บทความเรื่อง “หนังสือ กฎหมาย และผู้พิพากษาไทยกับตู้ปลาของเขา” โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ในหนังสือ “ผู้พิพากษาที่ดี”

Share

บ้านเรามีพ่อเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เขียนไทยไม่ได้ซักตัว ครอบครัวพ่อมาจากเมืองจีน แม้จะเกิดเมืองไทยก็ไม่ได้เรียนหนังสือ เขียนได้แต่ลายเซ็น แต่อ่านหนังสือพิมพ์ได้ทั้งฉบับ ฝึกฝนเองอ่านเอง และบ้านเราก็ไม่มีหนังสือมากนัก หนังสือพิมพ์หัวสีที่มาส่งทุกวันจึงเป็นหนังสือเล่มเดียวที่เราอ่านทุกวัน ทุกหน้า อ่านแม้กระทั่งคอลัมน์มาลัยไทยรัฐ พลิกไปพลิกมาเพราะไม่มีหนังสือที่บ้าน  คำว่ากฎหมายก็รู้และเข้าใจงูๆ ปลาๆ มาโดยตลอด ผู้พิพากษาคนแรกที่รู้จักก็คือเปาบุ้นจิ้น

การเรียน และการงานทำให้ได้มาเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน  ตอนนี้เราทำงานเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิของเราเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้เสียหายจากการทรมาน การบังคับสูญหาย และความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ทำงานซักพักใหญ่จึงหาโอกาสไปเรียนต่อจนจบนิติศาสตร์มาจากมหาวิทยาลัยดังแห่งหนึ่ง ทั้งงานด้านสิทธิมนุษยชนและด้านกฎหมาย ทำให้ได้พบพานกับผู้คนในอาชีพสายงานกฎหมาย จำไม่ได้ถนัดว่าได้พบกับผู้พิพากษาไทยคนแรกบนบัลลังก์เมื่อไร น่าจะปี พ.ศ. 2547 ที่เริ่มมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว และถ้าจำไม่ผิด คิดว่าคดีแรกน่าจะเป็นคดีกักขังหน่วงเหนี่ยวทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ศาลอาญาที่ตั้งที่ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

ภารกิจตอนนั้นคือการสังเกตการณ์คดี หรือที่เรียกว่า Trial Watch หรือ Court  Watch ซึ่งเป็นกิจกรรมที่องค์กรสิทธิมนุษยชนดำเนินการกันทั่วโลก เพื่อทำให้หลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม หรือที่เรียกว่า Fair Trial เป็นจริงในทางปฏิบัติ และเชื่อว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่เตือนให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในหลักการนี้ โดยเฉพาะในห้องพิจารณาคดี

เรารู้ว่าคดีนี้เป็นคดีสำคัญ และรู้ด้วยว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนท่านนั้นก็รู้ว่าเป็นคดีสำคัญ ท่านบันทึกข้อเท็จจริง และคำเบิกความของพยานทุกปากอย่างละเอียดลออ และยังมีคำถาม และคำเปรยว่าท่านได้ไปดูสถานที่เกิดเหตุมาแล้ว  การบันทึกคำเบิกความของพยานในศาลสำคัญมาก  ในขณะที่ประเทศไทยยังต้องใช้วิธี “อมความ” คือบันทึกในเครื่องอัดเสียงของผู้พิพากษาหลังฟังคำให้การของคู่ความตามความเข้าใจของผู้พิพากษา และไม่มีการบันทึกภาพและเสียงในชั้นพิจารณาคดี 

มีหลายครั้งที่การสังเกตการณ์คดีของเราเห็นว่าผู้พิพากษาบางท่านจะไม่บันทึกคำถามของทนายความ และคำตอบของพยานตรงๆ  แต่บันทึกอย่าง “อมความ”ที่อาจขาดตกบกพร่องได้ เห็นว่า เป็นหน้าที่ทนายความหรืออัยการในคดีนั้นๆ ที่จะทักท้วง แต่ก็ไม่ได้สำเร็จเสมอไป ทนายความพี่ๆ หลายคนให้ความเห็นว่าถ้าไปทักทุกครั้งก็จะทำให้บรรยากาศไม่ดีในการสืบพยาน เราก็ยังเป็นแค่คนเชียร์มวย ไว้ได้โอกาสไปค้นหาความจริงในชั้นศาลแล้วจะมาเล่าให้ฟังกันใหม่ 

ต่อมาผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนท่านนี้ในคดีทนายความสมชาย  นีละไพจิตรจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง และต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศาลอื่นทำให้มีการกล่าวลาในห้องพิจารณา ทั้งๆ ที่เหลืออีกเพียงสองนัดก็จะพิจารณาคดีศาลชั้นต้นเสร็จสิ้น  เราเลยต้องเปิดรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 แล้วทำจดหมายไปขอพบอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากัน เหตุว่าถ้าท่านย้ายไปขณะนั้น ท่านก็จะไม่ใช่เป็นผู้เขียนคำพิพากษา ทั้งๆ ที่รับฟังคดีมาตลอด และจดบันทึกอย่างละเอียด

ก็ถือว่าคำทักท้วงของพวกเราได้ผล  ท่านผู้พิพากษาท่านนี้ได้เขียนคำพิพากษาที่คิดว่าเป็นประวัติศาสตร์ของศาลไทยก็ว่าได้ในคดีการกระทำให้บุคคลสูญหายคดีแรกๆ ของไทยที่มีตำรวจผู้กระทำความผิดหนึ่งคนฐานกักขังหน่วงเหนี่ยวสมชาย นีละไพจิตร  แม้สุดท้ายคดีนี้สิ้นสุดลงโดยที่ยังไม่มีใครรับผิดรับโทษ ในตอนหนึ่งของคำพิพากษาท่านระบุอากัปกริยาของพยานปากหนึ่งว่า

พยานปากนี้มีความหวาดกลัวในขณะชี้ตัวหนึ่งในจำเลยในห้องพิจารณาคดี  และเป็นพยานปากเดียวที่ศาลให้น้ำหนักลงโทษหนึ่งในจำเลยที่เป็นตำรวจทั้งห้าคนว่ามีความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยวทนายสมชาย นีละไพจิตร น่าจะหาอ่านกันได้ และน่าจะเป็นบทเรียนในการศึกษาของผู้พิพากษาท่านอื่นๆต่อไปได้

อีกประสบการณ์ของการสังเกตการณ์คดีทำให้ได้พูดคุยกับผู้พิพากษาโดยตรงทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นคู่ความในคดี การเป็นผู้สังเกตการณ์คดีเราก็ดูเด่นหรือแปลกตาในบางครั้ง  โดยเฉพาะในครั้งที่ต้องเป็นล่ามให้นักสังเกตการณ์คดีจากต่างประเทศ ผู้พิพากษาของไทยแม้จะรู้กันทุกคนว่าการพิจารณาคดีเป็นการเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ก็คงอดใจถามไม่ได้ว่า เป็นใครมาจากไหนกัน เมื่อต้องลุกขึ้นตอบ และพูดกับผู้พิพากษาโดยตรงก็จะกล้าๆ กลัวๆ ว่าเขาจะให้เราแปลไหม  เขาจะให้เราจดไหม ถ้าแปลแบบไม่จดก็จะมั่วๆ หน่อย  

ต่อมาพบว่าการแปลมักจะถูกเจ้าหน้าที่ในศาลมองเหมือนกับจะบอกว่าให้เราแปลแบบกระซิบ ต่อมาไม่นานนักการจดในห้องพิจารณาคดีกลายเป็นสิ่งต้องห้าม การห้ามมีหลายแบบ มีการเขียนป้ายติดไว้ว่าห้ามจด  รวมทั้งการห้ามโดยผู้พิพากษาทางวาจาเตือนว่าห้ามจด  มีครั้งหนึ่งเป็นคดีสำคัญเกี่ยวกับจำเลย และผู้เสียหายเป็นชาวต่างชาติทั้งหมดที่ศาลจังหวัดเกาะสมุย  ผู้พิพากษาห้ามจดบันทึกใดๆ เลยในห้องพิจารณา ทำให้นักสังเกตการณ์จากทั้งใน และต่างประเทศที่มีทั้งฝ่ายจำเลย ฝ่ายโจทก์ ต้องจำความ และเดินออกไปจดแล้วกลับเข้ามาใหม่จนทำให้ห้องศาลดูวุ่นวาย เพราะมีคนเปิดประตูเข้าเปิดประตูออกตลอดเวลา

สุดท้ายผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนท่านนั้นก็สั่งว่า “ห้ามเดินเข้าออก”   ในอีกเหตุการณ์หนึ่งเราไปสังเกตการณ์คดีเดียวกับนักข่าวได้รับทราบว่าผู้พิพากษาบางท่านได้ขอสมุดจดของนักข่าวไปดูนอกรอบและสั่งว่าไม่ให้เผยแพร่  

การพิจารณาคดีที่เปิดเผยต่อสาธารณะน่าจะหมายถึงการแสดงความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ไม่ใช่แต่การเดินทางมาศาลและอนุญาตให้อยู่ในห้องพิจารณาคดีต่อหน้าต่อตาเท่านั้น  การสื่อสารต่อสาธารณะโดยนักข่าวเพื่อการสื่อสารสาธารณะ การจดของนักสังเกตการณ์หรือของญาติผู้เสียหายหรือจำเลย เพื่อบอกเล่าแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีเพื่อประโยชน์ในการแสวงหาความจริงร่วมกันน่าจะไม่ใช่สิ่งต้องห้าม  ยกเว้นกรณีเป็นพยานคู่ที่มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนที่ห้ามหรือการพิจารณาคดีลับซึ่งหากใครนำไปเผยแพร่อย่างบิดเบือน คนนั้นก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว  

ห้องพิจารณาที่ดีน่าจะใสเหมือนตู้ปลาถ้าเราจะยังไม่มีระบบการบันทึกภาพ และเสียงในชั้นพิจารณาเพื่อประกอบสำนวนแทนการอมความ แต่ตอนนี้เหมือนตู้ปลาจะมีกล้องวงจรปิดเอาไว้ดูคู่ความ นักสังเกตการณ์ นักข่าว และผู้สนใจเข้ามาฟังคดีในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นเสียแล้ว ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าความโปร่งใสของตู้ปลาของศาลชั้นต้นคงจะยังไม่เป็นจริงไปอีกนาน  คงไม่ต้องพูดถึงความใสของตู้ปลาในศาลสูงขึ้นไป

ประสบการณ์สุดท้ายที่อยากจะเล่าถึงผู้พิพากษาเป็นเรื่องที่ประทับใจ คือ มีท่านหนึ่งท่านเคยเป็นแพทย์มาก่อน ศาลในจังหวัดชายแดนใต้ในคดีความมั่นคงมักมีผู้ต้องหาหลายคนและไม่ได้รับการประกันตัว ทุกคนถูกใส่ชุดลูกหมู ใส่โซ่ตรวนขึ้นมาที่ศาลในห้องพิจารณาคดี หลายคนมักมีท่าทีอิดโรย และหน้าบอกบุญไม่รับกันทั้งนั้น 

ผู้พิพากษาท่านหนึ่งได้สังเกตเห็นหน้าตาที่ซีดเซียวของผู้ต้องขังรายหนึ่ง เนื่องจากเป็นจำเลยก็ต้องมาศาลทุกนัด  คำทักทายแสดงความห่วงใยในสุขภาพให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพของผู้พิพากษากับผู้ต้องขังเป็นความประทับใจในห้องพิจารณาคดีในวันนั้น   เราไม่ทราบว่าผลคดีเป็นอย่างไร  แต่ถ้าความเห็นอกเห็นใจนี้จะประกอบไปด้วยหลักการที่เข็มแข็งของระบบยุติธรรมไทยที่ทัดเทียมสากลที่ว่า “ทุกคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะตัดสินถึงที่สุดแล้วว่าผิด” เราคิดว่าเราควรให้ความเคารพหลักการนี้ได้ด้วยการที่ผู้พิพากษาจะสังเกตด้วยว่า พวกเขาอยู่ในโซ่ตรวนพวกเขาอยู่ในชุดผู้ต้องขังเหมือนนักโทษทั้งๆ ที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่ามีความผิด

แม้หลายครั้งจะอ้างว่าเป็นกฎระเบียบของราชทัณฑ์ แต่การควบคุมตัวก็เกิดจากหมายของศาล เมื่อโดยหลักการของของการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมที่ถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ การอนุญาตให้ผู้ต้องขังใส่เสื้อผ้าธรรมดา และปลดโซ่ตรวนในห้องพิจารณาน่าจะทำได้แม้ดูจะยุ่งยากและแม้หลายฝ่ายคำนึงถึงความปลอดภัย ทั้งสองเรื่องคือยุ่งยาก และไม่ปลอดภัยนั้นเราก็คงต้องหามาตรการที่ดีกว่าของทั้งศาล

และราชทัณฑ์แทนที่จะเลือกใช้วิธีลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือความเชื่อมั่นในตนเองของจำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัวและถูกนำตัวมาอยู่ต่อหน้าศาลหรือ “ต่อหน้าความยุติธรรม”  ส่วนตัวเราคงไม่มีโอกาสเป็นผู้พิพากษา  แต่ถ้าชาติหน้าเกิดมาใหม่ก็อยากเป็นผู้พิพากษาในศาลไทยในห้องพิจารณาที่จำเลยผู้ไม่ได้รับการประกันตัวจะได้ใส่เสื้อผ้าของตนและไม่มีโซ่ตรวนให้รำคาญหลักนิติธรรมของไทย 

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading