จดหมายเปิดผนึก
เรื่อง ขอให้ช่วยคลี่คลายปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้ความรุนแรงอย่างไร้มนุษยธรรมต่อประชาชนคนไทยกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง กรณีชุมชนบางกลอยในประเทศไทย
เรียน องค์กรองค์กรระหว่างประเทศ สถานทูต
พวกเราในนามขององค์กร สถาบัน สมาคม และเครือข่ายองค์กรชุมชนผู้ขับเคลื่อนและสนับสนุนงานด้านสิทธิมนุษยชน ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ขอแจ้งให้ทราบว่า กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ที่ชุมชนบางกลอย/ใจแผ่นดิน ในเขตป่าแก่งกระจาน จ. เพชรบุรี ของประเทศไทย กำลังได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสจากการกระทำของรัฐ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ใช้ความรุนแรง และละเมิดสิทธิในการอยู่อาศัยตั้งถิ่นฐาน การทำไร่หมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรมที่ได้รับการลงทะเบียนว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทย (ด้านสาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติ และจักรวาลวิทยา พ.ศ. 2556 “คึฉึ่ยของกะเหรี่ยง”) และการใช้ทรัพยากรป่าไม้เพื่อการยังชีพอย่างไร้มนุษย์ธรรม
ชุมชนฯ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บางกลอยมาแต่ครั้งบรรพชนตั้งแต่ครั้งรัฐไทยยังใช้ชื่อสยาม และก่อนรัฐไทยจะประกาศใช้กฎหมายใดๆ เหนือพื้นที่นี้ การที่รัฐไทยประกาศพื้นที่บางกลอยใจแผ่นดินเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติในปี ค.ศ. 1965 และนำไปแสวงหาผลประโยชน์จากการทำไม้ และต่อมาใช้นโยบายอนุรักษ์ประกาศพื้นที่ทั้งหมดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัย ไร่หมุนเวียน และป่าของชุมชนบางกลอยทั้งหมดโดยไม่ได้พิจารณากันออกตามหลักนิติธรรมของกฎหมาย ซึ่งมีสิทธิตามจารีตประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นมาก่อน จึงทำให้การอยู่อาศัยทำกินและใช้ประโยชน์ป่าของชุมชนกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
รัฐบาลไทยกระทำรุนแรงกับชุมชนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 โดยหน่วยงานอุทยานแห่งชาติฯ ได้บังคับอพยพชุมชนออกจากถิ่นฐานเดิมลงมาอยู่ข้างล่าง โดยสัญญาจะจัดที่ดินและสาธารณูปโภคให้และหากไม่พอใจก็กลับมาอยู่ที่เดิมได้ ชาวบ้านจำนวน 57 ครอบครัว จำนวน 391 คน ที่หมู่บ้านโป่งลึกเดิม และเป็นที่ดินทำไร่เดิมของชาวบ้านโป่งลึก การอพยพในครั้งนั้น มีชาวบ้านบางส่วนตกหล่นไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน และบางส่วนแม้จะได้ที่ดิน แต่ก็ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ ส่วนหนึ่งจึงกลับไปยังบางกลอยบน-ใจแผ่นดินอีกครั้ง
สำหรับชาวบ้านที่ตัดสินใจอยู่ที่หมู่บ้านแห่งใหม่ (บ้านโป่งลึก-บางกลอย) ก็ไม่ได้รับการดูแลตามสัญญาที่รัฐได้ให้ไว้ ทั้งในการทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัย ราษฎรแต่ละหลังคาเรือนต้องอาศัยกันอย่างแออัดอยู่หลายครอบครัว มีที่ดินที่เพียงพอและมีคุณภาพแก่การยังชีพได้ รวมถึงการมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎที่ดินของชาวบ้านบางส่วนมีสภาพเป็นหินทั้งแปลง หรือบางส่วนมีสภาพเป็นหิน ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ และไม่มีการเตรียมการด้านสาธารณูปโภคให้พร้อมก่อนการอพยพราษฎรลงมา
กระทั่งในปี ค.ศ. 2010 – 2011 หน่วยงานอุทยานฯ ได้สนธิกำลังกับตำรวจและทหารไปจับกุมราษฎรบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เผาบ้านและยุ้งข้าวทั้งหมด และบังคับให้อพยพพวกเขาลงมา ราษฏรบางรายถูกจับดำเนินคดีจนติดคุก การกวาดล้างชาวบ้านลงมาในครั้งนี้ ไม่มีการจัดที่ดินให้พวกเขาแต่อย่างใด
นอกจากนั้น การช่วยเหลือราษฎรให้มีงานทำที่มีตรงตามความต้องการของราษฎร ทำในวงจำกัดเพียงไม่กี่รายและมีรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ การช่วยเหลือด้านอาชีพการเกษตรของรัฐผ่านมูลนิธิปิดทองหลังพระ เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.2012 จนกระทั่งปัจจุบัน แต่ราษฎรส่วนใหญ่มีรายได้ไม่พอกับการเลี้ยงชีพ และมีหนี้สินกับร้านค้าในหมู่บ้านเพื่อซื้อข้าวและอาหาร พวกเขาต้องอดทนกับสภาพแร้นแค้นเป็นเวลา 10-20 ปี จนถึงที่สุดจึงตัดสินใจกลับไปทำไร่หมุนเวียนอยู่ถิ่นเดิมที่บางกลอยบนเมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา
ชาวบ้านพยายามต่อสู้เพื่อกลับถิ่นเดิมอยู่เสมอมา นักการเมืองท้องถิ่นผู้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนชาวบ้านถูกฆ่าตาย ผู้นำชุมชนถูกทำให้สาบสูญ ชาวบ้านพยายามดิ้นรนให้อยู่รอดด้วยการส่งคนหนุ่มสาวไปทำงานหารายได้ในเมืองส่งเงินกลับมาซื้อข้าวกินก็พอประทังชีพมาได้ แต่ช่วงปี 2562 เป็นต้นมา ประเทศไทยเกิดปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่และวิกฤติโควิดทำให้คนไม่มีงานทำต้องกลับมาชุมชนและหาที่ทำกินเลี้ยงชีพแต่ไม่มีที่ดินและอาชีพรองรับ ไม่มีอาหารกิน จนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนต้องรณรงค์รับบริจาคข้าวและอาหารตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือแต่ก็ช่วยได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ในช่วงกลางเดือน ม.ค. 2564 ราษฎรเหล่านี้จึงพากันกลับขึ้นไปอยู่ถิ่นเดิมในป่าอีกครั้ง เพื่อเตรียมทำไร่ปลูกข้าวไว้กิน
เจ้าหน้าที่อุทยานฯไม่ยินยอม สนธิกำลังสกัดกั้นและผลักดันชาวบ้านให้ลงมา มีการส่งเฮลิคอปเตอร์ไปบีบให้ชาวบ้านส่งตัวแทนมาเจรจาข้างล่างกันครั้งหนึ่ง แต่คุยกันไม่ได้เพราะฝ่ายอุทยานฯต้องการให้ชาวบ้านลงมาอยู่ข้างล่างในที่จัดสรรซึ่งชาวบ้านรับไม่ได้เพราะอยู่ในสภาพแร้นแค้นมากว่า 25 ปีแล้ว ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ชาวบ้านบางกลอยและเครือข่ายภาคี#Saveบางกลอย ได้มาชุมนุมเรียกร้องรัฐบาล จนได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงกับตัวแทนราษฎรและเครือข่ายฯ โดยให้ยุติการใช้ความรุนแรงและศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาแก้ปัญหาขัดแย้ง แต่รัฐไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเสียเอง เพียงสองสัปดาห์ที่ทำข้อตกลงกลับให้เจ้าหน้าที่คุกคามชาวบ้านจนหวาดกลัว ยังกีดกันไม่ให้เครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนไปช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแนะนำชาวบ้าน สื่อมวลชนอิสระถูกห้ามเข้าพื้นที่ และวันศุกร์ที่ 5 มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และทีมงานจากจังหวัดเพชรบุรีก็เข้าจับกุมราษฎรซึ่งรวมทั้งเด็กและผู้สูงอายุจำนวน 22 คน จาก 30 คน ที่มีหมายจับ ส่งฟ้องดำเนินคดีโดยไม่ให้พบทนายของพวกเขาและญาติพี่น้องที่พยายามขอเข้าพบชาวบ้านที่ถูกจับกุม ผู้ที่ถูกคุมขังมีผู้หญิงที่มีลูกอ่อนยังกินนมแม่ต้องถูกพรากออกไปจากอกแม่ ต่อมาอาทิตย์ที่ 7 มี.ค. 2564 ชาวบ้านถูกปล่อยตัวชั่วคราวอย่างปริศนา แต่ที่เลวร้าย คือ การบังคับให้ชาวบ้านเซ็นยอมรับเงื่อนไขว่าจะไม่กลับไปทำไร่ที่ข้างบนอีก หากฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงิน 50,000 บาท ถ้าไม่ยอมเซ็นก็จะไม่ได้ออกมา
พวกเรา ในนามขององค์กร สถาบัน สมาคม และเครือข่ายองค์กรชุมชนผู้ขับเคลื่อนและสนับสนุนงานด้านสิทธิมนุษยชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย เห็นว่าการกระทำของรัฐบาลไทยดังกล่าวข้างต้นเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างเหยียดหยามต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และยังใช้ความรุนแรงอย่างไร้มนุษยธรรมข่มขู่คุกคามและจับกุมดำเนินคดีราษฎรกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยากจนและด้อยโอกาส ปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงทนายและปกป้องสิทธิของตนเองในการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม อันเป็นการกระทำที่ผิดไปจากข้อตกลงในอนุสัญญาต่างๆ ที่ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบรรณไว้ จึงสมควรได้รับการตักเตือนและถูกประณามจากนานาชาติ
จึงเรียนมาเพื่อขอความช่วยเหลือจากท่านในฐานะองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้โปรดรับรู้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้ความรุนแรงกระทำต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมอย่างไร้มนุษยธรรม และประสานเจรจากับรัฐบาลไทยให้หยุดการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบกับของราษฎรกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างของชุมชนเพื่อส่งเสริมสิทธิวัฒนธรรม และสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มั่นคงและยั่งยืนให้สำเร็จลงไปด้วยดี
ขอขอบคุณในความกรุณาของท่านไว้ ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
มีนาคม 2564
- สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.)
- สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้
- สมาคมส่งเสริมภาคประชาสังคม
- สมาคมส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม Social Equality Promotion Foundation
- สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน
- สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา
- สมาคมพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ
- สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สปพย.) Pgakenyaw Association for Sustainable Development (PASD
- สมาคมเพื่อนภู
- สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ(ประเทศไทย) HomeNet Thailand Association
- สมาคมเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา
- สถาบันธรรมชาติพัฒนา
- สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา Local Development Institute (LDI)
- สถาบันจัดการความรู้ชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Knowledge Management Institute-IKMI)
- ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา Karen Studies and Development Center
- ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง
- ศูนย์เรียนรู้ชุมชนโจ้โก้ JOKO community learnings center
- มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
- มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
- มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre Foundation)
- มูลนิธิภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองพื้นที่สูง (Indigenous Know ledge and Peoples Foundation-IKAP)
- มูลนิธิภาคใต้สีเขียว
- มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ Northern Development Foundation (NDF)
- มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation (CrCF)
- มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต
- มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
- มูลนิธิชุมชนไท
- มูลนิธิช่วยเหลือเด็กชายแดน จังหวัดตาก
- มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) Human Rights and Development Foundation (HRDF)
- มูลนิธิเพื่อนหญิง
- มูลนิธิเพื่อนชนเผ่า (มพผ.) Friends of Tribal People Foundation (FTPF)
- มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ Foundation for Labour and Employment Promotion (HomeNet Thailand)
- มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก Foundation for Child Development
- คณะกรรมประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน NGOs Coordinating Committee on Development
- คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ Northern NGOs Coordinating Committee on Development
- คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ South NGOs Coordinating Committee on Development
- คณะกรรมการป่าโคกหนองม่วง
- คณะกรรมการจัดการน้ำชุมชนลุ่มน้ำพอง
- ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (We Move)
- ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P – MOVE)
- กลุ่มอนุรักษ์ดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู
- กลุ่มสันป่าตอง แม่วาง เสวนา
- กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
- กลุ่มชาติพันธุ์ ลำปาง
- กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai)
- กลุ่มเพื่อนประชาชนบนพื้นที่สูง
- กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามขัยเขต
- กลุ่มเกษตรบึงปากเขื่อน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
- เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน
- เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ (Mae Moh Occupational Health Patients’ Rights Network)
- เครือข่ายสลัม 4 ภาค
- เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย
- เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)
- เครือข่ายพลังผู้สูงวัย (Power of Older Persons Network)
- เครือข่ายประชาชนรักษ์โลก
- เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
- เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
- เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM)
- เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน
- เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง
- เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำพอง
- เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า
- เครือข่ายชาวเลอันดามัน
- เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (Network of Indigenous Peoples in Thailand-NIPT)
- เครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Education Network-IEN)
- เครือข่ายกะเหรี่ยงประเทศไทย ภาคเหนือ
- เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม Karen Network for Culture and Environment (KNCE)
- เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์
- เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก
- เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้
- เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)
- เครือข่าย เบ๊อะบละตู (Berblatoo)
- เครือข่าย 304 กินได้