
แถลงการณ์ร่วมต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
ตามที่เยาวชนและประชาชนจำนวนมากได้ออกมาเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พร้อมทั้งจัดการชุมนุมอย่างต่อเนื่องก่อนหน้า และล่าสุดการชุมนุมในวันที่ 13-14 ตุลาคม 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล และสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม 2563 บริเวณแยกปทุมวัน
โดยในห้วงเวลา 13 – 18 ตุลาคม มีการจับกุมผู้ชุมนุมและแกนนำ อย่างน้อย 86 ราย ในจำนวนนี้มีเยาวชนรวมอยู่ 2 ราย โดยทำการควบคุมตัวไปไว้ที่ บก. ตชด. ภาค 1 ถึง 74 ราย มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 80 ราย โดยมีผู้ถูกคุมขังอยู่ 27 ราย ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 19 ราย ทัณฑสถานหญิงกลาง 3 ราย เรือนจำกลางเชียงใหม่ 2 ราย และเรือนจำอำเภอธัญบุรี 3 ราย
องค์กรร่วมดังมีรายชื่อข้างท้ายจึงมีความคิดเห็นและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1.การชุมนุมตลอดระยะเวลาในวันที่ 13-18 ตุลาคม 2563 นั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่ปรากฏว่ามีการใช้อาวุธหรือความรุนแรงจากผู้ชุมนุมจนถึงขนาดที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายแก่บ้านเมือง การชุมนุมดังกล่าวจึงต้องได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญและตาม ข้อบทที่ 21 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง.
2. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีสถานการณ์ร้ายแรงถึงขนาดเป็นภัยต่อความอยู่รอดของรัฐ และไม่ปรากฏว่ามีการก่อการร้าย ประทุษร้ายทำลายทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล อันจะเข้าองค์ประกอบในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามมาตรา 9 และมาตรา 11 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 ได้.
3. ด้วยเหตุ การชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบและไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเห็นได้ชัดว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้นเป็นไปเพื่อขยายอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ละเว้นการตรวจสอบตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 พร้อมทั้งยกเว้นความรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน.
4. นอกจากนี้การจับกุมและดำเนินคดีผู้เข้าร่วมชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเดินคดีมาตรา 110 ประทุษร้ายพระราชินีนั้นเป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่เกินกว่าความเป็นจริง เพราะขบวนเสร็จสามารถดำเนินผ่านไปได้โดยเรียบร้อยไม่มีผู้ใดพยายามขวางขบวนหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย แม้จะดำเนินผ่านโดยไม่มีการแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบล่วงหน้า การจับกุมและดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมในข้อหาต่างๆ นั้นจึงเป็นการใช้กฎหมายอย่างบิดเบือน ใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อคัดค้านการทำหน้าที่ของรัฐบาล.
5. กรณีไม่ว่าบุคคลใดจะถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ย่อมต้องการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม (Rights to Fair Trial ) ซึ่งได้แก่ สิทธิในการมีทนายความหรือบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจเข้าร่วมการสอบสวน สิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว และเมื่อมีการจับกุมเจ้าหน้าที่มีอำนาจควบตัวในสถานที่ทำการพนักงานสอบสวนได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำนวนผู้ถูกจับกุม 86 คนนั้น 74 คน .ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาและคุมขังก่อนนำตัวไปฝากขังที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่งผลเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ถูกจับ ทำให้ทนายความและบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจเข้าถึงผู้ถูกจับได้อย่างยากลำบาก
ด้วยเหตุดังกล่าวองค์กรตามรายชื่อข้างท้ายจึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้
1. เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เนื่องจากไม่มีเหตุเพียงพอในการประกาศสถานการณ์ดังกล่าว
2. ปล่อยตัวและยุติการดำเนินคดีผู้ถูกควบคุมตัวจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกในทันที เนื่องจากผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าวใช้เสรีภาพชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
+++++++++
รายชื่อองค์กร:
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม