[:th]CrCF Logo[:]

4 ปีแห่งการรอคอยที่ไร้จุดสิ้นสุด เมื่อไร้ พรบ. ทรมาน-อุ้มหาย และบุตรชายที่ไม่มีวันหวนคืน กรณีฟาเดล เสาะหมาน

Share

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการ “บังคับสูญหาย” หรือการ “อุ้มหาย” เป็นอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาช้านาน อาทิ กรณีของ “บิลลี่” หรือ “พอละจี รักจงเจริญ” ผู้นำชาวกระเหรี่ยงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง และพื้นที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน หรือกรณีของ “พ่อเด่น คำแหล้” ประธานโฉนดชุมชนบ้านโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร ชัยภูมิ ในภาคอีสาน ที่สูญหายไป โดยเชื่อกันว่าเพราะเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน

หรือจะเป็นกรณีของ “ทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ ก่อนจะถูกอุ้มหายไป เมื่อ 16 ปีที่แล้ว

ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงกรณีที่ผู้คนในสังคมอาจเคยได้ยินอยู่บ้าง แต่นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทย และที่ได้มีการบันทึกไว้เท่านั้น ตัวเลขที่องค์การสหประชาชาติบันทึกไว้ในระบบการตรวจสอบขององค์การ เมื่อปี 2019 พบว่ามีผู้ถูกบังคับให้สูญหายถึง 86 ราย ทั้งจากเหตุการณ์ที่เป็นรายกรณี และในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่มีรายงานการสูญหายเป็นจำนวนมาก 

แต่ถึงกระนั้นประเทศไทยยังคงไม่มีมาตรการในการป้องกันและแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเข้มข้น แม้จะมีความพยายามจากภาคประชาชนในการผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหายตั้งแต่ปี 2555 ก็ยังคงไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

เสียงเรียกร้องจากผู้สูญเสีย และสังคม

เสียงสะท้อนในเวทีเสวนาวันที่ 11 มีนาคม 2563 เรื่องความคืบหน้าของกรอบกฎหมาย และกระบวนการสืบสวนสอบสวนกรณีคนหายในประเทศไทย เนื่องในวันสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร ครบรอบ 16 ปี ที่หอศิลปะ และวัฒนธรรมกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตหนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า

ประเทศไทยได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ ค.ศ. 2006” ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2555 หลังประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินการโดยสหประชาชาติ หรือกระบวนการ ยูพีอาร์ (UPR-Universal Periodic Review)

หลังจากนั้นกระทรวงยุติธรรมมีความพยายามร่างกฎหมายเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งรวมถึงหลักการของ “อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่น ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ. 1984” ไว้ด้วย อีกทั้งต่อมาในปี 2554 คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้มีมติให้ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการสูญหายโดยถูกบังคับและให้ดำเนินการจัดทำ“(ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ……” หรือร่าง “พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย” เพื่อตราเป็นกฎหมาย

แต่เมื่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวถูกเสนอไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับปรากฏว่ามีการพิจารณาอย่างล่าช้า และแก้ไขเสียจนสาระสำคัญบางประเด็นขาดหายไป ทำให้มีบทบัญญัติในร่างกฎหมายหลายบทไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้งสองฉบับ และอาจมีผลทำให้กฎหมายไม่สามารถป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหายได้จริง

ยิ่งไปกว่านั้นความล่าช้าในการนำร่าง พ.ร.บ. ของรัฐบาลขึ้นมาพิจารณาดำเนินการ มีผลทำให้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาของ สนช. เพราะเหตุที่ สนช. ยุบเสียก่อนการเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562

เหตุผลสำคัญว่าทำไมประเทศไทยต้องมีกฎหมายป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายหรือ “พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย” ก็คือ กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีข้อหาความผิดฐานทรมาน และอุ้มหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะสอบสวนคดีเพราะผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง หรือเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ตำรวจยำเกรงทำให้การรวบรวมพยานหลักฐานบกพร่องหรือถูกบิดเบือน และระบบการพิจารณาคดีของศาลรับฟังแต่พยานหลักฐานที่ได้มาจากการสอบสวนเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมีความชำนาญ และอำนาจที่สามารถปิดบังอำพรางการกระทำผิดของตน มักกระทำไปโดยการสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจของผู้บังคับบัญชา จึงไม่อาจนำตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำทรมาน หรือกระทำให้บุคคลสูญหายมาลงโทษได้ กรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้บอกแก่สังคมว่า อัยการไม่สามารถนำตัวนายตำรวจหลายคนที่ร่วมกันกระทำความผิดมาลงโทษฐานบังคับทนายสมชาย นีละไพจิตร ให้สูญหายได้ เนื่องจากไม่มีข้อหาความผิดดังกล่าว

อัยการจึงได้แต่ฟ้องนายตำรวจเหล่านั้นในข้อหาอื่นเช่น ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพเป็นต้น และในข้อหาที่ฟ้องนั้น ครอบครัวก็ไม่สามารถลงชื่อเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือฟ้องคดีเองได้เพราะตามกฎหมายไทย ผู้ที่จะลงชื่อฟ้องคดีได้ต้องเป็นตัวผู้เสียหายเอง เว้นแต่ตัวผู้เสียหายไม่สามารถลงชื่อฟ้องคดีเองได้เพราะเหตุเสียชีวิตแล้ว หรือเจ็บป่วยจนไม่สามารถลงชื่อฟ้องคดีเองได้เท่านั้น ซึ่งไม่รวมผู้ที่สูญหายด้วย

ใครเอาตัวนายฟาเดล เสาะหมาน ไปไหน ทำไมคดีไม่คืบหน้า?

ใช่เพียงกรณีที่กล่าวมาแล้วที่สังคมติดตามให้ความสนใจเท่านั้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรเครือข่ายได้เคยลงพื้นที่เพื่อบันทึกข้อมูลการหายตัวไปของเด็กหนุ่มคนหนึ่งคือ นายฟาเดล เสาะหมาน จากครอบครัวที่บุตรชายถึงสามคนที่ล้วนถูกอุ้มหายหรือวิสามัญฆาตกรรม การหายตัวไปของนายฟาเดลฯ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2559 นายฟาเดล ได้ออกจากบ้านพักพร้อมรถจักรยานยนต์ ฮอนด้า ทะเบียน ก 670 ปัตตานี โดยขณะที่เข้าไปทำภารกิจในโรงเรียนมูฮำมาดียะห์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ตั้งข้อสงสัยต่อการหายตัวไปของนายฟาเดลซึ่งเป็นอดีตผู้ต้องขังที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้วเมื่อราวปี 2556

นายฟาเดล เสาะหมาน ซึ่งในปีนี้อายุครบ 28 ปี เคยถูกฟ้องดำเนินคดีมาก่อนเมื่อปี 2553 ที่ศาลจังหวัดปัตตานี คดีดำที่ 1580/2553 ฐานความผิด ร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครอง ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ผลคดีศาลพิพากษายกฟ้องในปี 2556 ผลคดีถึงที่สุด

แต่ทว่าเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงก็ยังคงเฝ้าติดตามพฤติกรรมของเขามาโดยตลอดมา ดังเช่นเหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 22 เม.ย. 2556 1isranews.org ดูที่ https://bit.ly/2UxgVgI

เวลาประมาณ 22.30 น. กำลังผสมสามฝ่ายประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และทหารพราน ได้เข้าปิดล้อมบ้านพักของนายฟาเดลที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ได้ควบคุมตัว นายฟาเดล เสาะหมาน อายุ 26 ปี พร้อมกับน้องสาวไปสอบสวนที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ต่อมาก็มีการปล่อยตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อหา การติดตามความเคลื่อนไหวของนายฟาเดลมีอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 นายฟาเดลได้เข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ แล้วถูกนำตัวไปควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีเป็นเวลา 7 วัน จึงถูกปล่อยตัวออกมา

นอกจากนี้ จดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าวของมูลนิธิฯ ยังอ้างอิงถึงข้อมูลของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเกี่ยวกับการหายตัวไปของนายฟาเดลที่ระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 24 มกราคม 2559 นายฟาเดลได้ออกจากบ้านพร้อมรถจักรยานยนต์ ฮอนด้า ทะเบียน ก 670 ปัตตานี โดยขณะที่เข้าไปทำภารกิจในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

ได้มีคนร้ายขับรถยนต์เก๋งสีดำเข้าไปจอดรถในบริเวณสนามฟุตบอลของโรงเรียน แล้วทันใดนั้นได้มีชายฉกรรจ์ 3 คน ลงจากรถ และวิ่งไปทางอาคารห้องพักครูซึ่งห่างจากรถที่จอดอยู่ประมาณไม่เกิน 5 เมตร จากนั้นชายฉกรรจ์ 2 คน ได้เข้าล็อกแขนนายฟาเดลคนละข้าง ลากตัวมาที่รถเก๋งซึ่งกำลังจอดอยู่

ขณะที่ชายอีกคนวิ่งมาเปิดประตูรอไว้ก่อนแล้ว จากนั้นได้กลับไปนั่งที่นั่งคนขับ โดยมีบุคคลที่อยู่ในโรงเรียนเห็นเหตุการณ์ และเห็นนายฟาเดลขณะที่ถูกลากตัวไปได้ขัดขืน โดยการเอามือดันไว้ที่ขอบประตูบนของรถยนต์ แต่ได้มีชายอีกคนฝั่งขวามือพยายามยกขาของนายฟาเดล และดันขาเข้าไปในรถจนรองเท้าตกลงพื้น แล้วคนขับรถได้รีบขับรถออกไปจากบริเวณโรงเรียนหายไป

สำหรับครอบครัวนายฟาเดล จากคำบอกเล่าของอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่พบว่า ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา ครอบครัวไม่ได้รับทราบความคืบหน้าคดีการหายตัวไปของนายฟาเดลจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด บ้านของนายฟาเดล เงียบเหงา มีเพียงญาติ และน้องสาวของนายฟาเดล และหลานๆ ที่เป็นเด็กๆ มีบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับนายฟาเดลของครอบครัว เป็นกระดาษสีขาว แนบรูปถ่ายของนายฟาเดลและมี บทดุอาอฺ หรือบทขอพรติดไว้ที่หน้าประตูทางเข้าบ้านนับตั้งแต่นายฟาเดลหายไป โดยครอบครัวของนายฟาเดลหวังว่าบทดุอาอฺซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจเพียงทางเดียวที่เหลืออยู่นี้จะช่วยนำพานายฟาเดลให้คืนกลับมาหาครอบครัวในที่สุด

บันทึกจากการลงพื้นที่เมื่อปี 2559

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2559 นางสาวอัญชนา หีมมิน๊ะห์ ประธานกลุ่มด้วยใจ ในฐานะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนใต้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในขณะนั้น ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า จากการสอบถามญาติของนายฟาเดล ได้ความว่าบ้านเรือนที่เงียบเชียบคล้ายไม่มีใครอยู่นี้ เนื่องจากพี่ชายของนายฟาเดลไปทำงาน ส่วนแม่ของนายฟาเดลอยู่กับญาติที่บ้านอีกหลังหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลกันนัก ญาติรายนี้จึงพาคณะของศูนย์ข้อมูล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และประธานกลุ่มด้วยใจ ไปพบมารดาของนายฟาเดลที่บ้านของตน

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ได้สอบถามถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีการหายตัวไปของนายฟาเดล รวมทั้งสอบถามถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในขณะนั้นว่า มารดาของนายฟาเดลกล่าวกับนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูล มูลนิธิผสานวัฒนธรรมว่า นับแต่นายฟาเดลหายไป ยังไม่มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงมาสอบถามใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่จำได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ของยูเอ็น (สหประชาชาติ) ลงมาสอบถาม ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารไม่มีใครมาสอบถามใดๆ เกี่ยวกับการหายตัวไปของฟาเดล

นอกจากนี้ มารดาของนายฟาเดลกล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญไปให้ข้อมูล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจถามว่า นายฟาเดล เคยมีเรื่องกับใครหรือไม่ ซึ่งมารดาของนายฟาเดลยืนยันว่า นายฟาเดลไม่เคยมีเรื่องกับใคร ลูกชายเป็นคนเงียบ เรียบร้อย มารดาของนายฟาเดล เปิดเผยกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนาฯ ถึงข้อเท็จจริงในช่วงเวลาก่อนที่นายฟาเดลจะหายไปว่า

หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่นายฟาเดลจะหายไป มีเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยหนึ่งในพื้นที่เชิญให้ไปเข้าค่ายที่กรุงเทพฯ โดยมารดาไม่รู้ว่าเป็นค่ายใดที่กรุงเทพฯ และไปทำอะไร แต่เมื่อมีการเชิญตัวไป นายฟาเดลก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ โดยนายฟาเดล กล่าวถึงชื่อของนายทหารรายหนี่งที่เชิญนายฟาเดลไป มารดานายฟาเดล กล่าวว่า จำได้ว่าหลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ นายฟาเดลก็กลับมาบ้านในคืนวันเสาร์

วันต่อมาคือวันอาทิตย์ เวลาประมาณบ่ายโมง มารดานายฟาเดลจำได้เพียงว่าวันนั้นบุตรชาย สวมกางเกงสีดำ เสื้อสีขาว เดินออกจากบ้านไปตามปกติเป็นกิจวัตรประจำวัน ต่อมาทราบว่าได้ถูกบังคับเอาตัวไปจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอโคกโพธิ์ขณะที่ไปแจกการ์ดแต่งงานของตนให้กับเพื่อน และครูที่โรงเรียนดังกล่าว

โดยในช่วงนั้นมารดาไม่เห็นเหตุการณ์ แต่มีเพื่อนบ้านผู้เห็นเหตุการณ์เล่าให้ฟังว่า มีคนขับรถยนต์มาจอดในโรงเรียน และมีผู้ชาย 3 คน มาอุ้มตัวนายฟาเดลขึ้นรถไป นายฟาเดลพยายามขัดขืนแต่ก็ไม่สามารถต้านทานกลุ่มคนดังกล่าวได้ผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งเล่าให้มารดาฟังว่า คนขับรถสวมเสื้อเกราะด้วย

มารดานายฟาเดล กล่าวทั้งน้ำตาว่า ทุกวันนี้ทุกข์และท้อใจอย่างยิ่ง จิตใจเหนื่อยล้า ไม่คิดจะสู้หรือทวงถามถึงความเป็นธรรมใดๆ สิ่งเดียวที่ต้องการคือต้องการให้บุตรชายกลับมาบ้านเท่านั้น

ล่าสุด ศูนย์ข้อมูล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้สอบถามข่าวจากการติดตามของนายอิสมาแอ เต๊ะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี (HAP) ต่อกรณีการหายตัวไปของนายฟาเดล ได้ความว่าญาติพี่น้องของนายฟาเดลก็ไม่รู้จะติดตามกับใคร ไปแจ้งความแล้วเรื่องก็เงียบหาย นายอิสมาแอ เต๊ะ เล่าว่าญาติพี่น้องเขารู้สึกท้อแท้ รู้สึกไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะแม้ก่อนหน้านี้นายฟาเดลจะถูกดำเนินคดีแต่ได้รับการปล่อยตัวกลับมาแล้วหลังศาลยกฟ้องเมื่อปี พ.ศ. 2553 

หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมบ้านบ่อยแล้วก็ถูกอุ้มหายไป เมื่อถามว่าจากพยานหลักฐานที่มีคิดว่าหากมี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ ที่ภาคประชาสังคมกำลังขับเคลื่อนเกิดขึ้นได้จริง จะนำมาช่วยอะไรได้ไหม นายอิสมาแอ เต๊ะตอบว่า ก็น่าจะช่วยได้ เพราะอย่างน้อยๆ หากมี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ เคสนายฟาเดล เกิดราว 4 ปีแล้ว ก็น่าจะรื้อฟื้นการสอบสวนคดีนี้ได้ พอจะมีความหวังนิดหน่อย แต่เราไม่คาดหวังอะไรเยอะ เพราะอย่างไรในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ก็ยังมีกฎหมายพิเศษคุมอยู่ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายฯ ก็อาจใช้ไม่ได้เต็มที่

เมื่อถามว่า เคสนายฟาเดลที่ติดตามมีประเด็นอื่นๆ ใดอีกบ้าง จากการติดตามของนายอิสมาแอ เต๊ะ ทำให้ทราบว่า ปลายปีที่แล้วแม่นายฟาเดลก็ได้จัดงานกินข้าวยำ ขอรับบริจาคจากชาวบ้าน เพราะพี่ชายของนายฟาเดล ก็ถูกวิสามัญฆาตกรรมที่สะบ้าย้อย “พี่ชายเขาอยู่ในระหว่างการประกันตัวแล้วสุดท้ายถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญเสียชีวิต ต่อมาแม่ก็ต้องมีการผ่อนจ่ายเงินค่าหลักทรัพย์ประกันตัวคืนให้กับศาลตามกำลัง แม่เขาก็ผิดหวังว่า “ลูกชายคนหนึ่งคือนายฟาเดลก็ถูกอุ้มหายไป พี่ชายก็ถูกวิสามัญฆาตกรรมครับ 2เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.วันที่ 13 ต.ค.2559 มีเหตุปะทะเกิดขึ้นในพื้นที่ ต.คูหา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา พบกลุ่มก่อความไม่สงบถูกยิงเสียชีวิต 4 ราย ทราบชื่อ 3 รายประกอบด้วย นายฟัดลาน เสาะหมาน (น้องชายของฟาเดล) นายอับดุลวาฮับ ลาตูฮาแย นาย ยาซะ สาและ ส่วนอีกคนหนึ่งคนไม่ทราบชื่อ

นายอิสมาแอ เต๊ะเล่าว่า แม่นายฟาเดลถูกกดดัน และได้ผลกระทบอย่างหนักมากในฐานะแม่คนหนึ่งจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ “เป็นเคสที่น่าสนใจ มีบางองค์กรที่ช่วยเหลือ ติดตาม สอบถามตลอด แต่แม่เขาไม่ได้คาดหวังแล้วว่านายฟาเดลจะกลับบ้าน เขาคิดว่านายฟาเดลเสียชีวิตแล้ว”

นับเป็นชะตากรรมอันรันทดสุดแสนอีกชะตากรรมหนึ่งในพื้นที่ที่เรียกว่า สามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งนี้เรื่องราวของนายฟาเดล เสาะหมาน คืออีกหนึ่งข้อเท็จจริงจากพื้นที่ที่มีการบังคับให้บุคคลสูญหาย เมื่อไม่มีการเปิดเผยชะตากรรม ความทุกข์โศกก็ยังคงเกิดขึ้นและดำเนินอยู่ โดยที่ครอบครัวของผู้สูญหาย ไร้หนทางและช่องทางใดๆ ในการติดตามทวงถามถึงความเป็นธรรมที่พวกเขาควรได้รับ แม้หลังเหตุการณ์การหายไปของนายฟาเดล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เคยรับเรื่องร้องเรียน แล้วเคยออกจดหมายเปิดผนึกของมูลนิธิฯ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เร่งรัดสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าว

1. ขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่มีหน้าที่โดยตรงในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาทั้งปวงต้องดำเนินการให้มีการสอบสวนอย่างจริงจังและอย่างเร่งด่วนต่อกรณีการหายไปของนายฟาเดล เสาะหมาน เพื่อคลี่คลายคดีดังกล่าว โดยขอให้สืบสวนสอบสวนจนทราบชะตากรรมของผู้สูญหายโดยไม่มีอายุความและ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายใดเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ 

เนื่องจากการสืบสวนสอบสวนที่จริงจังของพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่รับเรื่องร้องเรียนจะเป็นมาตรการที่ป้องปรามการบังคับให้บุคคลสูญหายรายต่อๆ ไป การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นอาชญกรรมที่ร้ายแรงที่สุด จึงต้องมีการสืบสวนสอบสวนอย่างคดีอาญาสำคัญโดยพลัน อย่างจริงจัง อิสระ เป็นมืออาชีพ รวมทั้งแจ้งความคืบหน้าทางคดีต่อญาติอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอ

2. ขอให้รัฐบาล และกระทรวงยุติธรรมดำเนินการเร่งรัดให้รัฐสภาตรา พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ที่มีสาระสอดคล้องกับหลักการสากลโดยกำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญาและให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับโดยไม่ชักช้า เพื่อสร้างมาตรฐานทางกฎหมายอาญาในประเทศโดยเร็ว ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้กับประชาคมระหว่างประเทศและในระหว่างการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยต่อองค์กรสหประชาชาติ

  • 1
    isranews.org ดูที่ https://bit.ly/2UxgVgI
  • 2
    เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.วันที่ 13 ต.ค.2559 มีเหตุปะทะเกิดขึ้นในพื้นที่ ต.คูหา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา พบกลุ่มก่อความไม่สงบถูกยิงเสียชีวิต 4 ราย ทราบชื่อ 3 รายประกอบด้วย นายฟัดลาน เสาะหมาน (น้องชายของฟาเดล) นายอับดุลวาฮับ ลาตูฮาแย นาย ยาซะ สาและ ส่วนอีกคนหนึ่งคนไม่ทราบชื่อ