ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี ชัยวัฒน์ ลิ้มฯ เป็นโจทก์ฟ้อง อ.วุฒิ บุญเลิศ ข้อหาหมิ่นฯ โดยการโฆษณา

Share

ศาลอาญามีนบุรี นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 22 ธค. 63 คดี ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ เป็นโจทก์ร่วมฟ้องอาจารย์วุฒิ บุญเลิศนักวิชาการอิสระ ด้านสิทธิมนุษยชน ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

ในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ศาลอุทธรณ์ได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เวลา 09.00 น. ณ ศาลอาญามีนบุรี ในคดี ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ เป็นโจทก์ร่วมฟ้องอาจารย์ วุฒิ บุญเลิศ นักวิชาการอิสระด้านสิทธิมนุษยชน ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพิพากษายกฟ้อง

คดีนี้มีนักสังเกตการณ์คดีจาก มูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรม (The Clooney Foundation for Justice หรือ CFJ) ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ รายงานความเป็นธรรมในการติดตามการดำเนินคดี (Trial Watch Fairness Report) ระบุว่าการดำเนินคดีกับนายวุฒิ บุญเลิศนั้น เป็น“การบังคับใช้กฎหมายอาญาโดยไม่ชอบ” และอาจมีแรงจูงใจทางการเมือง มูลนิธิฯ ขอเชิญชวนสื่อมวลชนที่สนใจรับฟังคำพิพากษา ตามวันเวลาดังกล่าวข้างต้น

คดีนี้สืบเนื่องจากกรณีที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้อง สมัคร ดอนนาปี อดีต ผอ. สำนักอุทยานแห่งชาติ เเละ วุฒิ บุญเลิศ หรืออาจารย์วุฒิ นักวิชาการอิสระที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

พร้อมเรียกค่าสินไหมทดแทน ในเรื่องที่ นายวุฒิ โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊กเกี่ยวกับการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบไร่ชัยราชพฤกษ์ ซึ่งอยู่ในเขตป่าที่มีชื่อพี่ชายของนายชัยวัฒน์เป็นผู้ครอบครองนั้น โดยนายชัยวัฒน์ฯ อ้างว่าตนเป็นผู้เสียหาย จากเหตุที่นายวุฒิฯ ได้แชร์ข้อความทางโซเชียลมีเดีย Facebook ชื่อ wut boonlert ซึ่งนายวุฒิฯ นำข้อความมาจาก Facebook ชื่อ นายสมัคร ดอนนาปี เกี่ยวกับ ไร่ชัยราชพฤกษ์ในเขตป่าสงวน

ซึ่งข้อความดังกล่าว นายวุฒิฯ ไม่ได้กล่าวถึงหรือทำให้เข้าใจได้ว่านายชัยวัฒน์ฯ (โจทก์ร่วม) เป็นผู้ครอบครองไร่ชัยราชพฤกษ์ดังกล่าวแต่อย่างใด นายชัยวัฒน์ฯ จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย อีกทั้งเนื้อหาของข้อความก็แสดงให้เห็นถึงเจตนาของนายวุฒิฯ ว่าต้องการให้หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐทำการตรวจสอบกรณีที่มีบุคคลเข้าครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ศาลอาญามีนบุรี อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.6246/2561 ได้พิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบแล้วเห็นว่า การโพสต์ข้อความของจำเลยที่ 1 และการแชร์ข้อความของจำเลยที่ 2 เป็นการโพสต์เพื่อตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น ทั้งข้อความดังกล่าวยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้โจทก์ร่วมเสียหายได้

พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองไม่มีน้ำหนักเพียงพอว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมตามฟ้อง และเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนตามที่โจทก์ร่วมฟ้องมาด้วย ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง และยกคำร้องของโจทก์ร่วมที่ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

คดีนี้นายชัยวัฒน์ฯ เท่านั้นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ส่วนพนักงานอัยการเป็นโจทก์ในคดีไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 22 ธันวามคม 2563 เวลา 09.00 น. ณ ศาลอาญามีนบุรี

นายวุฒิ บุญเลิศ ต้องตกเป็นจำเลยในคดีที่ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้กล่าวหาฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนายวุฒิในลักษณะกลั่นแกล้งหลายคดี ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.5967/2562 นี้มีการสังเกตการณ์การพิจารณาคดีของมูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรม (The Clooney Foundation for Justice หรือ CFJ) จากประเทศสหรัฐอเมริกา

และเผยแพร่ รายงานความเป็นธรรมในการติดตามการดำเนินคดี (Trial Watch Fairness Report) ที่ได้ดำเนินการติดตามการพิจารณาคดีของนายวุฒิ บุญเลิศ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชนพื้นเมือง และนายสมัคร ดอนนาปี อดีตเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน ซึ่งทั้งสองถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาท และดำเนินคดีสืบเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์

ทั้งนี้ อัยการได้ระบุว่า ข้อความดังกล่าวบ่งชี้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตัว รายงานการสังเกตการณ์คดีนี้พบว่า การดำเนินคดีกับนายวุฒิ บุญเลิศนั้น เป็น “การบังคับใช้กฎหมายอาญาโดยไม่ชอบ” และอาจมีแรงจูงใจทางการเมือง

รายงานการสังเกตการณ์คดี (ภาษาอังกฤษ)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดี ติดต่อ

นายปรีดา นาคผิว ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 098-6222474

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading