[:th]CrCF Logo[:]

CrCF ชวนอ่าน: เกิด แก่ เจ็บ ไม่ตาย เมื่อวันที่ร้านหนังสือ “บูคู” ปิดตัว กับก้าวต่อไปที่ ดร. อันธิฌา คาดหวัง

Share

เรื่องโดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

เกิด: จุดกำเนิด ร้านหนังสือบูกู

ย้อนเวลากลับไปปี 2554 ภายหลังจาก อันธิฌา ได้เริ่มทำงานกับนักกิจกรรมในพื้นที่มาสักระยะหนึ่ง ร้านหนังสือ “บูคู” ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยการดูแลของ อันธิฌากับแฟนสาวที่เป็นนักกิจกรรมด้าน Gender ในพื้นที่ โดยร้านบูคูแห่งนี้ ได้กลายมาเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยของนักกิจกรรมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นที่พูดได้ หรือประเด็นที่ล่อแหลม อาทิเช่น ประเด็นการนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้  รวมทั้งประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) ที่เมื่อหลายปีก่อน หากเราหยิบยกประเด็นนี้มาพูดเมื่อไร ก็นำพามาซึ่งปัญหาความขัดแย้ง และความไม่ลงรอยของคนในพื้นที่ทุกครั้ง เนื่องพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกจำกัดซึ่งสิทธิเสรีภาพในการพูด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงของประเทศ หรือแม้แต่หลักการศาสนาก็ตาม

นอกจากบูคูจะเป็นพื้นที่สำหรับนักกิจกรรมในการแวะเวียนมานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไม่ต้องกังวลใจแล้ว ร้านบูคูแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ผลัดเปลี่ยนให้ผู้คนได้มาจัดแสดงภาพยนตร์ ภาพถ่าย งานศิลปะ หรืองานเปิดตัวหนังสือที่สุ่มเสี่ยงต่อการเซ็นเซอร์โดยรัฐบาลล้วนแล้วสามารถจัดได้ที่บูคู ทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะพื้นที่ปลอดภัยในการใช้สิทธิเสรีภาพในการพูด

แต่แล้วพื้นที่แห่งนี้ก็ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ เข้ามาตรวจค้นที่ร้าน ประมาณปี 2556 และเริ่มได้รับการข่มขู่คุกคามมากยิ่งขึ้น เมื่อครั้งจัดงานเปิดตัวหนังสือ “ปาตานี เมอเดอกอ (เอกราช ปาตานี)”  

และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ อันธิฌา เขียนบทความส่งสำนักข่าวประชาไท ถึงเรื่องการถูกข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ถูกกระทำมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2547 แต่ไม่มีใครหยิบยกออกมาพูด ตนในฐานะคนนอกพื้นที่ที่เข้าไปศึกษาและผลักดันคนในพื้นที่ตระหนักถึงประเด็นสิทธิและเสรีภาพ จึงจำเป็นจะต้องออกมาพูด (สามารถเข้าถึงได้ที่ https://prachatai.com/journal/2013/10/49309)

ภายหลังจากปล่อยบทความชิ้นนั้นกับสำนักข่าวประชาไท เจ้าหน้าที่ทหารก็เข้ามายังร้านบูคูติดต่อกัน 5 วัน รวมทั้งมีจดหมายส่งตรงมาจากค่ายทหาร จนกระทั่ง อันธิฌา ต้องเขียนบทความกับสำนักข่าวประชาไทอีกครั้ง (สามารถเข้าถึงได้ที่  https://prachatai.com/journal/2013/10/49351)

ครั้งหนึ่ง จอม เพชรประดับ นักข่าว และผู้ลี้ภัยการเมือง ได้เคยจัดรายการเสวนาในร้านบูคู อันธิฌาได้เชิญชวนนักศึกษาหลายคนมาร่วมงาน หลังจากนั้นก็มีการจัดกิจกรรมทางการเมือง ก่อนรัฐประหารอยู่หลายครั้ง พื้นที่บูคูถูกใช้เป็นพื้นที่ในการทำงานผลักดันฝั่งประชาธิปไตย รวมทั้งเป็นพื้นที่สำหรับจัดงานประชุมแบบปิด และเปิด เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ เป็นผลให้ร้านบูคูกลายเป็นพื้นที่ที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน และกิจกรรมที่มีแทบจะทุกสัปดาห์ในช่วงเวลานั้น

ขณะที่ บรรยากาศในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลังการรัฐประหารปี 2557 นั้นเต็มไปด้วยความน่าหวาดกลัว และการข่มขู่คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

เจ็บ: ทำให้เราต้องเงียบลง

แม้ว่าสถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศจะมีทิศทางที่แย่ลง แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในเรื่องของกีฬา “ทีมฟุตบอลบูคู” เกิดขึ้นจากการที่เรายังคงผลักดันที่จะพูดคุยประเด็นสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) และการหยิบประเด็นดังกล่าวออกพูด ทำให้เราพบว่า…

“การพูดเรื่องการเมืองว่ายากแล้ว แต่การพูดเรื่องเพศกลับยากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังยืนยันที่ต้องการเปิดพื้นที่เรื่องเพศให้ผู้คนตระหนักรู้ในสิทธิที่เท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นเพศใด” อันธิฌา กล่าว

เหตุ และผลที่ประกอบกัน ทำให้อันธิฌาตัดสินใจสร้าง “ห้องเรียนเพศวิถี” ในพื้นที่ร้านบูคูขึ้น

และต้องยอมรับว่า การเปิดพื้นที่เรื่องเพศนั้นยากสำหรับพื้นที่ในแง่หนึ่ง แต่อีกแง่หนึ่ง การขุดลึกถึงรากของความคิดเรื่องความเป็นหญิงและชายว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นอย่างไร และเราจะเข้าใจมันได้อย่างไร งานนี้จึงเป็นงานที่ท้าทายมาก พอๆ กับการผลักดันเรื่องสิทธิเสรีภาพให้กับคนในพื้นที่

“คำว่าเอกราช ก็คล้ายๆ กับคำว่า LGBT ถ้าพูดแบบกลางๆ ก็จะโดนตำหนิ คนทีจะอยู่รอดในพื้นที่ต้องพูดแบบห้ามหรือต่อต้านไปเลยเท่านั้น การบีบบังคับให้คนกลุ่มหนึ่งปิดบังอัตลักษณ์ของเขานั้น ไม่เช่นนั้นจะถูกบุลลี่ เหมือนกับการที่เราตัดผมสั้น แม่ค้าเห็นแม่ค้าก็ยืนด่า ถ้าเห็นผู้หญิงตัดผมสั้น นี่ถือเป็นการเกลียดกลัว ‘คนรักร่วมเพศ’ ของคนในพื้นที่”

แต่กรณีที่รุนแรงชัดเจนและถือเป็นปัญหาที่ฝังรากร่วมกันมาตลอด คือ การล่วงละเมิดทางเพศ กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBT)

แม้การพูดเรื่องเอกราชจะยังมีคำสนับสนุนอยู่ได้บ้าง ภายใต้บริบทประชาธิปไตยและเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่สำหรับเรื่อง LGBT มักจะกลายเป็นประเด็นที่ถูกซ่อน (Hidden Object) โดยอ้างความเปราะบาง ก็นำให้เราเห็นภาพถึงลักษณะทางสังคมในพื้นที่ซึ่งมีความเปราะบางซ้อนทับความเปราะบางอีกขั้นได้เป็นอย่างดี

“เราพูดเรื่องเพศ แต่กลับถูกตีความว่าเป็นการ Discredit หรือการทำร้ายศาสนา” อันธิฌา กล่าว  

ห้องเรียนเรื่องเพศวิถี หรือ Buku class room เกิดขึ้น เราพูดเรื่องความสุขทางเพศของผู้หญิง จากเดิมที่ผู้หญิงกับความสุขทางเพศเป็นเรื่องที่ต้องห้าม แต่เราไม่เห็นด้วย และมองว่า ความสุขทางเพศเป็นสิ่งที่คนทุกเพศควรได้รับ และเราพยายามหาวิธีการที่จะสามารถพูดถึงเรื่อง Sexual Well-being ได้

“เราไม่มีปัญหากับหลักการ เรามีปัญหากับสิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ

คนกินข้าวที่มีก้างติดคอไม่อร่อย บูคูก็เหมือนก้างที่ติดคออยู่ในพื้นตอนนี้” อันธิฌา กล่าว

สารพันปัญหามากมายสำหรับผู้หญิงในพื้นที่ที่ใช้ชีวิตอยู่นอกขนบ เช่น ผู้หญิงที่ไม่อยากแต่งงาน หรือผู้หญิงที่เป็นแม่หม้าย  ผู้หญิงเหล่านี้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศโดยง่าย รวมถึงปัญหาเด็กผู้ชายติดยา ออกขับรถแข่งตอนกลางคืน หรือแม้แต่ออกจากระบบการศึกษากลางคันเนื่องจากติดเพื่อน ผู้ชายที่ถูกขับออกไปเป็นอื่นเหล่านี้ ต่างเป็นผลพวงจากภาวะความเป็นผู้ชายที่มีไม่มากพอ และไม่สามารถปีนป่ายขึ้นไปสู่สิ่งที่สังคมคาดหวังในความเป็นเพศชายได้

หรือแม้แต่กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ก็เป็นผลผลิตทางสังคมที่เราต่างเรียกกันว่า ภาวะความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) ทำให้มีความพยายามจะใช้ความรุนแรง หรือการต่อสู้กับรัฐด้วยอาวุธ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะอ้างว่า เป็นการต่อสู้เพื่อเอกราชจากรัฐไทย หากแต่การใช้กำลังก็ไม่เคยปรากฏให้เห็นถึงทางออกของความสันติสุขได้เลยสักครั้ง

ตอนนั้นจึงมีการทำสารคดี “ห้องเรียนเพศวิถี” โดยสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ภายหลังเผยแพร่ ก็มีปฏิกิริยาจากคนในพื้นที่ เนื่องจากการนำเสนอภาพดังกล่าว กำลังเปิดเผยปัญหาการกดขี่กับผู้หญิงในพื้นที่ ซึ่งผู้ชายในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ อีกทั้งยังกล่าวหาว่า การเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงออกมาเตะบอล ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นเลสเบี้ยน และถือเป็นการทำลายวัฒนธรรมอันดีงาม ทำลายศาสนา

มีการนำเสนอรูปภาพและข้อมูลของคนในพื้นที่ โดยนำรูปภาพของคนที่มาร่วมเล่นฟุตบอลไปเผยแพร่ และส่งต่อให้ไปอบรมตักเตือนกันและกัน กลายเป็นว่านักกิจกรรมในพื้นที่เองก็ลงมาแสดงความเห็น และขัดแย้งกันกับคนทำงานสันติภาพด้วย จนกระทั่งต่อมามี ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นำเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็น ผ่านรายการ Citizen Thai PBS ในประเด็น เพศวิถี ที่ถูกพูดถึงหลากหลายมิติ รวมทั้งมิติของสังคมมุสลิม (สามารถรับชมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Skf4tn7k6X0)

และเป็นผลให้ อันธิฌาจำเป็นจะต้องหาช่องทางในการผลักดันให้เกิดพื้นที่สำหรับผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น และเธอได้เลือกใช้กีฬาเป็นตัวผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับผู้หญิงมุสลิม

แก่กล้า: ทีมฟุตบอลบูกู

อันธิฌาเลือกใช้กีฬาฟุตบอล ที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นกีฬาของเพศชายมาเป็นตัวตั้งคำถาม และขับเคลื่อนออกไปผ่านการเล่น ตอนนั้นบูคูมีงบประมาณ 15,000 บาท เราใช้เงินเพื่อซื้อลูกบอล และทำไวนิลประกาศ ปกติพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีพื้นที่ออกกำลังกายสำหรับผู้หญิงน้อยมาก มีเพียงแอโรบิก และการวิ่งเท่านั้นที่ผู้หญิงจะสามารถเข้าร่วมได้ ขณะที่ตนได้ยินเรื่องราวมากมายที่ผู้หญิงมุสลิมในชนบทถูกด่าว่าเมื่อตนต้องการวิ่งออกกำลังกายตอนเย็นหรือตอนค่ำๆ  มีหลายคนอยากทำ fitness สำหรับผู้หญิง เช่น ในพื้นที่หมู่บ้านให้ผู้หญิงออกมาวิ่งโดยไม่โดนคุกคามหรือด่าทอได้

อันธิฌาเริ่มต้นสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงเล่นฟุตบอล เริ่มจากการเอาฟุตบอลมาวางไว้ที่สวนสมเด็จ ในปัตตานี และเริ่มนัดวันกันว่า วันจันทร์ เราทุกคนจะมาเตะบอลกัน เตะกันมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นเริ่มมีคนมาดูทีมบูคูมากขึ้น เนื่องจากไม่เคยเห็นผู้หญิงเตะบอลในพื้นที่ปัตตานี เริ่มมีคนมากขึ้น 60-70 คน มีเด็กบางคนไม่เคยเตะก็ออกมาเตะมากขึ้น เราคิดว่าเครื่องมือนี้ดี และสามารถทำได้ ตั้งทีม ให้มีพื้นที่จริงจัง สนามหญ้าเทียม

พื้นที่เล็กๆ ตรงนั้น ทำให้เด็กผู้หญิงตื่นเต้นที่ได้เตะบอลในสนามหญ้า แม้เป็นสนามเทียม และขนาดเล็ก แต่เป็นพื้นที่ใหม่ของผู้หญิงหลายคนที่เคยเป็นของผู้ชาย

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ ผู้หญิงเคยถูกสอนสั่งว่า ให้เดินเรียบร้อย ต้องเดินช้า หัวเราะเสียงดังก็ไม่ได้ เมื่อร่างกายถูกควบคุม ก็ยังผลให้ความคิดของเราถูกควบคุมไปด้วย  มีเรื่องเล่าจากค่ายสิทธิมนุษยชนของเยาวชน 3 วัน ณ เวลานั้น คำว่า “สิทธิมนุษยชน” ยังเป็นคำที่ใหม่มาก เด็กผู้หญิงคนหนึ่งไม่พูดอะไรเลย เด็กคนนั้น ร้องไห้และพูดไม่ออก  เธอเดินออกไปสงบจิตใจแล้วเดินกลับมา บอกกับพวกเราว่า “หนูไม่เคยรู้มาก่อน ไม่เคยรู้มาก่อนว่า เราสามารถพูดได้ว่าเราคิดอะไร”

“ฟุตบอลพาทุกคนมาอยู่กับสนามแล้วก็เตะบอล เริ่มเตะแล้วยิ้ม แล้วก็สามารถหัวเราะได้ยิ้มได้” อันธิฌา กล่าว

อันธิฌาตั้งปณิธานไว้ว่า พื้นที่ตรงนี้จะเปิดโอกาสให้ทุกเพศมาร่วมเล่นกันได้โดยไม่ปิดกั้น และเราจะไม่เรียกทีมฟุตบอลบูคูว่าเป็นทีมฟุตบอลหญิง เพราะเรามองว่ากีฬาไม่มีเพศ

“เคยมีเหตุการณ์เด็กผู้หญิงแขนหัก  เหตุการณ์นั้นทำให้เราเรียนรู้ว่า การเล่นบอลแบบรุนแรงในลักษณะกลั่นแกล้งเด็กผู้หญิงนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว แต่จะเกิดขึ้นอีกไหม หรือจะเปิดโอกาสให้ผู้ชายที่เป็นคู่กรณีกลับเข้ามาเตะด้วยใหม่หรือไม่ ท้ายที่สุดเราให้โอกาสเขา เริ่มต้นจากการพูดคุยไม่ใช่การห้ามเขาไม่ให่เข้ามาอีก  แต่ให้โอกาสเข้ามาแก้ตัวและเข้ามาเตะบอลกับผู้หญิงใหม่ ทั้งหมดเป็นการฝึกและการทำความเข้าใจกับการใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา

เจ็บแต่ไม่ตายโครงการฟื้น  ฟื้นปัตตานี: งานเยียวยา งานด้านการบำบัด

ต่อมาปีสองปีนี้ 2562-2563 พื้นที่พูดคุยมีรูปแบบอื่นแล้ว เราเห็นว่า “ร้านบูคูอาจไม่จำเป็น หรือสามารถปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่อื่นได้” ระบบการซื้อหนังสือได้เปลี่ยนไปแล้ว จากออฟไลน์เป็นระบบออนไลน์ ขณะเดียวกัน เราขาดพื้นที่อย่าง พื้นที่เพื่อการเยียวยา และการบำบัด คำถามที่เกิดขึ้นมากมาย นำมาสู่คำตอบคือ การปิดของบูคูในช่วงเวลานี้ถือเป็นจังหวะที่ดี การปิดตัวของบูคู เป็นสิ่งที่ปิดตัวพร้อมกับความรู้สึกว่า เรามีเสียงใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่  มีนักกิจกรรมประชาธิปไตยอยู่เป็นหน่ออ่อนอยู่ทั่วไป

“เราเห็นความต่างระหว่างเด็กปีหนึ่ง กับเด็กปีสี่
เด็กผู้หญิงมุสลิมพูดถึงจดหมายปรีดี พนมยงค์
เราควรใช้ทรัพยากรทั้งหมด ไปกับสิ่งหนึ่งที่อยากทำตอนนี้
ขณะเดียวกัน นักกิจกรรมอย่างเรามี TRAUMA หรือผลกระทบทางด้านจิตใจ
เรานักกิจกรรมส่วนใหญ่จะมีนิสัยหนึ่ง คือ หยุดความสนใจไม่ได้
สมองเราไม่ได้พักเลย สุขภาพเราแย่ทั้งกายและจิตใจ เหนื่อยล้าและ BURN OUT”


อันธิฌา กล่าว

อันธิฌาเห็นว่า นักกิจกรรมผู้หญิงเป็นเจ้าของปัญหา พวกเธอหลุดออกจากการทำงานไม่ได้ นั้นคือเรื่องของเธอ “เหนื่อยก็พักซิ”

เช่นเดียวกันกับวันนี้ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ วันเฉลิม ได้มาร่วมกิจกรรม Insight Patani ระหว่างวันที่ 20-24 มีค. 2564 ด้วย โดยเธอกล่าวกับวงสนทนว่า “เราเป็นห่วงน้องที่อยู่ในสถานการณ์จริง เราพักไม่ได้ สมอง ใจมันไปกับเรื่องการเมือง การต่อสู้ของน้องๆ”

อันธิให้ข้อเสนอว่า ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลว่า ต้องมีกระบวนการที่มาทำงานกับตัวเองภายใน และคนที่อนุญาตให้เกิดกระบวนการทำงานจากภายในได้คือเราเอง เราต้องเริ่มเรียนรู้ว่าการทำงานแบบ well-being เป็นอย่างไร และเราจำเป็นจะต้องสร้างเครือข่ายฯ ในการทำงานของนักกิจกรรมด้วย

“เหตุผลของการสิ้นสุดของบูคูคือ การเรียนรู้ว่า ขุมพลังของการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ตัวเราทุกคน” อันธิฌา กล่าว

เรานั่งมองการแพร่ระบาดของโควิด-19  มองการใช้เทคโนโลยี เราเห็นว่าเราต้องใช้มันให้เป็นประโยขน์  มีพื้นที่ที่ฉลาดขึ้น ราคาค่าใช้จ่ายถูกลง และกว้างขวางขึ้น

ในชุมชนนักกิจกรรม เรามักจะพบว่าทุกคนต่างมีความเสี่ยงที่จะเป็น Founder syndrome และเราก็ไม่อยากเป็นแบบนั้น เราต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง บูคูเป็นเพียงหนึ่งปัจจัยที่ตอนนี้เราสามารถทำได้ และเรามีเครื่องมือใหม่ๆ ที่เราจะสามารถทำให้เกิดความตื่นเต้นไปพร้อมกับเสียงใหม่ๆ การเคลื่อนไหวใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่ด้วย

“เรามีงานท้าทายใหม่ เราขอขอบคุณที่นี่ เรามีความสุข และรู้สึกดีที่บูคูมีคุณค่า เราเป็นเกียรติที่มีส่วนเรื่องในการอยู่ในพื้นที่นี่ เป็นความทรงจำของคนที่นี่” อันธิฌา กล่าว

RELATED ARTICLES