[:th]CrCF Logo[:]

แก่งกระจาน มรดกโลกทางธรรมชาติ กับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง

Share

บทความ แก่งกระจานมรดกโลกทางธรรมชาติ กับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

หลายคนถ้าไม่ได้ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับปู่โคอี้ และ บิลลี่ คงจะมีความสงสัยไม่น้อยว่า ทำไมหมู่บ้านกะเหรี่ยงเล็กๆ ในป่าใหญ่แก่งกระจานจึงเป็นที่สนใจของประชาคมระหว่างประเทศติดต่อกันมากกว่า 7 ปี ล่าสุดองค์การสหประชาชาติ พี่ใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกกันว่า “ยูเอ็น” ได้แสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงและการดำเนินการของรัฐบาลไทยเพื่อเร่งรัดให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศเป็นมรดกโลก

โดยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563  นาย Yanduan Li ในฐานะประธาน คณะกรรมการว่าด้วยเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติแห่งองค์การสหประชาชาติ (Chair of Committee on the Elimination of Racial Discrimination) ได้ส่งหนังสือแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผ่านมาทางผู้แทนไทยประจำกรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

ถ้าการเมืองดีรัฐก็จะมีสวัสดิการที่ดีให้กับพลเมืองของเขาโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานเจ้าของต้นน้ำเพชรบุรีก็จะได้รับการเยียวยาแก้ไขไปตั้งแต่ปีแรกที่เราได้รับทราบว่ามีข้าราชการผู้ใหญ่ในฐานะหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2554 ได้เผาทำลายบ้าน และยุ้งฉางข้าวไร่ของชาวบ้านซึ่งมีผู้นำจิตวิญญาณอายุกว่า 100 ปีนามปู่โคอี้ มิมี้ เป็นผู้นำที่ไม่อาจทัดท้านการบังคับ ต้องอพยลงมาตั้งบ้านเรือน และทำกินในที่ดินผืนใหม่ที่เขาไม่คุ้นเคย

และในไม่กี่ปีต่อมาปี 2557 บิลลี่ พอละจี รักจงจะเจริญ ลูกหลานของกะเหรี่ยงต้นน้ำเพชรที่มีบันทึกประวัติศาสตร์ยอมรับว่าเขาตั้งรกรากอยู่ที่นั้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กลับถูกอุ้มหายไปกลางป่าหลังจากถูกข้าราชการคนเดิมนั้นจับกุม แล้วไม่เคยได้รับการปล่อยตัว ปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรมว่าจะเป็นบุคคลเดียวกับชิ้นส่วนของร่างกายมนุษย์ที่พบในบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปี 2562 หรือไม่

การเมืองดี ในภาษาด้านสิทธิมนุษยชนนั้นคือการได้รับการคุ้มครองปกป้องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประชาชนในรัฐนั้นจะไม่ถูกทรมานอุ้มหาย ไม่ถูกบังคับไล่รื้อหรือบังคับอพยพ ต้องมีการปรึกษาหารือและได้รับคำยินยอม ผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือคนของรัฐก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่พ้นผิดลอยนวล ผู้เสียหายต้องได้รับการเยียวยาชดเชยให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

สวัสดิการที่ดีนั้นหมายถึงรัฐเคารพหลักการด้านสิทธิมนุษยชนทางด้านเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม สนับสนุนให้รัฐจัดหาสิ่งจำเป็นต่อชีวิตและการดำรงชีวิตตามวิถีของตนด้วยการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองในเขตขุนเขาที่ดินผืนป่าหรือชีวิต  หากจะกล่าวถึงสวัสดิการของรัฐต่อชนเผ่าพื้นเมืองคือการไม่ต้องทำอะไร วิถีชนเผ่าพื้นเมืองมีการจัดการทรัพยากร การหาอยู่หากินโดยวิธีดั้งเดิมที่รัฐชาติที่เกิดขึ้นใหม่ต้องเคารพ  การรบกวนการดำรงชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองเช่นการประกาศอุทยานแห่งชาติทับพื้นที่บรรพบุรุษโดยไม่ปรึกษาหาหรือขอคำยินยอม  การบังคับใช้กฎหมายบ้านเมืองที่เป็นการคุกคามการถือครองที่ดินตามวิธีดั้งเดิมเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การบังคับใช้นโยบายทวงคืนผืนป่าโดยรัฐบาลเผด็จการทำให้ชาวบ้านรวมทั้งชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานติดคุกเพียงเพราะเกิดเป็นคนกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยาน

คงไม่ต้องพูดถึงความสัมพันธ์กันของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในรูปแบบต่าง  เช่นเมื่อไม่มีที่ทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีอาหารที่ดี ในโลกสมัยใหม่ก็จะทำให้ไม่มีอาชีพ ไม่มีการศึกษา ไม่มีโอกาสลงคะแนนเสียง ไม่มีโอกาสเป็นนักการเมือง สมาชิกพรรค  ยังคงมีชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานดั้งเดิมที่ไม่มีสัญชาติไทย  ปู่โคอี้เองอายุ 107 ปี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วเพิ่งจะได้รับบัตรประจำตัวประชาชนตอนอายุ 105 ปี ทั้งที่ปู่เคยบอกกับพวกเราว่า “น้ำนมหยดแรกที่ได้ก็ได้รับจากใจแผ่นดินผืนนั้น” สิทธิในที่ดินของไทยผูกติดกับสัญชาติ ที่ดินทุกตารางนิ้วถ้าไม่มีโฉนดที่ดินรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่รัฐออกให้เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของโดยเอกชนที่มีสัญชาติไทยแล้วทุกผืนที่ก็ตกเป็นของรัฐตามกฎหมาย  สวัสดิการของรัฐส่วนนี้จึงเป็นสิ่งที่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยเอื้อมไม่ถึง

ในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ในงานเสวนา “โค้งสุดท้ายกลุ่มป่าแก่งกระจานสู่มรดกโลก” ที่จัดขึ้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี  ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และชาวบ้านกลุ่มผืนป่าแก่งกระจาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ. เพชรบุรี และจ.ราชบุรี  ชาวบ้านหญิงกะเหรี่ยงรายหนึ่ง ได้สะท้อนว่า “ พวกเราผิดด้วยเหรอที่ทำตามวิถีชีวิตของเรา เราทำไร่หมุนเวียนมาเป็นร้อยสองร้อยปี ถ้าผิดก็ผิดตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ตั้งแต่เกิดมาเป็นกะเหรี่ยง แต่มาจับเราเพราะเราเป็นกะเหรี่ยงหรอ”  น้ำเสียงน้อยใจของสาวชาวกะเหรี่ยงสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสวัสดิการความเป็นมนุษยของชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงได้ขาดหายไป   นั้นหมายความว่ารัฐไทยไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองส่งเสริมสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงอย่างที่ควรจะเป็นและที่ตกลงไว้กับประชาคมโลก

นอกจากนี้ในเวทียังได้ร่วมกันสะท้อนผลกระทบจากการประกาศให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้เสนอในแผนการคุ้มครองเรื่องชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยดั้งเดิมเป็นชุมชนดั้งเดิม  แผนการนำเสนอของรัฐไทยมีแต่พืชพันธุ์และสัตว์ป่า สันน้ำ สันเขา ที่ไม่ได้รวมมนุษย์  มีข้อสรุปว่าจะยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการมรดกโลกผ่าน สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่มรดกโลก (UNESCO) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ปัญหาของชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าก่อนเดินหน้าขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ยืนยันข้อเสนอสามข้อคือ 1)ขอให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน 2) ชาวบ้านบางกลอยขอกลับไปทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทยตามมติคณะรัฐมนตรี  3) ยุติการจับกุมและดำเนินคดีที่ดินต่อชาวบ้าน

ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาในปี 2563 เราได้ยินและได้ฟังเรื่องราวของความพยายามในการสื่อสารของทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงกระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยสะท้อนว่าอุทยานฯ นำชาวต่างชาติกลุ่มใหญ่ลงพื้นที่แก่งกระจานโดยไม่ได้ให้ชาวบ้านมีส่วนรวมในการลงพื้นที่ ความพยายามของรัฐไทยในการนำเสนอส่วนดีดีของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับโลกใบนี้อาจจะเป็นเพียงแค่ใบบัวที่พยายามจะปิดช้างตัวใหญ่ทั้งตัวที่ปิดเท่าไรก็ไม่มิด

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความเห็นว่า ในขณะนี้มีความพยายามของทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะเร่งรัดให้มีการรับรองให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จนอาจทำให้มาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่นั้นขัดกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญคือการไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ไม่เคารพต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองไว้กับองค์การสหประชาชาติ ดังนี้ข้อกังวลของคณะกรรมการฯ ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการบังคับขับไล่ชนพื้นเมืองกะเหรี่ยง การคุกคามต่อพวกเขาและความล้มเหลวในการให้คำปรึกษาอย่างเพียงพอโดยมีจุดประสงค์เพื่อแจ้งล่วงหน้าและแจ้งให้ทราบความยินยอมและดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องการอนุรักษ์การดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยง จึงยังไม่ได้รับการแก้ไข

ในจดหมายฉบับล่าสุดของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขององค์การสหประชาชาติฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ได้กล่าวถึงจดหมายฉบับแล้วฉบับเล่าที่ทางรัฐบาลไทยได้รับจากยูเอ็นให้ตอบคำถามและยืนยันกับทางองค์การสหประชาชาติว่าการดำเนินการใดใดกับชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจานนั้นจะไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติใดใด   คำตอบของรัฐบาลฉบับแล้วฉบับเล่าก็ไม่สามารถลดความกังวลใจของยูเอ็นได้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

จดหมายฉบับนี้ตอกย้ำความกังวลใจ ไว้ดังนี้

“ขออ้างถึงหนังสือตอบของท่านที่เราได้รับเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2562  ซึ่งมีข้อมูลตอบมายังจดหมายของคณะกรรมการว่าด้วยเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Committee on elimination of racial discrimination- CERD Committee) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562   จดหมายของคณะกรรมการฯ ภายใต้มาตรการเตือนภัยล่วงหน้าและขั้นตอนการดำเนินการเร่งด่วนเกี่ยวกับสถานการณ์ของชนพื้นเมืองในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (“KKNP”) ในประเทศไทย 

จดหมายของคณะกรรมการฯ ส่งหลังจากที่ได้ส่งจดหมายฉบับก่อนหน้านี้ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2560, วันที่ 3 ตุลาคม 2559 และวันที่ 9 มีนาคม 2555 และฝ่ายรัฐบาลไทยได้ตอบกลับเป็นจดหมายลงวันที่ 24 เมษายน 2562 และวันที่ 9 มกราคม 2560

ในปี 2555 คณะกรรมการได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการบังคับขับไล่และการคุกคาม รวมทั้งรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนพื้นเมืองอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ในปี 2559 คณะกรรมการฯ ขอให้รัฐภาคียุติการขับไล่โดยทันทีต่อชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และดำเนินการเพื่อป้องกันใด ๆ ภัยอันตรายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ต่อการดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงรวมทั้งเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขามีความปลอดภัย รวมถึงการดำเนินการตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องของรัฐธรรมนูญของไทย

ในปี 2560 คณะกรรมการได้ย้ำถึงข้อกังวลก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการบังคับขับไล่ชนพื้นเมืองกะเหรี่ยง การคุกคามต่อพวกเขาและความล้มเหลวในการให้คำปรึกษาอย่างเพียงพอโดยมีจุดประสงค์เพื่อแจ้งล่วงหน้าและแจ้งให้ทราบความยินยอมและดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องการอนุรักษ์การดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยง

คณะกรรมการฯ ขอขอบคุณรัฐบาลไทยสำหรับการตอบจดหมายกลับเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562  ซึ่งเป็นการตอบกลับจดหมายของคณะกรรมการฯวันที่ 29 สิงหาคม 2562 โดยจะรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมที่รัฐบาลของคุณให้ไว้เกี่ยวกับสถานการณ์ของชนพื้นเมืองในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับ

1) การจัดตั้งคณะอนุกรรมการในการจัดการให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
2) การสำรวจที่จะดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการฯ
3) ความคิดเห็นของชุมชนท้องถิ่นเกี่ยวกับการเสนอชื่อพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
4) รายงานของการสำรวจการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนและตกลงการใช้ที่ดินในตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติพ. ศ. พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) และส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าและการคุ้มครอง (พ.ศ. 2562) พระราชบัญญัติ พ.ศ. 2562; ง) มาตรการและแนวทางที่ระบุเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์และการครอบครองที่ดินโดยกระบวนการมีส่วนร่วม
5) การสอบสวนเกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายของนายพอละจี รักจงเจริญ; และ
6) คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่12 มิถุนายน 2562 อนุญาตให้จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่โจทก์ชาวกะเหรี่ยงทั้งหกคน

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการตั้งข้อสังเกตว่าคำตอบของรัฐภาคีไม่ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาทั้งหมดที่ระบุไว้ในจดหมายฉบับก่อนหน้าของวันที่ 29 สิงหาคม 2562 และ 17 พฤษภาคม 2560 แม้ว่าจะได้รับข้อมูล แต่คณะกรรมการก็ยังย้ำถึงข้อกังวลก่อนหน้านี้และขอให้รัฐภาคีจัดหาข้อมูลเพิ่มเติมและรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นต่อไปนี้:

1. การจัดตั้งและดำเนินการตามพระราชบัญญัติป่าชุมชนที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ตามที่อ้างถึงในจดหมายของรัฐภาคีวันที่ 24 เมษายน 2562
2. มาตรการที่ใช้ในการตรวจสอบการคุกคามต่อชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน; ความต่อเนื่องและการสืบสวนที่เสร็จสมบูรณ์; ผลของขั้นตอนการสืบสวนดังกล่าว การลงโทษต่อผู้ที่รับผิดชอบ; และการชดใช้ให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกคุกคาม
3. มาตรการที่ใช้เพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของชนพื้นเมืองรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการคุ้มครองพยานและการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
4. ผลการสำรวจความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่เกี่ยวกับการเสนอชื่อพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ข้อสรุปและข้อเสนอแนะหลังจากการสำรวจการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และมาตรการที่เป็นรูปธรรมที่ใช้ในการทำข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้ที่ดินตลอดจนตัวอย่างของข้อตกลงและวิธีที่ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจดังกล่าว
5. มาตรการที่เป็นรูปธรรมที่นำมาใช้และผลลัพธ์ที่ได้รับเพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนกะเหรี่ยงและผลลัพธ์;
6. มาตรการและแนวทางเฉพาะที่ระบุไว้เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์และการครอบครองที่ดินและผลลัพธ์ของกระบวนการมีส่วนร่วมที่ออกแบบมาเพื่อเหตุการณ์นี้

ตามมาตรา 9 (1) ของอนุสัญญาและมาตรา 65 ของกฎระเบียบการปฏิบัติงานคณะกรรมการจะขอบคุณที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นและข้อกังวลทั้งหมดตามที่ระบุไว้ข้างต้น คณะกรรมการจะพิจารณาคำตอบดังกล่าวในระหว่างการเจรจากับรัฐภาคีในบริบทของการทบทวนเป็นระยะ

ขอให้รัฐบาลไทยย้ำถึงความประสงค์ของคณะกรรมการที่จะดำเนินการเจรจากับรัฐบาลไทยต่อไปเพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติตามอนุสัญญาจะมีประสิทธิผล”

ไม่ว่าคำตอบของรัฐบาลไทยที่จะส่งให้กับยูเอ็นจะมีเนื้อหาข้อความอย่างไร เมื่อไร แล้วรัฐบาลไทยจะประสบความสำเร็จในการขอขึ้นทะเบียนอุทยานแก่งกระจานมรดกโลกทางธรรมชาติให้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทยต่อสายตาโลก หรือไม่นั้น ย่อมขึ้นกับว่ารัฐไทยมีความจริงใจในการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงให้ชาวโลกให้เห็นเป็นประจักษ์ได้มากกว่าแค่จดหมายตอบภาษาอังกฤษที่สวยหรูเหมือนหลายๆฉบับที่ผ่านๆๆมาได้หรือไม่

“เราไม่ได้โอกาสพูด เอกสารข้อมูลก็เป็นภาษาอังกฤษ พวกเราไม่เข้าใจ พวกเราไม่ได้คัดค้านเรื่องมรดกโลก     แต่อยากมีส่วนรวมในการตัดสินใจ” 

ชาวบ้านบางกลอยกล่าวถึงการลงพื้นที่ของคณะทูตประเทศต่างๆ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ในงานเสวนา “โค้งสุดท้ายกลุ่มป่าแก่งกระจานสู่มรดกโลก” จัดขึ้นที่อ.หนองหญ้าปล้อง  จ.เพชรบุรี  เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563