[:th]มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเรียกร้องตำรวจและอัยการยุติการนำแพะฟ้องต่อศาล อัยการไม่ฎีกา 3 จำเลยคดีปล้นทรัพย์นักท่องเที่ยวต่างชาติ คดีถึงที่สุด[:]

Share

[:th]

เผยแพรวันที่ 2 กันยายน 2563

ใบแจ้งข่าว

 อัยการไม่ฎีกา 3 จำเลยคดีปล้นทรัพย์นักท่องเที่ยวต่างชาติ คดีถึงที่สุด

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเรียกร้องตำรวจและอัยการยุติการนำแพะฟ้องต่อศาล

              เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่าน ศาลจังหวัดหัวหินได้ออกหนังสือสำคัญเพื่อแสดงว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ ทอ.2/2560 หมายเลขแดงที่ ทอ.21/2561 ระหว่างพนักงานอัยการโจทก์ ที่ได้ฟ้องนายณัฐวัตร ธนัฏฐิกาญจนา กับพวกรวม 3 คน เป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ ทำร้ายร่างกายและปล้นทรัพย์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยมีอาวุธ  ซึ่งศาลอุทธรณ์ ภาค 7 พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องนั้น เมื่ออัยการไม่ฎีกาโต้แย้ง คดีจึงถึงที่สุด  

               สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 บริเวณริมถนนปราณบุรี-สามร้อยยอด ประจวบคีรีขันธ์ นักท่องเที่ยวชาวอิตาลีและโมรอคโค ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.สามร้อยยอด ว่าถูกคนร้ายใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ ร่วมกันทำร้ายร่างกายและปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนายณัฐวัตร ธนัฏฐิกาญจนา นายอภิศักดิ์ สีละมุด และ นายศรัญญู สายน้ำเขียว รวมสามคน เป็นผู้ต้องหา ชั้นแรกนายณัฐวัตรให้การรับสารภาพและซัดทอดจำเลยอีกสองคน แต่ทั้งสองให้การปฏิเสธ  ต่อมานายณัฐวัตรได้กลับคำให้การและร้องเรียนมูลนิธิผสานวัฒนธรรมว่า ตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนในชุดจับกุมซ้อมทรมานให้รับสารภาพ และให้ซัดทอดจำเลยอีกสองคน หลังจากตรวจสอบแล้ว มูลนิธิฯ พบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่านายณัฐวัตรถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานจริง ทั้งพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนนำมากล่าวหาผู้ต้องหามีพิรุจและไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้นเมื่อพนักงานอัยการได้ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสามเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดหัวหิน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงได้ร่วมกับ Innocence Project ให้ความช่วยเหลือจัดหาทนายความให้แก่จำเลยทั้งสามเพื่อต่อสู้ในคดีดังกล่าว

               ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามฟ้องให้จำคุกจำเลยทั้งสามคน คนละ 18 ปี ปรับคนละ 900 บาท คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้จำเลยที่ 1 คงจำคุก 12 ปี ปรับ 600 บาท ทีมทนายความจึงยื่นอุทธรณ์ ต่อมาในวันนี้วันที่ 20 มกราคม 2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคน โดยให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์ มีเพียงคำรับสารภาพของนายณัฐวัตรและคำให้การของผู้เสียหายคือนักท่องเที่ยวต่างชาติคนหนึ่งที่ให้การในชั้นสอบสวนและชั้นสืบพยานก่อนฟ้องเท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบ รวมทั้งลายพิมพ์นิ้วมือแฝงที่พบบนของกลางก็มิใช่ของจำเลย และไม่ปรากฎว่าพบดีเอ็นเอของจำเลยที่อาจกล่าวได้ว่าจำเลยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ประกอบกับจำเลยมีพยานหลักฐานว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุโดยมีกล้องวงจรปิดและพนักงานโรงแรมที่เป็นคนกลางยืนยัน จึงพิพากษายกฟ้อง คดีนี้ทีมทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้พนักงานอัยการไม่ฎีกา ต่อมาพนักงานอัยการไม่ฎีกา คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องจึงถึงที่สุด

“คดีนี้เป็นตัวอย่างอีกคดีหนึ่ง ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนยังคงใช้วิธีซ้อมทรมานเพื่อให้ผู้ต้องหาจำใจต้องรับสารภาพ ทั้งๆที่ตนเป็นผู้บริสุทธิ์ แทนที่เจ้าหน้าที่จะใช้ความพยายามและความรู้ความสามารถในการสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะโดยการรวบรวมพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา แต่กลับใช้วิธีซ้อมทรมาน ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากโดยเฉพาะคนยากจนหรือคนชายขอบ เช่นในคดีนี้ มักตกเป็น “แพะ” ของกระบวนการยุติธรรมเสมอ”

“เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดีควรสำนึกในคุณธรรมและจริยธรรมทางวิชาชีพว่า การจับกุม คุมขัง นำผู้บริสูทธิ์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นำมาซึ่งราคาที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยและครอบครัวต้องจ่ายในหลายมิติ ทั้งความบอบช้ำด้านจิตใจ สูญเสียอิสรภาพ เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี เสียชื่อเสียง และตกเป็นจำเลยในสังคม เจ้าหน้าที่พึงตระหนักว่าการจับแพะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมเสียหาย สังคมยังต้องตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะคนร้ายตัวจริงยังลอยนวลอยู่ ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนยุติธรรมทุกขั้นตอนลดน้อยถอยลงทุกที” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นตำรวจและอัยการ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นเสาหลักที่สามารถให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนในสังคมประชาธิปไตยต่อไป

ทั้งรัฐบาลต้องเร่งรัดการตรา พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย ซี่งร่างกฎหมายดังกล่าวภาคประชาสังคมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เพื่อให้เป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ยังคงเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในที่ต่างๆ ของประเทศ

__________________________________________________________________________

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อมูลคดี  https://crcfthailand.org/?s=สามร้อยยอด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ประสานงานคดี 096-7569169

[:]

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading