[:th]CrCF Logo[:]
วารสารเสียงชนเผ่า

วารสารเสียงชนเผ่า ปีที่ 11 ฉบับที่ 14 [ตค. 2563] ต่างชาติพันธุ์ หาใช่ต่างต้องเลือกปฏิบัติ

Share

เปิดการรายงาน 7 ประเด็นสำคัญ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อองค์การสหประชาชาติ โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เผยแพร่ครั้งแรกวารสาร เสียงชนเผ่า ฉบับเดือนตุลาคม 2563

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้เผยแพร่แนวคำถามที่องค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนได้จัดส่งในเว็บไซต์ขององค์การสหประชาชาติ คณะกรรมการด้านการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขององค์การสหประชาชาติกำหนดให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ฉบับรวม ครั้งที่ 4 ถึง ครั้งที่ 8 โดยให้ทุกภาคส่วนจัดส่งคำถามถึงรัฐบาลไทย เพื่อเตรียมตัวในการประชุมทบทวนรายงานของรัฐบาลไทยในเดือนสิงหาคม 2563 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้การประชุมต่างขององค์กรสหประชาชาติเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด

ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ตั้งแต่ปี 2546 และมีผลบังคับใช้แล้วในการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย โดยประเทศไทยจะต้องส่งรายงานรัฐเพื่อประกอบการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เป็นรายงานฉบับแรกที่รวบยอดรายงาน 3 ฉบับ โดยเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นที่ล้าช้ามากและกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยก็ไม่มีประสิทธิภาพทำให้ประชาชนขาดโอกาสในการได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกี่ยวข้องไปอย่างน่าเสียดาย

ปกติแล้วการนำเสนอรายงานอย่างเป็นทางการคือการนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (ICERD COMMITTEE) เป็นหน้าที่ของภาคีสมาชิกตามอนุสัญญา ที่ทุกๆ 2  ปีจะต้องนำเสนอรายงาน    สำหรับภาคประชาชน เราในฐานะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติและองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานมีบทบาทที่จะต้องเขียนรายงานคู่ขนาน(Shadow Report)เพื่อให้รายงานรัฐบาลไทยมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงไม่ใช่เป็นการตรวจสอบรายงานรัฐบาลโดยตรง พวกเราในนามภาคประชาชนเขียนรายงานได้ติดต่อประสานงานกับคณะกรรมการ ICERD ก่อนเพื่อให้มีการจัดประชุมให้พวกเรานำเสนอรายงานเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ICERD ด้วย

 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในกรุงเทพมหานครให้การช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของรัฐและสนับสนุนการปฏิรูประบบยุติธรรมในไทย มูลนิธิฯให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกลุ่มคนชายขอบ โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ใกล้ชายแดนไทยและพื้นที่ความรุนแรงทางอาวุธ ในบริบทของจังหวัดชายแดนใต้ เราได้ร่วมกันรวบรวมประเด็นสำคัญในการนำเสนอดังนี้อย่างน้อย 7 ประเด็นสำคัญ

  1. แม้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (รัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2560) ได้รับรองหลักการความเสมอภาคตามกฎหมายและการไม่การเลือกปฏิบัติ  อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทั้งเรื่องการส่งเสริมและเรื่องการกำหนดบทลงโทษหากมีละเมิดสิทธิมนุษยชนบนพื้นฐานการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติเกิดขึ้น 
  2. กฎหมายพิเศษเพื่อปราบปรามการก่อความไม่สงบและการก่อการร้ายและผลกระทบต่อประชากรท้องถิ่นโดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลไทยได้บังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามการก่อความไม่สงบที่รวมถึงพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457  และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  กฎอัยการศึกและพรก.ดังกล่าวนำมาสู่อำนาจพิเศษในการปฏิบัติการปราบปรามการก่อความไม่สงบและต่อต้านการก่อการร้าย รวมถึงการปิดล้อมและค้นหา การจับกุม และการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในการก่อความไม่สงบเพื่อสอบปากคำในค่ายทหาร ทั้งที่ผู้กระทำผิดดังกล่าวไม่ได้กระทำความผิดทางอาญา การบังคับใช้กฎหมายและเหตุผลในการดำเนินการชาวมลายูมุสลิมโดยรัฐบาลไทยได้รายงานว่าไม่มีการทำประวัติทางเชื้อชาติ (Racial Profiling)  อย่างไรก็ตามรัฐไทยไม่ได้มีระเบียบวิธีหรือหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนในการประเมินสถานการณ์ อย่างไรก็ตามมูลนิธิฯได้พบว่าทหารมักสั่งให้ชาวมลายูมุสลิมหยุดที่ด่านตรวจของกองทัพทั้งที่ไม่มีพฤติกรรมน่าสงสัยใดใด  และมีการบังคับให้ถ่ายรูปพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนโดยไม่แจ้งวัตถุประสงค์  ในปีพ.ศ. 2558 คณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติพบว่าการเก็บรวบรวมดีเอ็นเอคือการทำประวัติทางเชื้อชาติ (Racial Profiling) เพราะเจ้าหน้าที่มักสันนิษฐานว่าชาวมลายูมุสลิมเป็นผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายด้วยเชื้อชาติของพวกเขา อย่างไรก็ตามกองกำลังความมั่นคงของไทยก็ยังคงเก็บดีเอ็นเอชุมชนชาวมลายูมุสลิม   โดยอ้างว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลนี้จะนำไปสู่การตัดสินโทษผู้ต้องสงสัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปีพ.ศ. 2562 มูลนิธิฯได้รับรายงานว่ามีการเก็บรวบรวมดีเอ็นเอไปอย่างน้อย 139 กรณี ภายหลังมูลนิธิฯได้ตรวจสอบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริง  ยิ่งไปกว่านั้นในเดือนเมษายน 2019 มีชายประมาณ 20,000 คนในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิมถูกเก็บดีเอ็นเอระหว่างการเกณฑ์ทหารไปโดยไม่ได้รับความยินยอมและแจ้งล่วงหน้า อย่างไรก็ดีทหารเกณฑ์ในส่วนอื่น ๆ ของประเทศไทยกลับไม่ได้รับการเก็บดีเอ็นเอ   มูลนิธิและองค์กรพันธมิตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้  มีความกังวลว่าการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในพื้นที่ชาวมลายูมุสลิมจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพของประชาชน การทำประวัติทางเชื้อชาติดังกล่าวอาจนำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีกับผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของกฎหมายต่อต้านการก่อความไม่สงบ กฎอัยการศึก และพรก. ฉุกเฉิน
  3. ผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากการเลือกปฏิบัติและความรุนแรง เนื่องจากการความแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ และเพศ ทั้งจากสังคมภายในชุมชนและสังคมภายนอกของพวกเธอ    ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ซึ่งเป็นศูนย์จัดทำเอกสารชุดหนึ่งรายงานว่าผู้หญิง 70 คนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากรายงานผู้เสียชีวิต 423 คน ในปี 2562 นอกจากนี้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งยังจำเป็นต้องรับภาระหน้าที่เป็นผู้จุนเจือครอบครัวแม้จะมีข้อจำกัดด้านการศึกษาและการจ้างงาน เนื่องจากเป็นผู้เสาหลักของครอบครัวคือสามีหรือบิดา ถูกสังหารโดยการใช้ความรุนแรงหรือการปะทะกันระหว่างกองกำลังติดอาวุธ   กองกำลังทหารบางหน่วยได้ควบคุมตัวภรรยาของผู้สงสัยในการก่อความไม่สงบมากขึ้น ผู้หญิงเหล่านี้อาจถูกทรมานทางด้านจิตใจเพื่อให้รับสารภาพหรือเพื่อใช้ในการหาข่าวของหน่วยงานด้านความมั่นคง ในปีพ.ศ. 2562 มีผู้หญิงอย่างน้อย 8 คนถูกควบคุมตัวในหน่วยสอบสวนทางทหารโดยอ้างกฎหมายพิเศษเพื่อการปราบปรามการก่อความไม่สงบและการก่อการร้าย แม้ว่าพวกเธอจะไม่ใช่ผู้กระทำความผิดกฎหมายก็ตาม นอกจากนี้ ผู้หญิง 1 ใน 8 คนถูกตั้งข้อหาหลังถูกควบคุมตัวเนื่องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 168 (ช่วยเหลือและสนับสนุน) ว่าด้วยการให้ที่พักแก่ผู้ต้องสงสัยในการก่อความไม่สงบ  ภรรยาและลูกของผู้ต้องสงสัยถูกบังคับให้เข้ารับการเก็บดีเอ็นเอระหว่างการดำเนินการค้นหาและจับกุม พวกเขาทั้งหมดถูกขอให้ลงชื่อในแบบฟอร์มยินยอมหลังจากการตรวจเก็บดีเอ็นเอ แต่พวกเขากล่าวว่าตนไม่ได้รับการแจ้งล่วงหน้า ตนเองไม่ประสงค์ให้ความยินยอม  นอกจากนี้ในชุมชนชาวมลายูมุสลิมพวกเขายังต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่และอุปสรรคทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งที่เกิดโครงสร้างเศรษฐกิจ ทางศาสนาและทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ศูนย์ส่งเสริมสิทธิสตรีและให้คำปรึกษาภายใต้คณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาสรับร้องเรียนกรณีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวถึง 760 กรณี จากผู้หญิงมลายูมุสลิมตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ถึงตุลาคม 2562 อย่างไรก็ตามผู้หญิงหลายคนขาดความรู้เกี่ยวกับสิทธิของตน และกลัวการถูกตราหน้าจากสังคมอนุรักษ์นิยมหากเขาพูดเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวของเขาเอง เลสเบี้ยนและผู้หญิงข้ามเพศต้องทนทุกข์ทรมานจากกระบวนการทำให้เป็นชายขอบ (Marginalization) ที่รุนแรงยิ่งขึ้น ในปี 2560 สโมสรฟุตบอล ที่ให้พื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงในท้องถิ่นและกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ (LGBTQ +) เพื่อแสดงรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา ถูกขู่และถูกคุกคามจากผู้นำศาสนาอิสลาม โดยผู้นำดังกล่าวกล่าวหาพวกเขาว่า “เผยแพร่ความคิดเรื่องรักร่วมเพศ” ในชุมชนมลายูมุสลิม
  4. กลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในป่า/อุทยานแห่งชาติ/พื้นที่สงวน ชนพื้นเมืองจำนวนมากที่ถูกกล่าวหาว่ารุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนหรือหาประโยชน์จากทรัพยากรชาติในพื้นที่ดังกล่าว นโยบายการทวงคืนพื้นที่ป่าของรัฐบาลไทยส่งผลให้มีการบังคับใช้มาตรการขับไล่และการยึดที่ดิน มีรายงานว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีการฟ้องคดีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้กับประชาชนผู้ยากไร้มากกว่า 1,830 คดีภายใต้นโยบายการทวงคืนพื้นที่ป่า อีกทั้งในปี พ.ศ. 2563 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะนำมาซึ่งความเสี่ยงของชนเผ่าพื้นเมืองมากขึ้นต่อไปเนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังคงมีอำนาจกำหนดที่จะอนุญาตให้พวกเขาอยู่และใช้ประโยชน์ในดินแดนบรรพบุรุษของพวกเขาหรือไม่  ดังนั้นชุมชนชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติจะเสี่ยงต่อการสูญเสียสิทธิในที่ดินและวิถีการดำรงชีวิตดั้งเดิมของพวกเขา
  5. การเข้าถึงความเป็นพลเมืองและการบริการสาธารณะ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรพันธมิตรมีความกังวลเกี่ยวกับความยากลำบากของบุคคลไร้สัญชาติในการขอรับสัญชาติไทยหรือเข้าถึงสถานะทางทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนผู้ไร้สัญชาติ เยาวชนไร้สัญชาติหรือเยาวชนที่ไม่มีสถานะในการลงทะเบียนไม่สามารถเข้าเรียนในระบบโรงเรียนรัฐบาลได้ ณ ขณะนี้มีเยาวชนกลุ่มดังกล่าวทั้งหมดอยู่ 90,640 คน แต่มีเพียง 2,789 คนที่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข ส่วนจำนวนที่เหลือยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรพันธมิตรมีความกังวลเกี่ยวกับประชากรชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังไม่ได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองเต็มรูปแบบ เช่นประชาชนที่มีหมายเลข ID“ 0” หรือ 0-xxxx-89xxx-xx-x โดยกรณีดังกล่าวยังคงมีอย่างน้อย 152,869 รายการที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินเนื่องจากการขอสิทธิในความเป็นพลเมืองเป็นกระบวนการที่ยาวนานและซับซ้อน อย่างไรก็ตามหากไร้ซึ่งสิทธิความเป็นพลเมืองอย่างเต็มรูปแบบชนกลุ่มน้อยบางคนก็ถูกจะกีดกันจากการบริการสาธารณะรวมถึงการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Care) และไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาที่สูงขึ้น  รวมทั้งสถานการณ์ของชาวมอแกนเป็นชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย – พม่าในทะเลอันดามัน ในอดีตพวกเขามีวิถีชีวิตเป็นนักล่าสัตว์กึ่งเร่ร่อน โดยมักจะโยกย้ายจากเกาะหนึ่งไปยังอีกเกาะหนึ่ง คืออาศัยอยู่ในทะเลในเรือไม้แบบดั้งเดิมที่เรียกว่าคาบาง (Kabang) ขณะที่ดำรงชีวิตมีการประมงแบบดั้งเดิม และในช่วงฤดูมรสุม (พฤษภาคม – ตุลาคม) ของทุกปี ชนพื้นเมืองดังกล่าวจะย้ายกลับไปที่ชายฝั่งและอาศัยอยู่ในบ้านเสาสูงชั่วคราว อย่างไรก็ตามหลังจากการเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่และการแบ่งเขตแดนของประเทศ ชาวมอแกนก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดทั้งภายใต้รัฐบาลไทยและพม่า วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แม้ว่ากฎหมายและระเบียบข้อบังคับบางฉบับจะทำให้กระบวนการตรวจสอบเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีชาวมอแกนจำนวนมากไม่สามารถรับสัญชาติไทยได้อย่างแท้จริง การเข้าถึงการดูแลสุขภาพและสิทธิความเป็นพลเมืองอย่างสมบูรณ์ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับคนกลุ่มนี้
  6. นโยบายปราบปรามยาเสพติดในเขตพื้นที่ชายแดนทางภาคเหนือ เนื่องจากชนพื้นเมืองมักจะถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ลักลอบขนส่งยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายตาของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น กรณีที่เกี่ยวกับชนพื้นเมืองด้วยกัน 2 กรณี คือชาวลีซูและลาหู่ที่ถูกสังหารที่ด่านตรวจของกองทัพไทย ในทั้ง 2 กรณีผู้กระทำความผิดอ้างว่าผู้เสียชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองทั้งสองคนครอบครองยาเสพติดและพยายามขัดขวางการจับกุม การเข้าถึงวิธีการรักษาและการชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนกรณีนายอาเบ แซ่หมู่ และ ชัยภูมิ ป่าแส นายอาเบ แซ่หมู่ อาเบ ชนพื้นเมืองลีซู อายุ 32 ปี และ นายชัยภูมิ ป่าแส นักสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมืองลาหู่ทั้งสองถูกยิงที่ด่านตรวจรินหลวง ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 และวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560 ตามลำดับ เจ้าหน้าที่ทหารที่ด่านตรวจดังกล่าวได้สังหารพวกเขาอ้างว่าพวกเขากระทำไปเพื่อป้องกันตนเอง อีกทั้งยังกล่าวหาว่าชนพื้นเมืองทั้งสองครอบครองยาเสพติดผิดกฎหมายและขัดขวางการจับกุม ครอบครัวของนายชัยภูมิและนายอาเบต้องดิ้นรนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เจ้าหน้าที่ทหารที่ด่านที่ได้สังหารผู้กระทำความผิดทั้งสองคดีไม่ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
  7. ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาและการชดใช้ค่าเสียหายรวมถึงกรณีต่อไปนี้ เช่นกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิในชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงในเขตป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex) บิลลี่หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 หลังจากที่เขาถูกจับกุมและภายหลังได้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติโดยนักสิทธิมนุษยชนดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าเขาเก็บน้ำผึ้งป่าในอุทยานแห่งชาติ ก่อนที่จะหายตัวไปบิลลี่ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับสิทธิชุมชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงและเป็นผู้ช่วยทนายความในการยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่เผาหมู่บ้านของเขา เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษภายใต้กระทรวงยุติธรรมประกาศว่าพบชิ้นส่วนกระดูกในถังน้ำมันจมอยู่ในลำห้วยในเขตป่าแก่งกระจาน กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบแล้วพบว่ากระดูกที่พบเหล่านี้น่าจะเป็นของบิลลี่ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีข้อหาฆาตกรรมโดยไตร่ตรองล่วงหน้าและการปกปิดหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ 5 คน รวมถึงนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรต่อพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563  แต่พนักงานอัยการได้ฟ้องร้องจำเลยทั้งห้าขณะนี้เฉพาะข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญาเพราะเจ้าหน้าที่อุทยานกลุ่มนี้ไม่ได้ส่งตัวนักสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงให้ตำรวจหลังจากที่เขาถูกจับกุมในขั้นต้น และไม่ได้สั่งฟ้องในคดีฆาตกรรมบิลลี่ยุติธรรมทางอาญาเนื่องจากคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด อีกทั้งยังมีเพียงมารดาของนายอาเบเท่านั้นที่กำลังจะได้รับค่าชดเชยเยียวยาได้ฟ้องร้องต่อกองทัพบกในศาลแพ่ง  ในขณะที่การพิจารณาคดีของครอบครัวนายชัยภูมินั้นมีความล่าช้ามากกว่าสามปี  จากข้อมูลที่ได้รับกองทัพภาคที่ 3 เปิดเผยว่ากล้องวงจรปิดได้บันทึกภาพการยิงนายชัยภูมิ อย่างไรก็ตามฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่บันทึกภาพนั้น “หายไป” เมื่อกองทัพต้องส่งฮารดดิสก์ไดรฟ์นั้นให้ตำรวจสืบสวนคดีนี้ การจัดการห่วงโซ่ของพยานหลักฐานที่ไม่มีประสิทธิภาพนี้ยิ่งช่วยทำให้การละเว้นโทษการก่ออาชญากรรมของรัฐต่อคนพื้นเมืองมากยิ่งขึ้นและเป็นอุปสรรคอย่างมีนัยยะสำคัญให้ครอบครัวนายชัยภูมิไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab