ศาลแพ่งยกฟ้องโจทก์ คดีแม่ของนายชัยภูมิ ป่าแส ฟ้องเรียกค่าเสียหายกองทัพบก จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารยิงลูกชายของตนเสียชีวิต
เมื่อวันนี้ 26 ตุลาคม 2563 ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษา พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่าการยิงนายชัยภูมิ ป่าแส จนเสียชีวิต เป็นปฎิบัติหน้าที่ของพลทหารเป็นการป้องกันให้พ้นจากภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมาย จึงไม่ไช่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้นกองทัพบกจำเลยในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องของโจทก์ ตาม พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 พิพากษายกฟ้องของโจทก์
สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 นายชัยภูมิ ป่าแส ชาติพันธุ์ลาหู่เยาวชนนักกิจกรรมทางสังคม พร้อมเพื่อนหนึ่งคน ขับรถยนต์ผ่านด่านตรวจบ้านรินหลวง ถูกเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำอยู่ที่ด่านตรวจค้นยานพาหนะ โดยเจ้าหน้าที่กล่าวอ้างว่า ชัยภูมิพยายามขัดขืนและทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยอาวุธมีดและระเบิดขว้างสังหาร เจ้าหน้าที่จึงใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้จนนายชัยภูมิฯ จนเสียชีวิต โดยภายหลังระบุว่ากระทำไปเพื่อป้องกันตนเอง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังอ้างว่าพบยาบ้าเป็นจำนวน 2,800 เม็ดซ่อนอยู่ในหม้อกรองน้ำของรถยนต์ของชัยภูมิอีกด้วย ต่อมา ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพนายชัยภูมิฯ ว่า “พฤติการณ์ที่ตายคือ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืน เอ็ม 16 ยิง กระสุนเข้าที่ต้นแขนซ้ายด้านนอกทะลุต้นแขนซ้ายด้านใน และกระสุนแตกเข้าไปในลำตัวบริเวณสีข้างด้านซ้ายเหนือราวนม กระสุนปืนทำลายเส้นเลือดใหญ่หัวใจและปอดจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 นางนาปอย ป่าแส แม่ของนายชัยภูมิ ป่าแส จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.2591/2562 โดยคดีนี้รับความช่วยเหลือจากองค์เครือข่ายจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม, Protection International และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เพื่อให้ครอบครัวของนายชัยภูมิฯ ได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่อีกด้วย
ทนายความในคดีนี้ได้ตั้งข้อสังเกตต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในการให้น้ำหนักการรับฟังพยานหลักฐานคดีไว้ ดังนี้
ประการแรก พยานฝ่ายผู้ตาย ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในสถานที่เกิดเหตุ ที่สามารถมองเห็นเหตุการณ์การยื้อแย่งระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร และนายชัยภูมิ และเห็นว่านายชัยภูมิถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายและใช้เข่ากดลงที่พื้นและอยู่ใกล้บริเวณสถานที่เกิดเหตุที่สุด ซึ่งถือเป็นพยานคนกลางปากสำคัญที่ไม่มีส่วนได้เสียในคดีแต่อย่างใด แต่กลับไม่มีน้ำหนักรับฟังได้เท่าพยานของทางทหารทั้งสามปาก ซึ่งเป็นฝ่ายจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายและยิงนายชัยภูมิ
ประการที่สอง ทนายความฝ่ายผู้ตายได้นำ พยานผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดมาให้การ เบิกความถึงลำดับขั้นตอนในการใช้วัตถุระเบิดแบบว้าสเตท (Wa State) ที่พบในสถานที่เกิดเหตุ ระเบิดชนิดดังกล่าวหากจะใช้งานต้องเปิดฝาเกลียวออกมาก่อน โดยด้านในของฝาเกลียวจะมีห่วงสลักนิรภัย และต้องเจาะกระดาษบางๆ เพื่อใช้นิ้วล้วงไปหยิบห่วงเหล็กโดยมีเชือกผูกไว้ เมื่อจะใช้งานต้องใช้นิ้วคล้องไปที่ห่วงเหล็ก และเบิกความเพิ่มเติมว่า ใช้นิ้วก้อยคล้องที่ห่วงและใช้มือกำแน่นบริเวณด้ามของระเบิดก่อนจะขว้าง ผู้ได้รับการฝึกมาจึงจะสามารถใช้ระเบิดตามที่พยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความ แต่ตามคำพิพากษาดังกล่าว และตามภาพถ่ายที่ปรากฎในสถานที่เกิดเหตุ จะพบว่า วัตถุระเบิดยังไม่มีการหมุนเกลียวของระเบิดแต่อย่างใด ประกอบกับคำเบิกความของเจ้าหน้าที่ทหารที่กล่าวว่ารู้จักระเบิดชนิดนี้ และให้การขัดกับความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ ว่าในขณะที่นายชัยภูมิกำลังจะขว้างระเบิด ได้ใช้มือซ้ายและมือขวากุมวัตถุบางอย่างไว้และชูมือเหนือศีรษะ ประเด็นดังกล่าวจึงน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่านายชัยภูมิจะขว้างใส่เจ้าหน้าที่นั้นอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน การยิงนายชัยภูมิจึงเกินกว่าเหตุ
(ครอบครัวของชัยภูมิ ป่าแสในวันฟังคำพิพากษายกฟ้อง 27 ตุลาคม 2563)
ประเด็นสุดท้าย เรื่องการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือที่ห่อยาเสพติด ไม่มีหลักฐานปรากฏผลการตรวจพิสูจน์ว่า ลายพิมพ์นิ้วมือหรือลายพิมพ์ฝ่ามือแฝง ที่หีบห่อบรรจุยาเสพติดพยานวัตุของกลาง เป็นลายพิมพ์นิ้วมือหรือลายพิมพ์ฝ่ามือแฝงของนายชัยภูมิ แต่อย่างใด ในส่วนของระเบิด แม้ตามรายงานการพิสูจน์หลักฐานจะระบุว่า พบลายพิมพ์นิ้วมือของนายชัยภูมิ แต่ตามรายงานก็ระบุเพิ่มเติมว่า ที่วัตถุระเบิดพบลายพิมพ์นิ้วมือของบุคคลอื่น จำนวนหลายคนอีกด้วย
คดีนี้ ทนายความ เพื่อนนักเรียนและครูอาจารย์และครอบครัวของชัยภูมิ ป่าแสยังเชื่อว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่เนื่องจากว่าเขาเป็นคนใกล้ชิดกับภาคประชาสังคมคนหนึ่งที่เป็นที่เพ่งเล็งของเจ้าหน้าที่ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไม่ยอมเปิดเผยพยานหลักฐานบางอย่างที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเช่น ภาพในกล้องวงจรปิดของหน่วยงานทหาร ทั้งเห็นว่า คดีนี้ เป็นคดีสำคัญที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก จึงจะอุทธรณ์คำพิพากษานี้ของศาลชั้นต้นต่อไป เพื่อแสวงหาความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวของผู้ตายและสร้างบรรทัดฐานของความยุติธรรมต่อไป
อนึ่ง มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เสมอว่า กลุ่มชาติพันธุ์มักถูกตีตราจากเจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้ลำลายป่าหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และถูกเลือกปฏิบัติ รวมทั้งปฏิบัติด้วยความรึนแรง จนประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ถูกเจ้าหน้าที่สังหารทั้งๆที่เป็นผู้บริสุทธิ์อยู่บ่อยครั้ง
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
นายรัษฎา มนูรัษฎา (ทนายความ 081-439-4938)
นายสุมิตรชัย หัตถสาร (ทนายความ 081-950-7575)
นายปรีดา นาคผิว (ทนายความ 098-622-2474)
นางสาวจันทร์จิรา จันทรแผ้ว (ทนายความ 065-741-5395)