่างที่เขาว่าจริงหรือเปล่า
การเดินทางของพวกเราเริ่มต้นจาก สนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ สู่ยัง สนามบินหาดใหญ่ สงขลา มาตรการตรวจคัดกรองบุคคลเพื่อป้องการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงเป็นที่เข้มงวด เนื่องจากเพิ่งมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มาจากพื้นที่บางแค กรุงเทพฯ แต่จนแล้วจนรอดเราก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี
จนกระทั่งลงจากเครื่อง เราก็ได้พบกับแบ (พี่ชาย) คนหนึ่งชื่อ อัสมิง เขามารอรับพวกเราที่สนามบินเพื่อนำพาพวกเราไปยังชุมชนชาวไทยพุทธ ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 บ้านลูกไม้ไผ่ ตำบลตะโละแมะนา อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ระหว่างทาง พี่หน่อย- พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ก็ได้แนะนำหมู่บ้านนี้คร่าวๆ ว่า เป็นชุมชนไทยพุทธดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่มานานแล้ว
เมื่อมาถึงจุดนัดหมาย คือ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้าน ชาวบ้านกว่า 10 คน ก็เดินออกมาต้อนรับพวกเราอย่างดี ส่วนใหญ่จะเป็นหญิงมีอายุ มีเพียงลุงผู้ชายคนเดียวที่เป็นทั้งอาจารย์และเกษตรกรไร่ยางในพื้นที่แห่งนี้ ชุมชนนี้เงียบสงบมาก นาน ๆ ทีจะมีรถผ่านไปมาบ้าง 2-3 คัน เปรียบเสมือนเป็นไข่แดงท่ามกลางไข่ขาว เป็นกลุ่มชาวไทยพุทธเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ท่ามกลางชุมชนชาวไทยมุสลิม
จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ชุมชนชาวไทยพุทธในอำเภอทุ่งยางแดง ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลตะโละแมะนา ประมาณ 40 ครัวเรือน และตำบลปากู อีกประมาณ 5-6 ครัวเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี่ ประกอบอาชีพกรีดยาง ทำสวนยาง เพาะปลูกในศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ และปลูกผลไม้ที่เลื่องชื่อและเป็นสินค้า OTOP ของพื้นที่อย่าง แตงโมทุ่งยางแดง

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 การใช้ชีวิตและการหาเลี้ยงปากท้องที่ยากขึ้น เป็นผลให้ชาวบ้านที่นี่ยังคงเฝ้ารอความช่วยเหลือจากรัฐบาล อย่างน้อยๆ ก็คือ การประกันรายได้จากอาชีพของพวกเขา เนื่องจาก COVID-19 ทำให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้น
พี่ผู้หญิงคนหนึ่งบอกกับเราว่า วันนี้เพิ่งหารายได้เพียงแค่ 200 บาทเท่านั้น ขณะที่การใช้ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป และพวกเขาจำเป็นต้องซื้อของกินของใช้ ชาวบ้านที่นี่จึงใช้ชีวิตด้วยการออกไปแค่ตลาดใหญ่ๆ อย่างตลาดยะลา หรือตลาดปัตตานีเท่านั้น และตลาดท้องถิ่นกลายเป็นพื้นที่ที่พวกเขาเลี่ยงจะไป เพราะความหวาดกลัวต่อเหตุการณ์อันตรายต่างๆ อีกทั้งการเป็นชาวไทยพุทธท่ามกลางชาวไทยมุสลิมยิ่งถูกทำให้เห็นเป็นจุดเด่นมากขึ้น
พื้นที่แถวนี้ไม่มีวัด จะมีก็แค่สำนักสงฆ์ ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ทุกคนอาศัยคุณธรรมในการดำเนินชีวิต นั่นคือ ศาสนาได้สอนให้ทุกคนต้องการเพียงความสุข และดำเนินชีวิตโดยความไม่ประมาทเท่านั้น อีกทั้งทุกๆ ครอบครัวจะมีปืนลูกซองครอบครัวละ 1 กระบอก ที่เจ้าหน้าที่แจกไว้ใช้เพื่อป้องกันตัว และคอยดูแลความปลอดภัยของครอบครัว เรียกว่า ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่เป็นผู้ชายเท่านั้น และอาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) ที่มีทั้งผู้หญิง และผู้ชาย
เหตุผลคือ ชุมชนชาวไทยพุทธที่นี่มีจำนวนน้อย และมีแต่ผู้สูงอายุ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ออกไปเรียน และทำงานในพื้นที่อื่น จะกลับมาเยี่ยมเยือนเฉพาะช่วงเทศกาลต่างๆ ถ้าถามว่าพวกเขาไม่กลัวเหรอ หากวันหนึ่งหมู่บ้านแห่งนี้ไม่เหลือใครแล้ว เขาก็บอกว่ากลัว แต่ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคต อยู่กับปัจจุบันดีกว่า
การได้มาเยี่ยมเยือนชุมชนแห่งนี้ทำให้ก้อยเข้าใจว่า แม้ชุมชนที่พวกเขาอยู่จะมีความเสี่ยงต่อภัยอันตรายมากเพียงใด แต่พวกเขาก็ยังอยากรักษาวิถีชีวิตนี้ เพื่อความอยู่รอด และสืบสานวิถีวัฒนธรรมของชาวไทยพุทธต่อไป ดังนั้นหากพูดถึงพื้นที่ชายแดนใต้หลังจากนี้ เราก็ไม่อยากให้ใครมองข้ามพวกเขาเหล่านี้เช่นกัน
หลังพบปะพี่น้องชาวไทยพุทธแล้ว พวกเรากลับมายังตัวเมืองปัตตานี ระหว่างทางทุกอย่างเรียกได้ว่าเป็นปกติมาก ไม่มีอะไรน่ากลัวเลย จะมีก็เพียงบริเวณหน้าหน่วยงานของทหารที่มีลวดหนามหีบเพลงรายล้อมทั่วกำแพง และจุดตรวจตลอดระยะทางที่ทำให้รถต้องขับวกไปวนมา ทำให้เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่า อะไรกันแน่ที่ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความอันตรายมากกว่ากัน
เรามาถึงโรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี ในช่วงเวลาเย็นย่ำ เพื่อดื่มด่ำรสชาติชาชัก และโรตีสุดแสนอร่อยอย่างโรตีเชฟสลัด ที่แม้ว่ารสชาติจะอร่อยมาก แต่ราคาก็แพงมากเช่นกัน
เสร็จสิ้นภารกิจเติมอาหารเข้ากระเพาะ ก็เป็นเวลาเดินทางเข้าที่พัก เราตัดสินใจเลือกเป็น บักกะห์เเลนด์ ฟาร์ม แอนด์ รีสอร์ท (Bakkahland Farm and Resort) เป็นรีสอร์ทที่ห่างไกลจากตัวเมืองเล็กน้อย บรรยากาศอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่แล้วเราก็ได้พบกับปัญหาอย่างแรกในคืนแรก คือ ก้อยกับพี่อีกคนยังซื้อของใช้ไม่ครบ จึงเดินเท้าออกไปร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่อยู่ห่างจากรีสอร์ทประมาณ 1 กิโลเมตร
ระหว่างสองข้างทางที่เดินไปค่อนข้างมืดมาก อีกทั้งหลายต่อหลายครั้งที่มีรถขับผ่านแล้วจอดรถชะลอ หรือพูดแซวขณะขับผ่าน เป็นสถานการณ์ที่เราไม่ได้เตรียมตัวรับมือมาก่อน แม้ท้ายที่สุดแล้วเราก็เดินมาจนถึงร้านสะดวกซื้อ และเดินทางกลับได้ด้วยความช่วยเหลือของรีสอร์ท แต่ประสบการณ์ในครั้งนั้นถือเป็นบทเรียนที่ทำให้เราต้องระวังตัวให้มากขึ้นโดยเฉพาะสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย
ภารกิจเช้าตรู่ของวันนี้ คือ TIST RUN ติสท์รัน วิ่งทะลุเฟรม ครั้งที่ 2 ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยก้อยเข้าร่วมวิ่งประเภท FUNRUN ระยะทาง 6 กิโลเมตร ภายในงานค่อนข้างเคร่งครัดสำหรับมาตรการตรวจ COVID-19 ทั้งตรวจวัดอุณหภูมิ สแกนมือถือเพื่อระบุตำแหน่ง และหากใครมาจากพื้นที่เสี่ยงจะต้องลงชื่อกรณีพิเศษอีกหนึ่งจุด
พวกเราเริ่มวิ่งประมาณ 6 โมงเช้า โดยเว้นระยะห่างจากคนข้างหน้าประมาณหนึ่งช่วงแขน ระหว่างทางวิ่งเราได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศยามเช้าของเมืองปัตตานี พร้อมทั้งถ่ายภาพขณะถือป้าย #Freeนักกิจกรรมทางการเมือง ตามจุดแลนด์มาร์กของเมืองปัตตานี เช่น หอนาฬิกา สำนักอัยการจังหวัดปัตตานี ระหว่างทางมีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจคอยดูแลความปลอดภัยให้

เราวิ่งสลับกับเดินเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงจุดหมายเมื่อเวลาประมาณ 10 โมง ก่อนจะได้รับเหรียญรางวัล และอาหารเบรก ก่อนจะเดินทางออกไปทานอาหารที่ ร้านน้ำชา-โรตี บังหนูด หน้า ม.ปัตตานี จากนั้นจึงกลับยังที่พักเพื่อพักผ่อนและเตรียมตัวสำหรับกิจกรรมในช่วงบ่ายต่อไป
ช่วงบ่าย เราเดินทางมาที่ ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี เพื่อร่วมวงพูดคุยธรรมชาติกับ อาจารย์ ดร. อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และเจ้าของร้านหนังสือ บูคู ซึ่งวันนี้ ตรงกับวันปิดตัวของร้าน ภายหลังที่ได้เปิดเป็นพื้นที่ในการอ่านหนังสือ และการพูดคุยในประเด็นขับเคลื่อนสังคมให้กับนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากว่า 10 ปี
เมื่อมาถึงร้านหนังสือบูคู ที่นี่ถูกจัดวาง และแต่งแต้มด้วยสีฟ้าขาวทั้ง 2 ชั้น ชั้นล่างมีเครื่องดื่มบริการ และหนังสือมากมายวางไว้อยู่ในชั้นหนังสืออย่างเรียบร้อย อีกทั้งยังมีมุมนั่งอ่านหนังสือ ให้อารมณ์คล้ายๆ คาเฟ่ ขณะที่ชั้นสองมีโต๊ะอ่านหนังสือ และมีห้องประชุมเล็กๆ สำหรับให้พูดคุยกัน ถือเป็นการจัดวางที่น่ารัก เรียบง่าย และดูแล้วสบายตา

บทสนทนาเริ่มต้นด้วย อาจารย์อัน แนะนำตัวเอง ก่อนจะพูดถึงที่มาว่า ร้านหนังสือบูคู เปิดตัวเมื่อปี 2554 เนื่องจากเห็นความสำคัญว่า พื้นที่แห่งนี้ที่จะสามารถช่วยเหลือหลายๆ คนในการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าได้ โดยเริ่มแรกเราเปิดพื้นที่ตรงนี้ในการพูดคุยเรื่องการเมือง ก่อนจะขยับขยายมาสู่เรื่องเพศสภาวะ เพศวิถี สุขภาวะทางเพศ สิทธิมนุษยชน และสิทธิความหลากหลายทางเพศสำหรับหลายๆ คน
จนกระทั่งปี 2559 อาจารย์อัน ยังจัดตั้งทีมฟุตบอลอย่างทีม BUKU FC ที่เปิดรับทั้งหญิง ชาย LGBTIQ+ เด็ก และผู้พิการอีกด้วย อาจารย์อัน เลือกจะใช้กีฬาอย่าง ฟุตบอล มาเป็นตัวขับเคลื่อนประเด็นเพศวิถี ความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมทางเพศในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยรากฐานของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่แข็งกร้าว และหยั่งรากลึกอย่างมาก
แต่ความพยายามเหล่านั้นก็ไม่สูญเปล่า เมื่อการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศผ่านกีฬานำมาสู่การคิด และตั้งคำถามกับความเป็นสังคมจังหวัดชายแดนใต้ในปัจจุบันได้อย่างมาก โดยเฉพาะภายหลังการชุมนุมโดย กลุ่มคณะราษฎร และเฟมินิสต์ปลดแอก ก็เป็นผลให้ผู้คนตื่นรู้ และเริ่มตั้งคำถามกับค่านิยม บรรทัดฐาน และอุดมการณ์ของสังคมไทยมากขึ้น
แต่เมื่อมีงานเลี้ยง ก็ต้องมีเลิกรา เมื่อการขับเคลื่อนในประเด็นที่ต้องใช้พลังปะทะกับสังคมมาก ๆ เป็นเวลานาน ส่งผลให้สุขภาพจิตใจค่อย ๆ บั่นทอนลงเรื่อย ๆ งานบำบัดจึงเป็นสิ่งที่โผล่ขึ้นมาในความคิดของ อาจารย์ และทำให้อาจารย์หันมาศึกษางานบำบัด และเยียวยาอย่างจริงจัง แต่เนื่องจากลักษณะงานที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน และเป็นงานปิด เฉพาะคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น เหตุ และผลประกอบกัน จนในสุดอาจารย์อันก็มีความเห็นว่า ถึงแก่เวลาที่ร้าน ร้านหนังสือบูคู จะต้องปิดตัวลง ปิดร้านตอนที่ยังมีชีวิตชีวาแบบนี้น่าจะดีกว่า
ภายหลังวงพูดคุยได้เสร็จสิ้นลง เราทุกคนได้มีโอกาสไปร่วมเล่นฟุตบอลที่ The Fatoni Stadium กับทีม BUKU FC มีทั้งผู้หญิง และคนหลากหลายทางเพศ มีทั้งชาวไทยพุทธ และไทยมุสลิม ที่ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากที่ไหน ต่างก็มีสิทธิเล่น และสนุกกับกีฬาฟุตบอลได้ เราก็พบว่า น้องๆ ทุกคนน่ารักมาก และทำให้รู้สึกได้เลยว่า พื้นที่ตรงนี้ได้สร้างความสบายใจ ความปลอดภัย และโอกาสให้แก่พวกเขาในการเล่นและฝึกฝนกีฬาที่ชอบจริงๆ
อีกทั้งพวกเขายังวางแผนการเล่นฟุตบอลกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งบ่งบอกว่าพวกเขาได้ฝึกฝนกันมาแล้วเป็นอย่างดี การได้มายังที่แห่งนี้ ทำให้เรายิ่งรู้สึกดีใจที่อย่างน้อยๆ ในพื้นที่ที่เต็มไปแนวคิด ค่านิยมความเป็นชายอย่างหนาแน่น ยังคงมีพื้นที่ตรงนี้ไว้สำหรับผู้หญิง และคนหลากหลายทางเพศได้ทำกิจกรรมที่เขาต้องการด้วย
สำหรับวันที่สอง เป็นวันที่รู้สึกดีมากๆ ทั้งได้วิ่งชมบรรยากาศเมืองปัตตานี จากที่ไม่ได้วิ่งมานาน และเป็นการวิ่งมาราธอนครั้งแรกด้วย ทั้งได้ฟังได้พูดคุยในประเด็นที่สนใจอย่างเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอยู่แล้ว แต่เรื่องความเท่าเทียมทางเพศในบริบทสังคมไทย ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังต้องการถ่ายทอดความรู้ให้มากขึ้น เพื่อให้คนในสังคมได้ตระหนักว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะสามารถส่งผลต่อการพัฒนาสังคมในระยะยาวได้ และอาจทำให้พวกเราทุกคนต้องมานั่งคิดหาวิธีกันต่อไปว่า เราจะสามารถออกแบบการสร้างความตระหนักรู้เหล่านั้นในรูปแบบใดได้บ้าง
วันที่สาม 22 มีนาคม 2564
วันนี้เป็นวันที่ต้องไปเยี่ยมเยือนครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับสูญหาย ในพื้นที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เช้านี้พวกเราแวะทานข้าวที่ร้านข้าวราดแกงแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และก่อนจะออกเดินทางไปยังจังหวัดนราธิวาส ระหว่างทางเงียบเหงามาก รถราไม่ค่อยมีสัญจรให้เห็นเท่าไหร่นัก เมื่อถึงอำเภอรือเสาะ อันเป็นสถานที่ที่นัดเจอครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหาย ไปที่บ้านของ อามานี ตาเย๊าะ โดยมี คุณครู นุนรียา ยูโซ๊ะ เป็นผู้นำเส้นทางไปยังบ้านของอามานี และเป็นผู้ร่วมพูดคุย ถึงกรณีที่สามีของอามานี และตนถูกบังคับสูญหายด้วย
ขณะที่กำลังจะถึงยังบ้านของอามานี เราสังเกตเห็นทหารประมาณ 4 นาย กำลังลาดตระเวนผ่านบ้านไป เมื่อถึงบ้าน คุณอามานี ได้รีบวิ่งออกมากอดพี่หน่อย พวกเขากอดกันด้วยความดีใจที่ได้พบเจอกัน หลังจากที่ไม่ได้เจอกันเป็นเวลานาน
เรื่องราวการถูกบังคับสูญหายของคุณ มะยูนิต โลนียะ สามีของครู นุนรียา ยูโซ๊ะ ก็ได้ถูกเล่าขึ้น ภายหลังพวกเรานั่งพูดคุยจิปาถะและพักดื่มน้ำทานขนมแล้ว นุนรียาเล่าว่า สามีของเธอถูกอุ้มหายในปี 2550 โดยถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และนักการเมืองท้องถิ่นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ รวม 8 คน นำตัวสามีของเธอไปจากบ้านแม่ของนุนรียา ที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยมีเพื่อนบ้านเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ไม่มีใครกล้ามาเป็นพยานปากคำให้ เพราะความกลัวครอบงำทุกอย่างในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
นุนรียา เล่าอีกว่า การหายตัวไปของสามีในครั้งนั้นสร้างความลำบากให้กับเธอมาก เนื่องจากเธอต้องกลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวแบบไม่ทันตั้งตัว ทุกวันตอนเช้าต้องไปกรีดยาง จากนั้นจึงไปส่งลูกที่โรงเรียน ส่งลูกเสร็จก็กลับมากรีดยาง และขายของต่อที่นั่นเลย ทำแบบนี้แทบทุกวัน เธอต้องทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน และเมื่อลูกเธอโตขึ้นก็เริ่มมีคำถามมาถึงเธอว่า “ทำไมเขาถึงเอาพ่อเราไป”

การหายไปแบบไม่ได้ร่ำลาทำให้คนรอต้องทนทรมานอยู่แบบนี้ทุกๆ วัน อีกทั้งเพื่อนบ้านก็ตีตัวออกห่าง เพราะมองว่าครอบครัวของนุนรียาเป็นครอบครัวโจร ทำความผิดมาถึงถูกกระทำเช่นนี้ เธอจึงต้องอยู่ร่วมกับเพื่อนที่ถูกสามีอุ้มหายเช่นเดียวกันจึงจะเข้าใจกัน และกันว่าความจริงเป็นอย่างไร แม้ตอนนี้เธอจะยังไม่รู้ว่าเหตุผลแท้จริงที่ทำให้สามีของเธอถูกอุ้มหายคืออะไร แต่ปัจจุบันนุนรียาได้ผันตัวเองมาเป็นครูผู้ช่วย และกำลังจะสอบใบประกอบอาชีพครูหลังจากนี้ เป็นผลให้เพื่อนบ้านเริ่มกลับเข้ามาหาเธอและพูดคุยกับเธอราวกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น
ขณะที่เรื่องราวของคุณ รอสะมิง สามะแม สามีของคุณ อามานี ตาเย๊าะ ได้ถูกบังคับสูญหายตั้งแต่ปี 2552 โดยเขาได้เดินทางออกจากบ้านเพื่อไปทำละหมาดที่มัสยิดภายในหมู่บ้าน ขณะรอประกอบศาสนกิจอยู่นั้นมีรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า สีบรอนซ์ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน มาจอดยังบริเวณมัสยิด จากนั้นก็มีผู้ชายประมาณ 4 คน สวมหมวกไหมพรมปิดใบหน้า ใช้อาวุธปืนขู่บังคับจับตัวคุณรอสะมิงมัดมือ และนำตัวขึ้นรถยนต์ขับออกไป
จนถึงตอนนี้อามานีก็ยังไม่ทราบว่าคุณรอสะมิงจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่สิ่งที่เธอต้องการก็เพียงแค่ต้องการรู้ว่าศพของสามีอยู่ที่ไหน เธอไม่ได้ต้องการเอาความผิดใคร ต้องการแค่ประกอบพิธีตามทางศาสนา และไม่ต้องการให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับใครอีกแล้ว
หลังจากที่เยี่ยมเยือน 2 ครอบครัวแล้ว พวกเราได้มีโอกาสไปพักทานอาหารมื้อเที่ยงที่บ้านกอตอ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จังหวัดนราธิวาส แม้จะเป็นมื้อที่อร่อยมากแต่ก็แฝงไปด้วยความหลังอันแสนเจ็บปวดของครอบครัวเช่นเดียวกัน จากการพบปะพูดคุยกับครอบครัวของ อิหม่าม ยะผา กาเซ็ง สามีของคุณ นิม๊ะ กาเซ็ง ทำให้ทราบว่า อิหม่ามยะผาเป็นอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ และถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวไปเมื่อวันที่ 19-20 มีนาคม 2551 ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 จากการถูกเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานจนไม่สามารถทนรับความเจ็บปวดได้
แม้ผู้เขียนจะเป็นเพียงผู้รับฟัง แต่ความรู้สึกเจ็บปวดยังคงฝังรากลึกทุกครั้งที่นึกถึง นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รับรู้ก็ทำเอาผู้เขียนน้ำตาตกใน ก่อนจะย้ำถามกับตัวเองว่า ทำไมคนเราถึงต้องถูกกระทำด้วยความโหดร้ายเช่นนี้ด้วย พวกเขาเข้มแข็งมากที่ต่อสู้มาจนถึงวันนี้ เป็นผลให้ก่อนร่ำลากันเราตัดสินใจเลือกกอดและกล่าวให้กำลังใจ โดยหวังว่าพวกเขาจะได้รับความยุติธรรมในเร็ววันที่สุด
เมื่อเสร็จสิ้น พวกเราเดินทางออกจากนราธิวาส โดยมีหมุดหมายถัดไปคือ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา อันเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือกลุ่มสตรี และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ และรณรงค์ต่อต้านการซ้อมทรมานร่วมกับนักกิจกรรมในพื้นที่ พร้อมทั้งยังมีศูนย์แพทย์ เราได้ร่วมพูดคุยกับ อิสมาแอ เต๊ะ ประธานองค์กร และ นูรฮายาตี สาเมาะ เลขานุการขององค์กร โดย อิสมาแอ เต๊ะ เป็นผู้ที่เคยถูกเจ้าหน้าที่จับกุมขณะที่ยังเป็นนักศึกษา กรณีละเมิดกฎหมายชุมชน ภายใต้อำนาจตามกฎอัยการศึก
หลังจากได้รับการปล่อยตัว อิสมาแอได้ดำเนินคดีฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ กรณีควบคุมตัวเขาเกินกำหนดเวลา 7 วัน อีกทั้งซ้อมทรมานอย่างไร้มนุษยธรรม จนนำมาสู่การก่อตั้งองค์กร HAP ในทุกวันนี้
พวกเราพูดคุยกันจนกระทั่งเย็นย่ำ จึงได้บอกลา และเดินทางกลับยังปัตตานี ในค่ำคืนนี้เรารับประทานอาหารที่ร้าน PAPA TaGu Pattani (Rice Arabian) เป็นร้านข้าวหมกอาหรับที่มีชื่อเสียง และอร่อยสมกับคำร่ำลือ
วันที่สี่ 23 มีนาคม 2564
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับครอบครัว โต๊ะมีนา และครอบครัวผู้เสียหายกรณีบังคับสูญหาย ซ้อมทรมาน และถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จัดเสวนาในหัวข้อ “พ.ร.บ. อุ้มต้องไม่หาย สถานการณ์ร่าง พ.ร.บ. ล่าสุดในสภา” ที่ มัสยิดหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา เพื่อพูดถึงสถานการณ์การร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหายในกระบวนการทางสภา
โดยมีผู้ร่วมงานที่หลากหลายทั้ง หน่อย – พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอย จตุรนต์ เอี่ยมโสภา ส.อบจ. ปัตตานี เจน – สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ตัวแทนครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย กรณี “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์”, นาซีเราะ วาโซ๊ะ ตัวแทนครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนูรฮายาตี สาเมาะ ตัวแทนจาก Pattani Human Rights Organization Network (HAP)
บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความหวังที่ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหายจะผ่านไปได้ด้วยดี ทั้งยังเต็มไปด้วยความโศกเศร้าและความต้องการที่จะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมาของครอบครัวของผู้สูญหาย ทั้งยังมีนิทรรศการ “ของที่เธอรัก…ฉันยังเก็บไว้” ที่จัดแสดงสิ่งของอันเป็นของรักของหวง เช่น รูปภาพ ของใช้ต่างๆ เพื่อรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังจากจบงานเสวนา พวกเราก็ต้องเตรียมตัวเดินทางไปที่จังหวัดนราธิวาส ตามตารางการเดินทางที่จัดไว้ โดยเริ่มจากการแวะไปที่ มัสยิดกรือเซะ หรือ มัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ในจังหวัดปัตตานี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มัสยิดกรือเซะ ในวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 32 คน จากนั้นก็เดินทางไปกันต่อที่ มัสยิดวาดีลฮูเซ็น, มัสยิดตะโละมาเนาะ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ มัสยิด 300 ปี ตั้งอยู่ที่บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาว จังหวัดนราธิวาส เป็นมัสยิดที่มีสถาปัตกรรมอาคารไม้ตะเคียนทั้งหลัง ผสมผสานศิลปะไทย จีน และมลายูเข้าด้วยกันอย่างมีเอกลักษณ์
จากนั้นก็เดินไปดูหลุมฝังศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบจำนวนหนึ่งที่ไม่อาจทราบว่าเป็นศพของใคร
พวกเราเดินทางต่อเพื่อไปรับประทานอาหารเย็นที่บ้านไพรวัน ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ระหว่างทางได้แวะที่หาดนราทัศน์ เนื่องจากหาดลมแรงมาก และฝนกำลังจะตก จึงเดินเล่นอยู่ได้แค่ประมาณ 15 นาทีก็ต้องกลับขึ้นไปบนรถ และเดินทางต่อไปที่บ้านไพรวัน ขณะที่กะ (พี่สาว) แยนะ สะแลแม และกะอีก 2 คน กำลังเตรียมอาหารไว้ให้ อาหารมื้อนี้เป็นอาหารท้องถิ่นที่อร่อยที่สุดอีกมื้อ
หลังรับประทานอาหารเสร็จก็ร่วมพูดคุยกับกะ แยนะ สะแลแม ถึงเหตุการณ์ตากใบในปี 2547 กะเป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในเหตุการ์ตากใบ กะ เห็นและจดจำเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนี้ทุกอย่าง ทำให้กะ ต้องลุกขึ้นสู้เพื่อทวงคืนยุติธรรมในปี 2550 และกลายเป็นแกนนำในการเจรจาคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐแทนชาวบ้านคนอื่นๆ กะมีความกลัวเหมือนกับคนอื่น ๆ แต่ถ้ากะไม่ทำก็ไม่มีใครทำ และกะก็เชื่อตลอดว่า “ถ้าอัลเลาะห์ไม่เอาชีวิตเรา เราก็ไม่ตาย”
เมื่อถึงที่พักก็เก็บของ และลงมาข้างล่างเพื่อไปชมบรรยากาศตอนกลางคืนของเมืองนราธิวาส บรรยากาศเงียบสงบ มีร้านโรตีแบยิที่มีทั้งโรตี และน้ำชาอยู่ด้านหน้าที่พัก ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่นั่งกัน ไม่มีผู้หญิงเลยมีเพียงพวกเรา 3 คน และแม่ค้าอีก 2 คน ทำให้นึกถึงคำพูดของอาจารย์ มาโนชญ์ อารีย์ ว่า “ร้านน้ำชาในยามค่ำคืนเป็นพื้นที่ของผู้ชายเท่านั้น ส่วนผู้หญิงต้องอยู่ที่บ้านเลี้ยงดูลูกๆ และเพื่อความปลอดภัยของตนเอง”
จากนั้นก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน คืนนี้เป็นคืนที่มีเวลาว่างได้ทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ ของ 3 วันที่ผ่านมาว่ามีอะไรหลายอย่างที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อน มีอะไรหลายอย่างที่ได้มาสัมผัสวิถีชีวิตของชาวสามจังหวัดชายแดนใต้ในแบบที่นึกไม่ถึงมาก่อน และหวังว่าเมืองปาตานีแห่งนี้จะกลับมามีชีวิตชีวาและมีพื้นที่ที่ทำให้ใครหลายๆ คนรู้สึกปลอดภัยมากกว่านี้
วันที่ห้า 24 มีนาคม 2564
วันสุดท้ายของการท่องวัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนใต้ วันนี้เป็นการเดินทางแบบสั้นๆ เพราะต้องเตรียมตัวกลับกรุงเทพฯ แล้ว เริ่มด้วยการรับประทานอาหารเช้าที่ที่พักเตรียมไว้ให้ โดยมีข้าวต้มไก่ ขนมปัง น้ำส้มเป็นมื้อเบาๆ
เริ่มด้วยการไปรับกะแยนะ ซึ่งเป็นผู้นำเส้นทางไปสถานที่ต่างๆ สถานที่แรกคือสถานที่ที่เกิด เหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 พวกเราได้ไปเหยียบบนพื้นที่เคยมีคนถูกควบคุมตัว และคลานไปยังจุดต่างๆ ประมาณ 1,370 คน และเสียชีวิต 84 คน แล้วพวกเราก็ถ่ายรูปที่สนามเด็กเล่น เทศบาลเมืองตากใบ และเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่จำได้ในเหตุการณ์ครั้งนี้
โดยกะแยนะได้เขียนไว้ว่า “จำได้ตลอด ไม่เคยลืม” เพียงแค่ประโยคเดียวก็สะท้อนอะไรได้หลายๆ เหตุการณ์ที่โหดร้ายทารุณจนใครๆ ก็ไม่สามารถลืมได้ลง เหตุการณ์ที่ไม่สามารถลงโทษคนผิดได้เสียที ในใจของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น มีเพียงความโกรธแค้นที่ทำอะไรไม่ได้ ความยุติธรรมที่ไม่มีอยู่จริงที่ได้ทำร้ายจิตใจของใครหลายๆ คน
ไม่นานนักเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้ามาสอบถามว่ามาจากไหน มาทำอะไร เพื่อความปลอดภัยพวกเราถ่ายรูปกันสักพักก็ขึ้นรถเพื่อไปสถานที่ต่อไป
สถานที่สุดท้ายก่อนที่จะกลับกรุงเทพฯ คือ ด่านศุลกากรตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่ตรงนี้มองอีกฝั่งจะเห็นประเทศมาเลเซียเลย ซึ่งบริเวณตรงนี้มีร้านค้าจำนวนหนึ่ง บรรยากาศเงียบเหงา คาดว่าก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์ระบาดโรค COVID-19 ที่ตรงนี้คงจะครึกครื้นมากกว่านี้ แม่ค้าพ่อค้าต่างคร่ำครวญว่าปกติจะมีชาวมาเลย์มาแวะซื้อของกินของใช้ตลอดเป็นประจำ แต่ช่วงนี้ร้านค้าที่นี่กลับขายของไม่ได้เลย สายตาของพวกเขาเต็มไปด้วยความเศร้าหมอง ในสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ก็ยังไร้ซึ่งการเยียวยาจากหน่วยงานรัฐ
การเดินทางท่องวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้วันที่ 20-24 มีนาคม 2564 ได้เปิดประสบการณ์ก้อยหลายอย่างมาก ทำให้มุมมองที่มีต่อสามจังหวัดชายแดนใต้ได้เปลี่ยนไปจากเดิม ตั้งแต่บรรยากาศที่ไม่ได้มีความน่ากลัวเลย แต่ภายใต้กฎอัยการศึกกลับมีอะไรให้เราต้องค้นหาความจริงเสียมากกว่า
ผู้คนที่นั้นที่ก้อยพบเจอส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอัธยาศัยดีมาก ทุกคนต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่น มีวัฒนธรรมของการแต่งกาย อาหารการกิน ศาสนสถานที่มีความสวยงาม และมีความน่าหลงใหลซ่อนไว้ การเดินทางครั้งนี้ได้สอนเราหลายๆ อย่าง ทำให้เราเข้าใจคนในพื้นที่มากขึ้น ว่าพวกเขาเหล่านั้นได้พบเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราต้องผลักดันให้พื้นที่นี้คืนสู่ความสงบอย่างแท้จริง และทำให้สามจังหวัดชายแดนใต้กลายเป็นพื้นที่ที่หลายๆ คนกล้าที่จะเปิดใจ และก้าวข้ามความกลัวจากเหตุการณ์ความไม่สงบ แล้วลองไปสัมผัสความงดงามที่รอทุกคนอยู่