บางกลอยคืออะไร?
หลายคนน่าจะเห็น #saveบางกลอย มาพักใหญ่ๆ แล้ว แต่ไม่สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวได้เพราะการต่อสู้ระหว่างชนพื้นเมืองและเจ้าหน้าที่ดำเนินมาเกินกว่า 20 ปีแล้ว ประเด็นอันซับซ้อนระหว่างเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านบางกลอยมีตั้งแต่เรื่อง สิทธิมนุษยชนของกลุ่มชนพื้นเมือง สิทธิชุมชน สิทธิการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำไม อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จึงไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
ไม่นับรวมถึงรากเหง้าของปัญหาที่หยั่งลึกลงในความเป็นชาติไทย แนวคิดชาตินิยมที่ผลักคนชาติพันธุ์ให้กลายเป็นคนชายขอบ และภาพลักษณ์อันเลวร้ายที่รัฐเป็นผู้สร้างแก่กลุ่มคนพื้นเมือง เสริมด้วยคติจากคนเมืองที่ไม่เข้าใจปัญหาด้านสิทธิพื้นฐานและอภิสิทธิ์อันกระจุกตัวอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ
บางกลอย คือหมู่บ้านในตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หากเดินขึ้นจากสะพานแขวนแม่น้ำเพชรบุรี เราจะพบกับ “บ้านโป่งลึก” เป็นอันดับแรก ซึ่งในอดีตบ้านโป่งลึกกินพื้นที่แม่น้ำทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเพชรบุรี
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2539 (โดยประมาณ) ชาวบ้านบางกลอยถูกเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติผลักดันให้อพยพลงมาที่ฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเพชรบุรี นั่นก็คือฝั่งหนึ่งของบ้านโป่งลึกในอดีตนั่นเอง
หมายความว่า ชาวบ้านบางกลอย แต่เดิมไม่ได้อยู่ที่ “บ้านบางกลอย” มาตั้งแต่ต้น สถานที่ตั้งบ้านบางกลอยในปัจจุบันนี้เรียกว่า “บางกลอยล่าง” และที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงบางส่วนที่อพยพลงมา ก็อยู่เหนือขึ้นไปอีก เราจะเรียกว่า “บางกลอยบน”
ดังนั้นผู้อยู่อาศัยในบางกลอยบนจึงไม่ใช่การรุกถางป่าสงวนตามที่มีการกล่าวอ้าง แล้วชาวกะเหรี่ยงอีกส่วนหนึ่ง แท้จริงแล้วอาศัยอยู่ที่ไหน พวกเขาอาศัยที่พื้นที่ไกลจากบางกลอยบนขึ้นไปอีก พื้นที่นั้นเรียกว่า ใจแผ่นดิน
ใจแผ่นดิน
คือที่ตั้งของชุมชนชาวปกาเกอะญอ และเป็นบ้านเกิดของ “ปู่คออี้” นาย โคอิ มีมิ ปู่ของ “บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ” นักต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวกะเหรี่ยง
แม้ไม่มีระยะเวลาแน่ชัดว่าชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่ ณ ใจแผ่นดินมานานแค่ไหนแล้ว และไม่มีหลักฐานว่าเป็นหมู่บ้านตามเอกสารของกระทรวงมหาดไทย แต่ก็มีหลักฐานว่าใจแผ่นดินมีคนอยู่อาศัยมาก่อนปี พ.ศ. 2455 เนื่องจากมีภาพปรากฏในที่ตั้งแผนที่ทหาร แปลว่าชาวบ้านอาศัยอยู่บนพื้นที่นี้มาอย่างน้อย 100 ปีแล้ว
นี่คือก่อนจะมีกฎหมายป่าไม้ฉบับแรก 30 ปี และ 50 ปีก่อนมีกฎหมายอุทยาน
และต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ก็มีภาพถ่ายทางอากาศของบริเวณที่ถูกระบุว่าเป็นใจแผ่นดิน มีร่องรอยการอยู่อาศัย และทำประโยชน์ในที่ดินอย่างชัดเจน ชิ้นที่ 3 คือ คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ยืนยันว่า ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานเป็นกลุ่มคนดั้งเดิม และบางกลอย – ใจแผ่นดินเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีอยู่จริง
ยังไม่นับหลักฐานจากภาพถ่ายของชาวบ้านในชุมชนที่ถูกถ่ายไว้ตั้งแต่ก่อนปี 2524 ซึ่งปรากฏภาพของ ปู่คออี้ สมัยเป็นคนหนุ่มในหมู่บ้านใจแผ่นดิน
ใจแผ่นคือบ้านแต่อดีต ซึ่งถูกพรากไปด้วยกฎหมายที่เกิดมาทีหลัง
ปี พ.ศ. 2524 มีการประกาศให้พื้นที่ป่าแก่งกระจานเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หมายความว่าชาวบ้านที่เคยใช้ชีวิตตามอัตภาพมาก่อน ถูกผลักให้กลายเป็นกลุ่มคนบุกรุกป่าเพราะกระดาษแผ่นเดียว ทั้งที่ความหมายของการรุกป่าคือการที่มีคนถางเข้าไปในอาณาเขตที่ไม่มีการอยู่อาศัยมาก่อน แล้วชาวบ้านซึ่งพึ่งพิงป่าในเลี้ยงชีพมาตั้งแต่ต้นจะถือว่าบุกรุกพื้นที่ป่าและกระทำผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นทีหลังได้อย่างไร?
และในปี พ.ศ. 2539 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติในขณะนั้น เจรจาขอให้ชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน ที่อาศัยอยู่ที่บางกลอยบน และใจแผ่นดิน ทำการอพยพลงมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรไว้ให้ โดยจะก่อตั้งเป็นหมู่บ้านและให้พื้นที่ทำกินกับชาวบ้านครอบครัวละ 7 ไร่ คนที่อพยพลงมาตอนนั้น บ้างก็เต็มใจ บ้างก็ถูกบังคับ
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อชาวบ้านไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินตามที่สัญญาไว้ บางครอบครัวก็ได้ที่ดินไม่พอกับปากท้องหรือน้อยกว่าที่กำหนดและที่ดินที่ได้รับก็เป็นพื้นที่ไม่เหมาะกับการเพาะปลูก รวมถึงสมาชิกในชุมชนที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ ไม่สามารถรับการจัดสรรที่ดินและสวัสดิการได้ บีบให้ชาวบ้านต้องทิ้งวิถีชีวิตดั้งเดิมเพื่อเข้าทำงานรับจ้างในตัวเมือง ผู้หญิงหลายคนต้องไปขายบริการทางเพศและประสบปัญหาสิทธิมนุษยชนซ้ำซ้อนจากการไม่ได้รับรองสัญชาติและประกอบอาชีพนอกกฎหมาย ส่งผลให้ไม่สามารถป้องกันตนเองจากการเอารัดเอาเปรียบและความรุนแรงในสังคมได้
เมื่อปีที่เกิดการอพยพครั้งแรกนั้นยังไม่มีพระราชบัญญัติสัญชาติเกิดขึ้น ทำให้ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนที่มีบิดาหรือมารดาไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ ต้องกลายเป็นคนต่างด้าวทั้งที่เกิดและมีรกรากในราชอาณาจักรไทย
แต่เดิมชาวกะเหรี่ยงไม่ได้ใช้เงินในการดำรงชีวิตมากนัก เน้นการแลกเปลี่ยนกันในชุมชนเป็นหลัก แต่เมื่อลงมาในเมืองก็ต้องใช้เงิน ซึ้งไม่สามารถนำค่าแรงจำนวนที่ได้ไปแลกกับอาหารในปริมาณที่เคยเพาะปลูกเอง ความขัดสนต่อที่ดินทำกินและอาชีพแย่ลงเรื่อยๆ เมื่อประสบกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19
แสดงให้เห็นว่าภาครัฐไม่ยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์แต่อย่างใด และถือว่าไทยในขวานทองนี้เป็นประเทศไทยของรัฐแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
หากชาวกะเหรี่ยงสามารถเดินทางกลับไปสู่ถิ่นอาศัยเดิมได้ก็คงจะไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ เพราะเขาจะมีสิทธิเลือกว่าอยากใช้ชีวิตในรูปแบบใด หลังจากการอพยพครั้งแรกชาวบ้านบางส่วนจึงเดินทางกลับไปสู่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน
จนถึงปี พ.ศ. 2553 เกิดปฏิบัติการที่เรียกว่า “ยุทธการตะนาวศรี”
อันสะท้อนถึง กฎหมายที่เป็นไทย แต่ไม่เป็นธรรม
ยุทธการตะนาวศรี ดำเนินเรื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2554 และถูกเปิดเผยจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกในวันที่ 16 กรกฎาคม ปีพ.ศ. 2554 ระหว่างปฏิบัติการ ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม 10-12 ครั้ง และบังคับให้ทำการอพยพเป็นครั้งที่ 2 โดยการมีการเผายุ้งฉางและบ้านเรือนกว่า 100 หลัง
ครั้งนี้ทำให้ ปู่คออี้ และชาวบ้านอีก 5 คนฟ้องร้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติในปี พ.ศ. 2555 แม้ว่าศาลปกครองจะตัดสินให้หน่วยงานภาครัฐจ่ายค่าเสียหายให้กับชุมชนตามตัวบทกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม แต่มูลค่าที่สูญหายไปมีมากกว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
นั่นก็คือวิถีชีวิต วัฒนธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และผลกระทบทางจิตใจของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ซึ่งเป็นความเสียหายที่คนในเมืองหลวงและภาครัฐคงไม่สามารถประเมินได้ หลายครั้งที่กฎหมายถูกบัญญัติขึ้นจากการรวมอำนาจในศูนย์กลาง โดยไม่สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะกับคนชายขอบ และบริเวณที่ไม่ใช่แหล่งค้ากำไรของเศรษฐกิจไทย
ทั้งยังมีการครอบความเป็น “รัฐไทย” ที่ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทับซ้อนไปอีก สิ่งเหล่านี้เบียดกลุ่มชาติพันธุ์ออกจากความรู้สึกเป็นพลเมืองร่วมกัน และไม่มีกฎหมายฉบับใดใช้คำว่า “ชนพื้นเมือง” แม้จะบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถใช้ชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ รวมถึงยังลงนามใน ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง หรือ UNDRIP
ทว่าเมื่อไม่ได้ยอมรับเป็นคนไทยแล้ว จะสามารถใช้ชีวิตบนกฎหมายที่เอื้อให้เพียงคนไทยกลุ่มหนึ่งได้อย่างไร?
การถูกกีดกันออกจากความเป็นคนไทยของชนพื้นเมือง
ทุกวันนี้ภาพของความเป็นไทยถูกผลิตซ้ำ และโฆษณาผ่านมุมมองของคนเมืองจากการเสพย์สื่อต่างๆ มีแค่ประวัติศาสตร์ และขนบธรรมเนียมที่ได้รับการบันทึกโดยชนชั้นสูงเท่านั้นที่ถูกยอมรับว่าเป็นไทยอันควรแก่การรักษา ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ค่านิยม ประเพณีหรือวันหยุดราชการ ก็อิงจากการประโคมแนวคิดชาตินิยมในยุคหลังๆ ทั้งสิ้น ภาพเหล่านี้เสริมความแข็งแกร่งให้รัฐชาติยุคใหม่ และความเชื่อที่ว่าคนรักชาติเท่านั้นที่เป็นคนดี และสมควรจะได้รับสิ่งดีๆ จากภาครัฐ เพราะเขาประพฤติตนเป็นคนไทยในแบบที่รัฐต้องการ
นั่นคือเป็นโล่ป้องกันให้แก่อำนาจต่างๆ เราแทบไม่เห็นประวัติศาสตร์ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่จริงๆ เลย หากมีการบันทึกก็มักจะอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา แล้วยิ่งน้อยลงไปอีกเมื่อเป็นวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง ซึ่งบันทึกเรื่องราวผ่านธรรมชาติ และส่งต่อภูมิปัญญาผ่านวิถีชีวิต
ส่วนภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์จากสายตาคนไทยที่เน้นผดุงหลักการมากกว่าทำความเข้าใจ โดยเฉพาะในเรื่องธรรมชาติ ก็คือพวกเขาเป็นคนถางป่า เผาหน้าดิน ทำลายพืชท้องถิ่น ค้ายาเสพย์ติด ล่าสัตว์ป่า ไม่มีการพัฒนา และหลบหลีกอำนาจรัฐ ทั้งที่คนเมืองและผู้มีอำนาจก็ทำพฤติกรรมเหล่านี้เช่นกัน หนำซ้ำยังทำได้ร้ายแรงกว่าโดยชอบธรรมอีกด้วย
ความถูกต้องและสิทธิในการได้เป็นคนไทยนั้นแคบแสนแคบ แคบจนไม่สามารถบรรจุความหลากหลายใดๆ ลงไปได้เลย หากไม่ใช่คนไทยก็ย่อมต้องเป็นคนชั่ว
แม้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ออกมา และเป็นที่ถกเถียงกันมาหลายปี ก็ยังคงมีความเชื่อจากคนเมืองที่ว่า คนไม่ควรอยู่ในป่า เพราะจะเป็นการทำลายป่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คงต้องยกตัวอย่างความผูกพันระหว่างชนพื้นเมืองกับป่า นี่เป็นหนึ่งในความต้องการของ ชาวปกาเกอะญอ คือ การประกอบพิธีกรรมเพื่อส่งดวงวิญญาณของ ปู่คออี้ ผู้เสียชีวิตไปในปี พ.ศ. 2561 ขณะมีอายุ 107 ปี พิธีกรรมนี้มีส่วนสำคัญคือลูกหลานต้องปลูกข้าวไร่ด้วยตนเองบนผืนดินที่ใจแผ่นดินเพื่อใช้ในพิธีกรรม และเลี้ยงผู้มาร่วมงาน
หากเป็นคุณ คุณสามารถจิตนาการความรู้สึกสูญเสียและถูกเหนี่ยวรั้งทั้งตอนที่มีชีวิตและหลังจากนั้นได้หรือเปล่า? และหากคุณต้องตายไม่ว่าที่ไหน ตายที่บ้านเกิดไม่ดีกว่าหรือ
รัฐกำลังบีบให้ชาวบ้านต้องเลือกในคำถามนี้
วิถีชีวิตที่ถูกทำลาย 1 ธรรมชาติกำเนิดวัฒนธรรม
อัตลักษณ์ของชาติพันธุ์นั้นรวมถึงประเพณี ความเชื่อ และศาสนา ชาวบ้านมีศาสนาของพวกเขาเอง และพื้นดินบ้านเกิดคือศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ มันคือศาสนาอันเป็นรูปธรรม สิ่งแวดล้อมสร้างวิถีชีวิต วิถีชีวิตสร้างความเชื่อ ความเชื่อสร้างศรัทธา และศรัทธาจะอุ้มชูที่อยู่อาศัย ทั้งหมดเป็นวัฏจักรที่จะดำเนินได้เหนือใจแผ่นดินเท่านั้น ชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อแตกต่างกันไป
บางตระกูลส่งต่อความเชื่อผ่านฝ่ายหญิงเท่านั้น ประเพณีส่งต่อจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่นด้วยการดำรงชีพในลักษณะเฉพาะ และการบีบให้คนที่อยู่กับป่าต้องไปอยู่กับเมืองคือการทำลายวิถีชีวิตของพวกเขา
พิธีศพมีทั้งการเผาและการฝัง เขาจะจุดเทียนที่หัวและปลายเท้า เป็นแสงส่องทางให้ดวงวิญญาณผู้ตาย คนไปงานศพพอขาจะกลับบ้านก็ต้องดึงไม้หนามกลับมาด้วย ให้หนามเกี่ยววิญญาณกลับบ้าน แล้วจึงรับขวัญ เรียกขวัญกลับจึงเป็นอันเสร็จพิธี ร่างของสมาชิกครอบครัวและบรรพบุรุษของ ชาวบางกลอย–ใจแผ่นดิน กลายเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าด้วยประการฉะนี้ ผืนป่าจึงเป็นส่วนหนึ่งของบรรดาลูกหลานในชุมชนด้วยเช่นกัน
เมื่อชาวบ้านอพยพไปแล้วก็ไม่สาสารถนำประเพณีไปด้วยได้ บางส่วนต้องหันมานับถือศาสนาที่คนหมู่มากนับถือกัน นี่ยังเป็นการทำลดการกัดกันจากสังคมพุทธอีกด้วย รัฐบังคับให้เขาละทิ้งความศรัทธาของตัวเองกับปากท้องที่มันไม่พอกิน แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะบัญญัติไว้ว่า
บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน— มาตรา 31 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ซึ่งจากประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความเป็นเอกเทศของสังคมชาวปกาเกอะญอก็แสดงให้เห็นว่า การนับถือศาสนาไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐอย่างใดเลย และย่อมไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี เพราะการยึดเอาศีลธรรมโดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว ดังนั้นหากมองด้วยประเด็นทางความเชื่อประกอบด้วย รัฐยิ่งไม่สามารถพรากชาวบ้านออกจากผืนป่าของเขาได้
วิถีชีวิตที่ถูกทำลาย 2 การทำไร่หมุนเวียน
หนึ่งในสาเหตุที่กรมอุทยานฯ อ้างความชอบธรรมในการไล่ที่ชาวบ้านก็คือการเสนอ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติต่อองค์กรยูเนสโก ด้วยความสมบูรณ์ของผืนป่าและสายพันธุ์สัตว์ด้านใน
วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลักตั้งแต่การทำกินไปจนถึงสร้างบ้านและการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ แต่ภาครัฐกลับไม่ยอมรับว่าความสมดุลของผืนป่าส่วนหนึ่งเกิดจากการผสานวิถีชีวิตของชาวบ้านเข้ากับสภาพแวดล้อมเช่นกัน
พวกเขามีความเชื่อเรื่องผีสาง นางไม้ เจ้าป่า เจ้าเขา และพระแม่คงคาที่ เมื่อมีเด็กเกิดก็จะเอารกใส่ในกระบอกไม้ไผ่และเอาไปฝากกับต้นไม้ที่สูงและงดงามที่สุด เขาจะไม่โค่นต้นไม้ที่ฝากรกไว้ ทุกคนในชุมชนบอกกันว่าต้นไม้ต้นไหนรับฝากรกของใคร เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในการรักษาทรัพยากรของ ชาวปกาเกอะญอ
ลักษณะของบ้านเรือนก็พัฒนามาให้เข้ากับสภาพอากาศและภูมิประเทศ การทำไร่หมุนเวียนที่ไม่ใช่การทำไร่เลื่อนลอย มีการพิสูจน์แล้วว่าการทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ส่งผลกระทบเลวร้ายต่อระบบนิเวศน์ การเวียนไร่เป็นการปล่อยให้ผืนดินคืนสภาพเองจนสนสมบูรณ์แล้วจึงกลับมาเพาะปลูก
ที่มากกว่านั้นคือการทำไร่เลื่อนลอยที่มีการเผาหน้าดินยังเกิดผลเสียน้อยกว่าการทำไร่อุตสาหกรรมที่ส่งออกพืชผักมาให้ชาวกรุงรับประทานกันตอนนี้เสียอีก นี่ไม่ใช่การแย้งว่าการทำไร่เลื่อนลอยเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่หากหลายฝ่ายคำนึงถึงผลกระทบจากการทำการเกษตรหมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงจริงๆ ก็ยังมีอีกหลายกรณีที่ควรแก้ปัญหามากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเหมืองหินปูน การสร้างเขื่อนและสัมปทานเหมือง ซึ่งก็แล้วแต่เป็นการถือครองของรัฐแทบทั้งหมด
ความจริงเรื่องนี้ไม่ควรนำมาสร้างข้อกังขา เพราะตลอดระยะเวลาหลัก 100 ปีที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ ป่าก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ หากจะเสียหายก็ต้องนับการเผาป่าและที่ดินครั้งใหญ่โดยเจ้าหน้าที่เองในปีพ.ศ. 2553-2554 ระหว่าง ยุทธการตะนาวศรี
ทั้งที่สามารถเสนอให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้ โดยมีการอนุรักษ์ผืนป่าเป็นสมบัติทางภูมิปัญญา ซึ่งเป็นรากเหง้าของจิตวิญญาณความเป็นชาติพันธุ์ การยื่นเสนอโดยตัดสินใจฝ่ายเดียวจึงเป็นการเพิ่มความซับซ้อนของปัญหาคนกับป่าให้มากขึ้นไปอีก
และแน่นอนว่าองค์กรระดับนานาชาติอย่าง UNESCO ผนวกด้วย UN ก็ได้เลื่อนการรับรองอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานให้เป็นมรดกโลกออกไปแล้วด้วย 3 ปัญหาหลักๆ นำด้วยปัญหาด้านสิทธิ์มนุษยชนของชนพื้นเมือง พื้นที่ที่มีจุดทับซ้อนกับประเทศเมียนมาร์และต้องสำแดงว่าพื้นที่ในปัจจุบันยังมีคุณสมบัติเป็นมรดกโลก
เนื่องจากประเทศไทยมีการจัดการที่ล่าช้าและละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เรื่อยๆ ไม่จบสิ้น จึงไม่แปลกที่จะถูกปฏิเสธ เราต้องเข้าใจก่อนว่ามาตรฐานใดๆ ของไทย ไม่ใช่มาตรฐานของโลก หากอยากเป็นมรดกโลกก็ต้องยึดหลักของสากลโลกก่อน
มรดกโลกที่ไม่มีเจ้าของ
ที่พูดมาจนถึงตอนนี้ หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วว่า หาก อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติจริงๆ มรดกนี้บันทึกเพื่อให้ใครภูมิใจกันแน่? หากขึ้นทะเบียนเพื่อให้คนไทยภูมิใจโดยแลกกับความเป็นไท คือเป็นอิสระของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยในพื้นที่มาตั้งแต่ก่อนที่จะเอาคำว่าไทยไปประเคนใส่เขา หรือพูดง่ายๆ คือชาติพันธุ์ต่างๆ นั้นอยู่มาก่อนที่จะมีธงชาติไทยด้วยซ้ำ มันเป็นราคาที่คุ้มค่าหรือไม่? ในเมื่อชาวบ้านและรัฐตีความคุณค่าของสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน แต่มีเพียงฝ่ายเดียวที่ประกาศความคิดของตนเองได้ ในขณะที่อีกฝ่ายแลกมาด้วยชีวิตก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม
สำหรับชาวบ้านใจแผ่นดินแล้ว พื้นที่ตรงนั้นไม่จำเป็นต้องได้เป็นมรดกโลกก็เป็นบ้านเกิดที่พวกเขาหวงแหนและคิดถึงอย่างสุดหัวใจ
ดิฉันกำลังพูดคุย คุณบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงที่หายสาบสูญไปในปี 2557 และถูกพบอีกครั้งในถังน้ำมันที่จมอยู่ใต้แม่น้ำในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในเดือนกันยายนปี 2562
ดิฉันได้กล่าวถึงคุณบิลลี่ไปแล้วก่อนหน้านี้ เขาคือหลานชายแท้ๆ ของ ปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง และได้เป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่บางกลอยในเวลาต่อมา คุณบิลลี่หายสาบสูญไปโดยไม่มีเค้าลางล่วงหน้า นอกจากคำพูดที่บอกกล่าวภรรยาคือ คุณมึนอ ว่ามีคนไม่พอใจเขาเป็นอย่างมาก คุณบิลลี่ถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายที่ด่านมะเร็ว กระทั่งมีการพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ตามที่ว่าไว้ด้านบน ซึ่งรายละเอียดของการหายตัวไปครั้งนี้เต็มไปด้วยเงื่อนงำและความสะเทือนใจ ซึ่งจะมีการกล่าวถึงในโอกาสต่อไปโดยละเอียด
ความเจริญต้องเป็นตัวเลือก ไม่ใช่การบีบบังคับ
นอกจากนั้นยังมีการอ้างว่าภาครัฐต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสุขอนามัยของชาวบ้าน จึงให้พวกเขาอพยพออกจากชุมชนดั้งเดิม ด้วยเหตุผลที่ว่าชาวกะเหรี่ยงไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานและเป็นการแก้ปัญหาเรื่องสัญชาติที่เราได้เกริ่นไปแล้ว เนื่องจากที่ตั้งของใจแผ่นดินอยู่ลึกมาก จึงทำให้การตรวจสอบประชากรของภาครัฐเข้าไปไม่ถึง
ในประเด็นนี้ดิฉันขอแสดงความเห็นว่า การยืนยันว่าเป็นประชาชนนั้นไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่ต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อความสะดวกของหน่วยงานราชการ แต่ควรเป็นหน่วยงานราชการที่เคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภูมิประเทศ ที่สำคัญคือรัฐบาลย่อมต้องรู้จักประเทศของตนเองดีที่สุด ไม่ว่าในแง่ใดๆ ก็ตาม รัฐต้องนำความเจริญไปให้คนในพื้นที่
ก่อนที่คุณจะมอบอะไรให้ใครสักคน คุณต้องลองคิดว่าคุณจะเติมสิ่งที่เขาขาด และให้เขาเลือกว่าอะไรสำคัญสำหรับพวกเขา ใครใคร่อยู่ในเมืองก็ย่อมอยู่ได้ ใครใคร่กลับบ้านเกิด ก็ต้องกลับได้ ต่อมาคือเรื่องของสุขอนามัย ซึ่งสัมพันธ์กับการคมนาคม หน่วยงานต้องมีศักยภาพในการให้ความรู้และอุปกรณ์ในการรักษาชีวิต ไปจนถึงการจัดการทรัพยากรขยะและผสานความรู้ทางการแพทย์ของท้องถิ่นนั้นๆ
การสร้างตัวเลือกคือการมอบเสรีภาพ มิใช่สภาพอยู่ก็ตาย กลับก็ตายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ภาครัฐต้องให้เขามีความสะดวกสบายและสามารถที่จะรักษาภูมิปัญญาที่มีอยู่ก่อนโดยอิสระ
ยิ่งไม่ควรอ้างเรื่องโอกาสทางการศึกษามาเป็นสาเหตุของการกวาดต้อนรุนแรง เพราะเขาเพียงต้องรู้เหมือนเรา ไม่ได้ต้องเลือกเหมือนเรา ภาครัฐต้องมีการสื่อสารที่ดีกว่านี้ และไม่มองว่าคนที่อยู่นอกขอบเขตวิถีชีวิตของไทยกลางๆ ไม่ใช่คนไทย เมื่อนำความเจริญไปให้ก็ถือเป็นบุญคุณทั้งที่การพัฒนาประเทศในทุกมิติคือหน้าที่ของรัฐบาล และเมื่อชนพื้นเมืองคือประชาชน พวกเขาก็มีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะแสดงความคิดเห็นและความต้องการต่อการบริหารงานของรัฐบาล
การยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์แสดงได้ง่ายๆ ด้วยการที่รัฐเดินเข้าหา ทั้งการเปิดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และการเปิดพื้นที่เจรจาที่ปราศจากความกดดัน ข่มขู่ รวมถึงรับรองสิทธิชนพื้นเมืองให้แก่ผู้มาเจรจาด้วย
การเพ่งเล็งที่ผิดเป้าหมายในการอนุรักษ์ป่าของภาครัฐ
เราต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าเกิดจากนโยบายการบริหารทรัพยากรป่าไม้ และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากประเด็นอื่นๆ ก็รุนแรงยิ่งกว่าการผลกระทบจากชนพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการรุกพื้นที่ป่าโดยชอบธรรม การทำโครงการ CSR ที่ปลูกพันธุ์ไม้ไม่เหมาะสมกับระบบนิเวศน์ การปรับปรุงพื้นที่ทางธรรมชาติเป็นแหล่งท่องเที่ยว การจัดการทรัพยากรน้ำและอื่นๆ อีกมากมาย
เราเคยคิดกันไหมว่า พื้นที่ป่าจะเป็นของเอกชน?
ทั้งหมดที่ดิฉันพูดมา เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความรุนแรงในปัญหาที่แท้จริงและการต่อสู้ยาวนานกว่า 20 ปีของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย – ใจแผ่นดิน และทุกอย่างก็ดูเหมือนจะไม่จบลงแต่เพียงเท่านี้ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ประกาศใช้ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” และในวันที่ 5 มีนาคมนี้เอง เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังเข้าจับกุมชาวบ้านกว่า 80 ชีวิตโดยไม่ให้พบครอบครัวหรือทนาย ถูกยึดเครื่องมือสื่อสาร ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถบันทึกหลีกฐานความรุนแรงด้วยตนเองได้
ทั้งยังทำการละเมิดสิทธิ์มนุษยชนอย่างร้ายแรงอีกครั้งด้วยการกล้อนผมของชาวบ้านทั้งที่พวกเขาไม่ใช่นักโทษตามกฎหมายแต่อย่างใด การไว้ผมของชาวกะเหรี่ยงเป็นความเชื่อที่มีต่อการบนบานศาลกล่าวหรือสัญญากับเจ้าที่เจ้าทางและบรรพบุรุษ นี่จึงเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างชัดเจน ณ จุดนี้ การกระทำของเจ้าหน้าที่ในนามของกรมอุทยานฯ ก็ได้ล่วงละเมิดพื้นที่บนแผ่นดินและร่างกายทั้งหมดแล้ว
แม้จะถูกจับกุมและดำเนินคดี แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับโอกาสให้กลับสู่ผืนดินที่เป็นบ้าน ดิฉันหวังอย่างเต็มเปี่ยมจริงๆ ว่าความสนใจจากสาธารณะและความเห็นอกเห็นใจในวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน จำช่วยกดดันให้ภาครัฐยุติความรุนแรงต่อชนพื้นเมืองได้ เพราะไม่มีเหตุผลไหนเลยที่จะต้องผลักไสประชาชนชาวไทยด้วยกันเพียงเพื่อต้องการนำพื้นที่ป่าซึ่งชาวบ้านก็มีสิทธิ์โดยชอบธรรมไปเป็นสมบัติการจัดการของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งการประสานงานกับเครือข่ายกะเหรี่ยงและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิ์มนุษย์ชนจะเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับรัฐบาล ยกระดับการเมืองของประเทศไทยในสายตาสหประชาชาติให้แก่ประเทศไทย
ดิฉันเจอคนมากมายที่รักในประเทศของเรา ทรัพยากรของเรา และพวกเขาพร้อมจะทำงานเชิงสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นด้านการวางแผน บริหาร หรือนำไปใช้งานจริง เรามีมันสมองที่เต็มไปด้วยความสามารถ ขอแค่มีต้นทุนและพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นอิสระ ไม่ถูกกดดันด้วยเชื้อชาติ จุดยืนหรือวัยวุฒิใดๆ
ดิฉันไม่คิดว่าบ้านหลังนี้ที่เราอยู่ร่วมกันนั้นเป็นของใครเพียงคนเดียว ไม่เป็นของรัฐชาติในรูปแบบเดียวด้วยเช่นกัน ชาติควรประกอบด้วยความหลากหลายและความภูมิใจในความหลากหลายนั้น เช่นเดียวกับที่ชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินควรจะได้ภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมเหนือบ้านของพวกเขา ในฐานะคนไทยและมนุษย์ที่มีสิทธิ์เสรีภาพและศักดิ์ศรี
ไม่มีใครต้องออกจากบ้านทั้งนั้น ประเทศนี้ เราทุกคนคือเจ้าของบ้านร่วมกัน
ดิฉันของจบการปราศรัยด้วยคำพูดของปู่คออี้
“เราอาศัยอยู่ที่ใจแผ่นดินตั้งแต่เกิด ทำกินตามวิถีชีวิต ไม่มีเจตนาทำลายหรือบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อให้ร่ำรวย อยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาพูดคุยแก้ปัญหา ให้ความใส่ใจต่อประเพณี ความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงที่จะต้องมีพิธีกรรมในการย้ายถิ่นที่อยู่ด้วย”
“ลืมตาขึ้นมาดูโลกก็อยู่ที่นั่น ดื่มน้ำนมหยดแรกก็อยู่ที่นั่น”จากใจผู้เขียน ชญาธนุส ศรทัตต์
หากมีข้อมูลหรือความเข้าใจผิดพลาดประการใด ก็ขอเชิญเข้ามาแสดงความเห็นและให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน hashtag #saveบางกลอย ตามช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าใจวิถีชีวิตและข้อเรียกร้องของชาวบ้านบางกลอย – ใจแผ่นดินให้มากขึ้น
ดิฉันไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่นักภูมิศาสตร์ ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แม้แต่นักพูด แต่ดิฉันเป็นคนที่เรียกสื่อมวลชนมาได้ การอยู่ในสื่อ การมีคนสนใจนั่นคือการมีความสำคัญ นี่เป็นสิ่งที่เราละเลยต่อกลุ่มชาติพันธุ์มาโดยตลอด ปัจจุบันมี Info graphic ที่เผยแพร่ข้อมูลเรื่อง #saveบางกลอย มากมาย ล้วนแต่สรุปไว้อย่างชัดเจน ง่ายต่อความเข้าใจและแบ่งปัน
ดิฉันใช้เวลาไม่ถึง 1 วันในการรวบรวมและทำความเข้าใจ ถามตอบตนเอง ถึงข้อมูลเหล่านี้ตลอดไปจนถึงความเป็นรัฐและสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากจนเกินไป หากคุณต้องการจะฟังเสียงของชาวบ้านจริงๆ หน้าที่ของดิฉันเมื่อมีคนสนใจแล้ว คือมอบเสียงให้กับผู้เชี่ยวชาญ ผู้เป็นงานและผู้ทำงานในท้องถิ่นนั้นๆ จริงๆ
ดิฉันได้รับแสงอันไม่พึงประสงค์ผสมมาโดยตลอด ดิฉันก็คิดว่าสมควรที่จะมอบให้แก่ผู้ที่พึงประสงค์จะได้แสงสว่าง เพราะสังคมของเราไม่ได้มีแสงสาดไปทุกที่
ทั้งที่ทุกสถานที่ต่างก็มีความสำคัญ
ฉบับเรียบเรียงใหม่ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564
ชญาธนุส ศรทัตต์
อ้างอิง
– “เปิดปม แก่งกระจานมรดกโลก” ช่อง Thaipbs วันที่ 18 มกราคม 2559
– สารคดี “บ้านโป่งลึก บ้านบางกลอย” ภายใต้โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๕๘
– สำนักข่าวมติชนออนไลน์
– สำนักข่าวประชาไท
– สำนักข่าว WorkpointToday
– มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross cultural foundation)
– Facebook page Mob Fest
– คุณ สิริพรรณี สุปรีชา
– และ บทความโดยคุณ สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา จากเว็บไซต์ https://www.the101.world
เรียบเรียงโดย
ชญาธนุส ศรทัตต์ และ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ด้วยความระลึกถึงคุณ ทัศน์กมล โอบอ้อม