[:th]CrCF Logo[:]
[:th]ชุมชนกะเหรี่ยงชาติพันธุ์ป่าแก่งกระจาน[:]

CrCF และ UCL ออกแถลงการณ์ การคุ้มครองการอพยพกลับบ้านบางกลอยบน ใจแผ่นดิน ชุมชนกะเหรี่ยงชาติพันธุ์ป่าแก่งกระจาน

Share

แถลงการณ์ เรื่อง การคุ้มครองการอพยพกลับบ้านบางกลอยบน และใจแผ่นดิน พื้นที่ดั้งเดิมบรรพบุรุษของชุมชนกะเหรี่ยงชาติพันธุ์ ในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวชายขอบว่า มีชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมตัดสินใจเดินทางจากบ้านบางกลอยล่างกลับขึ้นไปยังพื้นที่อยู่อาศัย และทำกินดั้งเดิมจำนวน 30-40 คน หลายครอบครัว ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 มีรายงานข่าวจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า ชาวบ้านบางกลอยล่างกลุ่มหนึ่งไม่ทราบจำนวนแน่ชัด ได้พากันเดินทางเท้ากลับขึ้นไปยังหมู่บ้านบางกลอยบนที่อยู่ในป่าใหญ่ใจแผ่นดิน

ภายหลังจากชาวบ้านบางกลอยทั้งหมู่บ้านถูกอพยพลงมาตั้งแต่ปี 2539 แต่ประสบปัญหาอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีที่ทำกิน และหนีกลับขึ้นไปอยู่บ้านเดิม จนกระทั่งอุทยานฯ ได้ใช้ยุทธการตะนาวศรีเผากระท่อมและยุ้งข้าวของชาวบ้านเมื่อปี 2554 และกดดันให้ชาวบ้านย้ายลงมาอยู่หมู่บ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึก

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมกราคม 2563 1 https://bit.ly/3qpgClm ใบแจ้งข่าว: ผู้นำชุมชนเชื้อสายกะเหรี่ยงเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในผืนป่าแก่งกระจานและปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ก่อนขึ้นทะเบียนมรดกโลก ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ทำจดหมายเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา อันเป็นข้อเรียกร้องของชาวบ้านต่อพื้นที่ที่จะประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอย่างจริงจัง โดยข้อเรียกร้องหนึ่งคือการขอกลับเข้าไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษ โดยระบุว่า “รัฐต้องให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงสามารถอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมและสามารถดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของตนได้”

นาย สุรพงษ์ กองจันทึก ประธาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนักกฎหมาย กล่าวว่ากรณีนี้เป็นการเดินทางกลับบ้านของชาวกะเหรี่ยง เพราะเป็นบ้านเก่าดั้งเดิมที่เคยอาศัยอยู่เป็นหมู่บ้านบางกลอยบน และใจแผ่นดิน มีปรากฏหลักฐานในแผนที่ทุกฉบับที่จัดทำขึ้น เริ่มตั้งแต่แผนที่ทหารในปี 2455 หรือกว่าร้อยปีมาแล้ว โดยเป็นหมู่บ้านมีบ้านเลขที่ มีผู้ใหญ่บ้านปกครองดูแล เดิมเป็นหมู่ที่ 7 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาแบ่งใหม่เป็น หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ต่อมามีการบุกเผาบ้านชาวบ้านทั้งหมดกว่า 100 หลัง เมื่อปี 2554 โดยอ้างว่าเป็นชนกลุ่มน้อยบุกรุกเข้ามา ทั้งๆ ที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมาเนิ่นนานและมีบัตรประจำตัวประชาชนไทย ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพหนีตายไปภายนอก จนหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านร้าง

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ปู่คออี้นำชาวบ้านฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติต่อศาลปกครอง ต่อมาเมื่อวันที่12 มิถุนายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมอุทยานแห่งชาติจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่โจทก์ชาวกะเหรี่ยงทั้งหกคน และในคำพิพากษาระบุด้วยว่า หมู่บ้านบางกลอยบน และใจแผ่นดินเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อชาวบ้าน ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าบ้าน และทรัพย์สินที่ถูกเผาทำลาย

ดังนั้นการที่ชาวบ้านกลับไปบ้านเดิม อันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เพื่อไปปลูกบ้านคืนและทำกินตามวิถีวัฒนธรรมที่ทำกันมาเนิ่นนาน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคือ ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนการจัดการทรัพยากรที่ให้ยุติการจับกุม และให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินในพื้นที่อันเป็นสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

อีกทั้งล่าสุด องค์การสหประชาชาติได้แสดงความเป็นกังวลต่อสถานการณ์ของชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง และการดำเนินการของรัฐบาลไทยเพื่อเร่งรัดให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศเป็นมรดกโลก โดยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 2 https://bit.ly/3qrWUpg  ยูเอ็นแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ละเมิดสิทธิชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงและการดำเนินการของรัฐบาลไทยเพื่อเร่งรัดให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศเป็นมรดกโลก  

นาย Yanduan Li ประธานคณะกรรมการว่าด้วยเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติแห่งองค์การสหประชาชาติ (Chair of Committee on the Elimination of Racial Discrimination) ได้ส่งหนังสือแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนกับชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผ่านมาทางผู้แทนไทยประจำกรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์  

ซึ่งรัฐบาลไทยมีหน้าที่ตอบคำถามของยูเอ็นที่แสดงความห่วงใยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในคำถามที่ว่ารัฐไทยได้มีมาตรการในการตรวจสอบการคุกคามต่อชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอย่างไร; ความต่อเนื่องและการสืบสวนที่เสร็จสมบูรณ์; ผลของขั้นตอนการสืบสวนดังกล่าว การลงโทษต่อผู้ที่รับผิดชอบ; และมีการชดใช้ให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกคุกคามหรือไม่

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตอบคำถามแสดงความห่วงใยดังกล่าว พร้อมทั้งกำหนดนโยบายเร่งด่วนเพื่อปกป้องสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นแนวทางให้องค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภาระหน้าที่ของรัฐในการปกป้องคุ้มครองสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และสิทธิมนุษยชนของชาวบ้านกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร.081-642-4006

  • 1
    https://bit.ly/3qpgClm ใบแจ้งข่าว: ผู้นำชุมชนเชื้อสายกะเหรี่ยงเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในผืนป่าแก่งกระจานและปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ก่อนขึ้นทะเบียนมรดกโลก
  • 2
    https://bit.ly/3qrWUpg  ยูเอ็นแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ละเมิดสิทธิชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงและการดำเนินการของรัฐบาลไทยเพื่อเร่งรัดให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศเป็นมรดกโลก